สำรวจ ‘Feminist Judgments’: เมื่อประชาชนลุกขึ้นเขียนคำพิพากษาเองด้วยมุมมองใหม่

“นาวา”

.

ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ที่ให้สิทธิการเลือกตั้งเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง ตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งนับว่าสะท้อนความก้าวหน้าทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรม 

กระนั้น แม้จะเชื่อกันว่าแต่ละสังคมล้วนมีพลวัต จนปัจจุบันมีการยอมรับเอาสิทธิทางเพศสภาพอย่างกว้างขวาง แต่การยกระดับสิทธิทางเพศสภาพหลังจากนั้น กลับยังมีพัฒนาการที่หยุดนิ่ง เพราะกลไกทางกฎหมายและการเมืองยังคงจำกัดกรอบและแฝงเร้นให้เห็นอคตินี้  

กรณีล่าสุดเกิดขึ้นในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2564 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีข้อวิจารณ์ใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 

หนึ่ง นิยาม “การสมรส” ที่ศาลระบุวัตถุประสงค์ของการสมรส หมายถึง “การที่ชาย-หญิง อยู่กินฉันสามีภริยา เพื่อสร้างสถาบันครอบครัว มีบุตร ดำรงเผ่าพันธุ์ตามธรรมชาติ ฯลฯ…” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญและนักสังเกตการณ์ต่างวิจารณ์ว่า คำวินิจฉัยเช่นนี้อาจสะท้อนการขาดความรู้ความเข้าใจต่อคำนิยามของเพศสภาพที่ได้รับการยอมรับกันในประเทศเสรีประชาธิปไตย 

สอง การอ้างอิงขนบธรรมเนียมของกฎหมายไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญอธิบายตอนหนึ่งว่า “ในสังคมไทย มีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า การสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น” ความข้อนี้ถูกวิจารณ์ถึงการอ้างธรรมเนียมประเพณีไทยอย่างไม่สอดคล้องกับบริบท นำมาสู่การตั้งคำถามว่าข้ออ้างนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเกี่ยวกับเพศสภาพกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

สาม การสมรสตั้งใจเพื่อให้ได้มาซึ่งสวัสดิการของรัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีข้อกังวลถึงสวัสดิการของรัฐว่า “การไม่ได้กำหนดเพศในการสมรสอาจมีผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQI) มาจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ในสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ หรือประโยชน์จากการลดหย่อนภาษี อันอาจส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ” 

ความเห็นข้างต้น ก่อให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่า ศาลไทยยังคงอคติทางเพศไว้อย่างน่าเศร้าหรือไม่ ดังที่ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง หนึ่งในผู้ร้องคดีสมรสเท่าเทียม กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ราวกับปฏิบัติกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่ไม่ใช่คนที่เท่ากัน”

.

.

คำถามที่ตามมาคือ จะมีวิธีการใดอีกบ้างสามารถผลักดันไม่ให้พลังของการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมสูญหายไปกับคำพิพากษาของศาล 

รายงานชิ้นนี้พาไปรู้จัก “การเขียนคำพิพากษาโดยประชาชน” อันเป็นหนึ่งในรูปแบบการต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับสิทธิทางเพศสภาพที่หลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศที่เกิดขึ้นได้ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเรียกกันว่า “Feminist Judgments” อันเป็นหนึ่งในความพยายามเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมและกฎหมายใหม่ ให้สอดคล้องกับสิทธิและเสรีภาพของความเป็นมนุษย์

โครงการ Feminist Judgments ในสหรัฐอเมริกา (ดูเว็บไซต์)

.     

Feminist Judgments คืออะไร 

Feminist Judgments เป็นการเขียนคำพิพากษาใหม่จากประชาชนโดยอาศัยมุมมองสตรีนิยมเข้ามาเป็นคุณค่าหลักในการตีความ เป็นกิจกรรมทางการเมืองที่แพร่หลายอย่างยิ่งในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ต้องการยกระดับสิทธิของประชาชนขึ้นไปอีกระดับ เพราะในหลายกรณี แม้ว่าสถาบันทางการเมืองจะมีความก้าวหน้าก็ตามที แต่ในทางปฏิบัติ ยังคงพบว่าในการพิจารณาคดีของศาลหลายกรณียังคงแฝงเร้นอคติทางเพศ อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความเท่าเทียม 

บทความเรื่อง Methods, Impact, and Reach of the Global Feminist Judgments Projects เขียนโดยนักกฎหมายเฟมินิสต์ 3 คน ได้แก่ Kathryn M. Stanchi, Linda L. Berger และ Bridget J. Crawford นำเสนอวิธีการ ผลสะเทือน และความก้าวหน้าของโครงการ Feminist Judgements project (FJPs) หรือ โครงการประชาชนเขียนคำพิพากษาใหม่ ผ่านการสำรวจองค์ความรู้ของนักวิชาการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก 

โครงการ Feminist Judgments ซึ่งดำเนินการเคลื่อนไหวมากว่า 15 ปี ในหลายประเทศ และก่อตัวมากกว่าถึง 3 ทศวรรษ ในบางประเทศ ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน ช่วยกระตุ้นให้เกิดการศึกษาความยุติธรรมที่ครอบคลุมไปถึงมิติของวัฒนธรรม เชื้อชาติ สัญชาติ และเพศสภาพ 

อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนว่าเป็นกิจกรรมที่เน้นหนักไปทางความรู้ด้านกฎหมาย แต่จากการสำรวจสถานภาพความรู้ของ Feminist Judgments พบว่าเป็นกิจกรรมที่เต็มไปด้วยการมีส่วนร่วมของผู้คนที่หลากหลายในสังคม ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างนักกฎหมาย ผู้พิพากษาจำนวนหนึ่ง นักเคลื่อนไหว ศิลปิน นักวิชาการ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการหยิบเอาคำพิพากษาเก่าขึ้นมาพิจารณาใหม่ และแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่หายไปในคำพิพากษานั้นๆ ซึ่ง Feminist Judgments เชื่อว่าหากนำแนวคิดสตรีนิยมเข้ามาร่วมพิจารณา จะทำให้ทิศทางการตีความข้อกฎหมายเดิมนั้นเปลี่ยนไป 

ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการเคลื่อนไหวของ Feminist Judgments ซึ่งแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในแง่บริบททางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยากฎหมาย และวัฒนธรรม ทว่าการเคลื่อนไหวนี้กลับมีวิธีการในการทำงานที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ มิได้ผลักดันกฎหมายใหม่เข้าไปแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากลำบาก แต่เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ด้วยการพิจารณาข้อกฎหมายหรือคำพิพากษาเดิมที่มีอยู่แล้ว ด้วยแง่มุมทางสตรีนิยม

.

โครงการ Feminist Judgments ในประเทศสกอตแลนด์ (ดูเว็บไซต์)

.

คืนเสียงให้ผู้เรียกร้อง ในฐานะสิทธิของผู้ถูกกดขี่ 

โครงการนี้ เริ่มขึ้นครั้งแรกที่แคนาดา โดยศาลสตรีแห่งแคนาดา กลุ่มอาจารย์ทางกฎหมายสำนักสตรีนิยม นักวิชาการ สาขาวิชาอื่นๆ และนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งคำถามว่า “เราจะบรรลุความยุติธรรมทางเพศได้อย่างไร” และพวกเธอก็เริ่มกิจกรรมในปี 2004 จนกระทั่งในปี 2008 ก็สามารถเขียนคำพิพากษาใหม่ 6 ฉบับ ตามมาตราที่ 15 ของกฎบัตรสิทธิและเสรีภาพแห่งคานาดา (Canada’s Charter of Rights and Freedoms) โดยผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้รับคำถามที่ท้าทาย 2 ข้อ คือ

ข้อแรก คำวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับประเด็นทางเพศจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หากผู้พิพากษาได้รับข้อมูลทางทฤษฎีและวิธีวิทยาแนวสตรีนิยม และข้อสอง คำพิพากษาของประชาชนเองจะช่วยส่องสะท้อนถางทางไปสู่ความยุติธรรมทางเพศได้หรือไม่ 

การประชุมเชิงปฏิบัตินี้ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางวิชาการ (academic activism) เนื่องจากมิเพียงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ไปยังอำนาจตุลาการเท่านั้น หากยังเป็นการย้อนกลับไปทบทวนถึงคำสัญญาทางทฤษฎีและปฏิบัติการของเฟมินิสต์ในฐานะการเคลื่อนไหวทางเลือก  

ดังนั้นภารกิจหลักประการหนึ่งของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จึงเป็นการพยายามเขียนคำพิพากษาต่างๆ เสียใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลในเรื่องต่างๆ สามารถประยุกต์ทฤษฎีสตรีนิยมได้อย่างไร เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นจริง

อีกวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจคือ การผสมผสานการให้บริบทของสังคมและการให้เหตุผลทางกฎหมาย วิธีการนี้ ชวนให้คิดต่อว่า เมื่อเรามองย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาลไทย ในประเด็น “ธรรมเนียมทางกฎหมาย” อาจจะช่วยให้เห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมเนียมที่ดีงาม” นั้น ล้วนสัมพันธ์กับพลวัตของสังคมด้วย ทำให้ความเห็นว่านามธรรมนั้นจับต้องได้ อย่างน้อยในสำนึกของพลเมืองในประเทศนั้นๆ  

สำหรับกระบวนการร่างคำพิพากษาใหม่โดยประชาชนนี้ มีความแตกต่างหลากหลายไปตามแต่ละกรณี แต่เน้นไปที่การสร้างพลังของกลุ่มเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น จะมีการแบ่งกลุ่มเขียนคำพิพากษาลงให้มีขนาดเล็กจำนวน 2-5 คน ซึ่งแนวทางนี้จะแตกต่างไปจากการเขียนงานวิชาการ ที่ผู้เขียนมักแยกตัวออกโดดเดี่ยว เปลี่ยนมาสู่การร่วมกันสำรวจข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของประสบการณ์ของแต่ละคน จนช่วยให้มีการปรับปรุงคำพิพากษานั้นออกมาเป็นความเห็นของกลุ่มได้ 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นคุณูปการของวิธีการนี้ที่ขาดไม่ได้คือ การฟื้นข้อเท็จจริงที่ขาดหายไปในคำพิพากษา เนื่องจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหยื่อหรือผู้ถูกกดขี่ มักจะเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากบันทึกที่เผยแพร่สาธารณะของศาล ฉะนั้นการเขียนประสบการณ์ และความเห็นต่อคำพิพากษาของประชาชนจะช่วยให้เห็นทั้งบริบททางสังคมการเมือง และประสบการณ์ของผู้เขียนที่เกี่ยวพันโดยตรงกับคำพิพากษาเอง 

ดังที่เกิดขึ้นใน กระบวนการก่อนพิจารณาคดี ซึ่งมักจะเป็นขั้นตอนที่ไม่ถูกเปิดเผยในทางสาธารณะ บันทึกของประชาชนที่เขียนถึงขั้นตอนนี้ จะช่วยให้เห็นข้อเท็จจริงที่อาจจะไม่ได้ปรากฏในคำวินิจฉัยของผู้พิพากษา และอาจจะเป็นเรื่องสำคัญของผู้ที่ร้องเรียนใช้ในการอุทธรณ์   

ตัวอย่างเช่น ในคดีข่มขืน การเข้าถึงบันทึกของศาล ช่วยทำให้มองเห็นหลักฐานของผู้ร้องเรียนและท่าทีของผู้พิพากษาที่มีต่อเธอในฐานะมนุษย์ว่าเป็นอย่างไร และยังสามารถช่วยตรวจสอบว่ากฎระเบียบที่คุ้มครองผู้ร้องเรียนที่มีอยู่นั้น มีประสิทธิภาพจริงมากน้อยเพียงใด มากกว่านั้น ยังช่วยให้เห็นกระบวนการบริหารจัดการของศาลเองต่อคดีความต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ 

จากการสำรวจ Feminist Judgments Projects ในบางประเทศพบว่า ศาลได้มีการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาคดีใหม่ โดยให้มีความยืดหยุ่นไปตามแต่ละคดี เช่น ศาลสตรีแห่งแคนาดา เจ้าหน้าที่ศาลจะมีความรู้ความเข้าใจ และทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในคดีในทุกกระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการรับเรื่องการพิจารณา ระหว่างพิจารณาไป จนกระทั่งหลังการพิพากษา 

กรณีนี้รวมไปถึงการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย ถึงตรงนี้ศาลจึงมิได้มีฐานะเป็นเพียงศาลสถิตยุติธรรมในการพิจารณาคดีความเท่านั้น แต่ยังมีฐานะเป็นกลไกในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศได้อีกด้วย และศาลยังสามารถเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ (learning institution) ที่จะมีการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของตนเองอย่างสม่ำเสมอ 

.

โครงการ Feminist Judgments ในประเทศออสเตรเลีย

.

ลดการผูกขาด ด้วยการเพิ่มความหลากหลายในตุลาการ

Feminist Judgments ในออสเตรเลีย เป็นอีกหนึ่งการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ พวกเธอเข้าไปพิจารณาคำวินิจฉัย 24 ประเด็น โดยครอบคลุมคำวินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้นไปจนถึงศาลสูงสุด ข้อค้นพบที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ผู้พิพากษาที่มีแนวคิดสตรีนิยมมักจะนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ในการพิจารณาคดีในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการจัดห้องพิจารณาคดี การทำงานร่วมกับคณะลูกขุน การแสวงหาข้อเท็จจริง การปฏิสัมพันธ์กับผู้พิพากษาอื่น ฯลฯ แต่จากการสำรวจนี้ยังพบข้อกังวลอยู่บ้างว่า ผู้พิพากษาบางคนยังต้องระมัดระวังในการเปิดเผยจุดยืนสตรีนิยมต่อสาธารณะ ซึ่งอาจจะถูกมองว่าจุดยืนนี้จะส่งผลต่อการพิจารณาคดี  

อย่างไรก็ตามวิธีคิดเช่นนี้มีที่มาที่ไป บทความอีกชิ้นทำการสำรวจเชิงเปรียบเทียบภูมิหลังและเส้นทางอาชีพของผู้พิพากษาระหว่างศาลแห่งมลรัฐและศาลสูงของออสเตรเลีย ก่อนจะพบว่าตุลาการอาวุโสของศาลมีแนวโน้มของการศึกษาและเชื้อชาติในกลุ่มเดียวกัน 

การพยายามส่งเสริมความหลากหลายในแวดวงตุลาการ โดย Feminist Judgments Projects จึงนับเป็นอีกสิ่งสำคัญ ที่ช่วยให้แนวทางของคำวินิจฉัยสะท้อนความเป็นจริงของสังคมที่มีความหลากหลายได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในแง่ผลสะเทือน ที่เกิดขึ้นในคำพิพากษา จากกรณีแคนาดาพบว่า ยังต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงในคำพิพากษาอาจจะยังไม่มากพอเมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดสตรีนิยมที่ปรากฏในงานเขียนทางวิชาการ 

ขณะที่สหรัฐอเมริกา Feminist Judgments Projects มีการเขียนคำวินิจฉัยใหม่ 25 ประเด็น ที่มาจากศาลสูงสหรัฐ และตีพิมพ์ในปี 2016 ก็แสดงให้เห็นความก้าวหน้าที่มากขึ้นในอเมริกาเหนือ และโครงการเหล่านี้ยังกระจายไปยังหลายประเทศ อาทิ ไอร์แลนด์เหนือ นิวซีแลนด์ อินเดีย แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก เป็นต้น 

ความหลากหลายยังแสดงให้เห็นในกรณีสกอตแลนด์ ซึ่งมีการรวมตัวกันของนักวิชาการ นักกฎหมาย ทนายความฝึกหัด กวี นักการละคร ช่างภาพ นักแต่งเพลง ฯลฯ พิจารณาคำพิพากษา 16 กรณี เพื่อจินตนาการถึงคำพิพากษาที่ให้ค่ากับความเท่าเทียมทางเพศมากยิ่งขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการสร้างงานและนำเสนอการตีความคำพิพากษาที่นอกเหนือไปจากตัวบทกฎหมาย ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายและเล็งเห็นผลกระทบของคำพิพากษาต่อโลกในทางเป็นจริง 

แม้ว่าจะมีความแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละประเทศ แต่สิ่งที่พบร่วมกันจากการนำแนวคิดสตรีนิยมเข้ามาใช้เพื่อจินตนาการถึงคำพิพากษาใหม่ คือผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผนวกตัวเองเข้าไปอธิบายถึงความไม่เป็นธรรมในกรณีอื่นด้วย เช่น ประเด็นชนชั้น ผู้มีความท้าทายทางกายภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ ชาติพันธุ์ ผู้อพยพ ฯลฯ และผลสำเร็จอย่างมีนัยยะสำคัญจนแทบจะเป็นลายเซ็นของโครงการคือ การเปิดโปงให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละประเทศ แทบจะไม่แยกออกจากภูมิหลังและประสบการณ์ส่วนบุคคล และการตีความของศาลเองก็ไม่เคยเป็นกลาง ปราศจากอคติ  

ถึงที่สุด หากมองไปยังประเทศต่างๆ ข้างต้น ซึ่งล้วนมีบริบทของระบอบเสรีประชาธิปไตยรองรับ คำถามที่ตามมาคือ ในประเทศไทย ซึ่งยังอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยมที่ยังแฝงเร้นระบอบปิตาธิปไตยอยู่มากนี้ โครงการประชาชนเขียนคำพิพากษาใหม่ จะสามารถจุดประกายการเปลี่ยนแปลงทิศทางการตีความที่ต่างไปจากเดิมได้มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้นับเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย

.

X