“ใบปอ” (สงวนชื่อสกุล) วัย 20 ปี นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุวัง” นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และลูกเพียงคนเดียวของพ่อและแม่
ใบปอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ค่อนข้างเข้มงวด เธอถูกคาดหวังให้มีชีวิตเป็นไปตามแบบแผนของสังคมไทย ต้องเรียบร้อย สงวนท่าที เป็นแม่ศรีเรือน อยู่ในโอวาท สิ่งที่เธอเรียกว่า “เผด็จการในครอบครัว” ต่อมาเมื่อโตขึ้นใบปอเผชิญหน้ากับเผด็จการอีกครั้งภายใต้รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้เธอไม่ยอมจำนนอีกต่อไปและลุกขึ้นมาลงสนามเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว แม้ครอบครัวจะทัดทานไว้ก็ตาม
ใบปอเริ่มต้นเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังครั้งแรกพร้อมกับ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผ่านกิจกรรมการทำโพล “เห็นด้วยหรือไม่กับ มาตรา 112” ที่สยามพารากอน เมื่อปลายปี 2564 หลังจากนั้นไม่นานเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุวัง” ก็ได้ถูกสร้างขึ้นมา ขณะเดียวกันเธอและเพื่อนๆ ก็ใช้วิธีตั้งคำถามด้วยโพลเพื่อผลักดันข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” อย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง
แม้จะเพิ่งสวมบทบาทนักกิจกรรมได้ไม่นาน พร้อมๆ กับกลุ่มทะลุวังเพิ่งมีบทบาทได้เพียงครึ่งปี แต่ใบปอเล่าว่า กลับต้องสูญเสียอะไรไปเยอะมาก ที่เห็นชัดที่สุดคงเป็น “เสรีภาพ” หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ทำให้เธอและ “บุ้ง” เนติพร ต้องถูกคุมขังอยู่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2565 และแม้ว่าทนายความจะยื่นคัดค้านการฝากขังทุกครั้งและยื่นขอประกันตัวเรื่อยมา ศาลก็ยังคงไม่หยิบยื่นอิสรภาพกลับคืนให้
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสองอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 4 แต่ศาลก็ยังคงไม่ให้ประกันตัวเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ใบปอและบุ้งตัดสินใจเริ่มต้น “อดอาหารประท้วง” ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยยืนยันว่าจะอดอาหารต่อไปจนกว่าจะศาลจะให้ประกันตัว
ชวนรู้จักตัวตน ชีวิต และความฝัน ของ “ใบปอ” ผ่านบทสนทนาสั้นๆ จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ ขณะเธอถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนานกว่า 1 เดือน และทำอดอาหารประท้วงนาน 1 สัปดาห์แล้ว
เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่เมื่อไหร่
จริงๆ เริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่ ม.ปลาย แล้ว แต่ครอบครัวไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีมุมมองเรื่องการเมืองต่างกัน ตอนแรกเราเรียนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สายบริหารธุรกิจ แต่หลังตัดสินใจซิ่วมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ก็ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น จริงๆ อยากเรียนที่ธรรมศาสตร์ตั้งแต่แรกแล้ว แต่ที่บ้านไม่ยอม เพราะพวกเขาคิดว่าธรรมศาสตร์เป็น ‘มหาลัยล้างสมองเด็ก’
สิ่งที่เราสนใจจริงๆ มันคือทางสายสังคม การเมืองมากกว่า เราเลือกเรียนมหาวิทยาลัยป๋วย (วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์) เพราะมันเป็นการเรียนแบบ Active Learning ทำให้เรามีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ได้ไปม็อบหรือทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ด้วย มีการเรียนการสอนทางการสอนที่หลากหลาย เพราะเราไม่อยากมุ่งเป้าไปที่การเมืองอย่างเดียว ประกอบกับเราเป็นคนชอบสำรวจปัญหาและความคิดเห็นของคน เราอยากช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ และเรายังสนใจเรื่องอื่นด้วย ทั้งความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน หรืออะไรก็ตามที่ช่วยพัฒนาสังคมได้
ทำไมต้อง Active เคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดนี้
คิดว่าอาจเป็นเพราะถูกกดมาจากที่บ้าน แต่ก็เป็นเพราะสังคมที่หล่อหลอมชุดความคิดแบบนี้ให้กับคนที่บ้านอีกที ทั้งชุดความคิด วัฒนธรรม ทุกอย่างหล่อหลอมให้พ่อแม่เรามีความคิดแบบนั้น ถ้าพูดได้ง่ายๆ คือเผด็จการแรกที่เจอคือ “เผด็จการที่บ้าน”
เราเป็นลูกสาวคนเดียว พ่อแม่เลยจะชอบห้ามไม่ให้ทำนู่นทำนี่ ตอนที่ต้องเข้ามาในเรือนจำ 3-4 วันแรก เรายังคิดเลยว่า ‘มันเหมือนเรากลับไปอยู่ที่บ้านอีกครั้ง’ เวลาเราทะเลาะกับพ่อแม่ เราโดนยึดโทรศัพท์ เราต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่สามารถออกไปไหน ทำอะไรไม่ได้เลย ได้แค่อ่านหนังสือ นอน มันคล้ายกับตอนนี้เลย
ที่บ้านยังมีความคิดว่าถ้าเป็นผู้หญิงจะต้องทำงานบ้าน ต้องเรียบร้อย ตั้งใจเรียนอย่างเดียว แชร์โพสต์การเมืองแค่โพสต์เดียวก็ทำให้ทะเลาะกันยิ่งใหญ่ได้ แล้วพอโตขึ้นเราได้เจอเผด็จการในประเทศนี้อีก เราเลยรู้สึกมั่นใจว่า ถ้าเราออกมา เราสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากกว่าอยู่เฉยๆ ที่บ้านแน่นอน
ฝันว่าอยากเป็นอะไร
ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองต้องเป็นอะไร แต่อยากทำงานที่ขับเคลื่อนสังคม ได้พูดประเด็นที่เป็นปัญหาให้มันเปลี่ยน
การเคลื่อนไหวแรกๆ อยู่ในโซเซียลเป็นประเด็นเรื่องเพศ
ใช่ค่ะ ก่อนหน้านี้เราเคลื่อนไหวอยู่ในเฉพาะโซเซียล เพราะครอบครัวไม่ให้ยุ่งเรื่องการเมืองเลย เราเลือกพูดเรื่องเพศ เพราะเราเจอปิตาธิปไตยมาเยอะเหมือนกัน เรื่อง Sexual Harassment เราเจอมาตลอด เหมือนที่เล่าไปว่าขนาดขึ้นรถไปศาล ยังเจอผู้ต้องขังชายในรถด้วยกันพยายามคุกคาม ถามชื่อ เรียกชื่อ พยายามคุยหยอกล้อ พูดจาแทะโลม เรารู้สึกว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเซนซิทีฟมาก แต่คนมองข้ามกันไปเยอะมาก
คิดว่า “ปิตาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” เหมือนหรือต่างกันยังไง
เราโดนปิตาธิปไตยกดทับทั้งในสังคมการทำงาน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งในโรงเรียน หรืออะไรก็ตาม เราเป็นเพศหญิงในประเทศนี้ เราก็จะโดนกดอยู่ตลอด ถูกสั่งให้ต้องทำตัวแบบนี้แบบนั้น ปิตาธิปไตยกับเผด็จการ มันเหมือนกันตรงที่เป็นการใช้อำนาจกดให้อีกคนหนึ่งอยู่ใต้อำนาจของอีกคนหนึ่ง เหมือนกับที่รัฐเผด็จการกดหัวประชาชนไม่ให้มีสิทธิ์มีเสียงในการพูด
ตอนแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวได้ประเมินไหมว่าจะต้องเจออะไรบ้าง สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอาจจะเผชิญคืออะไร
เอาจริงๆ คิดว่าตั้งแต่เริ่มทำอันแรกเลย โพลตั้งคำถาม “สนับสนุนหรือยกเลิก ม.112” ตอนแรกเราก็ไม่ได้คิดถึงขั้นว่าจะติดคุกหรืออะไร คิดว่าแค่น่าจะโดนคุกคาม ตอนนั้นเราก็พยายามระมัดระวังตัวเองตลอด
แต่ก่อนหน้าที่จะติดคุกครั้งนี้แค่อาทิตย์เดียว เราถูกบุกจับ เราไม่เคยถูกคุกคามหนักขนาดนี้มาก่อนเลย แต่ตอนนั้นถูกรวบจับ ตำรวจมากันเยอะมาก เราเริ่มคิดแล้วว่าถ้าติดคุกหรืออะไรก็เตรียมใจไว้ในระดับหนึ่งแล้ว เพราะเราก็เห็นว่าในประเทศนี้เป็นยังไง
ตอนเริ่มทำโพลครั้งแรก เราสรุปกันว่ายังไงก็ไม่เข้าข่ายความผิดตาม ม.112 แน่นอน แต่ก็รู้ว่าเคสอื่นก่อนหน้านี้มันก็ไม่ได้ยุติธรรม ไม่ได้ถูกตีความตรงตามตัวบทกฎหมายอยู่แล้ว เลยคิดว่าในอนาคตการทำโพลธรรมดาๆ ก็อาจจะผิดกฎหมายได้เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็นเพียงการตั้งคำถามก็ตาม
เราเตรียมใจมาตลอด จนวันที่ศาลนัดฟังคำสั่งถอนประกันครั้งที่ 3 หลังก่อนหน้านั้นเลื่อนฟังคำสั่งมา 2 ครั้งแล้วเราก็ต้องมาติดคุกจริงๆ ตอนแรกเหมือนทำใจได้ แต่พออยู่ไปจริงๆ มันยากกว่านั้นมาก เรายังคุยกับบุ้งอยู่เลยว่า “ทุกอย่างมันเหมือนถูกสต็อปไว้วันที่ 3 พฤษภา วันที่เราเข้ามา” เพราะเราไม่รู้ข่าวสารของโลกภายนอกเลย
“คุก” จากคำบอกเล่าของเพื่อนนักกิจกรรม เหมือนกับที่มาเจอด้วยตัวเองไหม
ก่อนหน้าจะถูกสั่งถอนประกัน เราก็มีคุยกับรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) แล้วก็มีหลายคนมาบอกเหมือนกันว่ามันจะเป็นแบบนู้น แบบนี้นะ แต่พอเข้ามาจริงๆ มาตรการกักตัวโควิดหลายอย่าง มันก็เริ่มลดลงแล้ว แต่ก็ยังเหมือนเดิมอยู่บ้าง อย่างมาตรการถ้าถูกเบิกตัวไปศาล จะต้องถูกแยกไปกักตัว หลายคนอาจจะชอบการถูกกักตัวอยู่ข้างบนมากกว่า แต่เราชอบที่จะได้เจอเพื่อนๆ ได้คุยกับคนข้างล่างมากกว่า เพราะเราได้เจอคนที่คอยซัพพอร์ตเราด้วย
เหมือนที่เคยเขียนจดหมายบอกว่า “คนเสื้อแดงมีอยู่ทุกที่” เรายังได้รับกำลังใจในนี้อยู่เหมือนกัน ถือว่าเป็นกำลังใจเล็กๆ ที่ทำให้รู้สึกดีมาก เรายังได้คุยกัน ยังมีเพื่อน ยังช่วยกันประคองให้แต่ละวันผ่านไปได้ อยู่ในนี้มันคือการสู้ทุกวินาที
“อยู่ในนี้มันคือการสู้ทุกวินาที” เป็นยังไง
อยู่ในนี้เราอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมที่มี “กล้องวงจรปิด” ดูเรา 24 ชั่วโมง เราไม่ชอบการถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว แต่พอมาอยู่ในนี้มันยิ่งกว่า ไม่มีเวลาส่วนตัวเลย แม้กระทั่งการเข้าห้องน้ำเขาก็เห็นหมด เห็นหมดทุกอย่าง
ตอนเข้ามาก็เข้ามาแต่ตัวเปล่าจริงๆ ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลยสักชิ้นเดียว ทุกอย่างต้องปรับตัวใหม่ ค่อยๆ พยายามหาวิธีเอาตัวรอดอย่างไม่เครียดและไม่ให้เป็นบ้าไปก่อนให้ได้ มันรู้สึกเหมือนต้องปรับตัวตลอดเวลา ต้อง alerts ตลอดเวลาจนรู้สึกเหมือนไม่ได้พัก
รับมือกับการถูกละเมิด Privacy ในเรือนจำยังไง
ก็มีแลบลิ้นใส่กล้อง กวนตีนใส่กล้องบ้าง (หัวเราะ) โอเค, ถ้าจะดูก็ดู สุดท้ายมันก็ต้องอยู่ให้ได้ เพราะเราทำอะไรไม่ได้ เราต้องอยู่แค่ในห้องนี้ ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่บอกว่าสูญเสียอะไรไปเยอะมาก จากการออกมาต่อสู้และถูกขังอยู่ในเรือนจำ สูญเสียอะไร
ที่เสียแน่ๆ เลย คือ “เสรีภาพ” สองคือความเชื่อมั่นบางอย่างที่เราเคยเชื่อมาตลอด มันก็เสียไปเหมือนกัน เราได้เห็นกฎหมาย เห็นตำรวจ เห็นกระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างมันต่างจากตอนที่เราเป็นคนธรรมดามาก เราได้เห็นว่าศาลตัดสินยังไง เห็นขั้นตอนชัดเจนขึ้นว่ามันไม่ยุติธรรมยังไง ทุกอย่างชัดขึ้นมากว่ามันไม่มีความยุติธรรมเลย เราเห็นปัญหา เห็นช่องโหว่ที่ชัดมากยิ่งขึ้น มีหลายอย่างที่เราคิดว่าอาจจะดีกว่านี้ แต่พอมาอยู่จริงๆ มันแย่กว่าที่คิดไว้
สามคือ สูญเสียมิตรภาพไปเยอะ แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ แล้วก็เสียความรู้สึก ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ต้องปรับแค่เรื่องกายภาพ แต่สุขภาพจิตก็หนักเหมือนกัน ต้องพยายามควบคุมตลอดไม่ให้เบรกดาวน์
ในนี้เราต้องพยายามอย่างมากที่จะสู้ต่อให้ได้ เพราะสื่อสารกับข้างนอกยากมาก วันๆ หนึ่งได้คุยกับทนายแค่แป๊บเดียว เดี๋ยวก็ติดเสาร์-อาทิตย์แล้ว ช่วงที่เข้ามาแรกๆ ก็ติดวันหยุดเยอะมาก ทนายเข้าเยี่ยมไม่ได้ เรารู้สึกว่าเสียงของเราถูกตัดออกไปเกินครึ่งเลยนะ
ส่วนเรื่องเรียน เราคิดว่าเรียนตอนอายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการถูกขังในนี้มันทำให้เราเรียนช้าไปอีก ก่อนหน้านี้ก็เคยซิ่วมาแล้วรอบหนึ่ง สมมติว่าถ้ายังไม่ถูกปล่อยตัวก็คงจะต้องดรอปเรียน แล้วคงทำให้เรียนจบช้ากว่าเพื่อน
ทั้งๆ ที่เริ่มเคลื่อนไหวจริงจังแค่เพียง 4-5 เดือนเท่านั้น แต่กลับรู้สึกว่าเราสูญเสียอะไรไปเยอะ เจ็บเยอะมาก แต่มันก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นตลอด
คิดถึงใครข้างนอกที่สุด
ข้างนอกก็ไม่มีใครให้คิดถึงเป็นพิเศษ ถ้าคิดถึงจริงๆ ก็คงคิดถึงโลกภายนอกกับน้องแมว คิดถึงการใช้ชีวิตข้างนอก คิดถึงการทำงานข้างนอก
ถ้าออกมาอยากทำอะไรที่สุด
ตอนนี้ถ้าออกไปได้ อยากไปกินค่ะ อ๋อ! แล้วก็มีอย่างหนึ่งที่คุยกับบุ้ง คือเราอยากออกไปนอนที่นอนนุ่มๆ เพราะอยู่ในนี้ต้องนอนพื้นตลอด ปวดหลัง แล้วก็หาอะไรอร่อยๆ กินเหมือนตอนก่อนเข้ามา
บุ้งบอกว่าใบปอเป็น Eating Lover ทรมานไหมพอต้อง “อดอาหาร”
ตอนอยู่ข้างนอก หนูกินบุฟเฟ่ต์บ่อยมาก กินเยอะ (หัวเราะ) กินแหลกเลย บุ้งจะไม่ชอบกินของหวาน หนูก็จะกินให้ พอถูกถอนประกันให้มาอยู่ในคุก สิ่งที่ทำให้เรามีความสุขเพียงไม่กี่อย่างข้างในนี้ก็คือ ‘การกิน’ การได้กินอาหารที่คนข้างนอกส่งเข้ามา มันทำให้เราผ่านแต่ละวันในนี้ไปได้
เราไม่ได้อยากตาย เราอยากออกไปสู้ต่อ แต่พอถึงจุดที่ไม่ได้ประกันครั้งที่ 4 และถูกขังมาเดือนกว่าแล้ว มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องทำอะไรซักอย่าง เลยเลือกที่จะอดอาหารประท้วง
บุ้งเล่าเสริมว่า น้อง (ใบปอ) เคยบอกกับบุ้งว่า ตอนอยู่ข้างนอก ‘ความสุขคือการกิน’ เวลาได้กินใบปอจะเอ็นจอยมาก จะแฮปปี้ จะยิ้ม มีความสุขทุกข์แค่ไหน แค่ได้กินของอร่อยน้องก็จะดีขึ้น แต่พอมาอยู่ในนี้ รัฐเผด็จการทำกับเราแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมทำกับเราแบบนี้ ถ้าต้องตายจากการอดอาหาร ก็ดีกว่าตายเพราะถูกขังโดยรัฐบาลเผด็จการ
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
‘บุ้ง – ใบปอ’ อดอาหารเข้าวันที่ 5 หลังศาลไม่ให้ประกันตัว อยากให้รู้ว่ายังสู้อยู่ในนี้
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอดอาหาร