ศาลนัดสืบพยานคดี “บุ้ง-ใบปอ” ทำโพลรัฐบาลให้อำนาจกษัตริย์-แชร์โพสต์ทะลุวัง ต.ค.-ธ.ค. 66


เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ศาลอาญา รัชดา นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 คดี สืบเนื่องจากกรณี “บุ้ง” และ “ใบปอ” ทำโพลถามเห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย และคดีที่ “ใบปอ” ถูกกล่าวหาจากการแชร์โพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง” 

เวลา 9.00 น. ในนัดตรวจพยานหลักฐาน คดีที่ “ใบปอ” ถูกสั่งฟ้องในข้อหาตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีแชร์โพสต์จากเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง” ซึ่งเป็นโพสต์เกี่ยวกับการปิดบังตัวเลขที่แท้จริงของงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ ปี 2564 

ภายหลังโจทก์และจำเลยยื่นบัญชีพยานต่อศาล ผู้พิพากษาได้นำสำนวนขึ้นปรึกษารองอธิบดีฝ่ายกำหนดนัดวันสืบพยาน เนื่องจากคู่ความขอสืบพยานจำนวนหลายปาก โดยผู้พิพากษาเห็นว่าในส่วนของโจทก์มีพยานที่เป็นกลุ่มเดียวกัน จึงให้โจทก์เลือกพยานมาสืบบางคน และในส่วนของจำเลยมีพยานในส่วนที่เป็นพยานความเห็นนักวิชาการ จึงให้นำส่งบันทึกถ้อยคำมาก่อนสืบพยานเพื่อความรวดเร็ว และให้นำพยานมาสืบที่ศาลในส่วนของบุคคลที่เป็นประจักษ์พยาน 


กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 30 ปาก จำนวน 3 นัด ในวันที่ 20 ต.ค., 12-13 ธ.ค. 2566  โดยพยานโจทก์ที่จะมาเบิกความในคดี อาทิ พยานนักวิชาการ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร และ เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก 

ขณะที่ทนายจำเลยยื่นขอสืบพยานจำเลย 24 ปาก จำนวน 2 นัด ในวันที่ 14-15 ธ.ค. 2566

———————–

ต่อมาในช่วงเวลา 13.30 น. ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ “บุ้ง” เนติพร และ ใบปอ ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 จากกรณีทำโพลถามความเห็นประชาชนว่า “เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามพระราชอัธยาศัย” ที่บริเวณทางเท้าระหว่างสถานีรถไฟฟ้าหมอชิตกับรถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักร เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565

คดีนี้ฝ่ายโจทก์จะนำสืบพยาน 12 ปาก โดยมีพยานปากผู้กล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงนักวิชาการ เช่น ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นต้น กำหนดวันนัดทั้งหมด 4 นัด ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. 2566

ส่วนฝ่ายจำเลยประสงค์สืบพยาน 8 ปาก ประกอบด้วยตัวจำเลย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ภาษาศาสตร์ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ  เลขาธิการสำนักพระราชวัง ศาลกำหนดวันนัดให้ 2 นัด ในวันที่ 14-15 พ.ย. 2566


ในทั้ง 2 คดี ทนายจำเลยยังได้ยื่นขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารหลายรายการเพื่อใช้ในการต่อสู้คดี อาทิ 

1. ต้นฉบับหรือสำเนาฉบับรับรองถูกต้อง สำนวนคดีทั้งหมดของศาลแพ่ง ระหว่างกระทรวงการคลังโจทก์ กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี 

2. รายงานการใช้งบประมาณโครงการจัดแสดงสินค้าแนวใหม่ในต่างประเทศ สำหรับแบรนด์ Sirivannavari ซึ่งเอกสารมีอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ 

3. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2565

4. รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

5. รายการและรายละเอียดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินในพระองค์ และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2560-2565

6. งบประมาณของสำนักพระราชวังในปี พ.ศ. 2561 – 2565

ต้องจับตาการออกหมายเรียกพยานเอกสารเหล่านี้ของศาลต่อไป


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

94 วันของการคุมขัง: “บุ้ง – ใบปอ” ได้ประกันตัวทุกคดี

จับกุม “ใบปอ-บุ้ง-เมนู” ตามหมายจับ 112 เหตุทำโพลเรื่องการใช้อำนาจของกษัตริย์ ก่อนศาลให้ประกัน แต่สั่งติด EM – ห้ามออกนอกที่พักวันละ 14 ชม.

จับ “เมนู-ใบปอ-พลอย” ตามหมายจับ ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ เหตุแชร์โพสต์ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” ก่อนศาลให้ประกันตัว

X