วันที่ 31 ม.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานี มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีคาร์ม็อบรังสิต ของ “บอย” ธัชพงศ์ หรือ ชาติชาย แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่เริ่มต้นบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรังสิต มุ่งสู่ถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อนำขบวนรถไปสมทบกับคาร์ม็อบในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊ก “รังสิตพะยอมเก๋า” ได้โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนให้มาร่วมคาร์ม็อบขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยมารวมตัวหน้ามหาวิทยาลัยรังสิต เวลา 11.00 น. ก่อนเวลา 12.00 น. จะเคลื่อนขบวนมุ่งสู่ถนนวิภาวดี-รังสิต
ธัชพงศ์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 5 คน และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี ที่ 7022/2564 เรื่อง กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ธัชพงศ์ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้วันที่ 17 ส.ค. 2564 ที่เรือนจำชั่วคราวปทุมธานี เนื่องจากในขณะนั้นเขาถูกคุมขังในคดี #ม็อบ2สิงหา2564 เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา บริเวณด้านหน้า บก.ตชด.ภาค 1 และธัชพงศ์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากคลองรังสิต ระบุว่า ธัชพงศ์เป็นตัวแทนของกลุ่มรังสิตพะยอมเก๋าและเป็นแกนนำผู้ประสานงานในการชุมนุมดังกล่าว โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน ยานพาหนะ 25 คัน
คดีนี้อัยการมีการสั่งฟ้องคดีเมื่อเดือนมกราคม 2565 และศาลจังหวัดปทุมธานีนัดสืบพยานในช่วงเดือนกันยายน 2565 ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
คำฟ้องระบุพฤติการณ์ในขณะเกิดเหตุว่า จำเลยและพวกได้นำรถยนต์มาประมาณ 25 คันมาจอด และมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 30 คน ในลักษณะยืนใกล้ชิดกัน และอยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 10 ศาลออกนั่งพิจารณาคดี อ่านคำพิพากษาให้ธัชพงศ์ฟัง สามารถสรุปคำพิพากษาได้ดังนี้
ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 และคำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 7022/2564 มิได้กำหนดบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดการชุมนุมไว้โดยเฉพาะ ทั้งในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่นำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาบังคับใช้ ดังนั้นบทนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงไม่อาจนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้
อย่างไรก็ดี ความผิดฐานนี้มีความรับผิดเป็นโทษทางอาญา การตีความหมายผู้จัดการชุมนุมต้องกระทำโดยเคร่งครัด ดังนั้นแม้จำเลยจะเป็นผู้แชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “รังสิตพยอมเก๋า” แต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเพจหรือผู้ดูแลเพจดังกล่าว และโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่เชื่อมโยงสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมชุมนุมคดีนี้อย่างไร
ลำพังเพียงการแชร์โพสต์เพจ “รังสิตพะยอมเก๋า” และแจกสติกเกอร์ให้แก่ผู้ชุมนุม ไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุม เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตจัดกิจกรรมชุมนุมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี และไม่มีหน้าที่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค
นอกจากนี้แม้จะมีบุคคลเข้าร่วมชุมนุมทำกิจกรรมเกิน 5 คน บางคนยืนใกล้ชิดติดกันบ้าง แต่ผู้ชุมนุมก็สวมหน้ากากอนามัยและใช้เวลาชุมนุมเพียง 1 ชั่วโมง อีกทั้งบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรังสิตก็เป็นที่โล่งแจ้งไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าภายหลังเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุม พฤติการณ์ดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดที่จะรับฟังได้ว่าการจัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้องมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 227 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ คดีนี้นับเป็นคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 55 แล้ว ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องออกมา (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)