วันนี้ (26 ก.ค. 2565) ทางเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ข้อมูลว่า กรมราชทัณฑ์ยังไม่อนุญาตให้ กสม. เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร, ทัณฑสถานหญิงกลาง และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตามที่ได้นัดหมายไว้เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ทางกรมราชทัณฑ์อ้างเหตุสถานการณ์โควิด และได้ขอเลื่อนนัดหมายออกไปก่อน ทั้งนี้ ทาง กสม. จะได้ดำเนินการนัดหมายเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแทน เพื่อหารือและติดตามประเด็นผู้ต้องขังทางการเมืองต่อไป
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ตัวแทนนักศึกษา/นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ข้อมูลเรื่องผู้ต้องขังทางการเมือง, ความจำเป็นในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง และสภาพปัญหาในเรือนจำหญิงและเรือนจำชาย
ตะวันฝากข้อเสนอถึงกรมราชทัณฑ์ ให้ปรับปรุงเรื่องเวลาในการอาบน้ำของกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยจิตเวช, คนท้อง และคนสูงวัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำกิจกรรมในเวลาอันรวดเร็วได้ และขอให้กลุ่มเหล่านี้มีพื้นที่ปลอดภัยในการทำกิจกรรมประจำวันเพิ่ม
ตะวันยังขอให้กรมราชทัณฑ์เพิ่มงบประมาณด้านอาหารในเรือนจำเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามสุขอนามัย นอกจากนี้ ตะวันฝากให้ กสม. ตรวจสอบเรื่องคุณภาพน้ำดื่มภายในเรือนจำ และขอให้ กสม. สุ่มวันไปตรวจสอบเรือนจำ เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาในเรือนจำอย่างแท้จริง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้แจงว่า การเข้าเยี่ยมเรือนจำเป็นหน้าที่หนึ่งของ กสม. ที่คณะกรรมการชุดเดิมดำเนินงานมาตลอด เพราะเรือนจำเป็นสถานที่เสี่ยงที่จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ และการเข้าเยี่ยมยังเป็นการป้องปรามการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกทางหนึ่ง กสม. ชุดเดิมได้มีข้อเสนอไปถึงรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ส่วน กสม. ชุดปัจจุบันจะได้ดำเนินงานนี้ต่อ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในภาวะวิกฤต ส่วนการสุ่มวันไปเรือนจำอาจมีข้อจำกัดที่ทำไม่ได้
ต่อมาทาง กสม. ได้ดำเนินการขอเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองเพื่อติดตามสถานการณ์ แต่ยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้จนถึงปัจจุบัน
กสม. รับทราบถึงสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ตั้งแต่เดือนมี.ค.-ก.ค. 2565
ในส่วนของสถานการณ์ ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ข้อมูลที่ยื่นต่อ กสม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 ระบุว่ายังคงมีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จำนวน 19 คน, ทัณฑสถานหญิงกลาง จำนวน 2 คน และเรือนจำ มทบ.11 จำนวน 1 คน รวมทั้งหมด 22 คน (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 ก.ค. 2565 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 30 คน)
– มีผู้ต้องขัง 3 ราย อยู่ระหว่างการอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว
– ผู้ต้องขัง 4 รายพยายามฆ่าตัวตายโดยการทานยาพาราเกินขนาด หรือกรีดข้อมือจากฝาปลากระป๋อง
– ผู้ต้องขัง 7 รายตรวจพบเชื้อโควิดและรักษาตัวอยู่ในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
สภาพปัญหาของผู้ต้องขังทางการเมืองและสภาพทั่วไปในเรือนจำ
1. การจัดการผู้ติดเชื้อโควิด
ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองติดเชื้อโควิดในเรือนจำแล้ว จำนวน 7 คน ณ วันที่ 6 ก.ค. 2565 คือ สมบัติ ตรวจพบเชื้อวันที่ 24 มิ.ย. 2565, ธีรวิทย์ ตรวจพบเชื้อวันที่ 27 มิ.ย. 2565, ใบบุญ, ณัฐพล, หนึ่ง และพุฒิพงศ์ ตรวจพบเชื้อวันที่ 2 ก.ค. 2565 และร็อค ตรวจพบเชื้อวันที่ 5 ก.ค. 2565
จากข้อมูลที่ได้รับ
- ทุกคนจะมีอาการไอ จาม และตัวรุม ก่อนการตรวจคัดกรองและพบเชื้อด้วยอุปกรณ์ ATK ตามรอบตรวจที่เรือนจำกำหนดไว้
- บางรายถูกแยกตัวไปกักตัวคนเดียว บางรายถูกเอาไปรวมกับเพื่อนในเรือนจำคนอื่นที่มีการตรวจพบเชื้อ
- อาการโดยรวมของทั้ง 7 คน ตัวร้อน, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยร่างกาย โดยไม่มีอาการไข้หรืออาการหนัก
- ทั้งหมดถูกส่งตัวรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อกักตัวและรักษาอีก 10 วัน
- ในรายที่ยังไม่มีอาการ แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะไม่สามารถขอชุด ATK มาตรวจได้หากยังไม่ถึงรอบที่ทางเรือนจำกำหนดไว้
- ยังไม่ทราบข้อมูลว่า หลังการรักษาตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์กลับมาแล้ว ผู้ติดเชื้อโควิดที่หายแล้วถูกแยกเข้าแดนแรกรับอีกครั้งหรือถูกแยกตัวลงแดนขังเลย
2. สภาพจิตใจของผู้ต้องขัง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าผู้ต้องขังบางส่วนมีความเสี่ยงและต้องการดูแลสภาพจิตใจ จากกรณีผู้ต้องขัง 4 รายพยายามฆ่าตัวตาย หนึ่งรายโดยการทานยาพาราเกินขนาด และ 3 รายใช้ฝาปลากระป๋องกรีดแขน ซึ่งทั้งหมดยังมีความเสี่ยงที่จะกระทำซ้ำ การรักษาสภาพจิตใจโดยการเข้าถึงนักจิตวิทยาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะดังกล่าว
3. การเข้าเยี่ยมญาติ
เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้ระบบการเยี่ยมญาติทำได้ลำบากและมีข้อจำกัดมากขึ้น ทำให้ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำไปใหม่ หากยังไม่มีการตั้งทนายความก็จะไม่มีใครทราบความเป็นไปของผู้ต้องขังเลย กรณีดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเข้าถึงความยุติธรรมและการช่วยเหลือคดีของผู้ต้องขังได้ ในขณะที่การเขียนจดหมายออกมาเพื่อแจ้งญาติและขอความช่วยเหลือทางการเงินนั้นก็ไม่สามารถทำได้
4. สุขอนามัยและความเป็นอยู่ภายในเรือนจำ
- ในเรือนจำหญิง มีการแจกชุดอุปกรณ์สบู่ ผงซักฟอก แชมพูที่เข้าไปในเรือนจำครั้งแรก แต่ภายหลังจากนั้นไม่พบว่ามีการแจกตามรอบประจำ ทำให้ผู้ต้องขังต้องซื้อเอง บางรายที่ไม่มีเงิน สามารถไปขอเบิกเจ้าหน้าที่ได้บ้าง แต่ไม่ใช่การแจกตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น และไม่ได้เป็นการทั่วไป
- ความสะอาดของน้ำ ผู้ต้องขังทางการเมืองในทัณฑสถานหญิงกลางสะท้อนว่าน้ำ โดยเฉพาะในแดนแรกรับ ยังเป็นน้ำบาดาล และน้ำภายในเรือนจำนั้นบางที่มีสีเขียว และบางทีมีสีเหลืองทำให้มีผลต่อสภาพผิวหนังของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำดื่ม ผู้ต้องขังสะท้อนว่าน้ำดื่มในเรือนจำนั้นหากไม่มีเงินซื้อในเรือนจำจะเป็นน้ำประปา ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องกรองทำให้คุณภาพน้ำไม่สามารถดื่มได้ และส่งผลทำให้ต้องใช้เงินเพื่อซื้อน้ำ ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิต
- น้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน ผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สะท้อนว่าน้ำดื่มที่เรือนจำจัดสรรให้มีกลิ่นคลอรีนฉุนจมูกมาก บางห้องขังน้ำดื่มมี ‘ลูกน้ำยุง’ และตะกอนปนเปื้อนอยู่ด้วย
- ระยะเวลาในการอาบน้ำ ทัณฑสถานหญิงกลางจะมีการอาบน้ำในสองลักษณะ คือ การให้อาบน้ำจากแท้งค์น้ำ ซึ่งผู้ต้องขังจะต้องอาบให้เสร็จภายในจำนวน 10 ขัน และการอาบแบบราวบัวซึ่งเป็นท่อน้ำเจาะรูประมาณสามรูต่อจุดให้หยดลงมาและผู้ต้องขังต้องอาบให้เสร็จในระยะเวลานับ 1-15 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมากและปริมาณไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกับผู้ป่วย คนท้อง หรือคนชรา ที่ปัจจัยความเร่งรีบก็เป็นอุปสรรค
- คุณภาพอาหารในเรือนจำยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านความสุกหรือไม่สุกของอาหาร ปริมาณเนื้อสัตว์ที่ไม่เพียงพอต่อโภชนาการของร่างกายมนุษย์ที่ต้องการสารอาหารในแต่ละวัน ตัวอย่างในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาทนายความได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และพบตัวอย่างอาหารของวันดังกล่าวแสดงอยู่ในตู้ด้านหน้าส่วนเยี่ยม อาหารมีเพียงข้าวต้มหนึ่งถ้วย ไข่เจียวหนึ่งส่วน (ปริมาณไม่เกินครึ่งฟอง) และเงาะสามลูก
5. การเข้าถึงการรักษาพยาบาล
- ข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีการกำหนดระยะเวลาที่สามารถเข้าพบแพทย์ได้ ตัวอย่างเช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีการกำหนดให้พบแพทย์ได้ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และต้องมีการลงชื่อไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้หากป่วยนอกระยะเวลา และไม่ได้ลงชื่อไว้ แต่ไม่ถึงขนาดเจ็บป่วยรุนแรงต้องส่งโรงพยาบาลในทันที ผู้ต้องขังยังต้องทนต่อความเจ็บป่วยนั้นเพื่อรอเวลาในการรักษา
- กรณีการร้องเรียน นายแพทย์ชาตรี จองศิริเลิศ ซึ่งได้ตรวจผู้ต้องขังหญิงที่ทัณฑสถานหญิงกลาง วันที่ 16 มิ.ย. 2565 และได้พูดสอบถามประวัติส่วนตัวซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลและทำท่าทำนองข่มขู่ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างไม่เท่าเทียม
- ระหว่างการคุมขังของผู้ต้องขังทางการเมืองยังพบเห็นผู้ต้องขังเสียชีวิต หรือผู้ต้องขังคลอดบุตรภายในห้องขัง ซึ่งสะท้อนถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ยากลำบาก
6. ความแออัดและความเป็นส่วนตัว
- จำนวนผู้ต้องขังที่มากกว่าสถานที่ที่รองรับได้ยังคงเป็นปัญหา ซึ่งไม่ใช่เพียงการอยู่ในห้องขังเท่านั้น แต่ส่งผลความเป็นอยู่ในด้านอื่นๆ เช่น ระยะเวลาในการอาบน้ำ ปริมาณการใช้น้ำ โรคติดต่อ ฯลฯ
- ในด้านความเป็นส่วนตัว ในเรือนจำจะมีกล้องวงจรปิดคอยดูพฤติกรรมผู้ต้องขัง ไม่เว้นแม้พื้นที่ส่วนอย่างเช่นห้องน้ำ ในกรณีผู้ต้องขังหญิงการนำผ้าอนามัยขึ้นเรือนนอน ผู้ต้องขังยังต้องแกะผ้าอนามัยให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบก่อนขึ้นไปซึ่งอาจส่งผลต่อความสะอาดและสุขอนามัยของผู้ต้องขังด้วย
- ในกรณีที่กลับจากศาล หรือออกมาพบทนายความด้านหน้าเรือนจำ (ยังอยู่ในเรือนจำ) แม้ทางเรือนจำจะมีเครื่องสแกน เพื่อสแกนร่างกายผู้ต้องขังอยู่แล้ว แต่ผู้ต้องขังหญิงยังต้องถอดเสื้อผ้า สวมใส่ได้เพียงผ้าถุง ต้องถูกตรวจสอบร่างกาย บางรายถูกตรวจสอบใต้ราวนม อันถือเป็นการละเมิดความเป็นอยู่ส่วนตัว
7. การใช้แรงงานผู้ต้องขังในเรือนจำ
การใช้แรงงานผู้ต้องขังในเรือนจำในรูปแบบการฝึกอาชีพ หรือแรงจูงใจในการช่วยงานเพื่อให้เลื่อนขั้นนักโทษ แต่การทำหน้าที่ต่างๆ นั้นไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ หรือได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำมากหลักสิบบาทต่อเดือน ผู้ต้องขังบางรายอาจได้ค่าตอบแทนมากกว่าคนอื่น แต่อย่างมากก็เป็นหลักร้อยบาทต่อเดือน
ทั้งนี้ยังพบว่าผู้ต้องขังที่ทำงานเย็บผ้าในเรือนจำเมื่อได้รับบาดเจ็บจากการทำงานจนถึงขั้นอัมพาต ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด
8. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
- ภายในเรือนจำผู้ต้องขังไม่สามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารได้เพียงพอ ซึ่งเป็นการจำกัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังไม่รับทราบความเป็นไปของโลกภายนอก
- ภายในห้องขังบางส่วนไม่มีทั้งหนังสือและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเพียง 2 สิ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาความเครียดให้น้อยลงได้ แม้จะร้องขอเรือนจำไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด
ข้อเสนอแนะของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อราชทัณฑ์ และ กสม.
1. จัดการรักษาพยาบาลและการเข้าถึงการรักษาให้เหมาะสม รวดเร็ว ปลอดภัย รวมถึงการรักษาสภาพจิตใจของผู้ต้องขังด้วย
2. อาหาร น้ำ และสุขอนามัยในเรือนจำเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังควรเข้าถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ
3. จากสถานการณ์โควิดที่เริ่มผ่อนคลายแล้ว ผู้ต้องขังควรได้รับสิทธิในการเยี่ยมญาติที่สะดวกและบ่อยกว่าในปัจจุบันที่ระบอบการจองยังไม่ทั่วถึง ต้องรอนาน และได้เยี่ยมเพียง 15 นาที
4. ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าเยี่ยมเรือนจำเป็นประจำ และทำงานกับกรมราชทัณฑ์ ในอนาคต กสม. ควรเป็น National Preventive Mechanism ซึ่งเป็นกลไกอิสระระดับชาติเพื่อเข้าเยี่ยมในสถานควบคุมตามที่กำหนดไว้ในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) ก็จะเป็นมาตรการคุ้มครองและป้องกันปัญหาการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และยกระดับมาตรฐานในการคุมขังได้
อ่านเพิ่มเติม:
จัดการปัญหาสภาวะแออัดในเรือนจำอย่างเร่งด่วนและปกป้องสุขภาพผู้ต้องขังในช่วงวิกฤต COVID-19
เสียงสะท้อนจากนักกิจกรรมผู้ถูกคุมขังและติดโควิด: “โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพในการดูแล-จัดการโรค”