ศาลอาญาสั่งสืบเสาะผู้ต้องขัง 4 ราย ขอเอกสารเพิ่ม 1 ราย และไม่ให้ประกันอีก 3 ราย ระบุปรึกษาอธิบดีแล้ว มีพฤติการณ์เกรงจะหลบหนี – ก่ออันตรายประการอื่น

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 ที่ศาลอาญา ทนายความเข้ายื่นประกันตัว 8 ผู้ต้องขังคดีการเมือง ได้แก่ “คทาธร – คงเพชร” (สงวนนามสกุล), พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ทัตพงศ์ เขียวขาว ในคดีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด และในคดีของวัชรพล, จตุพล, พลพล และณัฐพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ส ในคดีที่มีเหตุรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 โดยศาลยังไม่ได้มีคำสั่งในวันนั้นทันที แต่มีคำสั่งในวันถัดมาหลังได้ปรึกษากับอธิบดีศาลอาญาแล้ว

ขณะเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 หลังเขาถูกอดอาหารเข้าสู่วันที่ 22 แล้ว

.

ศาลอาญาไม่ให้ประกัน 4 ราย ระบุเหตุเกรงจะหลบหนี อาจไปก่อเหตุอันตรายอื่น แม้บางรายถูกขังทะลุ 300 วัน

ในคดีของแน็ก — ทัตพงศ์ เขียวขาว หรือ “แน็ก” หนุ่มวัย 25 ปี ซึ่งถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 โดยเขาถูกฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน รวมระยะเวลา 83 วันแล้ว

วันที่ 7 ก.พ. 2566 ศาลอาญา ยังคงคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ระบุคำสั่ง “พิเคราะห์และปรึกษาอธิบดีศาลแล้ว ข้อหาหนักพยานชั้นสอบสวนมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด และพนักงานสอบสวนคัดค้านประกัน โดยพฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวข้องกับวัตถุระเบิดเป็นอันตรายต่อสังคม ศาลอุทธรณ์จึงไม่อนุญาตมาโดยตลอด เพราะเกรงว่าจะหลบหนีหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น ทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข ชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

ในคดีของพรพจน์ แจ้งกระจ่าง นักกิจกรรมวัย 50 ปี ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กรณีถูกกล่าวหาจากเหตุร่วมปาระเบิดปิงปองบริเวณสนามหญ้าหน้าประตูกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่า ร่วมกันทำให้เกิดระเบิด และพาอาวุธเข้าเมืองโดยไม่มีเหตุอันควร เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 

ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ระบุ “พิเคราะห์และปรึกษาอธิบดีศาลอาญาแล้ว คดีมีข้อหาหนัก พฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิดเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม หลักประกันเป็นเพียงคนรู้จักกับจำเลย ซึ่งง่ายต่อการละทิ้ง และศาลเคยไม่ให้ประกันมาหลายครั้งแล้ว จึงเกรงว่าจะหลบหนี หรืออาจจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองได้ ชั้นนี้จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

ในคดีของคทาธร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมจากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อายุ 26 ปี จากกรณีถูกกล่าวหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ในขณะเดินทางเข้าร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565

ศาลระบุคำสั่ง “พิเคราะห์และปรึกษาอธิบดีแล้ว คดีมีข้อหาหนักพฤติการณ์ร้ายแรงเกี่ยวกับวัตถุระเบิด เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคม หลักประกันเพียงคนรู้จักกับจำเลยที่หนึ่ง ซึ่งง่ายต่อการละทิ้ง ทั้งศาลเคยไม่ให้ประกันมาหลายครั้งแล้ว จึงเกรงว่าจะหลบหนีหรือจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองได้ชั้นนี้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว”

.

ศาลสั่งสืบเสาะ 4 ราย ระบุให้พนักงานคุมประพฤติทำรายงานสืบเสาะส่งภายใน 15 วัน ส่วนคงเพชรให้ส่งประวัติการศึกษา-การประกอบอาชีพเพิ่ม

ในคดีของวัชรพล, จตุพล, พลพล และณัฐพล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส ศาลระบุคำสั่ง เห็นควรให้สืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่ ก่อนจะมีการพิจารณาคำสั่ง โดยขอให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติรายงานสืบเสาะต่อศาลภายใน 15 วัน โดยให้สืบเสาะและพินิจทั้งประวัติการศึกษา การประกอบอาชีพของจำเลยทั้งสี่คนก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ตลอดทั้งพฤติการณ์แห่งคดีโดยรวม

ส่วนกรณีของคงเพชร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชน อายุ 18 ปี จำเลยร่วมในคดีเดียวกับคทาธร กรณีถูกกล่าวหาว่ามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ศาลเห็นว่า ให้ผู้ร้องเสนอหลักฐานประวัติการศึกษาและการประกอบอาชีพของจำเลยที่สองเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแล้ว จึงจะพิจารณาสั่ง

.

ศาลอุทธรณ์ยังคงไม่ให้ประกันสิทธิโชค ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ในส่วนของสิทธิโชค ที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คดี หลังจากศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน ในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหานำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รั ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564

จนวันที่ 7 ก.พ. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวอีกครั้ง ระบุ “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดี ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง”

ทั้งนี้ สิทธิโชคเริ่มอดอาหารตั้งแต่เขาถูกคุมขัง มาเป็นระยะ 22 วันแล้ว รวมทั้งมีการอดน้ำเพิ่มเติมด้วย จนถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังการเมืองทั้ง 9 ราย จะยังคงถูกคุมขังต่อไป โดย 4 ราย ได้แก่ วัชรพล, จตุพล, พลพล และณัฐพล ศาลยังคงไม่มีคำสั่งจนกว่าจะได้รับรายงานสืบเสาะจากพนักงานคุมประพฤติ ส่วนคงเพชร ทางผู้ร้องจะต้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติมตามที่ศาลระบุต่อไป

X