อันธิฌา แสงชัย: อย่าลืมโอบกอดใจ ในวันต้องเผชิญแรงต้านจากสังคม

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2559 ในห้วงเวลาที่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องลี้ลับ ซ่อนอยู่ในหลืบเงาของสังคม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ความเชื่อทางศาสนาฝังรากมั่นคง ซ้อนทับกับท่วงทำนองของความรุนแรงที่บรรเลงประกอบภาพชีวิตของคนท้องถิ่น ชื่อของทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี (BUKU Football Club) กลายเป็นชื่อใหม่ที่มาพร้อมกับความท้าทาย โดยเฉพาะในเขตแดนทางสังคมที่ยังเต็มไปด้วยขนบมากมายเหนือร่างกาย

บูคู เอฟซี เป็นที่รู้จักในแวดวงของนักกิจกรรมทางสังคมและการผลักดันด้านสิทธิ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นทีมฟุตบอลเยาวชนทีมแรกในจังหวัดปัตตานีที่วางเอาชัยชนะมาเป็นหมุดหมายรองในการขับเคลื่อน แต่เลือกเปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ทุกกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่ม LGBTIQ+ ให้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเรียนรู้เรื่องความเท่าเทียมและสันติภาพผ่านลูกฟุตบอล เสียงเชียร์ และสนามหญ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

แม้ดูเหมือนเป็นความตั้งใจอันดี แต่ในสังคมที่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องอ่อนไหวและยืนคั่นกลางระหว่าง “หลักการด้านสิทธิ” และ “ศาสนา” บางครั้งการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอาจมีราคาที่ต้องจ่าย

ในวาระที่การโจมตีบนโลกออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อไล่ล่าผู้เห็นต่างอย่างเข้มข้นอีกครั้ง ศูนย์ทนายฯ ชวนคุยกับ ‘อาจารย์อัน’ อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู เอฟซี และ “ร้านหนังสือบูคู” และ “ห้องเรียนเพศวิถี” พื้นที่ปลอดภัยของผู้ที่มีเพศภาวะภายในที่อาจเลื่อนไหลไปจากนิยามและการรับรู้ของสังคม ถึงการรับมือการโจมตีบนแพลตฟอร์มออนไลน์ พื้นที่ของสิทธิในบริบทแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับศาสนาและความเชื่อ ความสำคัญของการดูแลสุขภาพทางใจในหมู่นักกิจกรรมทางสังคม ไล่เรียงไปจนถึงการรับมือกับบาดแผลทางใจ – ราคาที่อาจต้องแลกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

.

.

อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้คุณเข้ามาทำงานเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังถูกมองด้วยความไม่เข้าใจอยู่?

ส่วนหนึ่งเพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา เป็นเรื่องส่วนตัวซึ่งเราได้รับผลกระทบ เลยต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตคนที่เจอปัญหาคล้ายๆ กัน แต่ไม่มีโอกาสหรือเรี่ยวแรง เขาจะได้ไม่ต้องเจออย่างเรา

ส่วนเรื่องพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องท้าวความก่อนว่า เราเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่เรื่องเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เราเลือกทำงานสนับสนุนเสรีภาพในการคิดของคนที่นี่ซึ่งถูกกดทับโดยรัฐ ไม่ได้มุ่งมั่นทำประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศมาแต่แรก เพราะงานส่วนนั้นเราจะทำกับเพื่อนที่ส่วนกลาง ไม่ได้ทำที่ต่างจังหวัดโดยตรง

ตอนมาอาศัยอยู่กับแฟนในพื้นที่ มาใช้ชีวิต เราไม่ได้ปิดบังว่ามีคู่ชีวิตที่เป็นผู้หญิงหญิง มันก็เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกันสำหรับคนที่อยู่ในชุมชน ถึงเราไม่ได้ผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศในพื้นที่นี้โดยตรง แต่พอถึงจุดหนึ่งเรามองว่าไม่ทำไม่ได้แล้ว เพราะเราเห็นว่ามันมีช่องว่าง มีจุดอ่อน และเป็นเรื่องที่คนไม่กล้าทำในตอนนั้น แค่มีใครสักคนพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ เกย์ ทอม ดี้ หรือแม้แต่แสดงออกว่าสนใจเรื่องนี้มักถูกมอง ถูกตั้งคำถามว่าเป็นหรือเปล่า? และโดนปิดปากทันทีด้วยการบอกว่ามันบาปนะ จึงกลายเป็นเรื่องที่ต่อให้คนสนใจ เดือดร้อน หรืออยากปกป้องแต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา

.

ทราบมาว่าตอนผลักดันเรื่องทีมฟุตบอลหญิง คุณต้องเจอแรงกดดันทางสังคมหนักมาก โดยเฉพาะจากคนในพื้นที่หรือแม้แต่คนในแวดวงสิทธิ อยากให้เล่าเรื่องราวในตอนนั้นให้ฟังหน่อย?

ตอนนั้นเราโดนโจมตีอย่างหนักจากทางหลายทาง ทั้งในทางกายภาพและโลกออนไลน์ อย่างเวลาเด็ก ๆ อยู่ในสนามฟุตบอลมักโดนทั้งมีคนแซว โดนมอง หรือมีผู้ชายรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งบางครั้งคนที่เขาเข้ามาเขาเจตนาดี อยากช่วยสอน แต่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ของเด็ก ๆ ผู้หญิง และเด็กหลายคนมีความเปราะบาง ที่การรุกล้ำเกิดขึ้นเพราะเขาเชื่อว่าพื้นที่สนามฟุตบอลเป็นของผู้ชาย เขามีอำนาจมากกว่า จะเดินเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้

“เขาไม่เคยเห็นเด็กผู้หญิงรวมตัวกันเพื่อเตะบอล เป็นภาพที่แปลกตาสำหรับคนที่นี่ การทำสิ่งที่เขาไม่เคยเห็นก่อให้เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาจะทำความเข้าใจได้ง่ายๆ” – อันธิฌา แสงชัย

แต่การรุกล้ำหนักที่สุดเกิดบนโลกออนไลน์ เราเคยเจอการโจมตีรุนแรงที่สุดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 หลังจากเราเปิดตัวทีมฟุตบอลได้สัก 4 – 5 เดือน มีสารคดีเชิงข่าวชิ้นหนึ่งมาถ่ายทำเรื่องการทำทีมฟุตบอลและแนวคิดของเราในการทำงานประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ พอสารคดีฯ ชิ้นนั้นเผยแพร่ เราเข้าใจว่ามีความท้าทายต่อคนในพื้นที่มาก เพราะความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องพูดได้ยาก ยิ่งพอเราพูดในเชิงสตรีนิยมหรืออำนาจที่กดทับ เขาจะเข้าใจว่าเรากำลังพูดโจมตีศาสนา

ตอนแรกที่บูคูยังมีแค่กิจกรรม “ห้องเรียนเพศวิถี” มีคนเข้าร่วมกิจกรรมไม่มาก ยังถือเป็นเรื่องท้าทายแล้ว แต่พอมีทีมฟุตบอลหญิงและเรื่องราวได้รับการสื่อสารในทีวี ยิ่งมีคนจำนวนมากยอมรับให้มีการพูดถึงความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ มีความพยายามจากทุกทางที่จะหยุดกิจกรรมของเราด้วยการให้ข้อมูลและความเข้าใจผิดๆ ต่อสาธารณะว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นเลสเบี้ยน ซึ่งเป็นข้อโจมตีที่รุนแรง

ในตอนนั้นแม้แต่นักวิชาการที่ผลักดันเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยังพูดเรื่องนี้ในลักษณะโจมตีเรา ไม่ใช่แค่คนเดียวแต่มีหลายคนในช่วงเวลาแค่  1-2 วัน และไม่ใช่แค่การโจมตีผ่านเฟซบุ๊ก แต่มีการเขียนบทความเชิงโจมตีนับได้เกือบ 30 บทความ โดยชุมชนที่นี่ ทั้งนักกิจกรรมและนักวิชาการที่เป็นมุสลิม ทุกคนเขียนในทำนองเดียวกันว่ารับเรื่องนี้ไม่ได้ ทำให้บรรยากาศของการโจมตีต่อเนื่องยาวนานถึง 2 สัปดาห์ เกิดกระแสที่สร้างแรงกระเพื่อม ส่งต่อความคิดแบบนี้ในชุมชนของคน 3 จังหวัดฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ออนไลน์ จากการพูดต่อ ๆ กันกลายเป็นการด่าทอ ไม่ใช่แค่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ถึงขั้นที่ออกมาข่มขู่ พูดถึงเราในลักษณะเหยียดเพศ

.

ตอนนั้นตัวเราเองได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง? และรับมือกับบาดแผลในครั้งนั้นอย่างไร?

รุนแรงมาก (นิ่งไปครู่หนึ่ง) และบาดแผลในครั้งนั้นยังคงอยู่กับเราจนถึงปัจจุบัน แต่ได้รับการเยียวยาไปค่อนข้างมาก สามารถพูดถึงมันได้ เขียนถึงมันได้

ในช่วง 2-3 เดือนหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น มีคนชวนเราไปพูดเรื่องนี้ในวงเสวนา ทั้งวงสาธารณะและวงปิด เรายอมรับว่าหลายครั้งที่เราพูดหรือนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นเราตัวสั่น ทั้งโกรธ กลัว เสียใจ มีหลายอารมณ์เกิดขึ้นและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ กระทบกับคนรักที่ใช้ชีวิตด้วยกัน เขาเองได้รับบาดแผลเช่นเดียวกัน

“ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เราไม่สามารถมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นหรือมีคุณภาพ เพราะอาการบาดเจ็บและบาดแผลจากครั้งนั้นได้ฝังลึกอยู่ภายในตัวเรา” – อันธิฌา แสงชัย

กว่าเราจะฟื้นฟูตัวเองได้ใช้เวลานานหลายปี เหมือนเป็นสิ่งตกค้างในร่างกาย อยู่ในความคิดความรู้สึก ยิ่งในช่วงเวลานั้นยังไม่มีกลไกช่วยสนับสนุนดูแลจิตใจนักกิจกรรมมากเท่าที่ควร กระบวนการเยียวยาอย่างเป็นระบบเพิ่งมามีในช่วงไม่กี่ปีหลัง เราเลยกลายเป็นกรณีหนึ่งของนักกิจกรรมที่ถือว่ามีอาการหนักหนาสาหัส

อาการเจ็บป่วยทางใจหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลต่อเราในอีกรูปแบบคือเกิด “ภาวะซึมเศร้าเฉียบพลัน” อยู่ช่วงหนึ่ง มันไม่ได้อยู่ ๆ เกิดขึ้นทันที แต่สะสม แม้การโจมตีหนักๆ ผ่านไปแล้ว แต่ตัวเรายังคงทำงานประเด็นเดิมอยู่ โดยไม่มีโอกาสจัดการกับความรู้สึกอย่างจริงจัง ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องพอจะช่วยคลี่คลายสิ่งที่ตกค้าง เลยเกิดอาการเจ็บป่วยทางใจหลังเจอกับเรื่องสะเทือนความรู้สึก (PTSD) หลายครั้งเวลาที่เราเห็นเพื่อนโดนโจมตีในประเด็นอื่นแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แต่ความรู้สึกในตอนนั้นจะฟุ้งกลับขึ้นมาเลย

เราเคยถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย สาเหตุที่บาดแผลครั้งนั้นบาดลึกเพราะเรามองว่าประเด็นที่เราเคลื่อนไหวเป็นชีวิตของเรา เป็นเนื้อตัวร่างกายของเรา เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่สำคัญ เพราะบอกว่าเราเป็นใครบนโลกใบนี้ เราไม่สามารถหันหลังให้ได้ การที่เราเข้ามาทำงานในประเด็นที่สัมพันธ์กับตัวตนแล้วโดนโจมตี ทำให้เรารู้สึกเจ็บหนักถึงข้างในและเป็นแผลลึก

.

ได้เข้ารักษากับจิตแพทย์ไหม?

จริง ๆ เราคิดว่าเราและนักกิจกรรมทุกคนควรได้เจอกับจิตแพทย์ เหมือนเข้าพบเพื่อตรวจเช็กสุขภาพทั่วไป แต่เราไม่ได้เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ตั้งแต่แรก ๆ ที่เผชิญกับเรื่องนี้ จนมาเจอคนทำงานเกี่ยวสุขภาพจิตของนักกิจกรรม เราถึงได้เข้าสู่กระบวนการบำบัด ได้ทดลองเรียนศิลปะบำบัดและนำมาใช้กับตัวเอง

.

การโจมตีครั้งนั้นบนโลกออนไลน์ส่งผลกระทบต่อตัวคุณ แต่อีกด้านหนึ่ง มันส่งผลกระทบต่อตัวเด็ก ๆ ในความรุนแรงระดับเดียวกันหรือไม่? และเด็ก ๆ จะมีวิธีจำกัดผลกระทบที่เกิดขึ้นไหม?

เด็ก ๆ ได้รับผลกระทบในตอนนั้นหนักเหมือนกัน เขากลัวและโดนที่บ้านสั่งห้ามไม่ให้มายุ่งกับกิจกรรมของเราอีก แต่สิ่งที่น่ากลัวนอกจากการข่มขู่ให้หยุดทำกิจกรรม คือถึงขั้นมีการเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธออกมาจัดการกับเรา มีการแคปภาพของคนที่ปรากฏอยู่ในคลิปสารคดีฯ นั้นแล้วส่งต่อทางไลน์  ในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ค่อนข้างเข้มแข็ง คือวัฒนธรรมของการตักเตือน เวลาเห็นใครทำความผิด คนในสังคมจะรู้สึกว่าตัวเองมีความชอบธรรมในการเข้าไปตักเตือนให้คนคนนั้นกลับมาอยู่ในร่องในรอย ยิ่งเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่มาทำกิจกรรมกับเราเป็นมุสลิม เขาจะมองว่านั่นคือคนในชุมชนเขาซึ่งกำลังถูกชักชวนให้ออกนอกลู่นอกทาง ในไลน์มีการคุยกันถึงขั้นชักชวนว่าให้ไปหาบ้านของแต่ละคนที่อยู่ในสารคดีฯ เพื่อตักเตือน มันเป็นเรื่องน่ากลัวมากเพราะถือเป็นการข่มขู่ลักษณะหนึ่ง ซึ่งหลายคนไม่ได้มองว่าเป็นการข่มขู่ แต่เป็นเรื่องที่ควรทำและต้องทำในฐานะมุสลิมที่ดี

ในตอนนั้น เราต้องทำงานหนักมากทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้อยู่ในสภาวะที่โอเคเลย เราใช้หลายวิธีในการรับมือ มีตั้งแต่การเก็บข้อมูลหลักฐานการคุกคามที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ทั้งหมดเท่าที่จะเก็บไหว เราถึงกับสร้างเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์ของตัวเอง แทบไม่ได้นอนไม่ได้กิน ตลอด 3 – 4 วัน แรกๆ ที่เกิดกระแส เราไม่กล้าออกจากบ้านด้วยซ้ำ เพราะคนจำหน้าเราได้

อาการเกลียดกลัว (phobia) เรื่องเพศเป็นความรุนแรงที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ความกลัวของคนเป็นเรื่องที่เราไม่กล้าดูเบา มันไม่ใช่แค่ว่า โอ๊ย! ไม่มีอะไรหรอก เพราะนักกิจกรรมที่ผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศในหลายประเทศหลายพื้นที่ มีบางคนถูกใช้ความรุนแรงจนถึงชีวิตในหลายกรณีมาแล้ว เราไม่กล้าดูเบาเรื่องนี้แม้ว่าคนรอบตัวจะพยายามบอกเราไม่ให้กังวล แต่เราคิดว่าการมองแบบนี้ถือว่าเป็นการมองแบบที่ไม่เข้าใจถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้

3 – 4 วันแรก ที่เราไม่กล้าออกจากบ้าน เราพยายามกระจายข่าวให้กับเด็ก ๆ ให้เอาภาพตัวเองออกจากเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะหลายคนที่มีคู่รักเป็นเพศเดียวกัน ให้ตั้งค่าบัญชีเป็นส่วนตัว พยายามแนะนำไม่ให้เขาออกไปข้างนอก อย่าจูงมือกันในที่สาธารณะ เรายังพยายามกระจายข่าวไปในชุมชนที่เราทำงานด้วย แต่พยายามไม่ให้เขาเกิดความกลัว แต่อธิบายเป็นขั้นตอนว่าเขาควรต้องทำอะไรบ้างและเพราะอะไร

.

.

ตอนนั้นถือเป็นการโจมตีบนโลกออนไลน์ที่หนักที่สุดเลยหรือเปล่า?

หนักที่สุด เรื่องเริ่มมาซาลงเพราะเกิดการทำงานทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างหนัก ในทางออนไลน์คือมีเสียงจากทางนักกิจกรรมและนักวิชาการในเครือข่ายคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในหลาย ๆ มิติ ไม่ใช่แค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ ส่งเสียงขึ้นมาพร้อม ๆ กันว่าต้องปกป้องกลุ่มบูคู เสียงแบบนี้มาจากข้างนอกและดังกึกก้องมาก มีการออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์นี้โดยมีคนลงชื่อในแถลงการณ์เป็นร้อยคน ทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรม มีการกดดันจากข้างนอก มีการเขียนบทความเชิงสนับสนุน บอกว่าเรื่องนี้ต้องถูกทำความเข้าใจใหม่ และต้องไม่ใช้ความรุนแรง ในตอนสุดท้ายเหตุการณ์คลี่คลายได้จากบทสัมภาษณ์ของ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เกี่ยวกับประเด็นนี้โดยตรง อาจารย์ชัยวัฒน์ท่านเป็นอาจารย์มุสลิมที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอีกเช่นกันที่คนในพื้นที่จะฟังคนอาวุโสและน่าเชื่อถือ

สิ่งที่อาจารย์พูดในเวลานั้นคือพยายามพูดถึงทั้งสองด้าน ทั้งมิติของความเชื่อของศาสนาอิสลาม และในมิติของสิทธิมนุษยชน อาจารย์พยายามบอกว่ามีหลายอย่างไม่ได้สอดคล้องกัน แต่จำเป็นต้องเข้าใจอีกฝั่งหนึ่งโดยไม่ใช้ความรุนแรง เสียงของคนที่โจมตีเราถึงได้เริ่มเงียบลง

.

ในฐานะคนตกเป็นจำเลยสังคม คิดว่าปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นทัศนคติใดบ้างของคนที่ตัดสินเรา? กลับกัน คิดว่าอะไรคือบทเรียนที่ทางเขาเองได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น?

เราไม่ได้มองว่าเขาเลวร้ายนะ เพราะหลายคนที่พูดพูดด้วยความรู้สึกว่าตัวเองต้องปกป้องสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เราทำคุกคามคุณค่าหรือสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมาก ๆ มันเป็นเรื่องที่เขายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องยอมรับว่างานที่เราทำมันท้าทายจริง ถ้ามีคนทำเยอะแยะ เราคงไม่เป็นเป้า แต่ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศกับการสนับสนุนสิทธิของผู้หญิงในพื้นที่ 3 จังหวัดฯ เป็นเรื่องใหม่ในบริบทที่ไม่เคยมีเรื่องนี้มาก่อน

หลังการโจมตีครั้งนั้น มีเรื่องดี ๆ คือเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้น หลายปีผ่านไป กลายเป็นว่าเรื่องที่ไม่เคยถูกพูดถึงอย่างความหลากหลายทางเพศกลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงได้ง่ายขึ้น มากขึ้น การที่เราพยายามรับมือกับเหตุการณ์และดูแลตัวเองได้ในบางระดับ เมื่อมองถึงผลลัพธ์ในตอนนี้ ทำให้เราเห็นแง่ดีอยู่บ้าง เรียกว่าเป็นการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไป

หลายคนที่เขาเคยโจมตีเรา เขาได้เรียนรู้ว่า เวลาแสดงความเห็น การโจมตีแบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะยอมรับกันได้ ยิ่งเป็นเสียงจากในชุมชนนักกิจกรรม นักวิชาการในพื้นที่ เสียงของพวกเขาส่งผลกระทบกับคนอื่น หรือแม้แต่ตัวเขาเอง เป็นเรื่องที่ผิดไปจากหลักการในการทำงานด้านสิทธิ ซึ่งพวกเขาควรต้องเข้าใจ

.

หากมองในมุมของคนที่ได้รับผลกระทบจากการผลักดันประเด็นจนต้องเจอผลกระทบกับตัวเอง คิดว่าเรื่องการดูแลสุขภาพทางใจของนักกิจกรรมมีความสำคัญแค่ไหน?

เราเชื่อว่าคนที่ออกมาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลง หลาย ๆ คน ประเด็นที่เขาผลักดันคือประเด็นที่ยังอยู่ หรือเคยอยู่ในชีวิตของเขาเหล่านั้น อาจเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร เขาอาจเป็นคนในท้องถิ่นที่เคยได้รับผลกระทบ เมื่อได้มาทำงานตรงนี้ ต้องรับรู้ ช่วยเหลือปัญหาของคนอื่นที่ยังไม่สามารถคลี่คลายได้ แง่หนึ่ง มันคือการสัมผัสกับความเจ็บปวดแบบเดียวกับที่ตัวเองเคยเจอซ้ำ ๆ

การทำงานระยะยาวโดยไม่มีเครื่องมือดูแลจิตใจไม่ใช่เรื่องดีเลย โดยเฉพาะหลายประเด็นในบ้านเราที่ดูยากลำบาก ดูเหมือนแทบจะไม่มีอนาคต เพราะปัญหาทุกอย่างผูกอยู่กับโครงสร้าง ความหวังมันน้อยและไม่เพียงพอที่จะทำให้คนทำงานลืมความเจ็บปวด ยิ่งคนที่ทำงานเรื่องสิทธิ ยิ่งเข้าใจเรื่องนี้มาก มันจะยิ่งรู้สึกรู้สากับทุกเรื่องที่เจอ อย่างกรณีอุ้มหายล่าสุด มันส่งผลกระทบกับนักสิทธิ นักกิจกรรมในหลาย ๆ มิติ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำเรื่องนี้โดยตรง แต่พอเราเห็นเพื่อนเราเศร้า เจ็บปวด โมโห เราก็พลอยรู้สึกไปด้วย

“นี่คือความท้าทายในชุมชนนักกิจกรรมในเมืองไทย และทุกที่ทั่วโลก เราจึงต้องมีเครื่องมือดูแลจิตใจของคนในหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ตัวเอง กลุ่มคนที่เราทำงานด้วย เพื่อนร่วมงาน และสุดท้ายคือในระดับเครือข่าย ซึ่งทั้งหมดต้องเดินไปพร้อมกัน” – อันธิฌา แสงชัย

ในระดับเล็กที่สุดคือสุขภาพใจของเรา เราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ต้องเข้าใจว่าบางประเด็น ต่อให้ทำงานหนักแค่ไหน เราอาจไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรุ่นของเรา ดังนั้นคุณต้องถอยออกมาบ้าง รู้ว่าถ้าต้องพักคือต้องพัก อารมณ์โกรธ อารมณ์ด้านลบทำให้ร่างกายเราทำงานผิดปกติ จนที่สุดเกิดอาการหมดแรง หมดความหวัง หดหู่ นี่เป็นสัญญาณเตือนแรก การหยุดพักไม่ได้ทำให้โลกแตก (หัวเราะ) นอนให้หลับ ดูแลเรื่องอาหารการกิน ดูแลสุขภาพตัวเอง มีเวลาพักที่ไม่ใช่การทำงานตลอด 24 ชม. ทำแบบนี้จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีไปพร้อมกับการทำงานที่ท้าทาย

ถ้าเรารู้ว่าเราอยู่ในภาวะที่ท้าทายมาก งานของเรายากมาก ต้องแบกรับความรับผิดชอบต่อชีวิตคนอื่น เรายิ่งต้องมีเครื่องมือที่ดีขึ้น การไม่สามารถดูแลความรู้สึกของตัวเองในบางครั้งเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่อาจต้องมีนักบำบัดเข้ามาช่วยเหลือ หรือต้องเข้ารับการบำบัดเป็นระยะ ๆ ลองค้นหาเครื่องมือที่เหมาะกับเราที่จะช่วยดึงเอาความป่วยไข้พวกนี้ออกไป

.

มีองค์กรไหนบ้างไหมที่สนับสนุนนักกิจกรรมเรื่องการดูแลจิตใจ?

นักกิจกรรมทางการเมืองค่อนข้างเป็นกลุ่มบอบบาง เพราะประเด็นที่ทำอาจท้าทายคุณค่ากระแสหลักของสังคม ดังนั้นพื้นที่บำบัดที่ปลอดภัยอาจจำกัด แต่ขณะเดียวกันไม่ได้ไม่มีเลยเสียทีเดียว มีอยู่บ้าง เช่น กลุ่มการเมืองหลังบ้าน กับกลุ่มฟื้น ซึ่งมีกระบวนการจิตบำบัดหลายรูปแบบ แต่ถ้าเรื่องของเราอยู่ในระดับไม่คอขาดบาดตาย หรือแค่ต้องการพักผ่อน อาจไปรับบริการจากนักบำบัดทั่ว ๆ ไปได้ มีกระบวนการมากมาย เช่น การวาดรูป การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการใช้เสียงระฆังบำบัด ที่จะช่วยให้เราปลดปล่อยโดยไม่ต้องพูด หรือเราอาจเลือกคุยกับจิตแพทย์มืออาชีพที่เรามั่นใจได้ว่าเขาจะเก็บเรื่องของเราเป็นความลับ

.

ตอนต้องเจอกับการคุกคาม เคยถามตัวเองไหมว่า สิ่งที่เรากำลังเจอคุ้มกับสิ่งที่เราต้องแลกเพื่อผลักดันไหม? ราคาที่ต้องจ่ายมากเกินไปหรือเปล่า?

อาจจะเคยคิด แต่ “มากเกินไป” สำหรับเราอาจไม่มี เพราะงานที่ทำเกี่ยวกับชีวิตเราด้วย รู้สึกเหนื่อยบ้าง รู้สึกทำมาเต็มที่แล้ว ทำมาเยอะแล้ว ตอนที่เรายังเต็มไปด้วยบาดแผล การอยากหยุดของเราคือการหยุดที่จะมีชีวิตต่อไป เออ กูไม่อยากอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าสิ้นหวังหดหู่นะ แต่คือความพอใจว่า เราทำมาเยอะ ทำเต็มที่ ได้ผลแล้ว เกิดการเคลื่อนไปแล้ว เราควรหยุดพักได้แล้วด้วยการหายไปเลย คือความคิดที่เกิดขึ้นตอนสุขภาพทางใจของเรากำลังย่ำแย่

แต่พอมาถึงจุดที่ใจเราเข้มแข็งพอ หันกลับมาหากลไกในการดูแลตัวเอง เราถึงคิดได้ จากประสบการณ์ตัวเองที่อยู่ในปัญหานั้นโดยตรง เราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราและเกิดอะไรขึ้นกับนักกิจกรรมที่กำลังต่อสู้อย่างเข้มข้น หลายคนขอความช่วยเหลือไม่เป็น หลายคนไม่รู้จักจังหวะที่จะถอยออกมา เลยเหมือนถูกบดขยี้ จนไม่เหลืออะไรในวินาทีนั้น แม้แต่แรงจะขอความช่วยเหลือหรือขอหยุดไปพักผ่อนทั้งที่เหมาะสมจะได้รับ โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือเกรงใจใคร มันไม่มีวัฒนธรรมแบบนั้นใส่เข้าไปในการทำงานตั้งแต่ต้น

.

พอสถานการณ์โควิดเริ่มรุนแรงน้อยลง ประเด็นเรื่องการโจมตีบนโลกออนไลน์ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเริ่มกลับมาอีกครั้ง พร้อมการแสดงความเห็นทางการเมือง การผลักดันประเด็นสังคม จากประสบการณ์ของคุณเอง อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดโดยเฉพาะเวลาต้องรับมือกับการโจมตีที่มองไม่เห็นในพื้นที่ออนไลน์? อะไรทำให้การรับมือเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก?

อย่างแรกเลยคือเราไม่มีกลไกปกป้องคนถูกโจมตี กฎหมายและกลไกของรัฐปกป้องเราไม่ได้ ในบางกรณีกลายเป็นเครื่องมือเพื่อโจมตีนักกิจกรรมด้วยซ้ำไป ในกระบวนของนักกิจกรรมหรือนักปกป้องสิทธิ มีความพยายามสร้างกลไกคุ้มครองดูแล มีเครื่องมืออย่างการเก็บบันทึก ส่งต่อข้อมูล ส่งเสียง เขียนแถลงการณ์ หรือกระทั่งการดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วยการให้งบสำหรับนักกิจกรรมที่ต้องย้ายที่อยู่เพื่อหนีจากอันตราย ไล่ไปจนถึงการดูแลสุขภาพทางใจ มีกลไกที่เราใช้เพื่อช่วยเหลือกันเองในหมู่นักกิจกรรม แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด

.

ในช่วงนี้ เริ่มมีคนออกมาพูดเรื่องประเด็นทางสังคมอย่างเข้มข้นอีกครั้ง แล้วเจอปัญหาการล่าแม่มด การเสียบประจานออนไลน์ การด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง คุกคาม แต่ยังมีคนที่ยังยืนหยัดสู้อยู่ดี อยากฝากอะไรถึงคนกลุ่มนี้ไหม?

เรายืนอยู่ด้วยกันเลยแหละบนเส้นทางเดียวกันนี้ (หัวเราะ) ที่อยากฝากคือ อยากให้รับรู้ว่า เรายืนอยู่ข้าง ๆ กัน ทุก ๆ คน ทุก ๆ เคส ที่เกิดขึ้น เรากำลังทำสิ่งเดียวกันเพื่อร้างความเปลี่ยนแปลง และเข้าใจว่ามันยากแค่ไหน เข้าใจความเจ็บปวดที่ต้องแบกรับ เข้าใจความกลัว เข้าใจความสิ้นหวัง ความโกรธ ความอับอาย หลาย ๆ อารมณ์ที่เกิดขึ้น เราเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

“เราต้องเข้าใจด้วยว่า คนที่เขาข่มขู่คุกคามคนอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเติบโตขึ้นมาในสังคมบิด ๆ เบี้ยว ๆ หลายคนไม่ได้มีเจตนา แต่เป็นความคุ้นชินที่เขาไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งที่อาจผลักให้เกิดความรุนแรง” – อันธิฌา แสงชัย

เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า คุณไม่ได้สู้อยู่คนเดียว การที่หลายคนออกมาทำแบบนั้น มาเคลื่อนไหว ในที่สุดมันเป็นการเคียงบ่าเคียงไหล่คนอื่นที่กำลังทำแบบเดียวกัน ถ้ามีจำนวนที่มากพอ วันหนึ่งคนที่ออกมาคุกคามเราอาจน้อยกว่าฝั่งคนที่มาช่วยปกป้องเราก็ได้ อยากให้เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น

.

อ่านเรื่องราวอื่นๆ เพิ่มเติม:

ทำอย่างไรเมื่อถูกล่าแม่มด 10 วิธีรับและรุกเมื่อถูกล่าฯ

ณัฏฐา มหัทธนา: อาชญากรรมแท้จริงคือการ “ล่าแม่มด” และฉันขอปฏิเสธที่จะเป็นเหยื่อ

ส่องสถานการณ์ “ล่าแม่มด” หลังเกิดกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

ชลิตา บัณฑุวงศ์: จะอยู่รอดและชนะได้อย่างไรเมื่อโดนเสียบและล่าแม่มด

X