พ.ร.บ. คู่ชีวิตสร้างความเท่าเทียมจริงหรือ ?

สุธาวี ไทยวานิช

นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ครอบครัว” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความว่า “สถาบันพื้นฐานของสังคมที่ประกอบด้วยสามีภรรยาและหมายความรวมถึงลูกด้วย” แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยที่มีต่อสถาบันครอบครัวว่าต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเท่านั้น คำถามคือหากครอบครัวไม่ได้ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก แต่ประกอบด้วยคนผู้ชาย 2 คนที่รักกัน หรือผู้หญิง 2 คนที่รักกัน จะถือว่ายังเป็นครอบครัวตามแนวคิดของคนไทยหรือไม่ โดยแนวคิดที่ว่าครอบครัวต้องประกอบด้วยพ่อแม่ลูกยังคงปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448[1] ซึ่งรับรองการสมรสระหว่างชายหญิงเท่านั้น นอกจากนี้ในทางระหว่างประเทศในข้อ 23 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)  ก็รับรองเพียงการสมรสระหว่างชายหญิงเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วสังคมทั้งภายในประเทศและสังคมระหว่างประเทศก็ยังคงมีอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ICCPR ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศนั้นเป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำให้รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามเท่านั้น รัฐภาคีจะบัญญัติกฎหมายรับรองสิทธิมากกว่าที่ปรากฏใน ICCPR ก็ได้ ดังนั้น รัฐภาคีของ ICCPR จำนวนหนึ่งจึงมีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกัน ในส่วนของประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายรับรองสิทธิในการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2561 ครม.ได้ให้ความเห็นชอบร่าง...คู่ชีวิต และได้เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและขั้นตอนพิจารณาของกฤษฎีกา ต่อมาในปีนี้ (พ.ศ. 2563) ครม.ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็นในสภาต่อไป 

ร่างพ...คู่ชีวิตสร้างความเท่าเทียมจริงหรือ?

กฎหมายคู่ชีวิตไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ได้ปรากฏขึ้นในโลกนานแล้วซึ่งได้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมากมายว่ากฎหมายดังกล่าวได้สร้างความเท่าเทียมทางเพศขึ้นหรือไม่ เช่น เดนมาร์ก เยอรมัน และไอร์แลนด์ เป็นต้น ซึ่งประเทศดังกล่าวได้ยกเลิกกฎหมายคู่ชีวิตไปหลังจากที่ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรส โดยรับรองให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้[2]

แม้ในหลายประเทศทั่วโลกจะมีกฎหมายรับรองให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตได้  เมื่อดูผิวเผินแล้วอาจเป็นการสร้างความเท่าเทียม แต่อย่างไรก็ตามสิทธิที่ได้รับรองไว้ในกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตนั้นยังมีความแตกต่างกับกฎหมายว่าด้วยการสมรส คำถามคือการมีกฎหมายคู่ชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกันยิ่งเป็นการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางเพศที่มีอยู่ในสังคมหรือไม่ เช่น ในบางประเทศไม่ได้อนุญาตให้คู่ชีวิตรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน หรือไม่สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น ในขณะที่คู่รักชายหญิงสามารถรับบุตรบุญธรรม และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามกฎหมาย ส่งผลให้คู่รักเพศเดียวกันรวมทั้งผู้ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศออกมาคัดค้านกฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตดังกล่าว

ศาลในต่างประเทศเคยตัดสินว่ากฎหมายคู่ชีวิตไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมแก่พลเมือง เช่น ในคดี Barbeau v British Columbia ศาล British Columbia Court of Appeal ตัดสินว่าการสมรสสำหรับเพศเดียวกัน คือทางเดียวที่จะสร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริงให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน และใน California Supreme Court และศาล Iowa Supreme Court วินิจฉัยว่ากฎหมายว่าด้วยคู่ชีวิตนั้นไม่ได้ทำให้เกิดการปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียมแต่อย่างใด

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตพบว่าการเป็นคู่ชีวิตนั้นก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติอีกด้วย ในรายงานของ Vermont Commission on Family Recognition and Protection กล่าวว่าคู่ชีวิตจำนวนมากต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขาต้องเปิดเผยว่าตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยไม่สมัครใจเมื่อต้องการใช้สิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายของคู่ชีวิต ซึ่งในบางครั้งพวกเขาไม่ได้ต้องการที่จะพูดถึง และยังเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอีกด้วย[3]มาถึงจุดนี้ผู้อ่านอาจจะคิดว่าแล้วคู่รักชายหญิงไม่จำเป็นต้องเปิดเผยหรืออย่างไร ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทุกท่านลองจินตนาการเสียก่อนว่าการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของคู่รักเพศเดียวกันย่อมมีความกดดันมากกว่าคู่รักชายหญิงอยู่แล้วในสังคมที่ให้ค่ากับคู่รักชายหญิงมากกว่า หรือในสังคมที่มีค่านิยมว่าความรักของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งผิดปกติการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศอาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายได้ และข่าวที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกคุกคามซึ่งเป็นหนึ่งในข้อยืนยันถึงอคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มีปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คู่รักเพศเดียวกันจะไม่สบายใจที่เปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตน

สำหรับประเทศในเอเชียมีเพียงไต้หวันเท่านั้นที่รับรองให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้ โดยกฎหมายมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ตามกฎหมายการสมรสเพศเดียวในไต้หวันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ คือ หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาจากประเทศที่ไม่ได้รับรองการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันก็ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสในไต้หวันได้ เช่น มีกรณีชาวไต้หวันต้องการสมรสกับชาวมาเลเซีย แต่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เนื่องจากมาเลเซียยังไม่มีกฎหมายรับรองการสมรสเพศเดียวกันนั่นเอง[4] ส่งผลให้คู่รักเพศเดียวกันจำนวนมากไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อันเป็นผลมาจากช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าว

ในประเทศไทยได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตซึ่งเสนอโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยอนุญาตให้เพศเดียวกันจดทะเบียนคู่ชีวิตกันได้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ให้สถานะทางกฎหมายผู้ที่จดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” และการมีสถานะเป็นคู่ชีวิตนั้นก่อให้เกิดสิทธิบางอย่างได้แก่ สิทธิในการยินยอมให้รักษาพยาบาล สิทธิในการดำเนินคดีแทน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในการรับมรดก แต่ไม่ได้รับรองสิทธิเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของรัฐบางประการ เนื่องจากถ้อยคำที่ใช้ในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตได้กำหนดถ้อยคำเฉพาะ คือคำว่า คู่ชีวิตส่งผลให้คู่ชีวิตจะไม่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนดไว้ให้คู่สมรสเช่น ไม่สามารถลดหย่อนภาษีของคู่สมรสตามประมวลรัษฎากรได้[5] การเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านจากเหล่าผู้สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิง

บทสรุป

เห็นได้ว่าร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของไทยที่ผ่านการให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรียังไม่ได้สร้างความเท่าเทียมให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตามหลายคนอาจมองว่าสังคมไทยเปิดกว้างสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศแล้ว รวมทั้งยังมีร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตที่รับรองสิทธิให้คู่รักเพศเดียวกัน “เกือบเท่า” คู่รักชาย-หญิง ซึ่งมีไม่กี่ประเทศที่คู่รักเพศเดียวกันจะได้รับสิทธิมากมายเพียงนี้ รวมทั้งการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ก็ต้องใช้เวลานาน และอาจได้รับการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีกด้วย

คำถามสำคัญของผู้เขียน คือ ประเทศไทยเปิดกว้างและยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศแล้วจริงหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นเหตุใดผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหลายคนยังถูกปฏิเสธจากการรับเข้าทำงานอยู่บ่อยครั้ง ยังถูกสังคมตีตราว่าเป็นบุคคลที่ผิดปกติ หรือแม้กระทั่งในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรยังต้องให้ Transgender แต่งกายตามเพศกำเนิดอยู่ หรือถ้าต้องการสวมชุดตามเพศวิถีของตนจะต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน หรือในเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เหตุใดผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถึงมีสิทธิเพียงแค่ เกือบเท่าชายหญิงในสิ่งที่เขาควรจะได้รับตั้งแต่แรก ทำไมพวกเขาถึงไม่ได้สิทธิเท่าเทียมกับชายหญิง และการที่รัฐออกกฎหมายดังกล่าวมาเช่นนี้ รวมทั้งการต่อต้านหรือปฏิเสธไม่แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เกิดความเท่าเทียมนั้นเป็นการกระทำที่ละเลยเสียงของผู้ที่ถูกกดทับ เลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางเพศมากขึ้นไปอีกหรือไม่

 

[1] มาตรา  1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

[2] อ่านเพิ่มเติม https://www.bbc.com/news/world-44633711

[3] อ่านเพิ่มเติม ‘A failed experiment’ Why civil unions are no substitute for marriage equality

[4] อ่านเพิ่มเติม  https://focustaiwan.tw/society/202005170011

[5] Pride Month: สำรวจ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต-กฎหมายแพ่งว่าด้วยการสมรส

X