ศาลยุติธรรมตอบกลับหนังสือของ “ทนายอานนท์” กรณีขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยกับอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีฯ ศาลอาญา ชี้ปฏิบัติหน้าที่ชอบแล้ว 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดา  ‘ภพ เอครพานิช’ รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปฎิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ส่วนวินัยและส่งเสริมจริยธรรม ได้ตอบกลับหนังสือของ ‘อานนท์ นำภา’ที่เขียนถึงประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอธิบดีศาลอาญา กรณีขอให้สอบสวนและดำเนินการทางวินัยต่อ นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีศาลอาญา ที่อาจมีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีอาญาของตุลาการเจ้าของสำนวน ในคดีเขียนและโพสต์จดหมาย #ราษฏรสาส์น ถึงรัชกาลที่ 10 ที่อานนท์ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หมายเลขดำที่ อ.1395/2565 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม >>> ‘อานนท์’ เตรียมยื่นหนังสือ ก.ต. ให้สอบสวนรองอธิบดีศาลอาญาที่อาจก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดี ม.112 จนตุลาการขาดความเป็นอิสระ 

ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 31 ส.ค.2565 ทนายอานนท์ และคณะได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) และอธิบดีศาลอาญา โดยการยื่นหนังสือดังกล่าว สืบเนื่องมาจากทนายอานนท์ในฐานะจำเลยในคดีโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น เห็นว่าตนได้รับความเสียหายจากการที่ นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งไม่ได้เป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว เข้ามาใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐาน โดยได้ออกคำสั่งท้ายรายงานเจ้าหน้าที่ในคดีดังกล่าว ให้ทำการตรวจพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพราะกรณียังมีการกำหนดให้สืบพยานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดประเด็นพิพาทในคดีและพยานความเห็น ซึ่งถือเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบใช่ด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 

การกระทำของอรรถการ ในฐานะรองอธิบดีศาลอาญา ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหาร  เป็นการสร้างความหวั่นไหวในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาคดีของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี และสร้างความกระทบกระเทือนต่อหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดี ตลอดจนกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

อีกทั้ง นายอรรถการ ฟูเจริญ ยังมีตำแหน่งสูงระดับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อให้การสอบสวนกรณีดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสเป็นธรรม จึงขอให้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งโอนย้ายนายอรรถการไปช่วยทำงานชั่วคราวในศาลอื่นและตำแหน่งอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินการสอบสวนดังกล่าวด้วย  

.

รองเลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรมตอบกลับ การกระทำของอรรถการ ฟูเจริญถูกต้องตามคำสั่งประธานศาลฎีกาว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางการบริหารคดีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 

ในวันนี้ (11 ม.ค. 2566) ภพ เอครพานิช ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ตอบกลับหนังสือของทนายอานนท์ นำภา โดยมีใจความสำคัญระบุว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้พิจารณาและนำเสนอประธานศาลฎีกาให้พิจารณาแล้วพบว่าศาลอาญา ได้มีคำสั่งที่ 126/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางการตรวจพยานหลักฐาน โดยแต่งตั้งให้นายอรรถการ ฟูเจริญ เป็นประธานกรรมการเพื่อกำหนดวิธีการตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและยกเลิกแก้ไขประการใดๆ 

รวมถึงอำนาจในการตรวจพยานหลักฐาน กำหนดวันนัดสืบพยานใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติตามคำสั่งของประธานศาลฎีกาที่ 58/2564 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานกำหนดแนวทางการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อให้คณะกรรมการจัดระบบการบริหารให้เอื้อต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค และส่งเสริมให้ใช้วิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกขั้นตอน  เพื่อให้สามารถพิจารณาคดีเสร็จภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของอรรถการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอย่างเหมาะสมแล้ว โดยไม่ได้มีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น หรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้ข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 188 ได้รับรองหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 66 ที่กล่าวว่าข้าราชการตุลาการต้องไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการอื่น เป็นเหตุให้การพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการอื่นขาดความเป็นอิสระหรือความยุติธรรม

.

ข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลยุติธรรม ระบุว่า ก.ต. เป็นหนึ่งในสามองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรม ซึ่ง ก.ต. มีบทบาทและภารกิจในการวางแผนกำลังคนฝ่ายตุลาการ เช่น การบรรจุแต่งตั้ง การพัฒนาบุคลากร การควบคุมให้ข้าราชการตุลาการอยู่ในกรอบจริยธรรม และมาตรการในการรักษาวินัย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้พิพากษามีหลักประกันว่าจะได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองให้มีความอิสระอย่างแท้จริง

X