“อานนท์ – ไผ่ – ศูนย์ทนายฯ” แถลงกลางเวทีประชุมสิทธิฯ เกาหลีใต้ ยินดีฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง ‘66’ เรียกร้องทุกองค์กรเคารพเสียง ปชช.

วันที่ 17 พ.ค. 2566 ที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation)  สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อานนท์ นำภา “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ทนายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมืองและผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2017 และ 2020 ตามลำดับ รวมถึงพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นอ่านแถลงการณ์ถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่เพิ่งผ่านพ้นไป  พร้อมเรียกร้องสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องเคารพเสียงของประชาชน ไม่แทรกแซงทางการเมือง

ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ค. 2566  อานนท์, จตุภัทร์ และตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางไปยังเมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมควังจู เอเชีย ฟอรัม 2023 ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) 

ตลอดการประชุมดังกล่าว มีตัวแทนจากเครือข่ายทั่วโลกเข้าร่วมและขึ้นพูดแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และสะท้อนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและการเมืองการปกครองในประเทศของตนเองเช่น  เกาหลีใต้ มาเลเซีย กัมพูชา ไทย อินโดนีเซีย ฯลฯ รวมถึงตัวแทนจากองค์กรสหประชาชาติ (UN)

ก่อนมีกิจกรรมสำคัญอย่าง มอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2023 การเดินขบวน และพิธีไว้อาลัยรำลึกถึงประชาชนผู้เสียชีวิตจากการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย จากเหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู 18 พฤษภาคม 2523 หรือ Gwangju Uprising 

ในช่วงเย็นของวันที่ 17 พ.ค. 2566  เวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาประเทศไทย อานนท์, จตุภัทร์ และพูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นกล่าวแถลงการณ์ถึงผลการเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566  โดยผลคะแนนปรากฎว่า ‘พรรคก้าวไกล’ ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงตามมาเป็นลำดับที่ 2 นั้น เห็นว่าเป็นที่น่ายินดีที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้รับเสียงข้างมากและน่าจะร่วมจับมือกันจัดตั้งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากได้

พร้อมกันนี้ ทั้งสามยังได้แถลงกล่าวกังวลถึงสภาพการเมืองที่รอคอยอยู่ต่อจากนี้  อาจจะเกิดการแทรกแซงจากองค์กรทางการเมืองอื่นๆ ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะการมีอำนาจร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.ที่ไม่สอดคล้องตามวิถีประชาธิปไตยและอาจจะสวนทางกับเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ดังที่เคยปรากฏมาแล้วเมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในปี 2564 

อานนท์, จตุภัทร์ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว. กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรทางการเมืองอื่นๆ เคารพเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ โดยไม่กระทำการแทรกแซงใดๆ ในการทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล้มเหลว เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและความรุนแรงที่ไม่จำเป็น และมุ่งเดินหน้าสู่การสร้างอนาคตที่ดีของประเทศต่อไป

สำหรับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เป็นรางวัลที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก มอบให้กับนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลก ทั้ง จตุภัทร์ และ อานนท์ ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการตัดสินรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (GPHR) ให้รับรางวัลเมื่อ 2017 และ 2021 ตามลำดับ แต่ในทั้งสองปีดังกล่าวทั้งสองคนต่างถูกคุมขังอยู่ในคดีทางการเมือง จึงไม่สามารถเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ภายหลังจากได้รับการปล่อยตัว ก็ยังอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด -19 เกิดขึ้นทั่วโลก  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปรับรางวัลย้อนหลังด้วยตัวเอง 

อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม

 

X