“ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย” เสียงจาก “ปาหนัน” นักกิจกรรมเพศหลากหลาย ในวันที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดี 116

“ตอนนี้หนูถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในคดีมาตรา 116 ‘ยุยงปลุกปั่น’ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัย แล้วก็พ่วงด้วยความผิดตาม พ.ร.บ. ต่างๆ เพราะเข้าร่วมชุมนุมที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 … “

“ก่อนหน้าที่จะโดนคดี ด้วยความที่เราทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของคนที่มีเพศแตกต่าง ก็เคยศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศของเรือนจำผ่านสายตาของคนที่เป็นกลุ่มน้อยของสังคม เราก็เลยรู้ว่ามันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เข้ามาละเมิดสิทธิของนักโทษ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ต้องถูกกร้อนผม ในกรณีของคนที่เข้ารับการผ่าตัดข้ามเพศแล้วก็จะต้องถูกส่งไปแดนเฉพาะ ถ้าไม่ผ่าตัดถึงจะถูกส่งไปรวมกันกับคนอื่นๆ”

“การทำงานภาคประชาสังคม ไม่ใช่ว่าการออกมาพูดอย่างเดียวแล้วจะเปลี่ยนอะไรได้ มันจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย ยิ่งถ้าสังคมเรามีฐานคิดในเรื่องของประชาธิปไตย การสร้างความเท่าเทียมทางเพศมันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะภายใต้ระบบที่ว่า ประชาชนทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน หนูไม่เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเรื่องสิทธิที่จะสามารถเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนภายใต้การครอบงำของเผด็จการ เพราะระบอบดังกล่าวมันก็เกิดขึ้นจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ มันจึงย้อนแย้ง ถ้าเราจะพูดเรื่องสิทธิในสังคมแบบนี้”

ก่อนที่จะผ่านพ้น #วันสตรีสากล ศูนย์ทนายชวนสนทนากับ “ปาหนัน” ปาหนัน ชัญญา นักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศผู้ต้องกลายมาเป็นผู้ต้องหาคดี 116 จากการร่วมชุมนุมที่เชียงใหม่ สำรวจแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากก้าวเข้ามาทำงานการเมือง แม้ต้องเจอบาดแผล ทัศนะเรื่องสิทธิ – ความเท่าเทียม และหมุดหมายใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ในวันที่ทั้งผู้หญิงและกลุ่มเพศหลากหลายต่างตบเท้าเข้ามาร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมไปกับมวลชน #คณะราษฎร63

.

คดีความคดีแรก ในวันที่สังคมยังคงไม่เข้าใจเรื่องความเท่าเทียม

“ตอนนี้หนูถูกกล่าวหาว่าทำความผิดในคดีมาตรา 116 ‘ยุยงปลุกปั่น’ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัย แล้วก็พ่วงด้วยความผิดตาม พ.ร.บ. ต่างๆ เพราะเข้าร่วมชุมนุมที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 แต่หมายเพิ่งส่งมาตอนเดือนกุมภาปีนี้ ด้วยความที่หมายเรียกเขียนแบบรวมๆ กับของคนอื่นอีก 33 คน (มูลเหตุจากการร่วมชุมนุมเช่นเดียวกัน) ทำให้เราไม่รู้ว่าจะโดนแจ้งข้อหาอะไร พอไปหน้างานที่ สภ. ถึงรู้ว่าโดนแจ้ง 116”

“คดีนี้เป็นคดีแรกของหนู แต่ม็อบนี้ไม่ใช่ม็อบแรก ก่อนหน้านี้หนูเคยเข้าร่วมชุมนุมที่ท่าแพเหมือนกัน แต่เป็นเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 63 แล้วไปชูป้าย ‘ฉันจะเป็นนายกกะเทยคนแรกของไทย’ รูปของหนูในม็อบถูกแชร์ไปเยอะมาก จนถูกเอาไปแขวนประจานในกลุ่มของ กปปส. ยอมรับเลยว่าจิตใจเราตอนนั้นแย่มาก เพราะโดนคอมเม้นท์แย่ๆ เรื่องเพศสภาพ เรื่องอัตลักษณ์ รูปลักษณ์ของเรา พออ่านไปมากๆ ก็จุกเหมือนกัน จนเรากลายเป็นโรคแพนิค (อาการตื่นตระหนกอย่างฉับพลัน เป็นความป่วยไข้ทางจิตใจอย่างหนึ่ง)”

“การที่เขาออกมาว่าเราแบบนี้มันสะท้อนเลยว่า คนที่ว่าเรา เขาไม่ได้มองเราบนหลักของสิทธิความเป็นมนุษย์ด้วยกันเองเลย แต่พยายามใช้คำพูดทำร้ายเรา ถ้าไม่ใช่เรา แต่เป็นคนอื่นที่มีปัญหาทางจิตใจอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้กลายเป็นบาดแผลในชีวิตเขาไปเลย”

“ทีนี้พอรู้ว่าจะมีม็อบอีกรอบวันที่ 29 ก.ค. เราเลยอยากออกไปม็อบอีกครั้งเพื่อจัดการความรู้สึกของตัวเองที่ต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะสื่อโซเชี่ยลมันพาเรื่องไปไกลมากจนหลายหมื่นไลค์ เลยทำให้เรากลัว กังวล รู้สึกหวาดระแวง เหมือนโดนคุกคามตลอดเวลา แต่ในการชุมนุมครั้งที่ 2 ที่หนูไป มีผู้ปราศรัยที่เป็นเพื่อนกันประกาศบนเวที พูดถึงหนูว่า ‘การที่เธอมาในที่ชุมนุมวันนี้ก็เพื่อสลัดความกลัวของตัวเอง’ แล้วทุกคนก็ปรบมือ พอทุกคนทำแบบนี้มันทำให้ความเครียดของเราหายไป ช่วยเยียวยาความรู้สึกได้ระดับหนึ่ง”

“โชคดีที่วันที่ไปรับทราบข้อกล่าวหา หนูอยู่กับเพื่อน ก็เลยไม่ได้รู้สึกกังวลมาก และยังมีพี่อีกคนที่อยู่องค์กร Young Pride Club ซึ่งเป็นองค์กรที่หนูทำงานมาช่วยเป็นทนายที่หน้างาน หนูเลยรู้สึกว่ารอบตัวมันแวดล้อมไปด้วยคนที่เรารู้จัก ก็เลยไม่ได้เครียดมากขนาดนั้น”

“สำหรับหนูในตอนนี้ อาจจะมีพะว้าพะวงบ้างเพราะเป็นคดีแรก แต่หนูมั่นใจว่าความผิดของหนูมันไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมายของมาตรา 116 เรามั่นใจว่าเราไม่ผิด และคิดว่าน่าจะได้รับความยุติธรรมในปลายทาง”

.

สิทธิที่ไม่เคยถูกมองเห็นของผู้ถูกจองจำ และแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อน

“ก่อนหน้าที่จะมาเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิและความหลากหลายทางเพศในชื่อของกลุ่ม Young Pride Club ตัวหนูเคยฝึกงานกับองค์กรที่ดูแลเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ จนเมื่อกลุ่ม YPC เพิ่งถูกก่อตั้งโดยรุ่นพี่ หนูก็เลยขออาสาไปช่วย”

“การทำงานที่นี่ทำให้เราสนใจประเด็นเรื่องเพศมากขึ้น ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมอบรมที่ตัวเองเป็นคนจัดและค้นคว้า เราถึงได้เริ่มมารู้ว่าทุกสิ่งรอบตัวมันห้อมล้อมไปด้วยความไม่เป็นธรรมในมิติเรื่องความต่างของเพศ ด้วยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่”

“กฎระเบียบต่างๆ ในสังคมถูกออกแบบมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชาย ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้หญิงข้ามเพศ แม้กระทั่งระบบกฎหมายผู้ชายก็เป็นคนเขียน ทั้งหมดมันส่งผลให้เกิดโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจแนวคิดแบบเฟมินิสท์และสิทธิของคนที่มีเพศสภาพแตกต่างไปจากคนอื่น”

“สิ่งหนึ่งที่หนูเป็นกังวลในตอนนี้ คือการที่ผู้หญิงข้ามเพศที่อาจจะต้องกลายมาเป็นนักโทษทางการเมือง”

“ก่อนจะโดนคดี เพราะงานของเราเกี่ยวกับเรื่องสิทธิของคนที่มีเพศแตกต่าง ก็เคยศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศของเรือนจำผ่านสายตาของคนที่เป็นกลุ่มน้อยของสังคม เราก็เลยรู้ว่ามันมีเงื่อนไขหลายอย่างที่เข้ามาละเมิดสิทธิของนักโทษ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ต้องถูกกร้อนผม ในกรณีของคนที่เข้ารับการผ่าตัดข้ามเพศแล้วก็จะต้องถูกส่งไปแดนเฉพาะ ถ้าไม่ผ่าตัดถึงจะถูกส่งไปรวมกันกับคนอื่นๆ”

“สิ่งที่หนูรู้สึกว่ามันโหดร้าย นอกเหนือจากการจับไปกร้อนผม ก็คือเรื่องสวัสดิภาพของผู้ต้องขังในการเข้าถึงฮอร์โมน มีนักกิจกรรมคือพี่ต้น ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ที่เคยรณรงค์เรื่องสิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมนส์ของผู้ต้องขัง ซึ่งในขณะนี้ก็ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวให้กับกระทรวงยุติธรรมแล้ว มันอาจดูเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญในสายตาคนทั่วไป แต่หากเขาไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนส์ได้ มันก็จะทำให้รูปร่างของเขาขัดกับสำนึกทางเพศ มันจะยิ่งทำให้ชีวิตของผู้ต้องขังยากลำบากขึ้นไปอีก”

“ถึงแม้เขาจะเป็นบุคคลที่ถูกจองจำ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังคือคน ซึ่งไม่ควรจะต้องถูกลิดรอนสิทธิไปมากกว่านั้น”

.

เพศกับการเมือง และหมุดหมายใหม่ของการเปลี่ยนแปลง

“แรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากที่จะเป็นนายกกะเทยคนแรก ต้องเท้าความก่อนว่าหนูเรียนจบคณะรัฐศาสตร์มา หนูสนใจในเรื่องระบบการเมืองไทยตั้งแต่มัธยม ชอบที่จะดูอภิปรายในสภา ดูรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง (หัวเราะ) แต่ก็รู้สึกว่ามันท้าทายดี มันเลยเป็นแรงบันดาลใจที่พาให้เราไปเรียนรัฐศาสตร์ ถึงแม้จะเป็นเด็กสายวิทย์ที่ไม่ได้เก่งอะไร แต่เราก็เลือกที่จะเบนสายไปเลย”

“จากจุดนั้น จนถึงวันนี้ ที่เราเชื่อแล้วว่าเพศกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะเวลาเราจะผลักดันอะไรเรื่องสิทธิ เราจำเป็นต้องใช้กลไกทางการเมืองเป็นเครื่องมือในการผลักดัน”

“การทำงานภาคประชาสังคม ไม่ใช่ว่าการออกมาพูดอย่างเดียวแล้วจะเปลี่ยนอะไรได้ มันจำเป็นต้องอาศัยกลไกทางกฎหมาย ยิ่งถ้าสังคมเรามีฐานคิดในเรื่องของประชาธิปไตย การสร้างความเท่าเทียมทางเพศมันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น เพราะภายใต้ระบบที่ว่า ประชาชนทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน หนูไม่เชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเรื่องสิทธิที่จะสามารถเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนภายใต้การครอบงำของเผด็จการ เพราะระบอบดังกล่าวมันก็เกิดขึ้นจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ มันจึงย้อนแย้ง ถ้าเราจะพูดเรื่องสิทธิในสังคมแบบนี้”

“สิ่งหนึ่งที่หนูรู้สึกว่าได้สร้างความหวังให้กับการต่อสู้ครั้งนี้ คือการที่ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนกลุ่มหลัก การที่ทุกคนออกมาในปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้ นั่นเพราะเราทุกคนออกมาภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สังคมที่พวกเราอยู่มันเป็นสังคมที่ไร้ความเป็นธรรม เราถึงต้องรวมตัวกันออกมา”

“โดยส่วนตัว หนูอยากจะคารวะทุกกลุ่มเพราะพวกเขากล้าหาญมากๆ การที่ทุกคนก้าวออกมาจากพื้นที่ส่วนตัว แล้วหันมาต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม มันคือสิ่งที่น่าชื่นชม เพราะพวกเขาไม่ได้สู้กับอุดมการณ์อย่างเดียว แต่ยังสู้กับวิธีคิดของสังคมที่มองเรื่องเพศอย่างไม่เท่าเทียมด้วย”

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

การเมือง ความรัก และโลกเบื้องหลังก่อน“เยาวชนปลดแอก”ของ ฟอร์ด-เจมส์

พ.ร.บ. คู่ชีวิตสร้างความเท่าเทียมจริงหรือ ?

รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116

.

X