จับตาคำพิพากษาศาลเยาวชนฯ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีแรก หลัง “มีมี่” สู้คดีเกือบ 2 ปี ยืนยันใช้สิทธิตาม กม. ปราศรัย #ม็อบ25ตุลา

22 ก.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีของ “มีมี่” เยาวชนนักกิจกรรมเพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 จากเหตุเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา63 ที่ แยกราชประสงค์ โดยมี พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 และต่อมาในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ก็ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและกีดขวางทางสาธารณะเพิ่มเติม

คดีนี้นับเป็นคดีเยาวชนจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองคดีแรกที่เยาวชนที่ถูกดำเนินคดียืนยันต่อสู้คดีในศาลเยาวชนฯ และศาลจะมีคำพิพากษา หลังมีมี่ยืนยันต่อสู้คดีมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี โดยก่อนหน้านี้มีเยาวชนบางคนที่ตัดสินใจให้การรับสารภาพและยินยอมเข้ามาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 283 ราย ใน 211 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 ถึง 20 คดี  

.

ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันต่อสู้ตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย ขอให้อัยการไม่ฟ้อง แต่ไม่เป็นผล

สำหรับคดีนี้ มีมี่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปฏิเสธการลงลายมือชื่อในเอกสารชั้นตำรวจ และขอส่งคำให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสารในภายหลัง โดยมีเนื้อหายืนยันคำให้การที่ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ขอต่อสู้ในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งยังได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมขอให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ด้วย

แต่กระนั้นพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ก็ได้มีคำสั่งฟ้องคดีและยื่นฟ้องต่อศาลในวันที่ 7 ต.ค. 2564 โดยเนื้อหาคำฟ้องโดยย่อกล่าวหาว่า มีมี่ หรือจำเลยกระทำความผิดฐาน

ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มโดยไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 13) และโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางทางสาธารณะและการจราจร จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร” (อ่านคำฟ้อง)

อย่างไรก็ตาม มีมี่ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมในวันดังกล่าว ทั้งยังไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับกลุ่มผู้จัดการชุมนุมทั้ง 6 คน ที่ถูกดำเนินคดีแยกต่างหาก ส่วนวันและเวลาที่เกิดเหตุนั้นก็อยู่ในช่วงระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นจึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ 

ดังนั้น แนวทางการต่อสู้ของคดีนี้จึงมีอยู่ว่า จำเลยยืนยันว่าตนไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง และขอต่อสู้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่เข้ารับมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาฯ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม และการเข้าร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกทั้งขณะนั้นอยู่ในข้อยกเว้นที่ไม่ให้นำ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาบังคับใช้

.

.

ภาพรวมและบรรยากาศของการสืบพยานในศาลเยาวชนฯ

การสืบพยานคดีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 11 – 12 ก.ค. 2565 และ 18 – 19 ก.ค. 2565 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเป็นการสืบพยานโจทก์และการสืบพยานจำเลยตามลำดับ ซึ่งมีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งสิ้นจำนวน 5 ปาก ส่วนพยานจำเลย มีจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน 1 ปาก และมีพยานนักวิชาการส่งคำให้การเป็นเอกสารอีก 1 ฉบับ

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจทั้งหมด เบิกความไปในทางเดียวกันว่า ในการชุมนุมดังกล่าว มีมี่ขึ้นปราศรัย โดยมีการประกาศของพิธีกรก่อนหน้า จึงถือว่ามีการเตรียมการมาก่อน และถือว่ามีมี่เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม อีกทั้งพยานบางปากยังระบุว่า มีมี่ได้ชักชวนให้ผู้ชุมนุมเข้าร่วมชุมนุมอีกในวันถัดไป ถือว่ามีพฤติการณ์เป็นแกนนำ โดยการชุมนุมไม่มีการแจ้งการชุมนุม ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค รวมถึงมีการกีดขวางการจราจรด้วย 

ซึ่งต่อมาพยานโจทก์เหล่านี้รับกับที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า จากการสืบสวนสอบสวนไม่ปรากฏข้อมูลว่า มีมี่เคยร่วมกิจกรรมหรือมีความเกี่ยวข้องกับ “ไผ่” จตุภัทร์ และกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมในวันดังกล่าว อีกทั้งไม่มีพฤติการณ์สั่งการผู้ชุมนุม และในวันถัดมาก็ไม่พบมีมี่เข้าร่วมชุมนุมตามที่ได้ประกาศไว้ การชุมนุมยังไม่ปรากฏเหตุวุ่นวาย และการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล รวมถึงประเด็นความหลายหลายทางเพศ ก็เป็นสิทธิที่ประชาชนพึงทำได้ 

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเยาวชน ผู้สังเกตการณ์จึงไม่อาจเข้าไปภายในห้องพิจารณาได้ แต่จากการพูดคุยกับมีมี่ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานทำให้ทราบว่าเยาวชนในฐานะจำเลยจำนวนหนึ่งมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยระหว่างอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี ทั้งนี้เพราะต้องแบกรับความกดดันจากการถูกตั้งคำถามที่เนื่องมาจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาตามที่ถูกฟ้อง โดยในหลายๆ คำถามนั้นทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองได้ถูกตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปแล้ว 

ทั้งนี้ มีมี่กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้มีบุคคลที่ 3 เข้าไปร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย เพราะข้อกำหนดที่อนุญาตเฉพาะคู่ความสามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้นั้นทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยในกระบวนการอย่างที่ควรจะเป็น

.

พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม ผู้กล่าวหาในคดี ยืนยันจำเลยปราศรัยชักชวนผู้อื่นชุมนุมวันถัดไป ถือเป็นแกนนำร่วมจัดชุมนุม

พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม ขณะเกิดเหตุเป็น สว.สส.สน.ลุมพินี ผู้กล่าวหาในคดี เบิกความว่า ในวันที่ 24 ต.ค. 2563 ตนได้ทราบข่าวว่าไผ่ ดาวดิน ประกาศนัดชุมนุมในวันที่ 25 ต.ค. 2563 ที่สี่แยกราชประสงค์ ในเวลาประมาณ 16.00 น. จึงแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาการแล้วจึงได้มีแบ่งหน้าที่กันเพื่อเตรียมรับมือการชุมนุม 

จากนั้นเบิกความถึงจำเลยว่า จำเลยขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ระบุว่าตนเองมาจากกลุ่มผู้หญิงปลดแอก มาเรียกร้องให้ปล่อยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ และวิจารณ์การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามถ้อยคำที่มีการถอดเทปไว้

ทั้งนี้ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความว่า ก่อนจะจบการปราศรัยจำเลยพูดคำว่า “แล้วพรุ่งนี้พบกัน” จากนั้นก็พิธีกรซึ่งผู้จัดการชุมนุมอีกคนก็นัดหมายว่าในวันที่ 26 ต.ค. 2563 จะมีการชุมนุมที่บริเวณสามย่านเพื่อเดินทางไปสถานทูตเยอรมัน 

จากพฤติการณ์ดังกล่าวนี้ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ จึงเบิกความยืนยันว่า จำเลยถือเป็นแกนนำ เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุม และเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมด้วย ซึ่งทั้งจำเลยและผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ไม่มีการขออนุญาตการชุมนุมจากเจ้าพนักงาน และไม่ขออนุญาตปิดการจราจรด้วย 

.

ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน

ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยให้ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องพร้อมกับอ้างส่งเป็นพยานเอกสารฝ่ายจำเลย ซึ่งประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 ที่ว่าด้วย บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน, มาตรา 44 ว่าด้วยเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3(6) ก่อนจะถามว่า ดังนั้นแล้วประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่? สามารถใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการประกันตัวและผู้หลากหลายทางเพศได้หรือไม่? รวมถึงเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งชาย หญิง และคนข้ามเพศด้วยได้หรือไม่? ซึ่ง พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความยอมรับว่า ได้

จากนั้นที่ปรึกษากฎหมายจำเลยก็ถามต่อว่า ในการชุมนุมนี้ผู้จัดการชุมนุมคือคณะราษฎรใช่หรือไม่? และในการชุมนุมดังกล่าว ไผ่ ดาวดิน ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมนุมได้เรียกร้องให้เปิดเผยที่มาของ สว,. เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยผู้ชุมนุม การกระทำเหล่านี้ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ใช่หรือไม่? ซึ่ง พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ ก็เบิกความยอมรับว่า ใช่ เช่นกัน

สำหรับตัวจำเลย พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า ตนไม่เห็นจำเลยขณะที่กำลังปราศรัย หากแต่เห็นการปราศรัยของจำเลยจากสื่อออนไลน์ในภายหลัง แล้วจึงนำมาตรวจสอบก่อนจะพบว่าจำเลยได้ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าวด้วย

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ เบิกความตอบพนักงานอัยการว่า จำเลยเป็นผู้ชักชวนให้ผู้คนมาร่วมชุมนุม แม้จะไม่ได้ร่วมกับไผ่ ดาวดิน แต่ก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน

.

พยานโจทก์ปากที่ 2: ร.ต.อ.อธิษฐ์พัชร์ มิตรวงศ์ ผู้ถอดเทปคำปราศรัย ยืนยันว่า จำเลยขึ้นปราศรัยโดยมีหัวข้อและกำหนดเวลา ถือว่าเป็นผู้จัดชุมนุมแล้ว

ร.ต.อ.อธิษฐ์พัชร์ ขณะเกิดเหตุเป็น รอง สว.สส.สน.ลุมพินี เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุตนได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมร่วมกับเจ้าหน้าที่อีกหลายคน โดยอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่เวลา 16.00 น. – 20.30 น. โดยประมาณ และได้เห็นจำเลยขณะกำลังปราศรัย พร้อมระบุว่า จำเลยใช้เวลาในการปราศรัยทั้งสิ้นประมาณ 8 นาที และถ้อยคำของจำเลยมีการพูดถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในลักษณะวิจารณ์ ติเตียนการทำงาน มีสาระสำคัญคือต้องการให้ปล่อยแกนนำที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ขอให้นายกฯ ลาออก พร้อมกับแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพูดถึงเรื่องเสรีภาพของผู้หญิงและข้อกล่าวหาของผู้ถูกจับกุมที่เป็นผู้หญิง

จากนั้น ร.ต.อ.อธิษฐ์พัชร์ เบิกความยืนยันว่า จำเลยกล่าวคำว่า “พรุ่งนี้เจอกัน” ก่อนจะจบการปราศรัย และจำเลยเป็นเยาวชนเพียงคนเดียวที่ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมนั้น โดยจำเลยได้ทราบเรื่องการชุมนุมจากเพจเฟซบุ๊กของไผ่ ดาวดิน และเบิกความต่อไปว่าการปราศรัยของจำเลยมีการเตรียมงานมาก่อน และมีระยะเวลาในการอภิปราย ดังนั้นจึงถือว่าเป็นผู้จัดการชุมนุมแล้ว

ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน

ร.ต.อ.อธิษฐ์พัชร์ เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า ในการถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยนั้น ตนได้ระบุตัวตนจำเลยว่า “หญิงไทยไม่ทราบชื่อ” เพราะไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ทั้งยังไม่เคยเห็นข้อมูลที่ระบุว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือเป็นแกนนำ และในถ้อยคำปราศรัยของจำเลยก็ไม่ปรากฏว่ามีการบอกให้ผู้ชุมนุมลงถนนแต่อย่างใด

ตอบพนักงานอัยการถามติง

ร.ต.อ.อธิษฐ์พัชร์ เบิกความตอบอัยการว่า ที่ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า จำเลยไม่ได้เป็นแกนนำและไม่มีประวัติว่าเป็นแกนนำนั้น แต่ที่ปราศรัยจำเลยได้มีการแนะนำตัว จึงทำให้คิดว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม

.

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ผกก.สน.ลุมพินี ไม่เห็นจำเลยขณะปราศรัย ทั้งสับสนว่าเป็น “มายด์”

พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ขณะเกิดเหตุเป็นผู้กำกับการ สน.ลุมพินี เบิกความว่า ตนได้ทราบข่าวการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในวันที่ 25 ต.ค. 2563 จากการติดตามเพจเฟซบุ๊กของไผ่ ดาวดิน และได้นำเรื่องไปรายงานผู้บังคับบัญชาแล้วเตรียมความพร้อมกันภายในฝ่ายสืบสวน โดยกำหนดให้มีการวางกำลังปะปนกับผู้ร่วมชุมนุม เก็บภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่ง และในวันที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 15.00 น. – 16.00 น. ได้มีการรวมพลกันที่บริเวณถนนและการ์ดได้นำแผงเหล็กออกมาตั้ง ตนจึงได้เข้าไปเจรจาไม่ให้มีการปิดถนน แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเพิกเฉย อีกทั้งเมื่อตนได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมเพราะการชุมนุมนี้ไม่มีการแจ้งชุมนุมสาธารณะ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ร้องว่าเป็นขี้ข้าเผด็จการ 

จากนั้น พ.ต.อ.นิติวัฒน์ เบิกความต่อไปว่า ในช่วงที่จำเลยกำลังปราศรัย ตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ทราบจากการรายงานของฝ่ายสืบสวนว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นของกลุ่มคณะราษฎร และทราบภายหลังว่ากลุ่มของจำเลยชื่อกลุ่มผู้หญิงปลดแอก 

นอกจากนี้ พ.ต.อ.นิติวัฒน์ ยังเบิกความด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฐานะผู้ร่วมในการจัดกิจกรรม และการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือไม่มีการแจ้งให้ตนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานทราบว่าจะมีการชุมนุม และไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค รวมถึงมีการกีดขวางการจราจรด้วย

ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน

พ.ต.อ.นิติวัฒน์ เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า ในการให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน ตนเองยังสับสนว่าจำเลยคือ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล กระทั่งเมื่อมีการสืบสวนในภายหลังจึงได้ทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มใหม่ คือกลุ่มผู้หญิงปลดแอก แต่ตนก็ไม่ทราบว่ากลุ่มดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมหรือไม่ และไม่ทราบข้อมูลว่ากลุ่มของจำเลยได้จัดกิจกรรมใดๆ ในพื้นที่ที่ตนเองรับผิดชอบ

.

พยานโจทก์ปากที่ 4: พ.ต.ท.นิติ อินทุลักษณ์ ตรวจพิสูจน์วีดิโอเหตุการณ์ว่าไม่มีการตัดต่อ

พ.ต.ท.นิติ อินทุลักษณ์ กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. เบิกความว่า ตนเองได้รับหนังสือจากตำรวจ สน.ลุมพินี ให้ตรวจหาร่องรอยการตัดต่อวิดีโอเหตุการณ์ ซึ่งเป็นพยานวัตถุในคดีนี้ เมื่อตรวจดูแล้วไม่พบการตัดต่อแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนเองเพียงแต่ตรวจดูร่องรอยการตัดต่อเท่านั้น ไม่ได้ตรวจดูถ้อยคำปราศรัยของจำเลยแต่อย่างใด เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้ขอให้ตรวจดู

ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.นิติ เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า วิดีโอที่พนักงานสอบสวนนำมาให้ช่วยตรวจสอบนั้นเป็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน

.

พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.ท.รัฐภูมิ โมรา หนึ่งในคณะทำงานสอบสวน อ้าง พิธีกรเรียกจำเลยขึ้นปราศรัย จึงถือเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม แม้ไม่พบว่า เคยร่วมชุมนุมกับ “ไผ่ ดาวดิน” มาก่อน

พ.ต.ท.รัฐภูมิ โมรา พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี เบิกความว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะทำงานสอบสวนของคดีนี้ โดยในคณะทำงานรวมตนเองแล้วมีทั้งหมด 5 คน และมี พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน, ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ และตนเอง เป็นพนักงานสอบสวนหลัก โดย พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม ได้นำวิดีโอคลิป ภาพถ่าย และรายงานการสืบสวน มาแจ้งความให้ดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับบุคคลที่ปรากฏอยู่ในวิดีโอ รวมถึงจำเลยซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นเยาวชนด้วย

จากนั้น พ.ต.ท.รัฐภูมิ เบิกความว่า การชุมนุมนี้ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มมีการชุมนุมอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และในวันที่เกิดเหตุ ผู้ชุมนุมได้มารวมกันที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ตรงจุดตัดถนนราชดำริและถนนพระรามที่ 1 ทำให้ไม่สามารถใช้การจราจรในบริเวณดังกล่าวได้ 

สำหรับจำเลยนั้น พ.ต.ท.รัฐภูมิ เบิกความว่า ได้ขึ้นไปกล่าวปราศรัยบนรถกระจายเสียง โดยมีพิธีกรเรียกให้ขึ้นไป และจำเลยได้ใช้เวลาปราศรัยอยู่ประมาณ 7-10 นาที ทั้งนี้ พ.ต.ท.รัฐภูมิ ระบุว่า ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยไม่ผิดอะไร แต่ที่แจ้งข้อหาเพราะพฤติการณ์ของจำเลยที่ขึ้นไปกล่าวปราศรัยนั้นเหมือนมีการเตรียมการกันมาก่อน ไม่เหมือนผู้ชุมนุมทั่วไป จึงถือว่าเป็นผู้ร่วมการจัดกิจกรรม 

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.รัฐภูมิ เบิกความว่า พฤติการณ์ของจำเลยทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม แต่จากการสืบสวนไม่พบข้อมูลว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยเข้าร่วมการชุมนุมที่มีกลุ่มผู้จัดซึ่งนำโดยไผ่ ดาวดิน ทั้งการชุมนุมที่หน้าเรือนพิเศษกรุงเทพฯ และการตรวจสอบทางสื่อออนไลน์ก็ไม่พบ เพิ่งจะทราบจากรายงานของสถานพินิจในภายหลังว่า เหตุที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องมาจากทราบผ่านสื่อออนไลน์คือ เพจเฟซบุ๊กของไผ่ ดาวดิน

ตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้าน

พ.ต.ท.รัฐภูมิ เบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยว่า ในวันที่เกิดเหตุปรากฏภาพจำเลยเมื่อเวลา 20.30 น. โดยประมาณ และไม่ปรากฏว่าการชุมนุมมีความวุ่นวาย หรืออาวุธใดๆ อีกทั้งบริเวณที่จัดการชุมนุมยังเป็นพื้นที่ขนาดกว้าง โปร่ง และเปิดโล่ง และในวันที่ 26 ต.ค. 2563 ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมตามที่กล่าวไว้ในคำปราศรัย รวมถึงผู้ชุมนุมอื่นๆ ก็ไม่ได้ให้การว่ารู้จักจำเลย และไม่ได้มีการสอบสวนด้วยว่า กลุ่มผู้หญิงปลดแอกมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคณะราษฎรอย่างไร

นอกจากนี้ พ.ต.ท.รัฐภูมิ ยังเบิกความอีกว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุ มีคำสั่งนายกฯ เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานปฏิบัติการพิเศษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งมีการเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ ดังที่ที่ปรึกษากฎหมายจำเลยอ้างส่งศาล พร้อมกันนั้นได้เบิกความยอมรับว่า ระหว่างที่มีการสอบสวนจำเลยได้ให้ปากคำเป็นหนังสือเพิ่มเติม ระบุว่า การเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

.

พยานจำเลยปากที่ 1: “มีมี่” จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ยืนยันใช้สิทธิตามกฎหมายร่วมชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัด ขณะสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว

มีมี่ จำเลยในคดีได้อ้างตนเองเป็นพยานแล้วเบิกความตอบที่ปรึกษากฎหมายว่า ขณะเกิดเหตุตนเองมีอายุ 16 ปีเศษ เหตุที่เข้าร่วมการชุมนุมนั้นเพราะเข้าใจว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดได้คลี่คลายลงแล้ว อันจะเห็นจากการเปิดโรงเรียนและการอนุญาตให้ทำกิจกรรมได้

ในส่วนของข้อกล่าวหา ตนเองยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีอำนาจในการประกาศชุมนุมหรือเลิกชุมนุมแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นผู้กำหนดว่าจะให้ผู้ใดขึ้นปราศรัยด้วย มีมี่ยังยืนยันว่า ตนเองไม่รู้จักกลุ่มผู้จัดการชุมนุมทั้ง 6 คนเป็นการส่วนตัว เพียงแต่เคยเห็นไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และมายด์ ภัสราวลี ผ่านทางสื่อออนไลน์เท่านั้น

สำหรับกลุ่มผู้หญิงปลดแอก มีมี่ได้เบิกความว่า เป็นกลุ่มในทวิตเตอร์ที่ประชาชน นักศึกษา และนักเรียนทั่วไป ที่มีความคิดคล้ายๆ กันราว 10 คน ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เคยนัดกันชุมนุมและติดโบว์สีรุ้ง รวมทั้งได้ทำกิจกรรมแจกผ้าอนามัยฟรีด้วยกัน โดยเป็นกิจกรรมที่มีการรวบรวมเงินกันเองมิได้เปิดรับบริจาคแต่อย่างใด และยืนยันว่ากลุ่มผู้หญิงปลดแอกไม่ได้เป็นกลุ่มหนึ่งในคณะราษฎร 

จากนั้นมีมี่ก็ได้เบิกความถึงเหตุการณ์ชุมนุมในคดีว่า ได้ทราบข่าวการชุมนุมผ่านทางทวิตเตอร์ จึงได้พูดคุยกับกลุ่มผู้หญิงปลดแอกเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุม โดยได้นัดกันไปร่วมทานอาหารเพื่อพูดคุยว่าหากมีเพื่อนหายตัวไประหว่างร่วมการชุมนุมจะทำอย่างไร และจะกลับออกจากการชุมนุมกันเวลาใด ต่อมา ตนเองพร้อมเพื่อนอีก 2 คน ได้พากันไปยังบริเวณตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่ง คนน้อย จนกระทั่งเวลาประมาณ 20.00 น. ก็ได้รับข้อความจากเพื่อนอีกคนหนึ่งว่า มีใครอยากขึ้นไปพูดเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศหรือไม่? ตนเองจึงเสนอตัวไป

เมื่อไปถึงที่เครื่องขยายเสียง ตนก็ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะพูดเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง สิทธิของผู้หญิง และคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคนที่อยู่บริเวณนั้นก็ได้บอกให้รออยู่จนเวลา 20.30 น. ระหว่างรอก็ได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในทวิตเตอร์ว่ามีประเด็นใดที่จะให้พูดบ้าง แล้วก็นำประเด็นต่างๆ มาเรียบเรียง จนกลุ่มคนที่บอกให้รอได้มาบอกให้ขึ้นพูด ซึ่งขณะนั้นเวลาประมาณ 20.50 น. 

ขณะที่ขึ้นพูดก็ตั้งใจพูดถึงเรื่องผู้หญิง ความหลากหลายทางเพศ มีการวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งสลายการชุมนุม มีการเรียกร้องประชาธิปไตย และพูดถึงการคุกคามทางเพศที่ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นักกิจกรรม โดยยืนพูดอยู่บนรถกระบะที่ต่อโครงเหล็กขึ้นมา ห่างจากผู้ชุมนุมประมาณ 3 เมตร เมื่อพูดเสร็จก็กลับบ้าน

มีมี่เบิกความต่อไปว่า หลังจากนั้นประมาณเดือน ม.ค. 2564 ตนได้รับหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งตนได้ให้การปฏิเสธ โดยระบุว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีใจความหลักว่า “เด็กมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งการชุมนุม มีสิทธิที่จะแสดงออกความคิดเห็นโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย” มีมี่ยังเบิกความอีกด้วยว่า ตนเองได้ยื่นขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการโดยให้สอบสวนพยานเพิ่มเติม ซึ่งพนักงานอัยการได้สอบปากคำนางทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชน ที่ได้ให้ปากคำเป็นเอกสารตามที่ที่ปรึกษากฎหมายอ้างส่งต่อศาล

มีมี่ยังระบุด้วยว่า ตนได้ขอความเป็นธรรมอัยการให้สั่งไม่ฟ้องคดีด้วย โดยหนังสือขอความเป็นธรรมดังกล่าวตนได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง นอกจากนี้ ตนได้ขอให้อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการชุมนุมสาธารณะคือ นายพัขร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นเอกสารมาเสนอต่อศาลตามที่ที่ปรึกษากฎหมายอ้างส่ง ซึ่งมีใจความว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ไม่มีผลบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้นการกระทำของตนจึงไม่ผิด

อนึ่ง มีมี่เบิกความด้วยว่า ได้ทราบจากทนายความและเพื่อนๆ ว่ามีคดีชุมนุมในลักษณะเดียวกันกับคดีนี้ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ได้แก่ คดีที่ศาลแขวงอุดรธานี ซึ่งศาลยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว, คดีที่ศาลจังหวัดพะเยาซึ่งพิพากษายกฟ้องแต่ยังไม่ถึงที่สุด, คดีที่ศาลแขวงลพบุรีที่ตัดสินในลักษณะเดียวกัน คือยกฟ้อง แต่คดียังไม่ถึงที่สุด, คดีที่ศาลแขวงนครราชสีมา และคดีที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรที่พิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว

ตอบพนักงานอัยการถามค้าน

มีมี่เบิกความตอบอัยการว่า ในช่วงที่ตนเองขึ้นปราศรัยมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว และตนเองทราบเรื่องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเข้าใจด้วยว่าถ้ามีการรวมกลุ่มกันมากๆ จะทำให้ติดเชื้อโรคดังกล่าว

มีมี่ยืนยันว่า ตนเองทราบข่าวการชุมนุมจากทวิตเตอร์ ซึ่งตนเองและเพื่อนในกลุ่มได้ไปร่วมการชุมนุม พร้อมทั้งแจกผ้าอนามัยในการชุมนุมด้วย โดยมีการชักชวนกันเฉพาะเพื่อนในกลุ่มทวิตเตอร์ของตนเท่านั้น

สำหรับการขึ้นปราศรัยในวันเกิดเหตุ ตนเองได้รับการเชิญให้ขึ้นพูดจากผู้ที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง โดยให้ขึ้นพูดในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. โดยที่ตนไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อน มีเพียงการเขียนข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ตั้งใจจะพูดไว้ในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ในตอนแรกตั้งใจจะพูดเมื่อเวลา 20.30 น. แต่มีคนพูดอยู่ก่อนแล้วจึงได้ขึ้นพูดจริงๆ เมื่อเวลา 20.50 น. โดยประมาณ โดยประเด็นที่พูดเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและความหลากหลายทางเพศเท่านั้น เพราะอยากให้ผู้หญิงมีบทบาทในทางการเมืองด้วย

.

X