ป่าน ทะลุฟ้า: มองพัฒนาการ ‘เพศ’ ในขบวนนักกิจกรรม และความไม่เท่าเทียมในเรือนจำหญิง

#WomensMonth

“ป่าน” กตัญญู หมื่นคำเรือง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า วัย 27 ปี ก้าวสู่เส้นทางเคลื่อนไหวการเมืองมาตั้งแต่ปี 2558 และกลับเข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวอีกครั้งภายใต้ปีก “ทะลุฟ้า” เมื่อมีการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ปี 2563 

ระหว่างเส้นทางการต่อสู้และดันเพดานข้อเรียกร้องของเธอและเพื่อนๆ ป่านต้องถูกคุมขังในเรือนจำ 1 ครั้ง อยู่นาน 56 วัน เมื่อช่วงกลางปี 2565 พร้อมกับเพื่อนทะลุฟ้าอีก 6 คน หลังถูกฟ้องจากกรณีทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 

เราชวนป่านกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อทบทวนถึงพัฒนาการความเท่าเทียมทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยระลอกนี้ รวมถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเรือนจำหญิง (ทัณฑสถานหญิงกลาง) ที่เธอเข้าไปประสบเจอด้วยตัวเองเกือบ 2 เดือน 

ภาพโดยไข่แมวชีส

ชนชั้น การเลือกปฏิบัติ และความไม่เท่าเทียม ในเรือนจำหญิง

ป่าน: ความเท่าเทียมในคุก ในระบบราชการ ‘ไม่มีจริง’ เจ้าหน้าที่ทุกคนถูกกดดันต่อเป็นทอดๆ จากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ สู่ ผอ.เรือนจำ สู่หัวหน้าแดนไปถึงผู้คุมประจำเรือนนอน ถึงพี่เลี้ยง และถึงผู้ต้องขังอีกที 

จริงๆ การอยู่ในเรือนจำมันทำให้ได้เห็น ‘ชนชั้น’ ชัดกว่าอยู่ข้างนอกอีกนะ 

หนึ่ง ผู้คุมใหญ่สุดเป็น ‘ลอร์ด’ 

สอง แม่บ้านเป็น ‘เจ๊วีน’ แม่บ้านก็คือนักโทษที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชทัณฑ์ให้เป็นคนทำงาน จะมีเสื้อประจำตำแหน่งสีขาว เราให้สมญานามเขาว่า เจ๊วีน’ เพราะแม่บ้านจะมีลูกน้องของตัวเองที่เป็นนักโทษอีกที แล้วแม่บ้านจะสั่งลูกน้องให้มาดูแลเรา ถ้ามีปัญหาเขาจะเรียกลูกน้องไปด่า แม่บ้านนี่อยู่ดีเลยนะ มีพริวิเลจ จะได้ไปตักข้าวก่อน เวลาคนอื่นขึ้นเรือนนอน แต่แม่บ้านยังเดินไปเดินมาข้างล่างได้ 

สาม นักโทษการเมือง เป็นชนชั้นที่ถูกยกขึ้นหิ้ง ราชทัณฑ์จะไม่ค่อยยุ่งกับพวกเรามาก เพราะกลัวทนายด้วย ผู้คุมเลิกงานประมาณ 4 โมงเย็น เขาบอกว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องเข้าไปเช็คเพจเฟซบุ๊กศูนย์ทนายฯ ว่าลงเรื่องอะไรเกี่ยวกับเรือนจำหรือเปล่า 

สี่ นักโทษที่มีญาติมาเยี่ยม จะมีของกิน ของใช้ มีเงิน ของเหล่านี้สามารถเอาไปแลกเป็นอย่างอื่นได้ อย่างความสะดวกสบาย ด้วยการให้ของแล้วให้คนอื่นเข้าเวรแทน

ห้า นักโทษทั่วไปที่ไม่มีงาน แม่บ้านไม่ได้ขอให้ไปช่วยงาน ส่วนมากอยู่เฉยๆ ตลอดทั้งวัน

หก แต่ที่อยู่จุดใต้สุด คือ ‘นักโทษที่ไม่มีญาติ’ พวกเขามักถูกรังแก เพราะคนคิดว่าเขาไม่มีญาติ จะทำอะไรกับเขาก็ได้ ไม่มีใครรู้ 

เจ็ด นักโทษที่ไม่มีญาติ แล้วถูกกดทับด้วยความเป็นชายขอบอื่นๆ อีก เช่น เป็นชาติพันธุ์ เป็นต่างด้าว ฯลฯ นักโทษเหล่านี้จะเป็นชนชั้นที่อยู่ข้างล่างไปอีก

ภาพจาก TIJ

กฎเกณฑ์ ของต้องห้าม ความทุกข์ทนของ ‘น.ญ.’

ป่าน: เรือนจำหญิงมันถูกปกครองด้วยผู้หญิงที่ค่อนข้างจะมีความอนุรักษนิยม ฉะนั้นเขาจะจู้จี้กับเรื่องการไว้ผม ไว้เล็บ การแต่งตัว และใดๆ ทั้งที่ผู้หญิงกับเรื่องสวยๆ งามๆ เป็นของคู่กัน จะให้ตัดเรื่องพวกนี้ทิ้งไปทั้งหมดก็คงไม่ได้มั้ง 

แต่ผู้คุมให้นักโทษทำ ‘ผมสีดำ’ เหมือนกันหมด ต้อง ‘ตัดผมสั้น’ เหมือนกันหมด ผมก็ต้องดัดให้ ‘ตรงที่สุด’ เท่าที่จะทำได้ เวลาคุยกับแม่ (ผู้คุม) นักโทษก็จะต้องนั่งพับเพียบ 

เอาจริงๆ คนที่อยู่ข้างใน เขามองผู้คุมเป็น ‘เจ้าชีวิต’ เลยนะ เพราะเขาจะได้นอนห้องที่คนเยอะหรือคนน้อย จะได้กินข้าวก่อนหรือหลัง จะได้ทำงานหรือถูกถอดจากการผู้ช่วยงาน ทุกอย่างในนั้นขึ้นอยู่กับคำสั่งของผู้คุมเกือบทั้งหมด 

ดังนั้น ‘ผู้ออกกฎหมาย’ ในเรือนจำจะไม่ใช่กระทรวงยุติธรรม ไม่ใช่ศาล แต่เป็น ‘ผู้คุม’ 

ภาพห้องน้ำในห้องผู้ต้องขังถูกกั้นด้วยผนังเตี้ยๆ เท่าเอวเท่านั้น

ต้อง ‘นั่ง’ อาบน้ำ – ช่วงที่ถูกขังอยู่ในห้องกักกันโรค เขาจะไม่ให้ลงมาข้างล่างเลย ต้องถูกขังอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นต้องอาบน้ำในห้องขังเลย ต้องนั่งอาบน้ำในห้องน้ำที่มีบล็อกเตี้ยๆ สูงเท่าเอวกั้นอยู่ เป็น 2 เดือนที่รู้สึกว่า ‘ทำไมการอาบน้ำมันลำบากขนาดนี้’  

สุขาที่ไม่สุขใจ – สุขอนามัยของผู้หญิงในนั้นก็น่าสงสาร สถานที่มันสะอาดก็จริง แต่เรือนจำจะปิดน้ำตอน 3 ทุ่ม แล้วจะเปิดให้ใช้อีกทีตอนตี 5 แปลว่าทั้งคืนนั้นต้องใช้น้ำที่มีอยู่แค่ 1 ถังใหญ่ กับ 1 ถังเล็ก สำหรับคนที่เข้าห้องน้ำ 

ห้องที่ป่านเคยอยู่สูงสุด 22 คน แต่ห้องข้างๆ อยู่กัน 52 – 54 คน ตอนกลางคืนเวลาน้ำหมด จะฉี่หรือขี้ก็ต้องทิ้งคาส้วมไว้อย่างนั้น รอจนกว่าจะถึงตี 5 

เคยมีช่วงแรกที่ไปอยู่ เพื่อนขี้แล้วมันเหม็นมากจนขมคอ จนเราก็ลุกขึ้นมายืนหายใจริมกรงขัง พอเริ่มมีกลิ่นทุกคนก็จะบอกว่า ‘ราดยาวๆ’ มันต้องราดเรื่อยๆ ไม่ให้มีค้างชักโครก แต่การราดเรื่อยๆ เนี่ย เปลืองน้ำมาก ถ้าดึกแล้วเรือนจำปิดไม่ให้ใช้น้ำก็จะทำไม่ได้ 

ยิ่งถ้ามีนัดจะต้องออกไปศาล ทุกคนต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพราะว่าต้องออกไปศาล 7 โมง แปลว่าคนในนั้น 30 กว่าคน ต้องรีบแย่งกันอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ให้เสร็จก่อน 6 โมงครึ่ง ซึ่งวุ่นวายมาก 

สมมติว่าพรุ่งนี้ป่านมีนัดจะต้องออกไปศาล เขาจะเอาป่านกับคนอื่นๆ ที่มีนัดไปศาลเหมือนกันขึ้นไปนอนรวมอยู่ในห้องเดียวกัน และพอถึงพรุ่งนี้เช้าทุกคนต้องทำธุระส่วนตัวเสร็จก่อน 6 โมงครึ่ง เพราะ 7 โมงจะต้องไปยืนรอหน้าประตูใหญ่แล้วเพื่อเตรียมตัวไปศาล

ภาพจาก TCIJ

ไม่มีกระจกให้ทำสวย – อยู่ข้างในไม่มีกระจกเลยสักบาน กระจกคือ ‘ของต้องห้าม’ ครั้งหนึ่งที่จะได้เจอกระจกบานใหญ่ส่องเห็นเต็มตัวก็คือเวลาออกไปศาลเท่านั้น เพราะคุกใต้ศาลมีกระจกใหญ่มาก  

ไม่มียางมัดผมขาย – เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะ มีเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันเกือบซื้อยางมัดผมสีดำแล้ว มีนักโทษแอบขาย 250 บาท ถ้าเป็นตลาดนัดข้างนอกคงขายแค่ 20 บาท จริงๆ จะใช้หนังยางมัดถุงแกงแทนก็ได้ แต่มันกินผม ไม่มีใครอยากใช้กัน

ไม่มีสปอร์ตบราขาย – เรือนจำมีบราขายนะ แต่ไม่มีสปอร์ตบราขาย สปอร์ตบราจะหาซื้อได้ก็เมื่อมีนักโทษย้ายมาจากเรือนจำที่อื่น เขาถึงจะเอามาขายต่อให้ ในนั้นขายต่อกันประมาณ 2,500 บาท ราคานี้ถ้าเป็นข้างนอกคงซื้อยี่ห้อดีๆ อย่าง Nike หรือ Adidas ได้แล้ว ที่เขาขายกันข้างใน 2,500 บาท เป็นข้างนอกคงขายแค่ 199  

ไม่มียาพอนสแตนจ่ายให้ – เรือนจำมีผ้าอนามัยแจกให้เดือนละ 2 ห่อ แต่เป็นแบบที่ไม่มียี่ห้อ แล้วเวลาปวดประจำเดือนเอย ปวดท้องเมนส์เอย ก็ได้กินแต่พาราฯ เพราะเขาไม่มีพอนสแตน (Ponstan) จ่ายให้ เขาบอกว่าเป็นยาอันตราย ถ้าได้ ‘ไอบูโพรเฟน’ (Ibuprofen) นี่ก็คือพรีวิลเลจแล้วนะ

นักโทษผู้หญิงในฐานะ ‘แม่’ 

ป่าน: เราเจอ ‘แม่’ ในนั้นเยอะมากเลย แม่ลูกอ่อน รู้สึกสงสารมาก เด็กเกิดมาจากความไม่พร้อมเยอะมากๆ แต่ป่านไม่เจอลูกของเขานะ เพราะเด็กจะไม่ได้อยู่ในแดนที่ผู้ต้องขังอยู่กัน เด็กที่เกิดมาจะต้องอยู่ในสถานพยาบาลของเรือนจำ ซึ่งเป็นคนละโซนกับห้องขัง แล้วพอพ้นปีแรกได้แค่ไม่กี่วัน ก็จะถูกส่งออกไปอยู่ข้างนอก

ป่านเคยมีรูมเมทอุ้มท้องในเรือนจำ พอครบ 9 เดือนก็ได้ไปคลอดที่โรงพยาบาล แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เห็นหน้าลูกเลย

มันมี 2 ช้อยท์ที่คนเป็นแม่จะเลือกได้ ทางเลือกแรก คือให้ญาติมารับไปเลยตั้งแต่วันที่คลอด กับทางเลือกที่ 2 แม่คลอดแล้วเอาเข้าไปเลี้ยงเองในสถานพยาบาลของเรือนจำ พอเด็กอายุครบ 1 ขวบก็จะต้องส่งเข้าสถานเลี้ยงดูเด็กข้างนอกให้ไปดูแลต่อ 

เพื่อนป่านคนนั้นเลือกที่จะให้ที่บ้านมารับตั้งแต่วันที่คลอด ออกไปโรงพยาบาลผ่าตัดเอาลูกออกแค่ 1 วัน เสร็จแล้วก็ต้องกลับมาอยู่ที่สถานพยาบาลเลย ตอนนี้ลูกของเขาน่าจะอายุประมาณ 2-3 ขวบได้แล้ว แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เจอหน้าลูก

แม่อีกแบบที่มีเยอะมากเหมือนกัน คือแม่กับลูกที่ติดคุกอยู่ด้วยกันข้างในเลย ส่วนใหญ่เป็นคดีบัญชีม้าที่แม่ๆ ที่เอาบัญชีลูกไปใช้ หรือไม่ก็ลูกเอาบัญชีแม่ไปใช้ เป็นคดีค้ามนุษย์ก็เยอะเหมือนกัน

ภาพจาก thai.ac

คุก มีไว้ขังคนจน ?

ป่าน: เคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งนานจนจำชื่อไม่ได้แล้ว มันเขียนว่า

“ถ้าอยากรู้ว่าสังคมคุณเป็นแบบไหน ให้ลองไปอยู่จุดที่ต่ำสุดของสังคม” ซึ่งที่ที่ว่านั่นก็คือ ‘คุก’ 

ข้างในนั้นเราเห็นสังคมที่เราอยู่ และเพื่อนร่วมสังคมเดียวกัน ทำให้รู้ว่าไม่ใช่หลายคนไม่พยายาม แต่ที่บางคนต้องเข้าไปอยู่ในนั้นเป็นเพราะไม่มีความรู้จริงๆ หลายเรื่องเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ ที่ควรจะต้องรู้ แต่ไม่ถูกสอนในโรงเรียน ไม่ถูกทำความเข้าใจในสังคม 

ความไม่รู้ก็ส่วนหนึ่ง ความจนก็อีกส่วนหนึ่ง ถ้าทุกคนมีรายได้ขั้นต่ำที่พอกินพอใช้ จะไม่ได้ต้องกระเสือกกระสนมาก อาชญากรรมก็คงลดลงไปได้เยอะ หลายคนในเรือนจำน่าทึ่งมาก หลายคนเป็นคนแกร่ง เป็นคนเก่ง 

คนที่เขาถูกกดทับมาตั้งแต่อยู่ข้างนอก พอเข้าไปอยู่ในนั้นเขาจะไม่รู้ตัวหรอกว่ากำลังถูกกดทับจากคุกอีกชั้นหนึ่งด้วย เพราะว่าตอนที่เขาอยู่ข้างนอก สังคมกดทับเขารุนแรงมากกว่านี้อีก

สังคมข้างนอกกดทับมากกว่าคุกอีก นักโทษส่วนใหญ่จึงเลือกสยบยอม 

ป่าน: ป่านเคยชวนคนข้างในนั้นทำม็อบ มีข้อเรียกร้องแค่ข้อเดียวเลย คือทุกคนต้อง ‘ทำสีผมได้’ เราเริ่มไล่หาแนวร่วม ถามไปประมาณ 10 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงที่เราตั้งใจเลือกเข้าไปถามแล้วนะ แต่มีแค่ประมาณ 3 คน ที่บอกว่า ‘เอาดิ, เอาด้วย’

คนที่อยู่ข้างในนั้นส่วนใหญ่ เขาไม่รู้ตัวหรอกว่าเขากำลังถูกกดทับอยู่ขนาดไหน อย่างการที่อาบน้ำได้แค่ 10 ขัน ถ้าเป็นฝักบัวอาบได้แค่ 15 วินาที การถูกกำหนดเวลาในการเข้าห้องน้ำ ฯลฯ พวกเขาไม่ตั้งคำถามเลยว่าทำไมต้องทำตาม เขารู้แค่ว่ามีกฎเกณฑ์ให้ทำตาม และเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว 

เรือนจำหญิง VS เรือนจำชาย 

ป่าน: เพื่อนนักกิจกรรมผู้ชายที่เคยโดยขังมาก่อน เขาก็จะบอกว่าเรือนจำผู้ชายแย่มาก สกปรก ผู้ชายชอบตีกัน ทะเลาะกันเยอะ แต่ฝั่งผู้หญิงเรารู้สึกว่าเป็นคุกที่สะอาดมาก และนักโทษผู้หญิงแทบจะไม่มีใครตีหรือทะเลาะกันเลย คิดว่าส่วนใหญ่คนกลัวที่จะโดนทัณฑ์บน ทำให้จะไม่ได้อภัยโทษ แล้วจะไม่ได้ออกไปเจอหน้าลูกสักที

แรงขับเคลื่อนหลักในการมีชีวิตอยู่ของผู้หญิงข้างในนั้น คือ ‘อยากออกไปเจอหน้าลูก’

เรือนจำผู้หญิงไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำเยอะเท่าเรือนจำผู้ชาย เรือนจำชายมีเครื่องออกกำลังกาย มีสนามฟุตบอล แต่ผู้หญิงไม่มีเลย มีแต่ให้เต้นบาสโลบใต้อาคาร ไม่มีอะไรให้ทำเลย ได้แต่นั่งเฉยๆ ให้ผ่านไปวันๆ จะมีให้ประกวดร้องเพลงแค่วันเดียวเองมั้ง 

ความรู้สึกตอนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หลังถูกขัง 56 วัน

ป่าน: เป็นความรู้สึกที่แปลกมาก เพราะเราไม่เห็นผู้ชายมานานมาก อยู่ในสถานที่ที่มีแต่ผู้หญิงตั้ง 2 เดือน ช่วงแรกๆ เรามึนงง เพราะมีหลายอย่างเปลี่ยนไป ถนนหน้าบ้านเราเสร็จแล้ว เทรนด์ก็เปลี่ยน มันดูเหมือนไม่นาน แค่ 2 เดือน แต่เรากลับมาแล้วตามงานไม่ทันด้วย รู้สึกว่าตัวเองเกรี้ยวกราดขึ้น เหมือนหมาถูกปล่อยออกจากกรง เพราะว่าอยู่ในกรงนานมั้ง

ป่าน (คนกลางบน) และประชาชนที่มารอรับถ่ายรูปร่วมกัน เมื่อครั้งที่ป่านได้ปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิง
ภาพจากไข่แมวชีส

เราจำร้อยยิ้มป่านตอนที่ถูกปล่อยตัวได้ ป่านดูมีความสุขมาก

ป่าน: มีความสุขจริงๆ นะ จะได้เข้าห้องน้ำที่มีประตูแล้ว จะได้ยืนอาบน้ำแล้ว จะได้นอนแล้ว นอนที่เรียกว่านอนจริงๆ ตอนอยู่ในเรือนจำ เราต้องนอนพื้นกระเบื้องมันแข็งมากๆ เราต้องให้เพื่อนช่วยนวดหลังให้ทุกวัน 

ภาพป่านขณะได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิง
ภาพโดย Ginger Cat

ไม่ใช่นักกิจกรรมทุกคนที่เข้าใจประชาธิปไตย จะเข้าใจเรื่องเพศ

ป่าน: ในช่วงที่ทำกิจกรรมแรกๆ สังคมตอนนั้นถูกครอบด้วยระบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ มากกว่านี้มาก ‘เรายังทันยุคที่ผู้ชายคุยเรื่องปฏิวัติกัน แต่ผู้หญิงล้างจาน’ หมายถึงช่วงปี 2557 – 2558 ในวงนักกิจกรรมคุณค่าความเท่าเทียมทางเพศหรืออะไรพวกนี้ยังไม่ถูกพูดถึง ยังไม่ถูกเข้าใจเท่านี้

เรารู้สึกว่าแวดวงนักกิจกรรมก็เป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งแหละ ที่จะต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยจะเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ บางคนไม่ได้เข้าใจขนาดนั้น แต่ปัจจุบันมันถูกพูดถึงมากๆ แล้ว เพราะสังคมมันก้าวไปข้างหน้า แม้กระทั่งคนที่เรียกตัวเองว่านักกิจกรรมก็ต้องก้าวไปข้างหน้าเหมือนกัน 

แต่ก่อนเราจะไม่ค่อยเห็นนักสู้ที่เป็นผู้หญิงเท่าไหร่นะ เรามองว่าตอนนี้ถึงแม้นักกิจกรรมผู้หญิงจะมีมากขึ้น แต่ถ้าเทียบผู้หญิงที่อยู่บนเวทีมันก็น้อยกว่าผู้ชายอยู่ดีนะ

ถ้าเทียบระหว่างปี 2557 กับปี 2563 คิดว่ามีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง 

ป่าน: คนเข้าใจมากขึ้น เข้าใจการเมืองมากขึ้น เข้าใจความหลากหลาย แปลว่าก่อนหน้านี้ในประเทศนี้ไม่เคยสอนให้ตระหนักเลยว่าเราเป็นพลเมืองที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เรามีสิทธิมีเสียงอะไรบ้าง ส่วนหนึ่งที่พวกเราพาชีวิตทุกคนเดินไปข้างหน้า มันคือการเมืองที่บอกว่าพวกเรามาไกลกว่าปี 53 

เรารู้สึกว่าปีที่แล้ว (2565) เป็นชนวนเรื่องความหลากหลายทางเพศมากๆ เป็นช่วงปีที่กระแสสมรสเท่าเทียมมาแรงมาก ธงไพร์ดไม่ได้อยู่แค่ช่วงเทศกาลไพร์ด หรือแม้กระทั่งคนที่ออกมาพูดเรื่องสิทธิสมรสเท่าเทียมก็ไม่ใช่แค่คนที่จะได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้เหมือนกัน มันไม่ใช่การเรียกร้องแบบตัวคนเดียว มันถูกสังคมเข้าใจแล้วก็ผลักดันประเด็นนี้ไปเท่าๆ กัน นั่นแปลว่าคนเข้าใจเรื่องความเท่ากันของคนนะ

ส่วนหนึ่งก็คือการที่ประชาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ

คิดว่า ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ กับ ‘การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์’ เป็นเรื่องเดียวกันไหม

ป่าน: มองว่าเป็นเป็นเรื่องเดียวกัน มันถูกร้อยมาด้วยกัน เหมือนก้างปลาที่มันมีก้างใหญ่ๆ อันเดียวกัน ถ้ามีอันใดอันหนึ่งเปลี่ยน อันอื่นก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ถ้าสังคมถูกทำให้เรื่องทางเพศเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิด เรื่องพวกนี้ก็จะไม่ไปกดทับคนยุคหลังอีก เขาอยากจะเป็นเพศไหน เป็นอะไรก็ได้ 

ดังนั้นเขาจะเป็นอะไรก็ได้ หมายถึงเขาจะทำกิจกรรม แอคทิวิตี หรืออาชีพอะไรก็ได้ มันจะไม่มีเด็กรุ่นใหม่ที่จะต้องมารู้สึกว่า ‘แม่ง ไม่อยากเกิดมาเป็นเพศนี้เลย’

ส่งท้ายเนื่องในเดือนสตรีสากล 

ป่านรู้สึกว่า นักกิจกรรมทุกคนควรก้าวข้ามเรื่องเพศไปได้แล้ว เพราะถ้ายังยอมรับความแตกต่างเรื่องเพศไม่ได้แล้วจะยอมรับความหลากหลายอย่างอื่นได้เหรอ ถ้ารับความแตกต่างเรื่องนี้ไม่ได้จะรับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้เหรอ

สุดท้ายไม่อยากให้วันสตรีสากลพูดถึงคนแค่ที่เพศกำเนิด แต่อยากให้มันหมายถึง ‘ทุกคน’ ด้วย อยากให้เป็นวันที่ตระหนักรู้กันว่า ไม่ว่าสตรีหรือบุรุษ เราต่างทำทุกอย่างได้เหมือนกัน ไม่ควรลดทอนคุณค่าใครเพียงเพราะเพศกำเนิด 

X