บันทึกสืบพยาน: ตร.รับ ตามคลิปไม่ปรากฏ “บอส” ชก รอง ผบช.ภ.4 หลังแย่งไมค์ผู้ชุมนุม เจ้าตัวยันไม่เจตนา “ทำร้าย” ด้านนักวิชาการชี้ ตร.ใช้อำนาจล้นเกิน

31 ม.ค. 2566 ศาลแขวงขอนแก่นนัด “บอส” อิศเรษฐ์ เจริญคง นักกิจกรรมขอนแก่น วัย 25 ปี ฟังคำพิพากษาคดีที่อิศเรษฐ์ ถูกฟ้องข้อหา “ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย, พยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน และใช้กําลังประทุษร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย” จากเหตุชุลมุนหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ขณะ “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมต่อต้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น 

คดีนี้อิศเรษฐ์ถูกผู้บังคับกองร้อยควบคุมฝูงชน (คฝ.) ตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ซึ่งควบคุมดูแลกำลัง คฝ.ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุเข้าแจ้งความกล่าวหาว่า อิศเรษฐ์ใช้กำปั้นชก พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (รอง ผบช.ภ.4) และ พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา สารวัตรป้องกันและปราบปราม (สวป.) สภ.เมืองขอนแก่น หลัง รอง ผบช.ภ.4 เข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์จาก “ไนซ์ ดาวดิน” หรือ ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ ที่กำลังเริ่มปราศรัย แม้ว่าหลังเกิดเหตุบอสจะถูก คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวและส่งตัวให้ สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดีฐาน ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน โดยบอสให้การรับสารภาพในชั้นตำรวจ และเสียค่าปรับไปแล้วรวม 700 บาท

ฐานความผิดที่อัยการฟ้องอิศเรษฐ์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289(2), 80 และมาตรา 391 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยอิศเรษฐ์ให้การปฏิเสธมาโดยตลอด ยืนยันตามหลักสากลว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้ (Not Twice for the Same) อีกทั้งเขาไม่ได้ชก พล.ต.ต.ไพศาล ตามที่ถูกกล่าวหา แค่ใช้มือผลักเพื่อป้องกันไนซ์ที่ถูก พล.ต.ต.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ อันเป็นการขัดขวางการใช้เสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการกระทำของเขาเป็นการใช้สิทธิป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด

ก่อนฟังคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ ประเด็นในการต่อสู้คดี และบันทึกคำให้การของพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย

.

จากการชุมนุมต่อต้านประวิตรสู่การฟ้องคดี “พยายามทำร้ายร่างกาย” เหตุจากรอง ผบช.ภ.4 ปิดลำโพง-แย่งไมค์ผู้ชุมนุม

คฝ.ใช้กำลังเข้าควบคุมตัวภาณุพงศ์และอิศเรษฐ์ (ภาพโดย The Isaan Record)
  • 14 ต.ค. 2564 “ราษฎรขอนแก่น” จัดกิจกรรมหน้าศาลากลางจังหวัดต่อต้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะไนซ์เริ่มจับไมค์พูด รอง ผบช.ภ.4 เข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์ ก่อนไนซ์และบอสที่พยายามเข้าแย่งไมค์คืนตกอยู่ในวงล้อม คฝ.นับสิบนาย ได้รับบาดเจ็บ และบอสถูกควบคุมตัวไป สภ.เมืองขอนแก่น 
  • บอสถูกแจ้งข้อกล่าวหา ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน (ที่สั่งให้หยุดการใช้เครื่องขยายเสียง) แม้ว่าตัวเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้เครื่องขยายเสียง แต่เนื่องจากมีเพียงโทษปรับ บอสจึงให้การรับสารภาพ และจ่ายค่าปรับรวม 700 บาท ทำให้คดีอาญายุติลงในชั้นตำรวจ
  • 15 ต.ค. 2564 ตำรวจแจ้งข้อหาไนซ์ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน” อีก และยังมีข้อหา “ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย” หลัง ผบ.ร้อย คฝ. เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ อ้างว่ามี คฝ.1 นาย ได้รับบาดเจ็บ ไนซ์ให้การปฏิเสธ พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดีตำรวจ 10 นาย ฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ทำให้เสียทรัพย์ และทำร้ายร่างกาย เนื่องจากตนได้รับบาดเจ็บรวมถึงแว่นตาแตก 
  • 27 ต.ค. 2564 บอสถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตราย” อีก ครั้งนี้เขาให้การปฏิเสธ ยืนยันตามหลักสากลที่ว่า บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียว
  • 2 พ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ต่อมา อัยการคืนสำนวนและให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมกับบอสอีก ฐาน “พยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่” อ้างเหตุว่า บอสใช้กำปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี แต่ไม่โดน บอสให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ชก แค่ใช้มือผลัก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิป้องกันไนซ์ที่ถูก พล.ต.ต.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ 
  • 10 มิ.ย. 2565 อัยการยื่นฟ้องบอสต่อศาลแขวงขอนแก่นในทั้ง 3 ข้อหา ก่อนศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ 

.

อัยการฟ้อง “บอส” ต่อสู้ขัดขวางตำรวจที่แจ้งให้หยุดใช้เครื่องเสียง โดยชกอย่างแรง 2 ครั้ง ไปที่ตำรวจ 2 นาย-กระชากหมวก คฝ.อีกนาย

กิตติพันธ์ ธิติธนาทรัพย์ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น บรรยายพฤติการณ์คดีในคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 ขณะที่ พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ ผู้เสียหายที่ 1, พ.ต.ท.เมธี ศรีวันนา ผู้เสียหายที่ 2 และ ด.ต.สุทธิลักษณ์ อันทนิล ผู้เสียหายที่ 3 กับพวกเจ้าหน้าที่ตำรวจ กำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย สืบเนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยได้ประกาศแจ้งเตือนข้อกฎหมายให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบ และขอให้หยุดการใช้เครื่องขยายเสียง 

จำเลยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายทำร้ายร่างกาย พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี  ด้วยการใช้กำปั้นชกไปที่ พล.ต.ต.ไพศาล อย่างแรง 1 ครั้ง และชกไปที่ พ.ต.ท.เมธี อย่างแรง 1 ครั้ง ซึ่งจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองหลบทัน จึงไม่ได้รับอันตรายแก่กายสมดังเจตนาของจำเลย และจำเลยยังได้ทำร้ายร่างกาย ด.ต.สุทธิลักษณ์ ด้วยการใช้มือกระชากหมวกกันน็อคตำรวจออกจากศีรษะของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

.

ในห้องพิจารณา: พยานโจทก์ยืนยันตรงกัน ผู้ชุมนุมไม่หยุดใช้เครื่องเสียงตามที่ ตร.แจ้ง ก่อนรับตามคลิปว่า ไม่มีการแจ้ง ทั้งไม่ปรากฏ “บอส” ชก รอง ผบช.ภ.4-กระชากหมวก คฝ.   

การสืบพยานซึ่งมีขึ้นในวันที่ 30 พ.ย., 1, 2 ธ.ค 2565 โจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 6 ปาก เป็นตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ ได้แก่ พ.ต.ท.เมธี ผู้เสียหายที่ 2, ด.ต.สุทธิลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 3, พ.ต.ท.ณัฏฐ์ โหม่งพุฒ ผบ.ร้อย คฝ. ผู้กล่าวหา และ คฝ.อีก 2 นาย ปากสุดท้ายเป็นพนักงานสอบสวนในคดี

พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ตำรวจได้ประกาศแจ้งเตือนให้งดการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม พล.ต.ต.ไพศาล จึงเข้าปิดลำโพงและตรวจยึดไมค์จากไนซ์ ขณะไนซ์พยายามเข้าแย่งไมค์คืน อิศเรษฐ์ก็ได้ปรี่เข้าไปง้างหมัดชก 1 ครั้ง ไปที่ใบหน้า พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี แต่ทั้งสองหลบทัน จากนั้น คฝ.ได้โอบล้อมเข้าจับกุมไนซ์และอิศเรษฐ์

กรณีหมวกนิรภัยของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ หลุดจากศีรษะ และได้รับบาดเจ็บบริเวณคอจากสายรัดหมวก ระหว่างการจับกุมอิศเรษฐ์และไนซ์นั้น มีเพียง พ.ต.ท.เมธี ปากเดียวเท่านั้นที่ระบุว่า เกิดจากการที่อิศเรษฐ์พยายามต่อสู้แหวกแนว คฝ.ออกมา ตัว ด.ต.สุทธิลักษณ์ เอง เบิกความว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนดึง

นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังเบิกความตอบทนายจำเลยโดยยอมรับว่า ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การปิดกั้นโดยยึดเครื่องเสียงทำไม่ได้ การชุมนุมครั้งอื่นๆ ในขอนแก่น ตำรวจก็ไม่เคยมีการยึดเครื่องเสียง หากเป็นความผิดก็จะดำเนินคดีในภายหลัง อีกทั้งตามคลิปเหตุการณ์ ไม่ได้มีแจ้งเตือนให้งดใช้เครื่องขยายเสียงก่อนที่ รอง ผบช.ภ.4 จะเข้ายึดไมค์ รวมถึงไม่ปรากฏว่า จำเลยชกรอง ผบช.ภ.4 หรือกระชากหมวก ด.ต.สุทธิลักษณ์ พนักงานสอบสวนยังรับว่า ตามหลักกฎหมายอาญา บุคคลทำความผิด 1 ครั้ง ก็ต้องได้รับโทษ 1 ครั้ง ในกรณีนี้จำเลยได้ชำระค่าปรับจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไปแล้ว 

ภาพจากคลิปเหตุการณ์ ซึ่งปรากฏภาพบอสเพียงใช้มือผลัก พล.ต.ต.ไพศาล

ด้านจำเลยมีพยาน 3 ปาก อิศเรษฐ์และผู้ร่วมชุมนุมอีกรายยืนยันตรงกันว่า วันเกิดเหตุตำรวจไม่ได้แจ้งให้งดใช้เครื่องเสียง รวมทั้งไม่มีการแจ้งเตือนก่อนปิดลำโพงและกระชากไมค์ ขณะผู้ชุมนุมเพิ่งใช้ไมค์เพียง 1 นาที อิศเรษฐ์ระบุด้วยว่า ตนเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นของ พล.ต.ต.ไพศาล เป็นการกระทำที่ไม่ถูก ตนจึงเข้าไปช่วยแย่งไมค์คืน และป้องกันตัวขณะ คฝ.กรูเข้ามา ไม่ได้มีเจตนาทำร้ายหรือต่อสู้ขัดขวาง รวมทั้งไม่ได้เป็นคนทำให้หมวกของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ หลุด

สุดท้ายพยานนักวิชาการชี้ว่า การที่ตำรวจเข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์ถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกที่รัฐธรรมนูญรับรอง ในทางปฏิบัติถ้าประชาชนใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็ไปดำเนินคดีในภายหลัง แต่จะห้ามใช้เครื่องขยายเสียงหรือห้ามพูดไม่ได้

.

รายละเอียดคำเบิกความของพยานทั้งสองฝ่ายในห้องพิจารณามีดังนี้

.

ปากคำพยานโจทก์

ผู้ชุมนุมไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง-แจ้งให้หยุดแล้วไม่หยุดจึงยึดไมค์-บอสง้างหมัดชก 2 นายตำรวจ แต่ไม่โดน

พยานโจทก์ทั้งหมดเบิกความถึงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุสรุปใจความได้ว่า วันที่ 14 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 08.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ไนซ์ กลุ่มดาวดิน กับพวกประมาณ 30 คน มาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น โดยไนซ์ได้นำลำโพงและไมค์ไร้สายประกาศเชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรม โดยไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงจากเทศบาลนครขอนแก่น 

เวลา 09.00 น. พล.ต.ต.ไพศาล รอง ผบช.ภ.4, ผู้กำกับ สภ.เมืองฯ, พ.ต.ท.เมธี  พร้อมทั้ง พ.ต.ท.ณัฏฐ์ ได้ประกาศแจ้งเตือนให้งดการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม พล.ต.ต.ไพศาล จึงเข้าปิดลำโพง ทำให้ไนซ์ไม่พอใจเข้ามาขัดขวาง พล.ต.ต.ไพศาล จึงยึดไมค์จากไนซ์ จากนั้นไนซ์ได้พยายามผลักอก พล.ต.ต.ไพศาล เพื่อแย่งไมค์คืน 

ขณะนั้นอิศเรษฐ์ได้ปรี่เข้ามาง้างหมัดขวาชก พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี 1 ครั้ง บริเวณใบหน้า แต่ทั้งสองหลบทัน อิษเรศฐ์เหวี่ยงหมัดสุดกำลัง หาก พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี หลบไม่ทันก็จะบาดเจ็บ

จากนั้น พ.ต.ท.ณัฏฐ์ จึงสั่งให้ คฝ.โอบล้อมเข้าจับกุมไนซ์และอิศเรษฐ์ อิศเรษฐ์พยายามต่อสู้และแหวกแนว คฝ.ออกมา ทำให้หมวกนิรภัยของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ หลุดจากศีรษะ ได้รับบาดเจ็บบริเวณคอจากสายรัดหมวก

หลังเข้าควบคุมสถานการณ์แล้ว ตำรวจได้ควบคุมตัวอิศเรษฐ์ ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น ดำเนินคดี

อย่างไรก็ตาม ด.ต.สุทธิลักษณ์ ผู้เสียหายที่ 2 เอง เบิกความว่า ขณะเข้าจับกุมจำเลย ตนรู้สึกถูกดึงที่หมวกจนหมวกหลุดออกจากศีรษะและได้รับบาดเจ็บบริเวณคอ แต่ไม่ทราบว่าใครดึง ด้าน คฝ.อีก 2 นาย ไม่ทราบว่าวันเกิดเหตุมีใครได้รับบาดเจ็บหรือไม่ 

และเมื่อทนายจำเลยถามค้าน คำตอบของพยานโจทก์เหล่านี้มีประเด็นที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของตนเองดังนี้

.

ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ – การชุมนุมไม่เสี่ยงโควิด การปิดกั้นโดยยึดเครื่องเสียงทำไม่ได้ หากเป็นความผิดก็ดำเนินคดีภายหลัง

พยานโจทก์เกือบทุกปากยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 34 และมาตรา 44 รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การปิดกั้นเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่อาศัยกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง  ซึ่งการชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นการประท้วงแสดงความไม่พอใจรัฐบาลตามปกติ ทั้งเรื่องความล้มเหลวในการจัดการโควิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 17,000 ราย และการที่ พล.อ.ประวิตร มีส่วนร่วมในการทำรัฐประหารในปี 2557 

อีกทั้งการชุมนุมก็ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โควิด โดย พ.ต.ท.เมธี ตอบทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมมีทั้งรวมกลุ่มและกระจายตัว ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และพนักงานสอบสวนยืนยันว่า ไม่ได้ดำเนินคดีผู้ชุมนุมในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ณัฏฐ์ และ พ.ต.ท.อนุชิต ยังรับว่า การใช้เครื่องขยายเสียงไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคง ซึ่งโดยปกติตำรวจจะให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกไป หากเป็นความผิดอย่างไรก็จะดำเนินคดีในภายหลัง พยานโจทก์ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการในวันเกิดเหตุยังยืนยันตรงกันว่า ตนไปควบคุมการชุมนุมในจังหวัดขอนแก่นหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไม่เคยมีการตรวจยึดเครื่องเสียง ซึ่งหากผู้ชุมนุมไม่ได้ขออนุญาตก่อน ก็จะมีการดำเนินคดีในภายหลัง 

.

รอง ผบช.ภ.4 พกอาวุธ ไม่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรง เข้ายึดไมค์โดยไม่แจ้งเตือนให้งดใช้เสียงก่อน 

พ.ต.ท.ณัฏฐ์ ผบ.ร้อย คฝ. ตอบทนายจำเลยว่า กองร้อยควบคุมฝูงชนตั้งขึ้นเพื่อดูแลความปลอดภัยขณะมีการชุมนุมสาธารณะ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นชุดควบคุมฝูงชนต้องผ่านการฝึกอบรม เนื่องจากต้องปฏิบัติงานใกล้ชิดกับประชาชน จะไม่พกพาอาวุธ แต่จะพกอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โดยพิจารณาจากความหนักเบาของสถานการณ์ ซึ่งในวันเกิดเหตุ คฝ.มีเพียงโล่ หมวกนิรภัย และเสื้อเกราะ ส่วน พล.ต.ต.ไพศาล แต่งเครื่องแบบสีกากี พกพาอาวุธ ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรง 

พ.ต.ท.ณัฏฐ์ ตอบทนายจำเลยอีกว่า ตามคลิปเหตุการณ์ซึ่งบันทึกโดยสำนักข่าวอีสานเรคคอร์ด ในนาทีที่ 30-31 มีการประกาศแจ้งเตือนไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ แต่ตนจำไม่ได้ว่าเสียงใคร จากนั้น พล.ต.ต.ไพศาล ได้เข้าปิดเครื่องขยายเสียงโดยไม่มีการแจ้งเตือน และไม่ได้มีการตกลงกับ คฝ.ก่อน 

ด้าน พ.ต.ท.เมธี ผู้เสียหายที่ 2 ตอบทนายจำเลยเช่นเดียวกันว่า ตามหลักการ เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนจะไม่พกพาอาวุธ ซึ่งวันเกิดเหตุ พล.ต.ต.ไพศาล ถือเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีหน้าที่เจรจากับผู้ชุมนุม แต่ตามวีดีโอหลักฐาน พล.ต.ต.ไพศาล ได้พกอาวุธปืน และไม่ปรากฏว่า ได้แจ้งเตือนข้อกฎหมายกับผู้ชุมนุมและไม่ได้แจ้งเตือนว่าจะเข้ายึดไมโครโฟน

ทั้งนี้ ส.ต.ท.ธนวุฒิ 1 ในชุดควบคุมฝูงชนระบุด้วยว่า ตนเพิ่งเคยพบ พล.ต.ต.ไพศาล มาดูแลการชุมนุมครั้งนี้เป็นครั้งแรก

จำเลยเพียงดิ้นรน ไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวาง  – ไม่ได้ทำร้ายร่างกายรอง ผบช.ภ.4 และ คฝ.

พ.ต.ท.เมธี และ ส.ต.ท.ธนวุฒิ เบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ตามคลิปเหตุการณ์ของสำนักข่าวมติชน อิศเรษฐ์เพียงแต่ผลัก พล.ต.ต.ไพศาล ไม่ปรากฏว่าใช้กำปั้นชกแต่อย่างใด

พ.ต.ท.เมธี ยังรับด้วยว่า ที่ตนเบิกความว่า จำเลยพยายามฝ่าวงล้อม คฝ. จนเป็นการต่อสู้ขัดขวาง แต่หลังเหตุชุลมุนดังกล่าว จำเลยยังอยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่ได้พยายามหลบหนี จึงเป็นลักษณะที่จำเลยดิ้นรนตามปกติเท่านั้น สอดคล้องกับที่ ด.ต.สุทธิลักษณ์ และ ส.ต.ท.ธนวุฒิ คฝ.ชุดที่ควบคุมตัวอิศเรษฐ์ เบิกความตอบทนายจำเลย

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า อิศเรษฐ์ใช้มือกระชากหมวกกันน็อคตำรวจออกจากศีรษะของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ นั้น พ.ต.ท.ณัฏฐ์ และ ด.ต.สุทธิลักษณ์ ตอบทนายจำเลยว่า ตามคลิปเหตุการณ์ของมติชนออนไลน์ จะเห็นว่าเหตุที่หมวกหลุดเป็นเพราะถูกมือของ คฝ.อีกนาย โดยไม่เห็นว่าจำเลยใช้มือกระชาก 

.

จำเลยเคยถูกเปรียบเทียบปรับแล้วจากเหตุชุลมุนดังกล่าว

ด้าน พ.ต.ท.อนุชิต พนักงานสอบสวน ตอบทนายจำเลยว่า ในการแจ้งข้อกล่าวหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน หมายถึงขัดขวางการปิดเครื่องขยายเสียง โดยจำเลยได้ถูกเปรียบเทียบปรับไปแล้ว ซึ่งตามหลักกฎหมายอาญา บุคคลทำความผิด 1 ครั้ง ก็ต้องได้รับโทษ 1 ครั้ง ในกรณีนี้จำเลยได้ชำระค่าปรับจากเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไปแล้ว 

ส่วนข้อกล่าวหาฐานทำร้ายร่างกาย โดยหลักแล้ว การที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหา จะต้องดูบาดแผลว่ามากน้อยขนาดไหน หรือบางครั้งดูจากพฤติกรรมด้วย แล้วจึงพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตราใดของประมวลกฎหมายอาญา แต่ในคดีนี้จำเลยชกไม่ถูก พยานก็ไม่มีทางรู้ว่า หากชกถูกจะเกิดบาดแผลขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.อนุชิต ตอบโจทก์ถามติงในเวลาต่อมาว่า แม้จำเลยทำความผิดครั้งเดียว แต่เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งข้อหาที่แจ้งเพิ่มเป็นข้อหาหนักไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้

.

ปากคำพยานจำเลย

บอส-ผู้ร่วมชุมนุมยืนยัน ตร.ไม่ได้แจ้งให้งดใช้เครื่องเสียง-ผู้ชุมนุมใช้ไมค์เพียง 1 นาที ด้านบอสระบุ ตร.ทำไม่ถูกที่แย่งไมค์-ไม่มีเจตนาทำร้าย เพียงช่วยแย่งไมค์คืน-ป้องกันตัว

อิศเรษฐ์เบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า ตนทราบข่าวว่าจะมีการชุมนุมจากโซเชียลมีเดีย แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเพจอะไร ตนไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์และพวก ซึ่งรวมถึง พล.อ.ประวิตร จึงตัดสินใจไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเดินทางถึงหน้าศาลากลางจังหวัดประมาณ 08.00 น. พบตำรวจ คฝ. และตำรวจท้องที่ประมาณ 100 – 200 คน

ประมาณ 09.00 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 30 คน ยืนกระจัดกระจายกัน มีคนนำลำโพงตั้งพื้นหัวเข่าเข้ามาวางห่างจากตน 1-2 เมตร ตนเข้าใจว่าเป็นของไนซ์ โดยเพื่อนในกลุ่มเดียวกับไนซ์เป็นคนเอามา

ต่อมา ผู้กำกับ สภ.เมืองฯ ได้ประกาศข้อกฎหมายเกี่ยวกับโควิด แต่ไม่ได้ประกาศห้ามใช้เครื่องขยายเสียง ขณะนั้นไนซ์ได้ใช้ไมค์พูดไม่ถึงนาที พล.ต.ต.ไพศาล ซึ่งตนทราบชื่อในภายหลัง ได้เข้ามาพยายามปิดลำโพง ตนได้ยินไนซ์พูดว่า พี่อย่ายุ่งๆ จากนั้น พล.ต.ต.ไพศาล ก็ได้กระชากไมค์จากไนซ์ โดยไม่ได้มีการแจ้งเตือนให้ทราบก่อนแต่อย่างใด

ตนเห็นว่า การที่ พล.ต.ต.ไพศาล แย่งไมค์จากไนซ์ เป็นการกระทำที่ไม่ถูก จึงเข้าไปผลักเพื่อช่วยแย่งไมค์คืน จากนั้นตำรวจก็กรูเข้ามา มีทั้งในเครื่องแบบและ คฝ. ตนจึงได้ใช้กำปั้นชกไปที่โล่ของ คฝ. ไม่ได้ชก พล.ต.ต.ไพศาล และ พ.ต.ท.เมธี ตามฟ้อง และที่โจทก์อ้างว่า ตนกระชากหมวก ด.ต.สุทธิลักษณ์ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะหมวกของ ด.ต.สุทธิลักษณ์ หลุดอยู่ก่อนแล้ว โดยตนไม่ได้ใช้มือกระชาก

คฝ.ได้ใช้โล่กดตนให้หมอบลง โดยตนถูกดึงจนเสื้อขาดและบาดเจ็บอยู่บ้าง ส่วนภานุพงศ์ก็ล้มนอนอยู่กับพื้นในลักษณะจุก (ศาลไม่บันทึก ระบุว่าไม่เกี่ยวกับคดีนี้) จากนั้นตนไม่ได้พยายามหลบหนีแต่อย่างใด ที่พยานโจทก์เบิกความว่า ตนพยายามฝ่าวงล้อม ที่จริงตนเพียงแต่ดิ้นรนตามปกติเท่านั้น

หลังเกิดเหตุตนถูกนำตัวไป สภ.เมืองฯ ตนให้การรับสารภาพในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงและขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากอยากให้เรื่องจบไป เพราะมีเพียงโทษปรับเท่านั้น ซึ่งตำรวจชุดจับกุมก็เป็นคนจ่ายค่าปรับให้ โดยตนไม่ทราบเหตุผล ภายหลัง พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งตนให้การปฏิเสธ

ตนใช้สิทธิในการร่วมชุมนุมในครั้งนี้ตามมาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้ตนเคยร่วมชุมนุมในจังหวัดขอนแก่นหลายครั้ง ไม่เคยเห็นตำรวจยึดเครื่องเสียง แต่จะปล่อยให้ใช้และมาดำเนินคดีในภายหลัง การที่ พล.ต.ต.ไพศาล เข้าแย่งไมค์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของไนซ์ ตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกวิจารณ์รัฐบาล การมาแย่งไมค์ก็ทำให้ใช้เสรีภาพไม่ได้

อิศเรษฐ์ยังเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ขณะที่ตนไปถึงที่เกิดเหตุประมาณ 08.00 น. ยังไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง มาใช้ตอน 09.00 น. และมีไนซ์ใช้คนเดียว อิศเรษฐ์ยืนยันอีกว่า ไม่ได้มีเจตนาต่อย พล.ต.ต.ไพศาล เพียงแต่ป้องกันตัวเพราะเจ้าหน้าที่กรูเข้ามา

ขวัญข้าว หลาบหนองแสง ผู้ร่วมชุมนุมซึ่งยืนอยู่ใกล้ลำโพง เบิกความเป็นพยานจำเลยสอดคล้องกับอิศเรษฐ์ว่า วันเกิดเหตุเข้าร่วมชุมนุม โดยเห็นว่าเป็นการแสดงออกโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเดินทางถึงหน้าศาลากลางพร้อมๆ กับไนซ์ ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมมาถึงประปราย ทราบว่ามาเรียกร้องเรื่องวัคซีน แต่ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง จากนั้นพยานได้ยินตำรวจแจ้งเตือนผ่านเครื่องขยายเสียงให้งดเว้นการรวมกลุ่ม และให้เว้นระยะห่าง ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยืนห่างๆ กัน ไม่ได้รวมกลุ่ม และสวมหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว พยานไม่ได้ยินว่ามีการแจ้งเตือนให้งดใช้เครื่องขยายเสียง 

ต่อมา พยานเห็นไนซ์ใช้เครื่องขยายเสียงทักทายกลุ่มผู้ชุมนุม 1 นาที และเห็นชายชุดสีกากีเดินมาจากฝั่ง คฝ. จะปิดลำโพง โดยไม่มีการแจ้งเตือนก่อน ไนซ์พูดว่าอย่ายุ่งๆ และเดินเข้าไป ชายคนดังกล่าวก็แย่งไมค์ไปจากไนซ์ จากนั้นพยานเห็น คฝ.เข้ามาเอาตัวไนซ์และจำเลย แต่พยานไม่เห็นเหตุการณ์ในวงล้อม คฝ. รวมทั้งไม่เห็นว่าจำเลยพยายามหลบหนี

.

นักวิชาการชี้ ตร.ใช้อำนาจโดยมิชอบละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เบิกความเป็นพยานจำเลยอีกปากในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการเมืองว่า การกระทำที่ตำรวจเข้าปิดลำโพงและแย่งไมค์ ในทางวิชาการถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและใช้อำนาจล้นเกินของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 34 ระบุว่า บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออก การจำกัดจะกระทำมิได้ เป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกยอมรับ การมาแย่งไมค์ถือว่าเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การแสดงออกของจำเลยถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งจะถูกละเมิดมิได้เลยในสังคมประชาธิปไตย

พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ถือเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ในทางปฏิบัติถ้าประชาชนใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาตก็ไปดำเนินคดีในภายหลัง แต่จะห้ามใช้เครื่องขยายเสียงหรือห้ามพูดไม่ได้ เป็นการใช้กฎหมายโดยมิชอบและล้นเกิน ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ

.

X