นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายปิยะรัฐ จงเทพ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยหนึ่งในข้อกังวลของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เสนอให้คณะกรรมาธิการฯ เข้าไปตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ คือ การดักฟังการสนทนาระหว่างผู้ต้องขังและทนายความภายในเรือนจำ
ต่อมาสำนักข่าวหลายสำนัก (อาทิ สยามรัฐ แนวหน้า และ ไทยโพสต์) ได้เสนอข่าวที่มีข้อความเดียวกันว่า “วันที่ 18 มิถุนายน 2564 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีแกนนำราษฎร เปิดเผยกับ กมธ. ป.ป.ช. ถึงการดักฟังและคุณภาพอาหารในเรือนจำแย่ ว่า ตนในฐานะกำกับดูแลกรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 ข้อ 9 (5) กำหนดไว้ชัดเจนว่าบุคคลภายนอกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนา บันทึกภาพ หรือเสียงและตัดการสื่อสาร หากเห็นว่า ข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม อย่างไรก็ดี ข้อ 18 ระบุว่า หากทนายความต้องการจะสงวนข้อความที่พูดกับ ผู้ต้องขังเป็นความลับให้แจ้งเจ้าพนักงานเรือนจำทราบ ซึ่งในกรณีของ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ไม่มีทนายความที่ขอใช้ระเบียบในข้อนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์มีแนวทางปฏิบัติในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ที่แจ้งให้ทนายความและญาติถือปฏิบัติอย่างชัดเจน….”
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า คำชี้แจงดังกล่าวมีความหมาย เป็นการยอมรับว่าทางเรือนจำมีการฟังการสนทนา รวมถึงการบันทึกเสียง ระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง เป็นหลัก และการสงวนข้อความเป็นความลับเป็นข้อยกเว้น โดยอ้างอำนาจตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ นั้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการพบทนายความอย่างร้ายแรง ตามข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม รวมทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 (1) ยังรับรองสิทธิของผู้ถูกจับ หรือผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมหรือขัง มีสิทธิที่จะพบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว
นอกจากนี้ มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ยังระบุว่า “ให้เรือนจําจัดสถานที่ให้ผู้ต้องขังได้พบและปรึกษากับทนายความหรือผู้ซึ่ง จะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัวได้ตามที่กําหนดในระเบียบกรมราชทัณฑ์” ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิในการพบทนายความเป็นการเฉพาะตัว โดยมิได้ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิดังกล่าวไว้
อีกทั้ง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรอง ยังแยกหมวดการเข้าพบของบุคคลภายนอกซึ่งให้อำนาจราชทัณฑ์บันทึกการสนทนาได้ ตามข้อ 9 หมวด 1 บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมหรือติดต่อผู้ต้องขัง ต่างหากจากหมวด 2 ทนายความเข้าพบผู้ต้องขัง ซึ่งไม่ได้ให้อำนาจราชทัณฑ์ในการบันทึกการสนทนาไว้ แม้ข้อ 19 ระเบียบดังกล่าวจะระบุให้นำความหมวด 1 มาบังคับใช้โดยอนุโลมนั้น ก็ไม่สามารถดำเนินการบันทึกการสนทนาระหว่างทนายความและผู้ต้องขัง เนื่องจากขัดต่อมาตรา 61 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ลำดับสูงกว่าระเบียบราชทัณฑ์ฯ ได้
“การดักฟังการสนทนาระหว่างทนายความและลูกความ นอกจากจะขัดกับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และขัดต่อมาตรา 61 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 แล้ว ยังส่งผลร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบด้วย คำแถลงของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ซึ่งอ้างระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยมการติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการ หรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 นั้นไม่สามารถยอมรับได้ สิทธิในการได้พบทนายความเป็นการเฉพาะตัวนั้นเป็นหลักการพื้นฐานในกฎหมายอาญา ไม่อาจยกเว้นได้โดยระเบียบ และไม่ใช่กรณีที่ทนายความต้องร้องขอ
“ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม สภาทนายความ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการแก้ไขระเบียบดังกล่าว เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีย่อมมีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความเป็นการเฉพาะตัว หากกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถคุ้มครองสิทธิดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการต่อสู้คดี ซึ่งทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของจำเลยนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง” เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวทิ้งท้าย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
18 มิถุนายน 2564