สมรส (ไม่) เท่าเทียม: คืนคำพิพากษาให้กับประชาชนภาคปฏิบัติ

8 มีนาคม ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบวันสตรีสากล หรือ International Women’s Day

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ร่วมกันจัดเสวนาออนไลน์ ในประเด็น ‘พิพากษาสมรส (ไม่) เท่าเทียม’ และได้มีการเปิดตัว โครงการ “#ประชาชนพิพากษา : #สมรสเท่าเทียม” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเขียนคำพิพากษาด้วยตัวเอง เพื่อตอบโต้กับคำพิพากษาที่เขียนมาจากระบอบตุลาการปิตาธิปไตย 

วงเสวนาเห็นร่วมกันว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเขียนคำพิพากษาที่ไม่มีความเข้าใจและไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน ทั้งยังมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ความเป็นธรรมทางเพศบิดเบี้ยว 

นอกจากนั้นวงเสวนายังได้แลกเปลี่ยนในประเด็นที่ว่าหากใช้สำนึกของประชาชนที่ตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศ เข้าไปพิจารณาคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 แล้ว คำพิพากษาจากประชาชนนั้นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร มีความแตกต่างจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปอย่างไร  

ในตอนท้ายของการเสวนาได้มีการเชิญชวนให้ประชาชนที่สนใจเข้ามาร่วมกันเขียน “คำพิพากษาประชาชน จากคณะตุลาการประชาชนฯ ในประเด็นสมรสเท่าเทียม” โดยไม่จำเป็นต้องจบกฎหมายหรืออยู่ในแวดวงกฎหมายเท่านั้น 

การเสวนาครั้งนี้มีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง หนึ่งในผู้ร้องคดีสมรสเท่าเทียม, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และพูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย พริม มณีโชติ

.

.

เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง: คนหลากหลายทางเพศก็เสียภาษี แต่กลับถูกปฏิบัติทางกฎหมายต่างกัน

เริ่มการเสวนาในฐานะผู้ร้องคดีสมรสเท่าเทียมและผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายให้มีความเป็นทางเพศมากขึ้น เพราะมาตรา 1448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า คู่สมรสจะต้องเป็น “ชายและหญิง” อายุ 17 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปเท่านั้น เพิ่มทรัพย์เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ราวกับปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่ไม่ใช่คนที่เท่ากัน และมองว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมน่าจะเป็นกฎหมายครอบครัว เพราะว่าการที่เราจะจดทะเบียนสมรสก็คือการสร้างครอบครัวเช่นเดียวกัน 

โดยจากประสบการณ์ หลังจากนั้นได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็พบว่ามีการเลื่อนไปหลายรอบ แต่ว่าด้วยเหตุผลและคำวินิจฉัยทำให้เราเสียใจ ซึ่งตรงนี้มองว่าอาจจะเพราะศาลกลัวเสียผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งหรือไม่ 

ส่วนตัวมองว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็เสียภาษีเช่นกัน แต่กลับถูกปฏิบัติในทางกฎหมายต่างกัน มองว่าสิทธิในการคุ้มครองตรงนี้ทำให้เรา เหมือนกับเป็นประชาชนชั้นสอง ทั้งที่เสียภาษีเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนไหวจะดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของคำพิพากษาจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่มองว่าได้ประสบความสำเร็จแล้ว ในแง่ของการได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ซึ่งคงต้องหาวิธีการกันเพื่อจะผลักดันให้มีกฎหมายนี้ต่อไป 

สำหรับท่าทีของผู้พิพากษาต่อเรื่องนี้ จากประสบการณ์ของการไปขึ้นศาลที่บังลังก์ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เห็นว่า ท่าทีของผู้พิพากษา ไม่ได้มีท่าทีดูถูก รังเกียจหรือเหยียดหยาม เพียงแต่กล่าวว่า จะต้องทำตามขั้นตอนและกระบวนการ เหมือนกับว่าเราต้องรอ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องรอไปอีกนานแค่ไหน 

.

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น : ในต่างประเทศ การเขียนคำพิพากษาโดยประชาชน ทำให้เกิดการตีความใหม่

กล่าวถึงความเป็นมาถึงโครงการประชาชนพิพากษา และประสบการณ์ร่วมกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในฐานะผู้ตั้งต้นโครงการนี้ ไทเรลอธิบายว่า เราจะเห็นว่าศาลยุติธรรมกลายเป็นศาลอยุติธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสดงออกชัดผ่านเรื่องความคิดทางการเมือง รวมถึงกรณีสมรสเท่าเทียมด้วย  

แต่สิ่งที่อยากเสนอคือ โครงการประชาชนพิพากษาจะเปิดโอกาสให้กับการวิเคราะห์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่อยุติธรรมจากประชาชน เพื่อให้เราได้ฝันถึงอนาคตที่มีความเท่าเทียม วิธีการหนึ่งที่ทำได้คือการลงมือเขียนคำพิพากษาเอง โดยแนวทางนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเคลื่อนไหวของนักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ที่ใช้วิธีการแบบนี้ในกรณีอื่นๆ

ดังที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน เมื่อนักกฎหมายเฟมินิสต์ ประเทศแคนาดา นักกฎหมายสตรีนิยมเหล่านี้ได้ผลักดันการตีความกฎหมายใหม่ เพราะที่ผ่านมาแม้รัฐสภาจะเปลี่ยนหลักการความเท่าเทียมกันทางเพศจนไปปราฏอยู่ในกฎหมายได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการดึงหลักการนี้มาใช้ โดยศาลก็ยังคงพิพากษาแบบอยุติธรรมเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจของกรณีนี้คือเขาผลักดันกฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง ฯลฯ แต่เปลี่ยนแนวทางการตีความใหม่ สิ่งที่พบคือความเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่   

นอกจากการเคลื่อนไหวที่แคนาดาแล้ว ยังพบอีกว่ามีนักกฎหมายเฟมินิสต์อีกหลายประเทศใช้แนวทางดังกล่าว อาทิ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสิ้น ซึ่งศาลเองก็มีความพยายามจะเป็นสถาบันที่มีความก้าวหน้าในสังคม 

จากนั้นไทเรลได้เริ่มหันมาคิดในบริบทของประเทศไทยบ้าง เนื่องจากไทยอยู่ในบริบทตรงกันข้าม โดยเฉพาะมีลักษณะพิทักษ์อุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าในกรณีของไทยจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่สิ่งที่พบโดยตัวเองจากการพยายามเขียนคำพิพากษาอันเป็นผลมาจากการกดขี่ข่มเหงจากยุค คสช. คือ การเขียนคำพิพากษาเป็นสิ่งที่สนุกมากกว่าการด่าศาลไปเปล่าๆ ทำให้คิดว่าถ้าเราเขียนเอง จะดีกว่าที่ศาลเคยเขียนเองหรือไม่ รวมถึงกรณีล่าสุดคือกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วย 

สำหรับมุมมองต่อคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในแง่มุมส่วนตัวแล้วเห็นว่า คำพิพากษาของศาลต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิ่งแรกที่รู้สึก คือทั้งรู้สึกโกรธและเศร้า และเห็นว่ามันลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะงานที่เราทำที่ผ่านมา ทั้งศึกษาสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงโดยรัฐ ตัวเองก็ไม่ค่อยได้ศึกษาเรื่อง LGBTIQ+ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นผู้หญิงที่รักผู้หญิง กรณีนี้จึงคิดว่าอยากจะลงมือเขียนใหม่ เพื่อสะท้อนให้ผู้พิพากษารู้ว่าเขาควรจะเขียนอย่างไร และตีความกฎหมายอย่างไร 

อีกหนึ่งตัวอย่างในต่างประเทศ ที่น่าสนใจ มีกว่า 150 คดีที่มีการทำแบบนี้ สิ่งที่น่าสนใจว่าคนที่ร่วมโครงการต่างๆ คือได้เล่าบริบทของคดีที่แตกต่างไปจากผู้พิพากษากระแสหลัก เช่น ในกรณีคดีความรุนแรงในครอบครัว ที่ไอร์แลนด์ ซึ่งผู้พิพากษามักไม่ค่อยเขียนชื่อผู้หญิงที่ถูกกระทำไว้ในคำพิพากษา เพราะถ้าหากได้เล่าถึงชีวิตและบริบทของเหยื่อจะเป็นส่วนหนึ่งของการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเหยื่อได้ เช่นเดียวกับกรณีคำวินิจฉัยของไทย เรื่องการล้มล้างการปกครองฯ ตุลาการจะกล่าวถึงการที่ประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์มากกว่า 700 ปี และคนไทยทั้งปวงจงรักภักดี จริงๆ แล้วสิ่งนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเขียน แต่อาจจะเขียนถึงครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัย นั่นคือการเล่าถึงการใช้ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ได้รับผลกระทบ 

การเห็นบริบทของคดีจึงเป็นไอเดียที่ได้จากการอ่านในกรณีของต่างประเทศ คือการเล่าเรื่องราวของชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบ กรณีนี้เช่นนี้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงนักกฎหมาย เพียงแต่สนใจปรัชญาของความเท่าเทียมก็เพียงพอแล้ว

พูนสุข พูนสุขเจริญ: การเขียนใหม่เป็นการวิจารณ์เชิงบวก ว่าคำพิพากษาที่ควรจะเป็น เป็นอย่างไร

แม้ว่าตัวเองจะไม่เชี่ยวชาญ แต่มีความสนใจในประเด็นสมรสเท่าเทียม พอเห็นคำพิพากษาแบบนี้ รู้สึกประหลาดใจว่า ทำไมผู้พิพากษาถึงเขียนแบบนี้ เพราะถ้าดูจากคำพิพากษาแล้ว หัวใจหลักที่ศาลนำมาวินิจฉัยคือความหมายของการสมรส ที่ระบุว่า “ความหมายของการสมรส คือการที่หญิง-ชายตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ มีความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู…” 

อีกจุดที่กล่าวถึงคือวัตถุประสงค์ของการสมรสที่ระบุว่า คือการที่ชาย-หญิงอยู่อยู่กินฉันสามีภรรยา และยังอธิบายต่อว่า การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันธ์อันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้ 

ต้องกล่าวก่อนว่าในทางกฎหมายไม่มีนิยาม “การสมรส” แต่อย่างใด ฉะนั้นโดยตัวนิยามไม่ได้ระบุว่าการสมรสจะเป็นเพศชาย-หญิง แต่มาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังท้าทายกันอยู่ ว่ามาตรานี้มีปัญหาในเรื่องความเสมอภาคทางเพศหรือไม่ ซึ่งศาลได้ยกนิยามการสมรสขึ้นมาอธิบาย ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าศาลไปยกนิยามแบบนี้มาจากไหน

ประเด็นที่สอง ศาลบรรยายตั้งแต่ประวัติศาสตร์การจัดทำกฎหมาย แต่กลับสรุปว่าขนบธรรมเนียมของเรานั้นมีความแตกต่างกับต่างประเทศ รวมถึงการบอกว่ากฎหมายจะยั่งยืนต้องไม่ขัดกับประชาชน อันนี้ก็ท้าทายมาก แต่ก็อยากทราบว่าผู้พิพากษาจะบอกว่านั่นคือความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ คำถามคือจะวัดอย่างไร โครงการประชาชนเขียนคำพิพากษาใหม่ จึงอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนปัญหานี้ได้ 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เพราะจากที่ศาลยกขึ้นมาพิจารณาคือเพศชายกับเพศหญิง และการปฏิบัติต่อกันก็แตกต่างไปตามเพศ อยากตั้งข้อสังเกตว่า ณ ปัจจุบัน การแบ่งเพศ ไม่ได้ผูกไว้แค่ชายและหญิงเท่านั้นหรือไม่ กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าศาลก็ยังอยู่ในกรอบเดิม ซึ่งในความเห็นของหลายคน ก็อาจจะไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ 

ที่น่าสนใจคือในคำพิพากษาของศาลยังห่วงใยไปถึงสวัสดิการของรัฐด้วย ซึ่งน่าจะเป็นความผิดพลาดของศาลอย่างชัดเจน ที่สะท้อนอคติทางเพศ เพราะในทางกฎหมายแล้วแม้จะเป็นการบอกโดยนัยว่าการสมรสตั้งใจเพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการรัฐ ตรงนี้สามารถใช้กฎหมายในการตรวจสอบได้ หากสมรสโดยไม่ได้มีเจตนาอยู่กินกันการสมรสนั้นก็เป็นโมฆะอยู่แล้ว เหตุผลนี้จึงเป็นสิ่งที่ฟังไม่ได้ เพราะยังมีกลไกทางกฎหมายที่ป้องกันการหาประโยชน์เช่นนี้ ศาลจึงไม่ควรหยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นคู่สมรส ในเรื่องความยินยอมในเรื่องการรักษาพยาบาลหรือการสวัสดิการ การได้รับประโยชน์ ศาลเห็นว่าเป็นสิ่งที่ได้รับมาเพราะกฎหมายกำหนด อาจจะถูกต้อง แต่สิ่งที่อยากเพิ่มเติมคือ แล้วทำไมเราไม่แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันให้ใช้ได้ 

สมมุติว่า ถ้าคดีเกิดในศาลยุติธรรม เราคงจะได้เห็นความเห็นจากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แต่กรณีนี้เกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นที่สุดเราเข้าไปแก้ไขไม่ได้ ฉะนั้น โครงการเขียนคำพิพากษาใหม่ ให้กับกรณีสมรสเท่าเทียม จึงเป็นความพยายามในการดึงอำนาจกลับมาประชาชน เพราะที่ผ่านมาต่อสู้ในทางกฎหมาย ทางคดีที่มีอยู่ยังไม่สำเร็จ แต่การสู้ในการเขียนใหม่ คือการเขียนโดยยึดหลักความเสมอภาคว่าการสู้แบบนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นคำวิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไหม คิดว่าใช่ เป็นแต่เป็นคำวิจารณ์เชิงบวก คือเขียนให้ดูเลยว่าสิ่งที่มันควรจะเป็น จะเป็นอย่างไร

คำถามต่อมาคือถ้าไม่ใช่นักกฎหมายเขียน โครงการนี้จะมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน ในทางกฎหมายอาจจะจบไปแล้ว แต่โดยหลักการแล้วกฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และการที่ประชาชนลุกขึ้นมาเขียนเอง ในอนาคตจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้ 

.

.

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง: เราไม่ได้จบกฎหมาย แต่ต้องใช้ชีวิตกับการไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

อยากจะกล่าวถึงความเห็นต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเรียนตามตรงว่า ถึงวันนี้ยังไม่สามารถอ่านตั้งแต่ต้นจนจบได้ เพราะอ่านแค่ไฮไลท์หรือสิ่งหลายท่านกล่าวไป น้ำตาก็ไหลแล้ว เพราะเป็นสิ่งเดียวกับที่ถูกกดทับมาทั้งชีวิต และมันก็คือหัวใจว่าทำไมเราจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ 

แล้ววันหนึ่งที่พวกเราร่วมแรงใจ กรณีพี่เพิ่มทรัพย์ พร้อมคู่ชีวิตและมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ อยากจะใช้ความเป็นธรรมผ่านตุลาการสักครั้ง กลับต้องเจอสภาพโต้กลับ จนกระทั่งไม่เหลือชิ้นดี เพราะสิ่งที่ตุลาการทำสร้างความบอบช้ำมากขนาดไหน 

ต้องขอบคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราเรียกมันว่า “Feminist Judgments” ว่าต่างประเทศมีเขียนคำพิพากษาจากประชาชนอย่างไร และในกรณีของไทยมีการเขียนป้ายไวนิลว่า “ศาลประชาชน” อยู่ 1 ครั้งคือ การเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 จึงมีการกล่าวกันว่า ถ้าผู้พิพากษาไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เราได้ ภาษาของพวกเรามันจะอำนวยความยุติธรรมในใจได้ไหม 

เรามีสิทธิที่จะเขียนคำพิพากษาได้ไหม คำตอบคือได้ เพราะเขาก็คนเหมือนกัน เราก็คนเหมือนกัน เขาแค่จบกฎหมายและมีบทบาทหน้าที่ แต่เราเป็นคนที่แม้ไม่ได้จบกฎหมาย แต่ใช้ชีวิตมากับการไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสเท่าเทียม เพราะฉะนั้นเรามีสิทธิที่จะเขียนเจตจำนงในคำพิพากษาจากประชาชนเอง มันเป็นการคืนพลัง คืนศักยภาพ และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่มีใครพรากได้ และใครก็ตามที่พยายามจะพรากมันไป ไม่ว่าผู้พิพากษาศาลไหน หรือสถาบันไหนเราจะฟื้นมันกลับมา  

ส่วนตัวรู้สึกชอบมากที่จะมีการเขียนคำพิพากษาที่มาจากประชาขน ที่ได้รับผลกระทบจากผู้พิพากษา จากคนในสังคมที่รู้สึกเจ็บปวดจากการที่ตุลาการได้พิพากษา ก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาหลายคดี อาทิ คดียุบพรรคอนาคตใหม่ คดีล้มล้างการปกครองฯ ฯลฯ จะมีนักกฎหมายคนไหนกล้าพูดบ้าง ถ้าพูดก็พูดแบบซ่อนความหมาย แต่หลังจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องสมรสเทียม กลับมีนักกฎหมายจำนวนมากเลย ออกมาพูด ว่าคำพิพากษานี้มีปัญหาอย่างไร 

ในช่วงเวลานั้นมีความพยายามจะขบคิดและถกเถียงโต้แย้ง ซึ่งแสดงให้เห็นความกล้าหาญของในสังคมและสื่อทุกสื่อ นักกฎหมาย ทนายความ แต่ว่าครั้งนี้จะเป็นการเขียนอย่างเป็นทางการ แม้ว่าเราไม่ทราบว่ารายทางของการเขียนครั้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่คิดเพียงว่าโครงการนี้ มันคือรูปแบบการทำงานแบบ Feminist Practice ที่ต้องการปลดแอกจากการถูกกดขี่ นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ 

.

.

สนใจสมัครเป็น “คณะตุลาการประชาชน” อ่านรายละเอียด https://bit.ly/3hZGZMo

และกรอกใบสมัครที่ https://docs.google.com/forms/d/1ZHrQvh2Gu7sCX-slW3ad4qYJg_1l5ozO9j8v52J7-XY/edit

.

X