ภาพไม่นิ่ง: โจทก์บอกเป็นภาพไม่จริงส่วนจำเลยบอกแค่คนหน้าเหมือน ย้อนดูคดีแชร์ภาพ ‘ศักดิ์สยิว’ หมิ่นประมาทฯ รัฐมนตรี ก่อนศาลพิพากษา

ช่วงชีวิตวัย 26 ปี ของก็อต (นามสมมติ) กราฟิกดีไซน์เนอร์หนุ่มที่กำลังสั่งสมชีวิตให้ตัวเองทั้งในแง่ประสบการณ์ทำงานและความมั่นคงทางการเงิน ด้วยไม่อยากรับกิจการโต๊ะจีนของที่บ้านใน จ.กำแพงเพชร หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านภาคกลางเขาตัดสินใจเข้ามาเสี่ยงโชคที่กรุงเทพฯ หลังทำงานไปได้ราว 3 ปีที่ชีวิตกำลังรุ่งโรจน์ การเข้ามาของโรคภัยโควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ชีวิตก็อตแปรเปลี่ยนไป 

.

ภาพของก็อต ในนัดฟังคำสั่งอัยการ

.

ในทางหนึ่งงานการของเขาสะดุดลงไปช่วงหนึ่งเพราะติดเชื้อโควิด ส่วนอีกทางเพียงเพราะแชร์โพสต์เฟซบุ๊ก “ศักดิ์สยิว” คนหน้าเหมือนรัฐมนตรีช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคกำลังรุกหนัก ก็ทำให้ก็อตตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ที่มีทนายความรับมอบอำนาจจากศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้กล่าวหา

จากกำแพงเพชรเข้าไปผจญชีวิตในเมืองกรุง ถึงที่สุดก็อตต้องเดินทางไกลหลายร้อยกิโล ครั้งละหลายชั่วโมง เพราะถูกดำเนินคดีที่บุรีรัมย์ จังหวัดที่ว่ากันว่าเป็นบ้านใหญ่ของตระกูลการเมือง ‘ชิดชอบ’ ก็อตเคยสะท้อนว่า “ถ้าเป็นบุคคลสาธารณะก็สมควรต้องถูกวิจารณ์ ถูกตรวจสอบได้ ผมรู้สึกว่ากฎหมายให้เอาผิดทางออนไลน์มันกว้างไป ใครฟ้องก็ได้ ฟ้องที่ไหนก็ได้ มันไม่ยุติธรรมกับคนตัวเล็กๆ”

ในวันที่เข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.ไชยา สระโสม แจ้งกับก็อตว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 ศักดิ์สยาม พบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีเดียวกับชื่อนามสกุลจริงของก็อตในภาษาอังกฤษ แชร์ภาพและข้อความจากเฟซบุ๊กบัญชี “บอล ภาคิไนย์” ปรากฏภาพใบหน้าผู้ชายและผู้หญิงกำลังจูบปากกัน พร้อมระบุข้อความว่า “ดูดดื่มมากคับคนหน้าเหมือนฯพณฯทั่น ศักดิ์สยิว” ในการแชร์นั้นมีการเขียนข้อความประกอบว่า “คนหน้าเหมือนกันเฉยๆครับ พณ ท่าน”

ตำรวจแจ้งก็อตอีกว่า ภาพและข้อความนั้นชี้นำคนอื่นว่าชายที่อยู่ในภาพคือรัฐมนตรีคมนาคม ไปเที่ยวสถานบันเทิง กำลังจูบปากกับผู้หญิง ทั้งๆ ที่มีการระบาดของโควิด -19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาจติดเชื้อโควิด-19 จากสถานบันเทิงดังกล่าว ทำให้ศักดิ์สยามได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ได้รับความอับอายจากการโพสต์ข้อความข้างต้น พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  และมาตรา 328 

วันที่ไปเยือนบุรีรัมย์ครั้งแรก ไม่ได้มีทนายความติดตามไปด้วย และญาติที่ไปด้วยต้องการให้เรื่องจบไปโดยไว ก็อตจึงให้การรับสารภาพ แต่ก็อตก็รู้สึกค้างคาอยู่ในใจว่า แม้เฟซบุ๊กที่ถูกแจ้งความจะเป็นของเจ้าตัวจริง และแชร์โพสต์จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท หรือระบุถึงตัวศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่อย่างใด และก็อตก็ลบโพสต์ดังกล่าวไปตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2564 แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ก็อตตัดสินใจภายหลังโดยให้การปฏิเสธเพื่อจะเดินหน้าสู้คดีต่อ เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ในอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อกล่าวหา  

คดีดำเนินไปตั้งแต่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ ส่งสำนวนไปให้อัยการ ไปจนถึงชั้นศาล ก่อนจะสืบพยานกันไปในช่วงวันที่ 24 พ.ค. 2565 ผ่านพยานโจทก์ 3 ปาก เป็นพนักงานสอบสวน 2 ปาก และทนายความผู้รับมอบอำนาจ  ขณะที่ศักดิ์สยามผู้อ้างตัวเป็นผู้เสียหาย ไม่ได้มาเบิกความหรือยุ่งเกี่ยวในระหว่างชั้นพิจารณาคดี ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นก็อตขึ้นเบิกความลำพัง

“ผมคิดแต่แรกว่าต้องสู้ตามกระบวนการ จะผิดถูกยังไงก็คงต้องยอมรับผล ถึงแม้บางทีผลอาจจะไม่ถูกใจเราสักเท่าไหร่”

วันที่ 20 ก.ค. 2565  ศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดฟังคำพิพากษา  สำหรับก็อตไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเขาพร้อมเผชิญหน้า แต่ถึงอย่างนั้นชายหนุ่มก็ยังคาดหวังจะเห็นดอกผลแห่งความยุติธรรมที่สมควรจะบังเกิดแก่เขาอยู่ 

.

โจทก์บอกเองภาพนั้นเป็นภาพไม่จริง

ย้อนไปในวันสืบพยานที่มี ทิวา การกระสัง ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายและทนายความโจทก์ร่วม เบิกความเป็นพยานว่า การที่ก็อตนำภาพดังกล่าวที่ปรากฏในเฟซบุ๊กของบัญชีหนึ่ง แชร์มาหน้าเฟซบุ๊กของตัวเอง แม้ไม่ได้ระบุหรือพิมพ์ชื่อว่า ท่านศักดิ์สยิว เอง แต่การแชร์ภาพดังกล่าวซึ่งมีข้อความว่า ฯพณฯ ศักดิ์สยิว นั้น จำเลยย่อมทราบว่าภาพดังกล่าวมีข้อความที่ระบุว่า ท่านศักดิ์สยิว รวมอยู่ด้วย

ในช่วงเวลาที่ศักดิ์สยามติดโควิด สื่อวิทยุโทรทัศน์และทางออนไลน์เผยแพร่ข่าวว่า ติดโควิดเพราะไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อในกรุงเทพมหานคร ชื่อเอ็มเมอรอลผับ ซึ่งในช่วงวันที่ 15 เม.ย. 2564 คำว่า ฯพณฯ ไปเที่ยวสถานบันเทิงก็คือว่าผู้เสียหายเพียงคนเดียว ในเฟซบุ๊กของจำเลยที่แชร์ภาพดังกล่าว มีบุคคลอื่นมากดถูกใจและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

ทิวาเบิกความต่อไปว่า ผู้เสียหายเป็นรัฐมนตรี ได้รับความเสียหายจากการเผยแพร่ภาพและข้อความดังกล่าว โดยฝ่ายค้านในรัฐสภานำภาพและเรื่องราวไปยื่นอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้ผู้เสียหายจะเป็นรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะ แต่การนำภาพซึ่งไม่เป็นความจริงมาเผยแพร่ว่าภาพดังกล่าวเป็นผู้เสียหายนั้น และการที่เผยแพร่ว่าผู้เสียหายติดโควิด-19 จากการเที่ยวสถานบันเทิงนั้น ก็ทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงเช่นกัน

.

ภาพศักดิ์สยาม ชิดชอบ จากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

.

ก่อนทิวาจะตอบคำถามค้านของทนายว่า ศักดิ์สยามติดโควิดเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 หลังจากรักษาตัวจากโควิด ระหว่างนั้นมีสำนักข่าวเนชั่นกับมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ให้ข่าวในทำนองว่า ศักดิ์สยามไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อจนติดโควิด และเป็นต้นเหตุให้เกิดโควิดคลัสเตอร์ โดยสำนักข่าวเนชั่นออกข่าววันที่ 9 เม.ย. 2564 ไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายโดยตรง แต่พูดถึงรัฐมนตรี ส่วนมงคลกิตติ์โพสต์ข้อความในวันที่ 19 เม.ย. 2564 ระบุว่าเป็นรัฐมนตรี 

โดยเมื่อสำนักข่าวเนชั่นเสนอข่าวไป รัฐมนตรีก็ออกมาแก้ข้อกล่าวหา โดยมอบหมายให้แพทย์ผู้ทำการรักษานำไทม์ไลน์ของผู้เสียหายมาเสนอว่า ระหว่างวันที่ 30 มี.ค. – 6 เม.ย. 2564 ผู้เสียหายไม่เคยไปย่านทองหล่อเลย แต่ติดโควิดจากเลขาฯ ของผู้เสียหายเอง โดยไทม์ไลน์นี้ก็มีการเผยแพร่ทั่วไป  หากจำเลยตรวจสอบแล้วก็จะทราบได้ว่า ข่าวที่สำนักข่าวเนชั่นเผยแพร่นั้นไม่เป็นความจริง การที่สำนักข่าวเนชั่นเสนอข่าวดังกล่าวไป ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าผู้เสียหายติดโควิด จากการเที่ยวผับทองหล่อ ซึ่งตนก็ดำเนินการร้องทุกข์เอาผิดกับสำนักข่าวเนชั่นแล้ว

ขณะเดียวกับที่ พ.ต.ท.ไชยา สระโสม และ ร.ต.อ.สรรพวุธ ลำมะนา คณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ เบิกความตรงกันว่า หลังมีการร้องทุกข์ต่อตำรวจ จึงรวบรวมหลักฐานเพื่อที่จะระบุตัวของผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยสืบทราบภายหลังว่าเป็นก็อตที่เป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงทำการออกหมายเรียกก็อตมาดำเนินคดี ทั้งนี้ จากการสืบสวนสอบสวน ตำรวจทั้งสองกล่าวว่าบุคคลตามภาพถ่าย น่าจะเป็นบุคคลอื่น ไม่ใช่ศักดิ์สยาม 

.

จำเลยแชร์โพสต์เพียงจะบอกว่าเป็นคนหน้าเหมือน

ก็อตเบิกความเองในฐานะพยานจำเลยว่า ก่อนจะโพสต์และแชร์ข้อความในคดี ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 มีข่าวเกี่ยวกับคลัสเตอร์โควิด-19 ย่านทองหล่อ โดยติดตามข่าวจากทางออนไลน์ แต่ก็ไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับผู้เสียหายก็อตเห็นโพสต์ของผู้ใช้บัญชีหนึ่ง จากเพื่อนในเฟซบุ๊กซึ่งแชร์รูปภาพมาจากเฟซบุ๊ก โดยที่ไม่รู้จักผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีนั้นมาก่อน

   เมื่อเห็นภาพตามเอกสารหมาย จ.8 จึงกดเข้าไปดูและพบความคิดเห็นว่า ย้ำนะครับ ว่าคนหน้าเหมือน ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี แล้วก็กดแชร์ภาพดังกล่าวพร้อมเขียนข้อความระบุว่า คนหน้าเหมือนเฉยๆ ฯพณฯท่าน โดยปกติก็อตก็แชร์ข่าวสารที่น่าสนใจในเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เจตนาที่แชร์โพสต์ดังกล่าวเพียงจะบอกว่าคนหน้าเหมือนเท่านั้น

   ก็อตกล่าวในห้องพิจารณาคดีอีกว่า ในขณะที่แชร์ภาพนั้น ก็ไม่ทราบว่าบุคคลในภาพคือศักดิ์สยามหรือไม่ เพราะไม่เคยเจอ และภายหลังจากแชร์ภาพดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เห็นข่าวว่าบุคคลในภาพไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงลบโพสต์ดังกล่าว  ทั้งนี้เมื่อ 5 มิ.ย.2565 ก็อตเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์ พร้อมกับแม่และพี่สาว เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก็ให้การว่าโพสต์ภาพดังกล่าวจริง จึงให้การรับสารภาพ ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีทนายความหรือได้ปรึกษาทนายแต่อย่างใด ภายหลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก็เดินทางกลับบ้าน จากนั้นจึงติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและได้ปรึกษาทนายความ จึงเปลี่ยนเป็นให้การปฏิเสธเมื่อถูกยื่นฟ้องเป็นคดี

.

ก็อตในวันสืบพยานที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์

.

ก็อตเบิกความต่อไปว่า ที่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เพราะเห็นว่าเป็นคนโพสต์และแชร์ภาพตามฟ้องจริง แต่เห็นว่าการกระทำไม่ได้หมิ่นประมาทใคร เหตุที่รับสารภาพเนื่องจากไม่ทราบกฎหมายและไม่ได้มีใครให้ปรึกษาหลังเกิดเหตุ พยายามติดต่อศักดิ์สยามเพื่อขอโทษและเพื่อไม่ให้ดำเนินคดีแก่ตน แต่เมื่อไปถึงที่บ้านก็ไม่ได้เข้าพบแต่อย่างใด

เหตุที่ไม่ได้โพสต์ขอโทษผู้เสียหาย เนื่องจากสิ่งที่โพสต์มิใช่การหมิ่นประมาท แต่เป็นการปกป้องผู้เสียหายว่าเป็นคนหน้าเหมือนเท่านั้น แต่เหตุที่ต้องการไปขอโทษผู้เสียหายที่บ้าน เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลมีตำแหน่ง มีชื่อเสียง โดยไปภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหา เนื่อจากแม่และพี่สาวต้องการให้เข้าไปพบเพื่อหวังว่าผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ 

ก่อนจะตอบคำถามอัยการว่า ในขณะแชร์ภาพตามฟ้องนั้น ไม่แน่ใจว่าผู้ชายในภาพคือผู้เสียหายหรือไม่ เมื่อแน่ใจว่าไม่ใช่ จึงลบโพสต์ไป โดยก็อตเข้าใจว่า ข้อความที่แชร์มาคำว่า ศักดิ์สยิวนั้นหมายถึงผู้เสียหาย แต่ไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพคือผู้เสียหายหรือไม่ ก่อนแชร์ภาพตามฟ้องนั้น เคยทราบข่าวว่าผู้เสียหายติดโควิดจากการเที่ยวสถานบันเทิง แต่ก็ไม่ทราบว่าผู้เสียหายจะติดโควิดจากสถานบันเทิงจริงหรือไม่ เพราะขณะนั้นไม่เห็นไทม์ไลน์ของผู้เสียหาย

.

ศาลเคยยกฟ้อง ด้วยจำเลยไม่แน่ใจว่าภาพนั้นเป็น รมต.ศักดิ์สยาม

นอกจากคดีของก็อต  ก่อนหน้านี้ 30 มิ.ย. 2565 ศาลจังหวัดบุรีรัมย์มีคำพิพากษายกฟ้อง ซี (นามสมมติ) พนักงานบริษัทเอกชน ที่ถูกศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากกรณีทวิตเตอร์โยงศักดิ์สยามกับสถานบันเทิงในช่วงโควิดแพร่ระบาด ศาลพิเคราะห์ว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าวันเวลาตามที่ถูกฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ มีปรากฏภาพบุคคลและข้อความว่า “ไทม์ไลน์ที่หายไป อยู่นี่หรือเปล่าน๊าาาาา เอ๊…คนหน้าคล้ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดีนะ #ศักดิ์สยามชิดชอบ #โควิด19 #โควิด” แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จำเลยต้องมีเจตนาหรือควรรู้ภาพนั้นเป็นเท็จ 

โดยจำเลยเองไม่ได้ยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพของศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่แน่ใจว่าบุคคลในภาพเป็นศักดิ์สยามหรือไม่  และจำเลยเบิกความว่าหากผู้ใดติดโควิด -19 ต้องมีไทม์ไลน์แจ้ง แต่ศักดิ์สยามไม่ได้แจ้งวันเวลาที่อยู่ในช่วงวันที่ 27-28 มี.ค. 2564 และวันที่ 2-3 เม.ย.2564  ทั้งนี้ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็มีการเผยแพร่ภาพนี้ไปในสังคมออนไลน์ จำเลยจึงตั้งข้อสงสัยไปตามกระแสข่าวโดยมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงอันจะเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จไม่ได้ 

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนไปจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในกรณีไปคอมเม้นท์โยงถึงศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในช่วงคลัสเตอร์โควิดที่สถานบันเทิง ตอนต้นเมษายน 2564   เช่น  ชาคริต เพ็งปาน พ่อเลี้ยงเดี่ยว จาก จ.สมุทรสาคร วัย 45 ปี และ กุ่ย (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช จาก จ.ปทุมธานี อายุ 24 ปี ถูกดำเนินคดีดูหมิ่นผู้อื่นด้วยการโฆษณา โดยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เนื่องจากการเดินทางมาต่อสู้คดีมีภาระในเรื่องค่าใช้จ่ายจึงอยากให้คดีความจบโดยเร็ว  โดยชาคริตศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษาลงโทษปรับเป็นเงิน 5,000 บาท  ส่วนของกุ่ยศาลปรับถึง 8,000 บาท ทั้งจำคุก 30 วัน ก่อนให้รอลงอาญา 

เกี่ยวกับโควิด-19และบุรีรัมย์ยังมีคดีของจตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมบุรีรัมย์ปลดแอก ที่ถูกเนวิน ชิดชอบ แจ้งความฐาน “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” จากการโพสต์ข้อความและแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนในจังหวัดบุรีรัมย์ ศาลจะสืบพยานในเดือนสิงหาคม 2565

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟ้องกราฟิกดีไซน์เนอร์ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เหตุแชร์โพสต์ “คนหน้าเหมือน” ช่วงโควิดระบาด อัยการบุรีรัมย์กล่าวหา ทำให้ “ศักดิ์สยาม” ได้รับความอับอาย

.

X