เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายนัดรายงานตัวเพื่อส่งฟ้องคดีของ สุปรียา ใจแก้ว หรือ “แซน” อดีตนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย ในคดีที่เธอถูกตำรวจเข้าจับกุมและถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่าดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุติดป้าย ‘งบสถาบันฯ>งบเยียวยาประชาชน’ บริเวณห้าแยกพ่อขุนเม็งราย อำเภอเมืองเชียงราย เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนคดีพร้อมตัวสุปรียามายังพนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นอัยการมีการนัดฟังคำสั่งในทุกๆ เดือน กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลาเกือบปีที่อัยการเลื่อนนัดรายงานตัวของเธอออกไปทุกเดือน
กระทั่งนัดรายงานตัววันที่ 19 เม.ย. 2565 เจ้าหน้าที่อัยการแจ้งว่านัดครั้งนี้ให้เลื่อนออกไปก่อน แต่ระบุว่าในนัดครั้งต่อไปในวันที่ 18 พ.ค. 2565 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีแล้ว
วันที่ 18 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. สุปรียาเดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร มาถึงสำนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายเพื่อรายงานตัว แต่เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการแจ้งว่าให้เลื่อนวันฟ้องคดีออกไปก่อนเป็นวันที่ 9 มิ.ย. 2565 สุปรียาและทนายความขอพูดคุยกับอัยการเจ้าของสำนวน ขอให้ส่งสำนวนฟ้องคดี เพราะได้เตรียมตัวมาแล้ว และเพื่อลดภาระการเดินทางซ้ำหลายครั้ง แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าอัยการไม่เข้ามาที่สำนักงานอัยการจึงไม่สามารถมาพูดคุยด้วยได้ สุปรียาจึงขอเลื่อนวันนัดรายงานตัวไปเป็นวันที่ 24 มิ.ย. 2565 แทน
ตั้งแต่สุปรียาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมที่บริเวณที่พักในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 จนปัจจุบันเป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้ว โดยคดีของเธอยังอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการ ที่ผ่านมาเธอมีภาระต้องเดินทางมารายงานตัวตามนัดของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการจำนวนหลายครั้ง ส่งผลกระทบทั้งทางด้านโอกาสทางการงาน เศรษฐกิจ และความกังวลของครอบครัว
“ทุกวันนี้แซนทำงานหาเงินสู้คดี”
หลังจากที่สุปรียาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เธอได้เข้าทำงานและย้ายที่อยู่อาศัยไปที่กรุงเทพมหานคร การมีคดีการเมืองหลายคดีในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ทำให้การเดินทางมารายงานตัวแต่ละครั้ง สร้างภาระต่อเธออย่างมาก โดยต้องใช้เงินจำนวนมากและจำเป็นจะต้องลางานหลายวัน
“ถ้าเชียงใหม่ก็มีค่าโรงแรมด้วย แต่เชียงรายไปนอนกับเพื่อน ถ้านัดเช้าต้องจองโรงแรมใกล้ๆ ค่าโรงแรมก็ 800-900 บาท พยายามไม่ให้เกิน 1,000 เพราะต้องมาหลายครั้ง ไป-กลับครั้งหนึ่ง ถ้ารวมตั๋วเครื่องบินก็ 3,000-5,000 แล้ว”
“เอาจริงๆ คิดถึงคนที่ไม่ได้มีกำลังจะเดินทางสู้คดี เขาจะเป็นยังไง”
แม้ว่าสุปรียาจะได้งานอยู่ในทีมโฆษกของพรรคเพื่อไทย แต่เธอจำเป็นจะต้องลางานหลายวัน หลายครั้งเพื่อรายงานตัวต่อสู้คดี ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของเธออย่างมาก
“วันนี้จริงๆ มีงานปราศรัยใหญ่สำหรับการเลือกตั้ง ส.ก. ซึ่งแซนเป็นทีมงานหนึ่งที่จะต้องคุมเวทีก็เลยไม่ได้ไป”
“แซนกังวลเรื่องการลางาน เพราะเรามาบ่อยมาก วันลาหยุด ลากิจของแซนมันเยอะกว่าใครทุกคนที่เขาทำงานอยู่ตรงนั้น”
“เราพร้อมสู้คดีที่ถูกกล่าวหา แต่มันเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งกัน เพราะคุณกำหนดเวลามาชัดเจนแล้ว ล่วงหน้ามาไม่รู้กี่วัน อย่างนัดวันนี้คุณบอกว่าจะส่งฟ้อง พอมาถึงเวลาคุณก็ไม่ส่ง กลายเป็นว่าเราต้องเสียทั้งค่าเดินทาง ทั้งเสียเวลาหมดเลย”
ทั้งนี้ สุปรียา ถูกกล่าวหาในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมด 3 คดี โดยเป็นคดีที่จังหวัดเชียงราย 2 คดี ในคดีตามมาตรา 112 คดีนี้ และคดีชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และยังมีคดีที่จังหวัดเชียงใหม่อีก 1 คดี ในคดีตามมาตรา 116 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากถูกดำเนินคดี เธอยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เชียงรายเข้าติดตามอย่างต่อเนื่อง แม้จะย้ายไปอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม