ยกฟ้อง! 2 นศ.-นักกิจกรรมบุรีรัมย์ พ้นผิดหมิ่นประมาทฯ ศาลชี้ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยอยู่ในเหตุการณ์-โพสต์ภาพป้ายวิจารณ์อธิการ

28 ก.ย. 2565 “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรม และอัมรา จานรัมย์ นักศึกษาครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เดินทางไปที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ทั้งสองถูกมาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ ฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา” กรณีป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัย เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 โดยทั้งจตุพรและอัมราต่างให้การปฏิเสธมาโดยตลอด กระทั่งศาลสืบพยานไปเมื่อวันที่ 26-27 ก.ค. 2565 ก่อนจะนัดมาฟังคำพิพากษา 

ในห้องพิจารณาคดีที่ 9 นอกจากจำเลยทั้งสอง วันนี้ฝ่ายโจทก์มีเพียงเสาวรส ผัดโพธิ์ ทนายผู้รับมอบอำนาจจากอธิการบดีมาฟังคำพิพากษา

เวลา 09.50 น. ราตรี ช่วยพนัง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดบุรีรัมย์ อ่านคำพิพากษาโดยสรุปใจความได้ว่า

ในส่วนของอัมรา ภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุที่เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ไม่สามารถระบุได้ว่า คนที่อยู่ในภาพคืออัมรา โจทก์มีเพียงจิรเดช ประเสริฐศรี อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เบิกความยืนยันว่า บุคคลในภาพดังกล่าวคืออัมรา แต่จิรเดชไม่เคยเป็นอาจารย์ในวิชาที่อัมราเรียน ประกอบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรีมย์มีจำนวนมาก จึงฟังไม่ได้ว่า จิรเดชรู้จักคุ้นเคยกับอัมราจนสามารถยืนยันได้ว่าบุคคลในภาพคืออัมรา อีกทั้งพยานจำเลยทั้งสุนิชาและสิรีธรเบิกความยืนยันว่า บุคคลในภาพดังกล่าวไม่ใช่อัมรา แต่เป็นสุนิชา และอัมราเองก็ให้การปฏิเสธมาตลอด จึงพิพากษายกฟ้อง

ส่วนของจตุพร โจทก์ไม่สามารถนำสืบว่า ใครเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องในเพจบุรีรัมย์ปลดแอก ประกอบกับแอดมินเพจบุรีรัมย์ปลดแอกมีหลายคน และจตุพรให้การปฏิเสธมาโดยตลอด เมื่อพยานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

อัมราเปิดเผยความรู้สึกหลังฟังคำพิพากษาว่า เธอรู้สึกมั่นใจตั้งแต่ก่อนมาฟังคำพิพากษาแล้ว เพราะมีเพื่อนเป็นพยานว่าเธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์การติดป้ายดังกล่าว แต่ก็รู้สึกเป็นห่วงนิว เพราะเพิ่งเจอคำพิพากษาลงโทษจำคุกคดี 112 มา อีกทั้งในห้องพิจารณาคดียังเห็นตำรวจที่เตรียมกุญแจมือมาไว้ใส่จำเลย หากถูกพิพากษาให้จำคุก จึงรู้สึกกังวลไปด้วย 

อัมราซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 และตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบในอีก 1 ปีข้างหน้า จะสอบบรรจุเพื่อเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษาให้ได้ สะท้อนความคิดเห็นว่า ตั้งแต่เกิดเหตุมามหาวิทยาลัยยังไม่ได้ออกมาเยียวยาหรือขอโทษเธอเลยสักครั้ง ในทางตรงข้ามถ้าเธอเป็นครูหรืออาจารย์หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นเธอจะไม่ใช่กฎหมายสั่งสอนลูกศิษย์ เพราะลูกศิษย์ยังมีอนาคตและชีวิตอีกยาวไกล และจะใช้ความเมตตาและการพูดคุยกันเพื่ออบรมลูกศิษย์แทน

ด้านนิวกล่าวว่า ตนเตรียมใจไว้แล้วเผื่อต้องเข้าไปเรือนจำอีกรอบ แต่เมื่อได้รับฟังคำพิพากษาที่เป็นข่าวดีจึงมีความหวังมากขึ้น ทั้งนี้ นิวยังมีคดีที่ถูกเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เป็นโจทก์ร่วมกับอัยการฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีแชร์โพสต์จากเพจ KTUK-คนไทยยูเค วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนในจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งศาลจังหวัดบุรีรัมย์นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ต.ค. 2565

.

คดีนี้เหตุเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่มีการพบป้ายประท้วงค่าเทอมและเรียกร้องอธิการบดีที่โปร่งใสถูกติดในมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ หลังเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ถูกดำเนินคดี 5 ราย ได้แก่ 4 นักศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กฤตพรต สุพรรณนอก, สุนิชา บัวแก้ว, สิรีธร สีหานาม, อัมรา  และอีก 1 นักกิจกรรมกลุ่มบุรีรัมย์ปลดแอก อย่าง จตุพร  โดยระหว่างต่อสู้คดีทั้งกฤตพรต, สุนิชา และสิรีธร ตัดสินใจเข้าขอโทษอธิการบดีเพื่อจะได้รับการถอนฟ้อง ตามที่ เสาวรส ผัดโพธิ์ ทนายโจทก์ร่วมแถลงว่า หากจําเลยยอมขอโทษ โจทก์ร่วมจะถอนฟ้อง 

กฤตพรตกล่าวความรู้สึกในครั้งนั้นว่า ที่ตัดสินใจเข้าขอโทษอธิการบดีเป็นเพราะพวกเขาทั้งสามคนไม่ปฏิเสธว่าได้ไปติดป้ายจริงๆ และคิดว่าถ้าพวกเขาต่อสู้คดีไป หากศาลพิพากษาว่าพวกเขาผิดและลงโทษอาจมีผลต่อการสอบเข้ารับราชการครูในอนาคต  และอยากให้อัมราที่เป็นเพื่อนนักศึกษาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เพราะอัมราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการติดป้ายข้อความจริงๆ และพวกตนจะมาเป็นพยานเพื่อยืนยันว่า อัมราไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ตามที่ถูกกล่าวหา 

อย่างไรก็ตามกฤตพรต เคยให้ข้อมูลว่า เรื่องที่พวกเขาต้องการอธิการบดีที่โปร่งใส สั่งสมมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ที่เคยทวงถามเรื่องการคืนค่าเทอมนักศึกษาปี 1 และอยากให้มหาวิทยาลัยออกประกาศหรือชี้แจงเรื่องที่เคยถามเกี่ยวกับเงินค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่เขาเสียไปตั้งแต่ปี 2562 นั้นถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง 

และอีกส่วนอยากเรียกร้องให้นักศึกษาปี 1 ที่จ่ายค่าเทอมแรกเข้าพร้อมค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนรวมเป็นเงิน 9,900 บาท โดยช่วงโควิด -19 ที่มีการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์สลับกับเรียนในห้อง ทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ว่างดเว้นค่าบำรุงการพัฒนาการเรียนการสอนที่ปกติต้องจ่าย 1,000 บาท แต่ยังไม่เห็นว่า ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการคืนค่าเทอมส่วนนั้นให้นักศึกษาปี 1 แต่อย่างใด การติดป้ายครั้งนั้นจึงเป็นการสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าเจตนาอื่น

.

ในนัดสืบพยานคดีนี้ระหว่างวันที่ 26-27 ก.ค. 2565 มีพยานโจทก์ 5 ปาก  เสาวรส ผัดโพธิ์ ซึ่งรับมอบอำนาจจากมาลิณี จุโฑปะมา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้เสียหาย เบิกความว่า ได้รับแจ้งว่าผู้ต้องหาร่วมกันนำป้ายผ้าที่เขียนข้อความลักษณะหมิ่นประมาทผู้เสียหาย ไปติดบริเวณด้านหน้าและด้านในมหาวิทยาลัย จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองบุรีรัมย์

ตำรวจกองสืบ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เบิกความว่า ตนสืบสวนหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย และขอความยืนยันจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่าจำเลยเป็นบุคคลในภาพ ส่วนพยาน ร.ต.อ.หญิงพิชญานิน ปลั่งกลาง รอง สว.(สอบสวน) สภ.เมืองบุรีรัมย์ เบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสองเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ก่อนจะทำสำนวนตามพยานหลักฐานที่ได้มาจากฝ่ายสืบสวน และรับว่า อมราเอาหลักฐานมายืนยันว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ชั้นสอบสวนแล้ว  

ด้าน จิรเดช ประเสริฐศรี  อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เบิกความยืนยันภาพจากกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุว่า บุคคลในภาพคืออัมรา โดยทนายจำเลยพยายามถามค้านว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่อัมราแต่เป็นภาพของสุนิชา ที่ถูกดำเนินคดีเช่นกัน  ส่วน ผศ.นวมินทร์ ประชานันท์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ เบิกความว่า อธิการบดีไม่มีประวัติทำในเรื่องที่จำเลยเขียนในป้ายที่ติดในมหาวิทยาลัย

ส่วนพยานจำเลย 5 ปาก  จตุพร เบิกความว่า ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความลงในเพจบุรีรัมย์ปลดแอก แม้จะเป็นหนึ่งในแอดมินเพจ แต่เพจดังกล่าวมีแอดมินหลายคน และไม่ทราบหรือระบุได้ว่าใครเป็นผู้โพสต์ อมราที่เบิกความยืนยันอีกครั้งว่า เธอไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่มีการติดป้าย และการถูกดำเนินคดีครั้งนี้ทำให้เธอเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งที่เธอตั้งใจจะเข้ามาศึกษาที่สถาบันนี้เพื่อจะไปประกอบอาชีพเป็นครูที่ดีในอนาคต การที่พบเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้เธอถูกมองไม่ดี

ด้านสุนิชากับสุรีธร มาเบิกความว่า อัมราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตามที่ถูกฟ้อง และภาพที่โจทก์ยกมาเป็นหลักฐาน ทั้งสองคนเบิกความว่า เป็นภาพของสุนิชา และสุดท้ายดวงฤดี (สงวนนามสกุล) ที่เป็นเพื่อนของอมรามายืนยันว่า วันเกิดเหตุช่วงเวลาที่มีการติดป้าย อมราอยู่ในห้องสอบพร้อมกับเธอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อธิการบดี ม.ราชภัฏบุรีรัมย์ แจ้งความ 4 นักศึกษา ฐาน “หมิ่นประมาทฯ” หลังปรากฏป้ายหน้า ม. ‘ต้องการอธิการที่โปร่งใส’

นศ.-นักกิจกรรม อีก 3 ราย รับทราบข้อหา “หมิ่นประมาทฯ” หลังอธิการบดี มรภ.บุรีรัมย์ แจ้งความ ปรากฏ 1 รายไม่เกี่ยวข้อง เรียกร้องมหาลัยรับผิดชอบ

ฟ้องแล้ว! 5 นศ.-นักกิจกรรม ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เหตุป้ายวิจารณ์อธิการฯ โผล่ใน มรภ.บุรีรัมย์ นศ.แนะครูควรใช้ความรัก ดีกว่าใช้กฎหมายปิดปาก

2 นศ.-นักกิจกรรม ยืนยันต่อสู้คดีหมิ่นประมาทอธิการราชภัฏบุรีรัมย์ เหตุติด-โพสต์ป้ายวิจารณ์ ด้านอธิการยอมถอนฟ้องอีก 3 นศ. หลังได้รับการขอโทษ

X