Trigger Warning : Sexual harassment , Bullying , Dehumanization
หลังกำแพงซีเมนต์สูงชัน ล้อมรอบด้วยลวดหนามแหลมคมเป็นทางยาว ลับจากสายตาของสังคม มีสองนักกิจกรรมหญิง “บุ้ง – ใบปอ” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง ที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพมหานคร เป็นระยะเวลาใกล้จะ 3 เดือนแล้ว
ทั้งสองเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาจากคดีทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความเดือดร้อนของขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในคดีนี้ จะยังไม่มีคำตัดสินว่าพวกเธอมีความผิดจริงหรือไม่ แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนประกันและไม่ให้ประกันตัวพวกเธอเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา
เมื่อความยุติธรรมไม่บังเกิด บุ้งและใบปอจึงตัดสินใจอดอาหารเพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัวของพวกเธอตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2565 นับจากวันนั้น ท้องของพวกเธอก็ไม่เคยได้ลิ้มลองรสชาติของอาหารอีกเลย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงได้รวบรวมคำบอกเล่าถึงเรื่องราวและประสบการณ์ของทั้งสองคนที่ต้องพบเผชิญความยากลำบาก การกลั่นแกล้ง ความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางร่างกายและจิตใจในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ ตลอดสองเดือนกว่าที่ผ่านมานี้
.
ใบปอ: รู้สึกถูกล่วงละเมิดร่างกายอย่างต่อเนื่อง
“ใบปอโดน Sexual Harassment จากผู้ต้องขังชายในรถด้วย พวกเขาพยายามคุกคาม ถามชื่อ เรียกชื่อ พยายามคุยหยอกล้อ พูดจาแทะโลม สำรวจร่างกายทำให้ใบปอรู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย กลัว กังวลจนทำอะไรไม่ถูก ทำให้วันนั้นเราไม่ได้ตะโกนสื่อสารออกไป”
นอกจากนี้ ในตอนที่เธอเริ่มการประท้วงอดอาหาร เพื่อทวงสิทธิประกันตัวจนล้มป่วยและต้องเข้าพบกับแพทย์อยู่เป็นประจำ เธอได้เล่าว่าในระหว่างที่ซักถามอาการ หมอได้ใช้คำพูดข่มขู่ เสียดสี และคุกคามใบปอด้วยคำพูดว่า “ถ้ามีปืนก็คง…( ทำท่ามือเป็นปืนเอามาจ่อที่คาง)” พร้อมหัวเราะ และยังพูดข่มขู่ว่า “ต้องจับสองคนนี้แยกออกจากกัน” แพทย์คนดังกล่าวคงหมายถึงไม่ให้เธอกับบุ้งอยู่ด้วยกันอีก
รวมถึงพูดซักถามประวัติส่วนตัวและวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสุขภาพทางกายและอยู่นอกเหนือการรักษา ไม่ได้ให้คำแนะนำหรือความช่วยเหลือตามจรรยาบรรณของแพทย์ ในขณะที่มือถือหนังสือพุทธวัจนะอยู่ แต่กลับพูดเสียดสีความเป็นความตายได้อย่างสนุกสนาน
.
อ่านข้อเท็จจริงเรื่องการคุกคามของใบปอ >>> บุ้ง-ใบปอ ประกาศปฏิเสธการรักษาจากทางเรือนจำ ขณะแม่ส่งจม.ถึงลูก “แม่รอพี่บุ้งทุกครั้งที่มีการขอประกัน”
.
อย่างไรก็ตาม ในการจัดการและแก้ไขปัญหาของกรมราชทัณฑ์ในเรื่องนี้ ก็ยังเป็นปริศนาและไม่มีคำอธิบายใดๆ ออกมาจากทางราชทัณฑ์อย่างเป็นทางการ มีเพียงคำบอกเล่าจากผู้อำนวยการในเรือนจำว่าจะนำเข้าที่ประชุมและปรึกษากับผู้บริหารเท่านั้น
ถึงแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เคยผ่านเลยไปพร้อมกับเหตุการณ์ในวันนั้นคือ ‘แผลเป็น’ ที่อาจจะยังคงฝังอยู่ในหัวจิตหัวใจของเธอไปอีกนาน
ฝันร้ายของใบปอยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อในวันที่ 18 ก.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีโพลขบวนเสด็จ เธอและบุ้งได้ถูกเบิกตัวมาขึ้นศาลเป็นครั้งแรกหลังจากที่อดอาหารประท้วงมาแรมเดือน จนเกิดอาการไม่สู้ดี และศาลได้อนุญาตให้เลื่อนตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ออกไปก่อน พร้อมมีคำสั่งให้นำตัวทั้งสองส่งโรงพยาบาลเลิดสินในทันที
.
อ่านบรรยากาศนัดตรวจหลักฐานคดีโพลขบวนเสด็จ >>> เลื่อนตรวจพยานหลักฐานคดีทำโพลขบวนเสด็จ พร้อมให้ฟังผลประกันตัว บุ้ง-ใบปอ ครั้งที่ 7 พรุ่งนี้ แม้ทั้งสองอาการทรุดกลางห้องพิจารณาคดี จนต้องส่ง รพ.
.
วันที่ 19 ก.ค. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมเธอ หลังจากที่ทราบว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองต้องถูกนำตัวกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องมาจากแพทย์ที่เลิดสินไม่อาจให้พวกเธอแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวได้
ทั้งนี้ บุ้งเล่าว่าตอนกลับมานั้นยิ่งทุลักทุเลหนัก เนื่องจากใบปอแทบจะไม่มีแรงแล้ว แต่ทั้งสองคนยังต้องผ่านกระบวนการตรวจตัวทุกอย่างจากทางเรือนจำ โดยมีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ช่วยผู้คุมจัดแจง มีคนช่วยจับใบปอประมาณ 4 คน ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจร่างกายของเธอ
“หนูพยายามใช้แรงที่เหลือพูดว่าไม่ต้องถอดกางเกงในได้ไหม เพราะเป็นประจำเดือน แต่พวกเขาก็ไม่สนใจ ทำให้เลือดประจำเดือนไหลออกมาจนเลอะขา” ใบปอที่นั่งนิ่งแทบตลอด ได้พยายามลืมตามาเล่าให้ฟังในประเด็นนี้ ทนายได้พยายามถามย้ำว่าต้องการให้สื่อสารเรื่องนี้หรือไม่ ใบปอยืนยันเพราะไม่ต้องการถูกละเมิดร่างกายซ้ำๆ อีก
ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจร่างกายผู้ต้องขังใหม่และผู้ต้องขัง เข้า – ออก เรือนจำ พ.ศ. 2561 หมวด 2 การตรวจร่างกายผู้ต้องขังเข้า – ออกเรือนจำ ได้ระบุไว้ในข้อที่ 14 ‘ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ว่าจะมีการซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามหรือสิ่งผิดกฎหมายเข้าสู่เรือนจำ ให้เจ้าพนักงานเรือนจำดำเนินการตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน โดยให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งระบบและเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาใช้ในการตรวจร่างกายตามสมควร’
เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีการตรวจร่างกายของใบปอ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คำนึงถึงความถี่ถ้วน และไตร่ตรองถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังรายนี้หรือไม่ ในเมื่อตลอดการเบิกตัวออกมานอกเรือนจำ สิ่งที่ใบปอทำมีเพียงนั่งติดอยู่บนวีลแชร์ตลอดการพิจารณาคดี และไม่ได้มีพฤติการณ์ใดๆ ที่แสดงออกถึง ‘เหตุอันควรสงสัย’ ว่าจะมีสิ่งของต้องห้ามซุกซ่อนอยู่ตามร่างกายของเธอ
ทำให้คืนวันที่เกิดเหตุ ทั้งสองคนต้องนอนที่สถานพยาบาล โดยผู้ต้องขังที่ทำงานที่สถานพยาบาลต้องช่วยกันอุ้มใบปอขึ้นเรือนพยาบาลซึ่งอยู่ชั้นสอง โดยต้องอุ้มไปทั้งสายน้ำเกลือที่ยังคาอยู่จากโรงพยาบาลเลิดสิน
ทนายเปิดเผยว่า ระหว่างการพูดคุยใบปอยังถูกเรียกไปพบพยาบาล โดยพบว่าค่าความดันของใบปออยู่ที่ 83/57 ซึ่งต่ำกว่าปกติ เมื่อวานที่เลิดสินบอกว่าความดันปกติ แต่ไม่รู้ว่าเท่าไรกันแน่
.
บุ้ง: การกลั่นแกล้งของเจ้าหน้าที่กับอาการป่วยที่ทวีความรุนแรง
หลายครั้งที่ทนายความได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมบุ้งและใบปอ พบว่าในบางครั้งบุ้งก็มาพร้อมเรื่องราวชวนประหลาดใจของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และพยาบาลเวรในเรือนจำ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2565 หลังเหตุการณ์ที่ใบปอถูกคุกคามจากแพทย์ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ บุ้งมีอาการปวดท้องและเริ่มอาเจียนบ่อยขึ้นหลังจากตัดสินใจอดอาหารมาเกือบจะครึ่งเดือน
“บุ้งอ้วก พี่ในห้องก็ตะโกนเรียกพยาบาลกัน เขาก็ขึ้นมาพร้อมกับผู้คุม 3 คนแล้วถามว่าเราจะเอายาไหม เราก็บอกไม่เอาจนกว่าเขาจะรับผิดชอบเรื่องที่พูดจาคุกคามใบปอ” เธอยืนกราด เพื่อหาคนรับผิดชอบเรื่องเสียหายที่เกิดขึ้นกับใบปอ น้องสาวของเธอ
“เขาบอกว่าเรื่องนี้ไปบังคับใครไม่ได้ พอเห็นว่าเราเรียกขึ้นมาจะไม่ทำอะไร เขาก็พากันกลับ พยาบาลพูดกับเราด้วยว่า ถ้าเราอ้วกทั้งคืน เพื่อนก็ไม่ต้องนอนกันเลยหรือไง เขาพยายามโบ้ยว่าเป็นความเดือดร้อนที่เราสร้างให้คนอื่น ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่” บุ้งเล่า
นอกจากนี้ ในวันที่ 9 ก.ค. 2565 ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่เจ้าหน้าที่ผู้คุม ปฏิบัติต่อเธออย่างไร้เหตุผล โดยเธอเล่าว่า เธอโดนผู้คุมชื่อ อัญชลี คงมั่น ใช้ไม้บรรทัดตีที่แขน โดยไม่มีสาเหตุ เพียงเพราะเดินผ่านกันเฉยๆ บุ้งคาดว่าอาจเพราะเธอไม่ได้ค้อมตัวหรือคุกเข่าเวลาที่เดินผ่าน
“ขณะที่บุ้งกำลังเดินเอาผ้าไปส่งซักรีด มีผู้คุมชื่อ อัญชลี คงมั่น ใช้ไม้บรรทัดตีเข้าที่แขนขวาของบุ้ง โดยไม่ทราบสาเหตุ บุ้งตกใจและงงมาก ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น บุ้งขอยืนยันว่าบุ้งเดินตามปกติ ไม่ได้ชนหรือถูกเนื้อต้องตัวเขาเลยแม้แต้น้อย บุ้งถามเขาไปว่าตีบุ้งทำไม ได้รับคำตอบเสียงดังกลับมาเพียงแค่ว่า ‘นี่เจ้าหน้าที่นะ’”
แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ เมื่อเธอทักท้วงถึงเหตุผล แต่กลับได้ยินเสียงไม่พึงพอใจจากเพื่อนนักโทษที่อยู่ในบริเวณเดียวกันแทน ราวกับว่าการ ‘ละเมิดสิทธิ’ ผู้ต้องขังกลายเป็นสิทธิอันพึงมีของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติต่อพวกเธออย่างไรก็ได้
.
อ่านจดหมายเล่าเรื่องฉบับเต็ม >>> ‘บุ้ง’ ขอตรวจสอบผู้คุม ใช้ไม้บรรทัดตีแขน เพียงแค่เดินผ่าน ด้าน ‘ใบปอ’ ไร้เรี่ยวแรง แค่ลุกก็หน้ามืด
.
อีกทั้ง ในการอดอาหารของบุ้ง ได้สร้างความปั่นป่วนภายในร่างกายจนทำให้เธออาการทรุดมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น การขอรับบริการทางการแพทย์ก็มีเพียงตัวเลือกเดียวที่ดูเหมือนจะผูกขาดไว้สำหรับนักโทษในเรือนจำก็คือ ‘โรงพยาบาลราชทัณฑ์’
ในวันเดียวกันกับที่สังคมได้ตั้งคำถามกับการตรวจร่างกายของใบปอ (18 ก.ค. 2565) ทนายความได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่บุ้งมีอาการทรุดกระทันหันกลางห้องพิจารณาคดีในวันดังกล่าว เธอได้พยายามเรียกหาทนายเพื่อพูดบางอย่าง “ไม่ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ —” เสียงพึมพำประโยคว่าเธอจะไม่ไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซ้ำๆ ออกมาจากริมฝีปากซีด
ทนายเปิดเผยอีกว่า ในวันนั้นบุ้งพยายามอย่างมากที่จะสื่อสารกับทุกคนในห้องพิจารณาคดี ถึงการส่งตัวพวกเธอเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลข้างนอกที่ไม่ใช่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
“ไม่เอาราชทัณฑ์อีกแล้ว บุ้งเคยโดนพยาบาลเวรที่นั่นแกล้งแทงเข็มเจาะเลือดไม่ให้เข้าเส้นเลือดของบุ้ง เขาแกล้งเจาะผิดไปมา จนแขนบุ้งเขียวเป็นจ้ำ”
ในขณะที่บุ้งพยายามจะสื่อสารอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ตามมาควบคุมดูแล ก็ได้เดินไปถึงหน้าบัลลังก์ของศาล เพื่อขอให้ผู้พิพากษาพิจารณาส่งตัวทั้งสองกลับโรงพยาบาลราชทัณฑ์เท่านั้น
เมื่อศาลเห็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกลางห้องพิจารณาคดี ตลอดจนอาการที่ไม่สู้ดีของทั้งสองคน ซึ่งผ่านการวินิจฉัยเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่อาสาพยาบาลประจำศาลแล้ว ผู้พิพากษาจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวของทั้งสองคนไปที่โรงพยาบาลเลิดสินในเวลาต่อมา
ความหวังที่จะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอกเริ่มมีมากขึ้น หลังจากที่ทั้งสองได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที แต่แล้วแพทย์ห้องฉุกเฉินก็ไม่สามารถให้บุ้งและใบปอแอดมิทอยู่ที่โรงพยาบาลได้ อีกทั้ง แพทย์ระบุว่าหากต้องการที่จะตรวจร่างกายแบบละเอียดจำเป็นที่จะต้องใช้แพทย์นิติเวชเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทางโรงพยาบาลไม่มีแพทย์นิติเวช
.
บุ้ง — ใบปอ: เสียงเรียกร้องที่กรมราชทัณฑ์และศาลไม่เคยตอบรับ
วันที่ 1 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขออนุญาตให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาอาการก้อนเนื้อในมดลูกเข้าตรวจดูอาการและวางแผนรักษาบุ้ง เพื่อให้ความเห็นและวางแผนการรักษาพยาบาลโดยด่วน หลังจากที่เธอมีอาการทรุดหนักจนต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565
หลังจากผ่านมาเกือบจะครบรอบเดือน ทนายได้เปิดเผยว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไร้สัญญาณตอบกลับจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และคาดว่าหนังสือฉบับดังกล่าวคงไม่เป็นผลให้ผู้บริหารราชทัณฑ์ออกมาชี้แจงแต่อย่างใด
อ่านหนังสือของทนายที่ยื่นต่ออธิบดีกรมราชทัณฑ์ >>> ทนายความยื่นหนังสือขออนุญาตให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจอาการและวางแผนรักษา “บุ้ง” หลังทรุดหนัก
แม้แต่ใกล้วันเปิดภาคเรียนของใบปอที่กำลังจะมาถึงในเดือนสิงหาคมนี้ เธอในฐานะนักศึกษาระดับชั้นปีที่ 2 จำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนเรียนภายในวันที่ 8 – 21 สิงหาคม 2565 เพื่อที่จะได้สามารถปกป้องสิทธิทางการศึกษาของตัวเองไว้ได้ ซึ่งทนายก็ได้ยื่นเหตุผลทางการศึกษาดังกล่าวเข้าไปอยู่ในคำร้องขอประกันตัวครั้งที่ 7 ด้วย เพื่อหวังว่าศาลจะมีเมตตาธรรมกับจำเลยทั้งสองคน
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว บุ้ง — ใบปอ นักกิจกรรมหญิงจากกลุ่มทะลุวัง เป็นครั้งที่ 7 โดยชี้เหตุผลตามบันทึกของแพทย์ว่าร่างกายของทั้งสองคนยังปกติดี อีกทั้งยังเชื่อมั่นว่าโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีทรัพยากรมากพอที่จะดูแลอาการป่วยของจำเลยทั้งสองคนได้
ทั้งนี้ เมื่อผลประกันในครั้งดังกล่าวได้เปิดเผยต่อสาธารณชน ในวันที่ 20 ก.ค. 2565 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรสิทธิฯ (สสส.) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้พิจารณาเรื่องการประกันตัวผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดี จากการแสดงความความคิดเห็นทางการเมือง รวมถึง ‘ใบปอ-บุ้ง’
และได้ย้ำหลักการสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) เพื่อให้ผู้ต้องหาซึ่งในกรณีนี้ เป็นเพียงผู้ต้องหาทางความคิดได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมและได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมโดยเคร่งครัด อีกด้วย
.
อ่านแถลงการณ์จาก สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและองค์กรสิทธิฯ >>>สมาคมสิทธิเสรีภาพฯ ขอศาลให้ประกันผู้ต้องหาทางการเมือง ย้ำ ‘หลักสันนิษฐานว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์’
อ่านแถลงการณ์จากนักวิชาการประวัติศาสตร์ >>> นักวิชาการ ปวศ. เรียกร้องให้ปล่อยตัวใบปอ-บุ้ง ตามหลัก presumption of innocence
.
ต่อมาในวันที่ 21 ก.ค. 2565 ทนายความได้เข้าเยี่ยมทั้งสองคนอีกครั้ง และขอให้พวกเธอทบทวนเรื่องการประท้วงอดอาหาร แต่ทั้งสองก็ยังยืนยันในอุดมการณ์ของตัวเองที่จะอดอาหารเพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัว และเพื่อแสดงให้ทุกคนรู้ว่า พวกเธอยังคงยืนยัดที่จะต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตัวเองต่อไป
หลังการไม่ได้ประกันตัวนับ 7 ครั้ง บุ้งกับใบปอถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลา 81 วัน และอดอาหารล่วงเข้าวันที่ 51 แล้ว
นับจากปี 2564 ซึ่งเคยมี ‘เพนกวิน — พริษฐ์ ชิวารักษ์’ หนึ่งในนักกิจกรรมที่เคยอดอาหารเพื่อทวงสิทธิประกันตัวถึง 58 วัน หากทั้งสองยังคงความตั้งใจที่จะอดอาหารต่อไป จนถึงวันที่ 30 ก.ค. 2565 นี้ บุ้งและใบปอจะเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ประท้วงอดอาหารมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุด ในกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112