ส่องสถานการณ์ “ล่าแม่มด” หลังเกิดกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส”

การเกิดขึ้นของกลุ่มในเฟซบุ๊กชื่อ “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ซึ่งตั้งขึ้นโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 ดูเหมือนจะทำให้สถานการณ์การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นไปอย่างเข้มข้น ภายหลังจากหลายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกทวิตเตอร์ก่อนหน้านี้

กลุ่มเฟซบุ๊กนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 และได้กลายเป็นพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างกว้างขวาง จนปัจจุบันผ่านไป 1 เดือนครึ่ง กลุ่มมีสมาชิกเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 4.6 แสนราย และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน “ปฏิกิริยาตอบสนอง” ต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อมีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ทราบหน่วยงานเข้าติดตามไปบ้านบุคคลที่โพสต์แสดงความเห็น มีการพาตัวไปสอบที่สถานีตำรวจโดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียกใดๆ เจ้าหน้าที่ได้สอบข้อมูลส่วนบุคคล ขอตรวจค้นอุปกรณ์สื่อสาร สั่งให้ลบโพสต์ข้อความ และบังคับให้เซ็นบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้อีก มิเช่นนั้นจะมีการดำเนินคดี โดยยังไม่มีรายงานจำนวนที่แน่ชัดของผู้ถูกคุกคามในลักษณะนี้ เนื่องจากการถูกข่มขู่ไม่ให้เปิดเผยข้อมูลสิ่งที่เกิดขึ้น

อีกปฏิกิริยาตอบสนองหนึ่งที่มีรายงานมากขึ้น คือสถานการณ์การ “ไล่ล่าแม่มด” ต่อผู้แสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่ช่วงกลางเดือนจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ถูกเพจที่คอยติดตามจับตา ดำเนินการไล่ล่าแม่มดอย่างน้อย 25 ราย หลายรายเป็นผู้โพสต์หรือคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” บางรายก็เป็นการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ก็มีบางรายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว และยังไม่แน่ชัดว่าถูกไล่ล่าเพราะเหตุใด

เพจที่คอยไล่ล่าบุคคลดังกล่าว จะแคปภาพเฟซบุ๊กและภาพข้อความของผู้ถูกล่ามาโพสต์เผยแพร่ในเพจ บางกรณีก็มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดเผย เช่น ชื่อสกุลจริง สถานที่เรียนหรือสถานที่ทำงาน และมีการระดมลูกเพจให้ช่วยกันด่าทอโจมตี หรือให้ช่วยกันเข้ากดดันสถานที่เรียนหรือสถานที่ทำงานของผู้ถูกล่า เพื่อสร้างผลกระทบในชีวิตประจำวัน จนบางรายต้องถูกให้ออกจากงานที่ทำอยู่ หรือเกิดความหวาดกลัวในการใช้ชีวิตทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์

ระยะหลังยังมีการนำข้อความและข้อมูลส่วนบุคคลไปแจ้งความตามสถานีตำรวจในท้องที่ต่างๆ และมีการนำบันทึกการแจ้งความเหล่านั้นมาโพสต์เผยแพร่ หรือส่งข้อความถึงตัวผู้ถูกไล่ล่าว่าได้มีการไปแจ้งความเอาไว้แล้ว เพื่อข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว แต่ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในแต่ละพื้นที่ได้มีการดำเนินการใดต่อกรณีนี้เหล่านี้หรือไม่

เพจเฟซบุ๊กที่ดำเนินการในลักษณะนี้ อาทิเช่น “The METTAD”, “อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกียv10”, “พรรคกระยาจก”, “ขุนนาค”, “เสธ Play” เป็นต้น เพจเหล่านี้มีผู้กดถูกใจไว้ตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนราย รวมทั้งยังมีแอคเคาท์ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางรายไล่ล่าแม่มดในลักษณะนี้เองด้วย ไม่ใช่เพียงในรูปแบบของเพจเท่านั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามกรณีผู้ถูกไล่ล่าแม่มดในช่วงดังกล่าวบางส่วน โดยได้สอบถามถึงข้อมูลและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากถูกไล่ล่า ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ 3 ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เผชิญกับกระบวนการสร้างความหวาดกลัวต่อผู้แสดงความคิดเห็นในประเด็นอันแหลมคมนี้

.

ที่มาของภาพ

.

เรื่องของบี: ถูกส่งข้อความคุกคามถึงคนในครอบครัว จนสร้างความหวาดระแวง

บี (นามสมมติ) อายุ 24 ปี เป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน

ในช่วงวันที่ 13 พฤษภาคม บีได้แชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊กหนึ่งที่มีเนื้อหาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเจริญของประเทศไทย เขาได้เขียนข้อความสั้นๆ ประกอบโพสต์ที่แชร์ โดยพูดถึง “รูปที่มีทุกบ้าน” ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม บีได้แชร์ลิงค์จากเว็บไซต์เกี่ยวกับรายการศึกษาของเด็ก ซึ่งลิสต์ในรายการส่วนใหญ่ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ โดยเขาได้เขียนข้อความประกอบสั้นๆ เรื่องการโฆษณาชวนเชื่อในประเทศไทย

แม้บีจะได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส แต่การโพสต์แสดงความคิดเห็นดังกล่าวของบี เกิดขึ้นในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง ไม่ได้เป็นการไปโพสต์ในพื้นที่กลุ่ม โดยเขาตั้งค่าเผยแพร่เป็นสาธารณะ

ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม บีพบว่าเพจชื่อ “พรรคกระยาจก” ได้มีการแคปโพสต์ข้อความของเขาไปเผยแพร่ต่อ และยังนำข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งชื่อสกุล สถานศึกษาเผยแพร่ประกอบโพสต์ พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐหาทางดำเนินการกับเขา

สามวันต่อมา บีพบว่ายังมีอีกหลายเพจเฟซบุ๊กที่ได้นำข้อมูลส่วนตัว และแคปโพสต์ของเขาไปโพสต์เผยแพร่ต่ออีกในลักษณะเดียวกับเพจพรรคกระยาจก ได้แก่เพจ “The METTAD”, “อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกียv10”

กระบวนการดังกล่าวทำให้มีผู้ติดตามในเพจต่างๆ เหล่านั้นได้ส่งข้อความในลักษณะด่าทอโจมตี และข่มขู่คุกคามมายังเฟซบุ๊กของเขา รวมทั้งยังมีการพยายามสืบค้นข้อมูลส่วนตัวของบีเพิ่มเติมอีก ทั้งโดยการพยายามไปสอบถามจากคนรอบข้างหรือผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นเฟรนส์กับเขา และมีการส่งข้อความไปหาคุณพ่อของเขา เพื่อแจ้งว่าบีมีการโพสต์ข้อความเช่นนี้ โชคดีที่ทางบ้านเขาเข้าใจ จึงไม่ได้มีปัญหาใดในครอบครัวเกิดขึ้น

หลังถูกส่งข้อความข่มขู่ ทำให้บีตัดสินใจปิดเฟซบุ๊กไป โดยเขาเล่าว่าในหลายวันนั้นทำให้ตนเกิดความเครียดและหวาดระแวงมาก จนนอนไม่หลับหลายวัน เพราะกลัวว่าการคุกคามในชีวิตประจำวันจะมากขึ้นกว่าเดิม และยังกังวลไปถึงครอบครัวและคนรอบข้างที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วย

.

ที่มาของภาพ GETTY IMAGES

.

เรื่องของดีล: เยาวชนผู้ถูกไล่ล่าแจ้งความ และตำรวจบุกบ้าน

ดีล (นามสมมติ) อายุ 17 ปี กำลังศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดทางภาคใต้

ดีลเล่าว่าเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม เขาได้โพสต์ข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” มีเนื้อหากล่าวถึงความเป็นคนธรรมดา ไม่ได้มีความวิเศษของพระมหากษัตริย์

หนึ่งวันถัดมา มีเพจที่ใช้ชื่อว่า “ขุนนาค” ได้แคปโพสต์ข้อความดังกล่าวไปเผยแพร่ในหน้าเพจ ทำให้ผู้ติดตามเพจดังกล่าวเข้ามาแสดงความไม่พอใจในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา ทั้งยังมีการข่มขู่จะดำเนินคดี และมีการไปไล่ดูโพสต์เก่าๆ ในเฟซบุ๊กของเขา พร้อมกับนำข้อมูลส่วนตัวของเขาไปเผยแพร่

วันที่ 23 พฤษภาคม ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่จำนวน 2 นาย เดินทางมาที่บ้านของดีล และได้แจ้งขอเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ของเขาภายในบ้าน โดยได้บอกครอบครัวของเขาว่าดีลได้ไปโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตำรวจได้กล่าวตักเตือนว่าไม่ให้ทำเช่นนี้อีก โดยอ้างว่าการโพสต์ลักษณะนี้อาจเป็นความผิดเรื่องการหมิ่นประมาทสถาบันฯ อยากให้ทางครอบครัวตักเตือนลูกในการใช้เฟซบุ๊ก ก่อนเจ้าหน้าที่จะเดินทางกลับไป

ดีลยังพบว่ามีการไปแจ้งความดำเนินคดีกับเขา กล่าวหาว่าได้โพสต์ดูหมิ่นกษัตริย์ ทิ้งไว้ที่สถานีตำรวจที่ไหนสักแห่ง เพราะเพจมีการตัดบันทึกแจ้งความบางส่วนมาเผยแพร่ให้ทราบ และยังมีผู้ส่งเรื่องของเขาไปยังโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ด้วย แต่จนถึงปัจจุบันทางสถานศึกษายังไม่ได้มีการดำเนินการใดตามมา

กระบวนการล่าแม่มดทั้งหมดส่งผลกระทบให้เขาและครอบครัวเกิดความกลัวและหวาดระแวงอย่างมาก เพราะเกรงว่าจะถูกคุกคามในชีวิตประจำวันมากขึ้นอีก และไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง พ่อกับแม่ยังวิตกกังวลว่าเขาจะถูกดำเนินการทางกฎหมายตามมาหรือไม่ หรือทางสถานศึกษาจะคิดเห็นเช่นใด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของครอบครัว

.

ที่มาของภาพ

.

เรื่องของเอก: ถูกไล่ล่ากดดันจนบริษัทให้ออกจากงาน

เอก (นามสมมติ) อายุ 23 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทขายสินค้าในจังหวัดทางภาคตะวันออก เอกไม่เคยเข้ากิจกรรมทางการเมืองใดมาก่อน แต่ติดตามข่าวสารและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้นตั้งแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 เพราะเกิดความสนใจว่าเหตุใดประเทศถึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เอกเข้าร่วมกลุ่มขายสินค้าต่างๆ ในเฟซบุ๊ก รวมทั้งกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” โดยพบว่าเป็นกลุ่มที่มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเอกก็ได้ติดตามอ่าน จนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เอกได้โพสต์ข้อความในกลุ่มดังกล่าวจำนวนสองข้อความ ข้อความหนึ่งเป็นการโพสต์คลิปเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พร้อมตั้งคำถามเรื่องการยึดอำนาจของกองทัพ อีกข้อความหนึ่งเป็นการพูดถึงปัญหาภาวะเศรษฐกิจ โดยมีการเอ่ยถึงพระมหากษัตริย์ด้วย แต่ไม่ได้เป็นมีลักษณะดูหมิ่นแต่อย่างใด

ประมาณเกือบหนึ่งอาทิตย์ถัดมาหลังโพสต์ข้อความดังกล่าว เอกพบว่าได้เริ่มมีผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนส่งข้อความมายังเพจของบริษัทที่ตนทำงานอยู่ โดยโจมตีว่ามีพนักงานของบริษัทที่มีความคิดเห็นเชิงลบต่อสถาบันกษัตริย์ พร้อมแคปข้อความในกรุ๊ปดังกล่าวส่งมาให้ดู บางข้อความก็เรียกร้องให้ทางบริษัท “จัดการ” กับพนักงานคนดังกล่าว โดยระบุว่าหากไม่จัดการ ผู้ส่งข้อความจะเดินทางมาจัดการด้วยตนเอง เพราะอยู่ใกล้กับที่ตั้งบริษัทด้วย เอกทราบว่ามีผู้ส่งข้อความมามากกว่า 30 ข้อความ แต่ก็ทราบว่ามีข้อความบางส่วนที่ส่งมาขอให้ทางบริษัทพิจารณาอย่าไล่พนักงานออก เพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นด้วย

เอกพบต่อมาว่าในเพจ “อึ้งเอี๊ยะซือ เทื้อเอี้ยวเกีย V10” ได้มีการบันทึกหน้าจอข้อความที่เขาโพสต์ และนำมาโพสต์ต่อ พร้อมกับระบุสถานที่ทำงาน และให้แฟนเพจช่วยกันเข้าไปแจ้งเหตุการณ์กับทางบริษัท อันน่าจะเป็นที่มาทำให้มีผู้ส่งข้อความโจมตีไปที่เพจของบริษัท

ต่อมาผู้จัดการบริษัทได้โทรศัพท์แจ้งเอกว่าได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ก่อนที่หนึ่งวันถัดมา ผู้จัดการจะแจ้งว่าที่ประชุมของบริษัทมีมติให้เอกออกจากการเป็นพนักงาน เนื่องจากมีการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง และส่งผลกระทบต่อทางบริษัท แต่ผู้จัดการก็แจ้งว่าถ้าเรื่องเงียบลงแล้ว บริษัทจะพิจารณารับเอกกลับเข้าทำงานใหม่ได้ แต่เอกเห็นว่าทัศนคติของตนเองกับบริษัทไม่ตรงกัน จึงเลือกจะไม่กลับไปทำงานอีกแล้ว

สองวันต่อมา ผู้จัดการได้แจ้งขอให้เอกเข้าไปเขียนใบลาออกจากบริษัท ซึ่งเอกได้ยินยอมดำเนินการดังกล่าว เพราะคิดในแง่ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจากตนเอง ไม่อยากให้เลยเถิดไปไกล จึงยินยอมไปเขียนใบลาออกเอง และคิดว่าตนยังมีความสามารถในการหางานใหม่ได้

เอกยังพบว่ามีผู้ส่งข้อความมาด่าทอในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีการด่าว่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ตั้งคำถามว่าทำไมถึงมีความคิดเช่นนั้น เอกได้เปิดอ่านเพียงบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านหรือตอบโต้ใดๆ ในส่วนครอบครัวหรือเพื่อนของเอก ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น

เอกเห็นว่ากรณีของเขาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึงระบบที่ไม่ยุติธรรม มีการพยายามทำให้คนกลัว ทำให้ได้รับผลกระทบในหน้าที่การงาน และสร้างแรงกดดันให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ข้อความที่เขาโพสต์ก็ไม่ได้เป็นความผิดอะไร เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเท่านั้นเอง

 

อ่านข้อแนะนำต่อการรับมือกระบวนการล่าแม่มด ชลิตา บัณฑุวงศ์: จะอยู่รอดและชนะได้อย่างไรเมื่อโดนเสียบและล่าแม่มด

 

X