ศูนย์ทนายฯ เสนอราชทัณฑ์ จัดระบบให้ญาติผู้ต้องขังเข้าเยี่ยมอย่างเพียงพอและปลอดภัย – ให้ทนายความเข้าถึงอย่างทันท่วงทีมีความเป็นส่วนตัว

วันนี้ (28 ต.ค. 2564) องค์กรสิทธิมนุษยชน พร้อมญาติและอดีตผู้ต้องขังทางการเมืองจากการใช้สิทธิและเสรีภาพเข้าพบรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์หารือแนวนโยบายราชทัณฑ์ เรื่อง การให้สิทธิผู้ต้องขังได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจและทนายความ ในสถานการณ์โควิด-19 

โดยในการพบครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจาก มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของพริษฐ์ ชิวารักษ์ และโตโต้ ปิยรัฐ จงเทพ กลุ่มมวลชนอาสา-We Volunteer

.

เรือนจำภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์มีสภาพปัญหาการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังตลอดเดือน สิงหาคมถึงตุลาคม ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด – 19  

ในการเข้าพบวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าพูดคุยพร้อมยื่นหนังสือ ความว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปลายปี 2563 มีประชาชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมือง และใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมจำนวนมาก อันเป็นผลให้ประชาชนบางส่วนถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว  โดยระลอกล่าสุดมีผู้ถูกคุมขังจากคดีชุมนุมทางการเมืองในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 – ตุลาคม 2564 ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางคดีอยู่กว่า 32 ราย   และปัจจุบันยังอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์  24 ราย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในคดีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ได้เข้าพบลูกความในฐานะทนายความในเรือนจำชั่วคราวรังสิต เรือนจำอำเภอธัญญบุรี ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทัณฑสถานบำบัดกลาง ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และพบสภาพปัญหาในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในภาพรวม จึงมีความประสงค์นำเสนอประเด็นปัญหาจากการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในห้วงระยะเวลาดังกล่าว เดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2564 เพื่อหาทางออกร่วมกัน 

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แนบเอกสารชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ 

1. ประเด็นการเข้าเยี่ยมของญาติ และการสนับสนุนของญาติ

เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  ญาติจึงไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังภายในเรือนจำและไม่สามารถสื่อสารกันได้ทันท่วงที โดยต้องเยี่ยมผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น ซึ่งการเยี่ยมทางออนไลน์นั้นมีข้อจำกัดในเรื่อง

  • ระยะเวลาในการเยี่ยมเป็นไปอย่างจำกัด โดยทัณฑสถานหญิงกลางให้โควตาญาติในการเยี่ยมครั้งละสิบนาที และเยี่ยมได้เพียงเดือนละหนึ่งครั้ง เท่ากับระยะเวลาเพียงสิบนาทีต่อเดือน
  • การจองคิว ซึ่งมีจำนวนโควต้าจำกัด ญาติที่ไม่สามารถจองผ่านระบบออนไลน์ได้จะไม่มีโอกาสในการเยี่ยมผู้ต้องขังเลยในเดือนนั้นๆ และยังคงต้องลุ้นว่าจะสามารถจองเยี่ยมได้หรือไม่ในเดือนถัดไป
  • ญาติผู้ต้องขังบางรายที่อายุมากและไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ในขณะที่ระบบออนไลน์เป็นเพียงช่องทางเดียวทำให้กลุ่มญาติและผู้ต้องขังดังกล่าวไม่มีโอกาสในการสื่อสารกันได้เลย
  • ระยะเวลาการกักตัวเมื่อเข้าเรือนจำนั้นนานถึง 14 -21  วัน ผู้ต้องขังไม่สามารถออกจากห้องกักเพื่อทำการเยี่ยมออนไลน์กับญาติได้ หากผู้ต้องขังคนดังกล่าวยังไม่ได้ตั้งทนายความ โอกาสในการพูดคุยกับญาติเพื่อสื่อสารทางคดีหรือติดต่อหาทนายความไม่สามารถเป็นไปได้เลยในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ต้องขัง
  • ระบบการสั่งของออนไลน์ พบว่าการของใช้จำเป็นระบบการสั่งออนไลน์นั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการ และมีจำนวนจำกัดในการสั่งแต่ละวัน ทั้งที่ของใช้ที่เรือนจำจัดไว้ในระบบออนไลน์นนั้นเป็นของใช้พื้นฐานเพื่อให้มนุษย์คนหนึ่งดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
  • ขาดระบบสนับสนุนกรณีติดโควิด นอกจากนี้ หากผู้ต้องขังติดโควิดและต้องถูกย้ายไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผู้ต้องขังจะไม่สามารถติดต่อญาติ เพื่อแจ้งข่าว ไม่สามารถใช้เงินในบัญชีเพื่อสั่งสิ่งของหรืออาหาร มีเพียงอาหารจากทางเรือนจำเท่านั้น ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโควิดนั้นอาจมีสภาพความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่าอยู่ในเรือนจำทั่วไปเพราะขาดระบบสนับสนุนดังกล่าว และไม่สามารถแจ้งญาติเพื่อขอความช่วยเหลือได้
  • ระบบฝากเงินกรณีย้ายเรือนจำ พบว่าในบางกรณีเงินในบัญชีของผู้ต้องขังซึ่งย้ายเรือนจำเนื่องจากการกักตัวนั้นไม่ได้ย้ายตามผู้ต้องขังไปด้วย ทำให้เกิดความยากลำบาก และไม่สามารถใช้เงินจำนวนดังกล่าวได้

2. ประเด็นการเข้าพบทนายความ

  • การปฏิเสธไม่ให้ทนายความพบผู้ต้องขัง โดยอ้างเหตุสถานการณ์โควิด ซึ่งเกิดอยู่หลายหนในช่วงต้นเดือนสิงหาคม รวมถึงในบางกรณีทางเรือนจำแจ้งทางศาลว่าไม่สามารถนำตัวผู้ต้องขังไปศาลได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการกักตัว ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
  • ทนายในชั้นสอบสวนสามารถพบผู้ต้องขังได้โดยไม่ต้องมีสำเนาใบแต่งทนายความ ทั้งนี้ตามข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกต่อผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 หมวด 2 ข้อ 12 และข้อ 14 ซึ่งให้สิทธิตามกฎหมายกับทนายความที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนได้ แต่ทางเรือนจำจะปฏิเสธการเข้าพบโดยไม่มีสำเนาใบแต่งทนายความทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าพบ และการส่งเอกสารใบแต่งทนายความให้ผู้ต้องขังลงชื่อนั้น บางเรือนจำอาทิเช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไม่สามารถกระทำได้ภายในวันเดียว จำเป็นต้องส่งเอกสารก่อนหนึ่งวันและมารับเอกสารได้ในวันถัดไป ทำให้ต้องใช้เวลาถึงสองวันกว่าจะได้เข้าพบผู้ต้องขัง
  • ความเป็นส่วนตัว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าระบบการเข้าเยี่ยมภายในเรือนจำนั้นไม่มีความเป็นส่วนตัวเพียงพอซึ่งมีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ยืนรับฟังการสนทนาอยู่ด้านข้าง และบางกรณีมีการแทรกแซงเนื้อหาในการสนทนาระหว่างทนายความ นอกจากนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบว่ากรมราชทัณฑ์เคยให้ข่าวถึงการฟังการสนทนาระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง ทั้งที่ตาม มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ให้เรือนจําจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้ตามที่กําหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์”
  • การตรวจสอบเอกสารระหว่างทนายความและลูกความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าในบางกรณีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะฟังการสนทนาแล้วเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบเอกสารบันทึกของทนายความอีกด้วย รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่รับเอกสารใบแต่งทนายความที่ยังไม่ได้ระบุชื่อทนายความ (แต่ระบุชื่อทนายความผู้ส่งเอกสารให้ลงนามแล้ว) ทั้งที่ตามมาตรา 29 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 นั้นมิได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานในการตรวจสอบเอกสารซึ่งตอบโต้ระหว่างทนายความและผู้ต้องขังแต่อย่างใด
  • นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังพบปัญหา ระบบและอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ของทางเรือนจำระหว่างทนายความและผู้ต้องขังไม่เพียงพอ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจำกัดระยะเวลาในการพูดคุยระหว่างผู้ต้องขังและทนายความ ซึ่งขัดต่อสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การจำกัดระยะเวลาทนายความในการเข้าเยี่ยมนั้นย่อมส่งผลต่อการเตรียมคดีและการต่อสู้ทางคดี ซึ่งส่งผลต่อเสรีภาพของเขาในระยะยาวด้วย

ข้อเสนอของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนต่อกรมราชทัณฑ์

  1. เสนอให้ทางกรมราชทัณฑ์จัดระบบเพื่อให้ญาติเข้าเยี่ยม และผู้ต้องขังยังมีความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 โดยเร็ว และหากยังเป็นต้องเยี่ยมออนไลน์ควรเพิ่มระยะเวลาและจำนวนครั้งในการเข้าเยี่ยมเพื่อให้ผู้ต้องขังมีโอกาสสื่อสารกับโลกภายนอกและบุคคลอันเป็นที่รัก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
  2. ทำให้มั่นใจว่าทนายความจะสามารถเข้าพบผู้ต้องขังได้โดยไม่เป็นอุปสรรค มีอุปกรณ์เพียงพบ และมีความเป็นส่วนตัว อันเป็นสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 รับรองไว้

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาดมาตรการเข้าเยี่ยมจะผ่อนปรนได้ภายในหนึ่งเดือน หลังผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก 

ด้านธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หลังจากได้ฟังภาพรวมปัญหาจากญาติ อดีตผู้ต้องขังและองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้วได้ชี้แจงว่า กรมราชทัณฑ์ได้ดูแลผู้ต้องขังกว่า 300,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ต้องขังมากเป็นลำดับที่  6 ของโลก  ลำดับที่ 3 ของทวีปเอเชีย  และลำดับที่ 1 ของอาเซียน อีกทั้งทรัพยากรและงบประมาณที่มีอย่างจำกัด แต่ยังสามารถดูแลผู้ต้องขังในสถานการณ์โควิดได้อย่างดี มีอัตราเสียชีวิตเพียง 100 กว่าราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว 

ด้านมาตรการเข้าเยี่ยมคาดว่าจะเริ่มผ่อนปรนได้ภายใน 4 สัปดาห์หลังจากผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับวัคซีนเข็มแรก หรือมีภูมิต้านทานแล้ว ซึ่งในขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกในเรือนจำแล้วร้อยละ 78  ที่ยังไม่ครบ เนื่องจากบางส่วนได้เคยติดโควิดและมีภูมิต้านทานแล้ว ส่วนมาตรการที่กำหนดให้ต้องใช้สำเนาใบแต่งทนายความประกอบคำร้องขอเยี่ยมผู้ต้องขัง เนื่องจากทนายความอาจมาเจรจาเรื่องอื่นนอกเหนือจากคดีและทำให้เกิดปัญหา จึงต้องกำหนดให้มีสำเนาใบแต่งทนายความในการเข้าเยี่ยมด้วย

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:  

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน: การดักฟังการสนทนาระหว่างทนายความกับลูกความภายในเรือนจำ เป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรง

บันทึกเยี่ยม “ไดโน่ นวพล”: ถูกย้ายห้องขัง เหตุพยายามช่วยลุงผู้ถูกคุมขังที่มีอาการป่วย 

เยี่ยม(เกือบ)ทิพย์ คุณมีเวลาเพียงสิบนาทีในการเยี่ยม: บันทึกเยี่ยมเบนจาที่สั้นที่สุด

“ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล ที่นี่มันคือคุก”: บันทึกเยี่ยมนิว แซม ฟ้า และเพนกวิน

จัดการปัญหาสภาวะแออัดในเรือนจำอย่างเร่งด่วนและปกป้องสุขภาพผู้ต้องขังในช่วงวิกฤต COVID-19

.

X