ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังไม่ให้ “สุธินี” จำเลยคดี ม.112 กรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีไปเรียนภาษา หลังสอบได้ทุนรัฐบาลเยอรมันเดียวกับ “รวิสรา” 

25 พ.ค. 2565 เวลา 14.20 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ “ฟ้า” สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่ 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุ 21 ปี หนึ่งในจำเลยคดีมาตรา 112 จากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมัน

ในคดีนี้ อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2564 และศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขประการหนึ่ง คือ “ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล” ต่อมา สุธินีได้รับทุนการศึกษา เพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนภาษาเยอรมัน ยังประเทศเยอรมนี เธอจึงได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขออนุญาตเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 

“สุธินี” ได้ทุนแลกเปลี่ยน 1 เดือน ทุนให้เปล่าจากรัฐบาลเยอรมันเดียวกันที่ “รวิสรา” สอบได้เพื่อเรียน ป.โท นาน 2 ปีครึ่ง

ทุนการศึกษานี้เป็นทุนการศึกษาด้านภาษาเยอรมัน ณ สถาบันภาษาเยอรมันและวัฒนธรรม ที่ มหาวิทยาลัยฮัลเลอ-วิทเทนเบิร์ก (Universität Halle-Wittenberg, MLU) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมันในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน โดยมีกำหนดการศึกษาตั้งแต่วันที่ 3-28 ก.ค. 2565 

ทุนดังกล่าวเป็นทุนการศึกษาให้เปล่าจาก “ศูนย์บริการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD)” ของรัฐบาลเยอรมนี ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันที่มอบทุนการศึกษาให้กับ “เดียร์” รวิสรา เอกสกุล จำเลยในคดีเดียวกันนี้ โดยรวิสราสามารถสอบชิงทุนการศึกษาจากองค์กรดังกล่าวได้และมีสิทธิ์ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขา ‘การจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) 

ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 2565 รวิสราต้องยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ถึง 7 ครั้ง โดยแต่ละครั้งศาลจะมีคำสั่งให้เพิ่มเติมตามเงื่อนไขและเอกสารที่ศาลได้ร้องขอ กระทั่งมีคำสั่งอนุญาตให้ไปศึกษาต่อได้ ก่อนมหาวิทยาลัยที่เยอรมันของรวิสราจะเปิดทำการเรียนการสอนเพียง 3 วัน ซึ่งขณะนี้รวิสรากำลังศึกษาในทุนดังกล่าวอยู่ที่ประเทศเยอรมนี

ประมวลเส้นทาง รวิสรา ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อขอไปศึกษาต่อยังเยอรมนี จำนวน 7 ครั้ง

ทั้งนี้ ทุนการศึกษาที่สุธินีได้รับนั้นต่างจากทุนการศึกษาในโปรแกรมของรวิสรา โดยทุนของสุธินีเป็นทุนการศึกษาในโปรแกรมหลักสูตรภาคฤดูร้อนที่มอบให้กับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษา เพื่อไปศึกษาแลกเปลี่ยนด้านภาษาเยอรมันในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ทุนที่รวิสราได้รับเป็นทุนการศึกษาโปรแกรมเฮลมูท-ชมิดท์ที่มอบให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้วได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งมีกำหนดการศึกษารวมประมาณ 2 ปี 

สุธินียื่นคำร้องขอไปแลกเปลี่ยนภาษาที่เยอรมัน ระบุเหตุผล ไปเพียง 1 เดือน-เรียนเสร็จต้องกลับไทยมาเรียนอักษรฯ จุฬาฯ อีก 24 หน่วยกิตให้จบ-เป็นทุนสำคัญต่อความสัมพันธ์ ไทย-เยอรมัน ครบ 160 ปี 

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอเดินทางนอกราชอาณาจักรเพื่อให้ “สุธินี” ได้ไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีต่อศาล และได้ระบุเหตุผลสำคัญในคำร้องโดยสรุป ดังนี้

1. สุธินีเป็นนิสิตชั้นปีที่ 3 ของคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาตะวันตก วิชาเอกภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร 4 ปี เป็นผู้มีผลการเรียนดีและมีความประพฤติดี เคยได้รับรางวัลเรียนดีประจำปีการศึกษา 2564 จากสาขาภาษาเยอรมันด้วย โดยหากศาลอนุญาตให้เดินทางไปศึกษาตามหลักสูตรทุนศึกษาที่ได้รับยังประเทศเยอรมนีจนจบหลักสูตรแล้ว จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยทันที เนื่องจากยังจะต้องเรียนต่อในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตให้จบหลักสูตร โดยยังจะต้องลงทะเบียนเรียนอีก 24 หน่วยกิต ใช้เวลาอีกประมาณ 2 ภาคการศึกษา หรือ 1 ปีการศึกษา

2. ทุนการศึกษานี้มีความหมายและมีคุณค่าอย่างมาก โดยหลังจากสุธินีได้รับการยืนยันว่าได้รับทุนการศึกษานี้ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเพื่อแสดงความยินดีและยืนยันว่าการที่ได้รับทุนดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ เพราะมีเพียงนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยชั้นเยี่ยมและผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมสำหรับทุนการศึกษาระยะสั้นเช่นนี้ และยังได้แสดงความเชื่อมั่นว่าการไปศึกษาต่อ ณ ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับสุธินีแล้ว ยังจะเป็นการนำประโยชน์กลับมาสู่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในปี 2565 นี้ ซึ่งครบรอบ 160 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – เยอรมัน

3. ทุนการศึกษานี้เป็นการไปศึกษาแลกเปลี่ยนในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งมีกำหนดการศึกษา 26 วัน ตั้งแต่วันที่ 3 – 28 ก.ค. 2565 โดยมีกำหนดการเดินทางไปในวันที่ 25 มิ.ย. 2565 และเดินทางกลับในวันที่ 2 ส.ค. 2565 นอกจากนี้สุธินียังได้เสนออาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ศาลพิจารณาแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอีกด้วย

ศาลมีคำสั่งให้หาผู้กำกับดูแลในเยอรมนีเพิ่ม

หลังสุธินียื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปแลกเปลี่ยนด้านภาษาตามที่ได้รับทุนการศึกษา ต่อมาในวันนี้ (25 พ.ค. 2565) ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งระบุว่า 

“ให้จำเลยติดต่อหาบุคคลที่มีคุณสมบัติและมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้กำกับดูแลและยินยอมที่จะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยในระหว่างที่จำเลยศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี เพื่อที่จะสามารถติดต่อประสานงานกับผู้กำกับดูแลที่อยู่ในประเทศไทยมาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป”

คำสั่งลงนามโดย นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล

ทั้งนี้ คดีจากการชุมนุม #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 จัดขึ้นโดยกลุ่มราษฎร 2563 ผู้ชุมนุมได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีการใช้พระราชอำนาจบนดินแดนของเยอรมนีหรือไม่ โดยสุธินีเป็นหนึ่งในผู้อ่านแถลงการณ์ของการชุมนุมเป็นภาษาเยอรมัน แต่ไม่ได้มีบทบาทอื่นใดในการชุมนุมดังกล่าว

อย่างไรก็ตามการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนภาษาเยอรมันที่ประเทศเยอรมนีตามที่สุธินีได้รับทุนการศึกษาไม่ส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมการพิจารณาคดีในคดีนี้แต่อย่างใด เนื่องจากทุนการศึกษานี้มีกำหนดการเรียนวันสุดท้ายในวันที่ 28 ก.ค. 2565 และเธอจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 2 ส.ค. 2565 แต่ในคดีนี้ ศาลได้นัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2566

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ประมวลการยื่นคำร้องไปศึกษาเรียนต่อของรวิสรา

เกือบ 2 เดือนของการต่อสู้และปากคำทนายความ กรณีการยื่นคำร้องกว่า 7 ครั้ง เพื่อเดินทางไปเรียนต่อ ป.โท ที่เยอรมันของ ‘รวิสรา’ จำเลยคดี ม.112 

คดีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

คดี 112 – 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน

ยื่นฟ้อง 12 ผู้ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ชี้หมิ่นกษัตริย์ เหตุทำให้ปชช.เข้าใจว่า ร.10 ใช้อำนาจแทรกแซงการเมือง ละเมิดสิทธิมนุษยชน

X