ศาลยกฟ้อง “หมิ่นประมาทฯ” คดีแชร์ภาพคนหน้าเหมือน ‘ศักดิ์สยิว’ เที่ยวผับติดโควิด ชี้จำเลยไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง 

วันที่ 20 ก.ค. 2565 ก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซเนอร์ อายุ 26 ปี เดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องเขาในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” หลังจากที่แชร์โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงถึงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิง ในช่วงคลัสเตอร์แพร่ระบาดโควิด-19 จากย่านทองหล่อเมื่อปี 2564 โพสต์นั้นมีภาพและข้อความระบุว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือน ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว” 

>>>ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

คดีนี้สืบพยานกันไปในช่วงวันที่ 24 พ.ค. 2565 พยานโจทก์ 3 ปาก เป็นพนักงานสอบสวน 2 ปาก และ ทิวา การกระสัง ทนายความผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม  ขณะที่ศักดิ์สยาม ชิดชอบ นักการเมืองพรรคภูมิใจไทย ผู้อ้างตัวเป็นผู้เสียหาย ไม่ได้มาเบิกความหรือยุ่งเกี่ยวในระหว่างชั้นพิจารณาคดี ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นก็อตขึ้นเบิกความเพียงปากเดียว 

>>>ภาพไม่นิ่ง: โจทก์บอกเป็นภาพไม่จริงส่วนจำเลยบอกแค่คนหน้าเหมือน ย้อนดูคดีแชร์ภาพ ‘ศักดิ์สยิว’ หมิ่นประมาทฯ รัฐมนตรี ก่อนศาลพิพากษา

ในห้องพิจารณาคดี รชฏ กลแกม ผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาใจความว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง ได้แชร์ภาพและข้อความของผู้ใช้บัญชี “บอล ภาคิไนย์” เป็นภาพใบหน้าผู้ชายและผู้หญิงจูบปากกัน มีข้อความ “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือน ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว” ไปที่หน้าเฟซบุ๊กของจำเลยพร้อมพิมพ์ข้อความกำกับว่า “คนหน้าเหมือนเฉยๆ ครับ พณ ท่าน” ภายหลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จำเลยให้การรับสารภาพ 

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมี ทิวา การกระสัง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วม เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ร่วมเห็นภาพและข้อความตามฟ้องขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ จึงมอบอำนาจให้พยานมาร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นคดีนี้ ปัจจุบันโจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

ภาพและข้อความจากบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “บอล ภาคิไนย์” ว่า  ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว หมายถึงโจทก์ร่วม เนื่องจากคณะรัฐมนตรี 36 คน มีบุคคลชื่อศักดิ์สยาม ชิดชอบ เพียงคนเดียว และช่วงวันที่ 15 เม.ย. 2564 รัฐมนตรีที่ติดโควิด-19 และอยู่ระหว่างการรักษาคือโจทก์ร่วม ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว สื่อวิทยุโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เผยแพร่ข่าวว่าโจทก์ร่วมติดโควิด -19 เพราะไปเที่ยวสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นช่วงเวลาดังกล่าวคำว่า ฯพณฯท่าน ไปเที่ยวสถานบันเทิงก็คือโจทก์ร่วมเพียงคนเดียว 

เมื่อจำเลยแชร์ภาพและข้อความดังกล่าว ย่อมทราบว่ามีข้อความที่ระบุว่า ทั่นศักดิ์สยิว รวมอยู่ด้วย โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่และข้อความตามฟ้อง มีการยื่นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับภาพและข้อความดังกล่าว การนำภาพดังกล่าวเผยแพร่ว่าชายในภาพคือโจทก์ร่วม และระบุว่าโจทก์ร่วมติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิงก็ทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ทั้งนี้โจทก์ร่วมไม่ได้ติดโควิด -19 จากการเที่ยวสถานบันเทิง ชายในภาพจากเฟซบุ๊กไม่ใช่โจทก์ร่วม แต่เป็นบุคคลที่คล้ายโจทก์ร่วม หากจำเลยสังเกตจะทราบว่าไม่ใช่โจทก์ร่วม เพราะภาพโจทก์ร่วมมักปรากฏในสื่อเป็นปกติ

คำพิพากษาระบุต่อไปว่า โจทก์มี ร.ต.อ.สรรพวุธ  ลำมะนา เบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่าชายในภาพถ่ายตามฟ้องเป็นบุคคลมีชื่อบุคคลอื่น และ พ.ต.ท.ไชยา สระโสม พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ภาพและข้อความตามฟ้องชี้นำให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าว ดูหมิ่นเกลียดชังโจทก์ร่วมว่าไปเที่ยวและเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภาพ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ จาก news.trueid.net

ศาลเห็นว่า เมื่อจำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่า ข้อความและภาพที่จำเลยโพสต์มีลักษณะหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมหรือไม่

ซึ่งพยานโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่า ช่วงที่จำเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องนั้น รัฐมนตรีที่ติดโควิด-19 และอยู่ระหว่างรักษาตัวคือโจทก์ร่วม และสื่อเผยแพร่ข่าวว่า โจทก์ร่วมติดโควิด-19 เพราะไปเที่ยวสถานบันเทิง แล้วโจทก์และโจทก์ร่วมจึงสรุปว่า คำว่า คนหน้าเหมือน “ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว” หรือ “พณ ท่าน” ที่จำเลยโพสต์นั้นมีลักษณะชี้นำว่าหมายถึงตัวโจทก์ร่วม 

การนำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในทำนองว่าชายในภาพคือโจทก์ร่วม และระบุว่า โจทก์ร่วมติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิง ทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมนั้น ล้วนเป็นเพียงความเข้าใจของโจทก์ร่วมเท่านั้น หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่ เนื่องจากข้อความตามฟ้องไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ร่วมโดยตรง ประกอบกับคำว่า คนหน้าเหมือน ก็ไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง โดยเป็นเพียงข้อความที่มีลักษณะเลื่อนลอย ไม่แน่ว่าคือผู้ใด 

อีกทั้งโจทก์และโจทก์ร่วมก็นำสืบว่า ผู้ที่เห็นข้อความและรูปภาพตามฟ้องแล้วสามารถเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 คือผู้ที่เคยเห็นรูปภาพโจทก์ร่วม รวมทั้งต้องติดตามมข่าวสารของโจทก์ร่วมทางสื่อ ดังนั้นหากบุคคลทั่วไปอ่านข้อความและเห็นรูปภาพตามฟ้องย่อมไม่ทราบหรือเข้าใจในทันทีได้ว่าข้อความและรูปภาพที่โจทก์และโจทก์ร่วมอ้างมานั้นหมายถึงผู้ใด และเป็นเรื่องจริงตามที่จำเลยลงไว้ในเฟซบุ๊กหรือไม่

หากบุคคลทั่วไปที่เห็นข้อความและรูปภาพดังกล่าวต้องการทราบความหมายของคำว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือน ฯพณฯ ทั่นศักดิ์สยิว” และ “คนหน้าเหมือนเฉยๆ ครับ พณ ท่าน” รวมถึงสถานที่และความเป็นมาของรูปภาพดังกล่าว ว่าคือผู้ใด เกิดเหตุการณ์ใดที่สถานที่ดังกล่าว และส่งผลอย่างใดต่อไปก็ต้องไปสืบเสาะหาเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์ร่วมจริงหรือไม่ รวมถึงโจทก์ร่วมจะเป็นผู้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือไม่ 

และในกรณีที่ทำการสืบเสาะค้นหาแล้ว แม้อาจเข้าใจว่าหมายความถึงโจทก์ร่วม แต่หากจะให้เข้าใจว่าโจทก์ร่วมติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิง บุคคลทั่วไปก็ยังต้องติดตามข่าวสารของโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเติมมาประกอบกัน ซึ่งล้วนเป็นการทราบจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง หาได้ทราบโดยอาศัยข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงตามคำฟ้องไม่

เมื่อโจทก์ร่วมยึดถือความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นสำคัญ ทั้งๆ ที่บุคคลทั่วไปไม่ได้มีการรับรู้หรือเข้าใจในข้อความและรูปภาพดังกล่าวว่าเป็นตัวโจทก์ร่วม หรือโจทก์ร่วมทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม 

แม้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน โดยมีถ้อยคำว่าจำเลยสำนึกผิด ประสงค์ขอโทษโจทก์ร่วม และจำเลยก็ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การ โดยไม่ได้ถูกขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกาย แต่ข้อความใดจะมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาทตามกฎหมายหรือไม่ ต้องอาศัยคำฟ้องของโจทก์เป็นสำคัญ ทั้งเป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลต้องวินิจฉัยต่อไป มิใช่ว่าจำเลยรับสารภาพแล้วจะถือได้ทันทีว่าข้อความและรูปภาพตามฟ้องมีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท 

ประกอบกับจำเลยให้การในชั้นสอบสวนขณะยังไม่มีทนายความ ส่วนในชั้นพิจารณา จำเลยมีทนายความแล้วจึงให้การปฏิเสธว่าถ้อยคำและรูปภาพตามฟ้องไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดังนั้น เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่กล่าวมาในคำฟ้องไม่เป็นความผิด ศาลก็ย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 วรรคหนึ่ง พิพากษายกฟ้อง 

.

หลังฟังคำพิพากษา ก็อต ที่เพิ่งผ่านการอุปสมบทที่บ้านเกิดในจังหวัดกำแพงเพชร  กล่าวสั้นๆ ว่า รู้สึกโล่งใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม และคุ้มค่าที่ตัวเองใช้เวลาต่อสู้กว่า 1 ปี เพื่อจะพิสูจน์ว่าไม่ได้ทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง แม้ตอนแรกจะยอมรับสารภาพแต่นั่นเป็นเพราะ ไม่มีใครให้ปรึกษาในกระบวนการที่จะต่อสู้ นับจากนี้ก็อตคิดว่าจะกลับไปทำงานกราฟิกดีไซน์เนอร์และยังสนใจติดตามข่าวสารการเมืองอีกต่อไป

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ยังมีคดีที่บุคคลสาธารณะฟ้องประชาชนในข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา อีกอย่างน้อย 2 คดี โดยคดีที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ฟ้องนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและนักกิจกรรม จากกรณีพบป้ายต้องการอธิการบดีที่โปร่งใสติดบริเวณมหาวิทยาลัย ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 28 ก.ย. ที่จะถึงนี้ 

ส่วนอีกคดี ที่เนวิน ชิดชอบฟ้อง “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก จากการแชร์โพสต์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนเข้าจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 ต.ค. 2565 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ภาพไม่นิ่ง: โจทก์บอกเป็นภาพไม่จริงส่วนจำเลยบอกแค่คนหน้าเหมือน ย้อนดูคดีแชร์ภาพ ‘ศักดิ์สยิว’ หมิ่นประมาทฯ รัฐมนตรี ก่อนศาลพิพากษา

รัฐมนตรีคมนาคมแจ้งหมิ่นประมาทโดยโฆษณาฯ กราฟิกดีไซเนอร์ หลังแชร์โพสต์โยงสถานบันเทิงช่วงโควิดระบาด ระบุ “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน”

X