ศาลอาญาไม่ให้ประกัน “คทาธร-คงเพชร” เป็นครั้งที่ 6 – 7 ระบุเช่นเดิม “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”

วันนี้ (30 ก.ย. 2565) ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “คทาธร” ครั้งที่ 6 และ “คงเพชร” เป็นครั้งที่ 7 โดยทั้งสองเป็นนักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ระหว่างเดินทางไปร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม จากเหตุมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง 

.

ครั้งนี้เป็นการยื่นคำร้องครั้งที่ 7 โดยเนื้อหาของคำร้องระบุความประสงค์ขอยื่นประกันโดยวางเงินสดเป็นหลักประกันจำนวนคนละ 100,000 บาท ยินยอมให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือว่าจะสามารถกำกับดูแลจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลได้ดีเพียงพอ

และหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยยืนยันจะไม่หลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อภยันตรายประการอื่น ตลอดจนไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดี 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่าจำเลยทั้งสองได้ให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาจำนวน 7 ข้อกล่าวหา จากทังหมด 8 ข้อกล่าวหาในคดีแล้ว ได้แก่

  1. ร่วมกันมีวัตถุระเบิดครอบครองโดยผิดกฎหมาย 
  2. ร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
  3. ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย
  4. ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยที่คนโดยสารไม่สวมหมวกนิรภัย
  5. โดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย
  6. นำรถมิได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทางเดินรถ
  7. เป็นผู้ขับขี่รถไม่เป็นไปตามทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในทางเดินรถ

ส่วนในข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายนั้น เนื่องจากจำเลยยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องในเนื้อหาดังกล่าว จึงไม่รับสารภาพ และจะต่อสู้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายต่อไป

ที่ผ่านมาศาลอาญา รัชดา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวและยกคำร้องเรื่อยมาตลอดทั้ง 6 ครั้ง ด้วยเห็นว่าความผิดที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

สำหรับการยื่นประกันในครั้งนี้ ศาลอาญาได้มีคำสั่งระบุเช่นเคยว่า “ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีนี้จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

ทำให้ ณ ปัจจุบัน คทาธรและคงเพชรถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำมาแล้วเป็นเวลากว่า 173 วัน นับเป็นผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเป็นระยะเวลานานที่สุดในระลอกนี้ โดยก่อนหน้านี้ ศาลอาญาได้นัดสืบพยานในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 7 มี.ค. 2566 หากไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา ทั้งคู่จะต้องถูกคุมขังต่อไปจนการสืบพยานและมีคำพิพากษา

.

“การไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้รู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง” 

– คทาธรและคงเพชร, ระบุถึงความรู้สึกในการเข้าเยี่ยมเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565

.

X