ถูกคุมขังเกิน 300 วัน “คทาธร-พรพจน์” ศาลยังไม่ให้ประกัน ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

เมื่อวันที่ 11 และ 13 ก.พ. 2566 ที่ศาลอาญา ทนายความได้ยื่นประกันตัว 2 ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ได้แก่ “คทาธร” (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมจากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวัย 26 ปี กรณีถูกกล่าวหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 และ “พรพจน์ แจ้งกระจ่าง” กรณีถูกกล่าวหาจากเหตุร่วมปาระเบิดปิงปองบริเวณสนามหญ้าหน้าประตูกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่าร่วมกันทำให้เกิดระเบิด และพาอาวุธเข้าเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว “คทาธร-พรพจน์” ซึ่งระบุเหตุผลในลักษณะเดียวกันว่า “จำเลยมีพฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิดเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม หลักประกันเป็นเพียงคนรู้จักกับจำเลย ซึ่งง่ายต่อการละทิ้ง และศาลเคยไม่ให้ประกันมาหลายครั้งแล้ว จึงเกรงว่าจะหลบหนี หรืออาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองได้ ชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

.

ศาลยังไม่ให้ประกันตัว “คทาธร-พรพจน์” แม้มีภาระครอบครัวต้องดูแล ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

ในการยื่นคำร้องขอประกันคทาธร ในครั้งนี้ มีบิดาของคทาธรเดินทางจากต่างจังหวัดมายื่นขอประกันตัวด้วยตนเอง และยังได้ยื่นเอกสารประวัติการศึกษาและการประกอบอาชีพเพิ่มเติม ในลักษณะเดียวกันกับที่ศาลให้ประกันตัวคงเพชร คู่ความในคดีเดียวกันก่อนหน้านี้ 

โดยยืนยันในคำร้องว่าจำเลยมีภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัวที่บิดาขาดรายได้หลังวัยเกษียณและปู่ย่าที่เจ็บป่วย อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ขอให้จำเลยพิสูจน์ตนเองในฐานะผู้รับผิดชอบครอบครัว ทำงานช่างเพื่อหาเลี้ยงชีพ รวมถึงจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อการพิจารณาคดีและบังคับโทษ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างสง่าผ่าเผย 

อีกทั้ง ขณะเกิดเหตุจำเลยได้สมัครเข้าทำงานเป็นพนักงานบริษัทในตำแหน่งช่างไฟฟ้า รวมถึงสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง สาขางานไฟฟ้ากำลัง ที่มหาวิทายาลัยเทคนิคดอนเมือง ซึ่งต่อมาการงานและการศึกษาของจำเลยดังกล่าวได้ถูกระงับไปจากการคุมขังครั้งนี้ หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเพิ่มเติม หรือแต่งตั้งผู้กำกับดูแล จำเลยก็จะปฎิบัติตาม

ในส่วนการขอประกันตัวพรพจน์ ได้มีพี่สาวของพรพจน์เป็นผู้ยื่นขอประกันตัว และได้เสนอให้ตั้งผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เป็นผู้กำกับดูแล หากได้รับการประกันตัว และยินยอมให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือเงื่อนไขอื่นๆ เพิ่มเติมตามที่ศาลกำหนด

ขณะเดียวกัน ยังยืนยันว่าจำเลยมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล ก่อนหน้าจะถูกคุมขังจำเลยมีหน้าที่ดูแลมารดาซึ่งชราภาพมากแล้ว รวมถึงมีหน้าที่ต้องหารายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว อีกทั้งจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีถึงที่สุด และขณะนี้ก็ใกล้วันนัดสืบพยานในคดีของจำเลยแล้ว หากยังถูกคุมขังต่อไป จำเลยคงไม่อาจหาพยานหลักฐานมาสู้คดีได้ 

โดยพรพจน์ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้เป็นอย่างดี ตลอดที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และจะไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก 

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีของทั้งสอง ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยให้เหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง” 

ผลไม่ให้ประกันดังกล่าว ทำให้ ”คทาธร-พรพจน์” ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งขณะนี้พวกเขาถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลากว่า 10 เดือนเศษแล้ว

.

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง เปิดสถิติยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองตั้งแต่เมษายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566

X