เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 พูนสุข พูนสุขเจริญ ฝ่ายวิจัยและกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าร่วมบรรยายหัวข้อ “ปัญหาการดำเนินคดีชุมนุมและการให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้ชุมนุมถูกจับกุม” ในโครงการห้องปฏิบัติการกฎหมายสิทธิมนุษยชน (LawLAB for Human Rights) ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พูนสุข ได้ทบทวนปัญหาของตัวบท “กฎหมาย” ที่ถูกบังคับใช้ในการควบคุมการชุมนุมสาธารณะเรื่อยมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จนกระทั่งในยุคโควิด-19 ไปจนถึงสถานการณ์ในการสลายการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ที่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งปัญหาการจับกุมผู้ชุมนุม และสถานการณ์การตั้งเงื่อนไขการประกันตัว
.
.
ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกับการชุมนุมสาธารณะในประเทศไทย
พูนสุขเริ่มกล่าวถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายกับการชุมนุมสาธารณะของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีความเชื่อมโยงอยู่กับกฎหมายหลายฉบับ ตั้งแต่ระดับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, รัฐธรรมนูญปี 2560, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.จราจรฯ เป็นต้น
พูนสุขได้อธิบายว่าในส่วนของสถิติคดีที่มีการถูกดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 1,447 ราย และมากกว่า 629 คดี และนอกจากนี้ยังมีการนำกฎหมายอาญาอย่างมาตรา 112 และ มาตรา 116 มาใช้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างมีนัยสำคัญ
พูนสุขได้ย้อนทบทวนประวัติของการใช้ “กฎหมาย” ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยในปี 2557 คสช. ได้เริ่มประกาศกฎอัยการศึก พร้อมทั้งออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 มีเนื้อหาห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป โดยมีบทลงโทษจำคุกสูงถึง 1 ปี
ต่อมาในปี 2558 ได้ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หรือที่รู้จักกันในนามอำนาจจาก “มาตรา 44” ซึ่งยังห้ามมิให้ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไปอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ตามได้มีการลดอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน เหลือการจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน แต่ลักษณะการใช้อำนาจที่นำโดยทหาร ก็ยังคงในลักษณะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่เช่นเดิม
ในปีเดียวกันนี้ ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 โดยนับว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง แต่ออกมาภายใต้สภาที่มาจากแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารทั้งหมด ต่อมาคำสั่งหัวหน้าคสช. 3/2558 เฉพาะเรื่องการห้ามการชุมนุมฯ ก็ได้ถูกยกเลิกในช่วงปลายปี 2561 ก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไป
กระทั่งในเดือนมีนาคมปี 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รัฐบาลก็ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 นำไปสู่การควบคุมการชุมนุมรวมกลุ่มอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุปคือ ตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารมาตลอด 8 ปี ประเทศไทยอยู่ภายใต้ “การใช้กฎหมายแบบพิเศษ” ทั้งหมด และมีช่วงเวลาที่บังคับใช้ “กฎหมายปกติ” ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงปีเศษเท่านั้น
ถึงแม้ว่าจะมี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ เกิดขึ้น แต่ในแง่ของตัวบทกฎหมายดังกล่าว พูนสุขเห็นว่า ในตัวพระราชบัญญัติฯ ไม่ได้มีข้อกฎหมายที่บัญญัติเพื่อควบคุมเนื้อหาของการชุมนุม แต่นำมาใช้เพื่อควบคุมในเรื่องของพื้นที่การชุมนุมเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ถูกนำมาเลือกใช้ดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการต่อต้านหรือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมากกว่า
ยกตัวอย่างกรณีของกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันในแง่กฎหมายว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นข้อยกเว้นของการชุมนุมสาธารณะตาม มาตรา 3 ใน พระราชบัญญัติฯ หรือไม่ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกิจกรรมเป็นการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และมีการแสดงออกถึงเจตจำนงทางการเมืองเพียงเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันที่จะดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยในปัจจุบันก็มีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 100 ราย ในข้อหานี้
พัชร์ นิยมศิลป ผู้ดำเนินรายการ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าในกรณีของสถานที่ก็เป็นประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะในการชุมนุมบริเวณรอบพระราชวังในช่วงสองปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เปลี่ยนแปลงคำนิยามของสถานที่ในเขตพระราชวัง เป็นเขตพื้นที่พระราชฐานที่ไม่สามารถตั้งเป็นพื้นที่การชุมนุมได้ ซึ่งในบางพื้นที่แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงสำนักงานเท่านั้น
หรือในกรณีการชุมนุม “ตากใบ” ในปี 2547 ที่รัฐบาลในขณะนั้นได้ใช้เหตุผลในเรื่องสถานที่เป็นหนึ่งในข้ออ้างเพื่อสลายการชุมนุม เนื่องจากว่ามีการตั้งกลุ่มชุมนุมใกล้กับเขตพระราชวังเกินไป แต่ในความเป็นจริงพื้นที่การชุมนุมดังกล่าวอยู่ห่างออกไปถึง 33 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลังจากการจับกุมผู้ชุมนุมราว 80 กว่าราย โดยสรุปแล้วเรื่องสถานที่ในการชุมนุมทางสาธารณะก็ยังเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ได้ตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แต่ในปัจจุบันพบว่าเจ้าหน้าที่มีความสับสนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองที่มีการเอาเนื้อหาการชุมนุมมาใช้เป็นเงื่อนไขในการห้ามมิให้ชุมนุม ทั้งที่เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจในการสั่งห้ามหรือใช้อำนาจกับกลุ่มผู้ชุมนุมได้
ในกรณีของการแจ้งจัดการชุมนุมสาธารณะภายใน 24 ชั่วโมง พูนสุขระบุว่าพบว่าหลายกรณี เจ้าหน้าที่กลับอ้างไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่ตามตัวบทได้กำหนดเพียงให้ “แจ้งเพื่อทราบ” ไม่ใช่ “การขออนุญาต” ขณะที่ในบางกรณีถึงแม้จะไม่มีการแจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถกระทำได้โดยง่าย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง
ในความเป็นจริงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ให้แก่ผู้ชุมนุมมากกว่าการจับจ้องใช้กฎหมาย หรือหาข้อกฎหมายต่างๆ มาดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมต่างๆ
.
.
กติการะหว่างประเทศฯ กับการชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งสิทธิการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง และในกติกาฉบับนี้ได้รับรองสิทธิชุมนุมของคนทุกคน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพลเมืองของประเทศดังกล่าวหรือไม่
แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การรับรองเสรีภาพของบุคคลนั้นถูกรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ภายใต้หมวดเสรีภาพของปวงชนชาวไทย พูนสุขได้ยกกรณีของ “แซม สาแมท” ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองและถูกดำเนินคดีนั้น นอกจากข้อหาชุมนุมแล้ว เขายังถูกเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตามมาด้วยในหลายครั้ง ซึ่งเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลในรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการที่รัฐธรรมนูญระบุไว้เพียงให้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองแก่พลเมืองเท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วควรเป็นการให้สิทธิแก่บุคคลทุกคนไม่ว่าบุคคลนั้น จะเป็นพลเมืองของประเทศนั้นหรือไม่
นอกจากนี้ในการเป็นรัฐภาคี ประเด็นในเรื่องหน้าที่ของการเคารพสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ การใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุมในทางกายภาพ ควรเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่รัฐเลือกกระทำต่อผู้ชุมนุม รวมถึงการปกป้องกลุ่มผู้ชุมนุมจากการคุกคามจากผู้ก่อเหตุอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ควรเหมารวมว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นบางส่วนในขณะการชุมนุมนั้น เป็นการชุมนุมที่รุนแรงแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นๆ จะไม่ได้รับอันตรายไปด้วย ตลอดจนการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลต่างๆ รวมถึงความเห็นทางการเมือง
อีกทั้งเจ้าหน้าที่จะต้องมีการคุ้มครองสื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้สังเกตการณ์อื่นๆ โดยไม่ตัดสิทธิการเข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุมนั้นๆ โดยการที่มีกลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ชุมนุม จะเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันและเป็นพยานให้กับเจ้าหน้าที่ถึงการปฏิบัติต่างๆ เอง ว่ากระทำโดยชอบหรือไม่ แต่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยในหลายกรณี ได้กีดกันสื่อมวลชนออกไปจากพื้นที่ชุมนุม ซึ่งเป็นปัญหามากโดยเฉพาะในการชุมนุมที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
.
.
ปัญหาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมือง
ในการแพร่ระบาดของโควิด – 19 การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะ มาตรา 9 ซึ่งมีข้อความที่ระบุไว้เพื่อห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
พูนสุขได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการใช้ข้อกำหนดดังกล่าวในช่วงสองปีที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกแบบไว้ในประเด็น “ความมั่นคง” เป็นหลัก แต่ไม่ใช่การออกมาบังคับใช้เพื่อควบคุมโรคใดๆ ดังนั้นการดำเนินคดีต่อการชุมนุมต่างๆ การตีความกฎหมายจึงไม่สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
อีกทั้งยังเป็นการใช้อำนาจทางกฎหมาย ออกข้อกำหนดต่างๆ ที่ทับซ้อนในเรื่องเดียวกัน ระหว่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยโทษของการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอัตราโทษที่สูงกว่าคำสั่งของหัวหน้า คสช. ในช่วงหลังรัฐประหาร โดยสูงถึง 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท
ที่สำคัญยังมีแนวโน้มของการเลือกปฏิบัติในการดำเนินคดีกับการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ตลอดจนการแจ้งข้อหาที่มีลักษณะแบบเหวี่ยงแหหรือเหมารวม โดยผู้แจ้งความดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีลักษณะที่เลือกแจ้งความเจาะจงตัวบุคคลอีกด้วย กล่าวคือ ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไปเพียงแค่ปรากฎตัวในพื้นที่การชุมนุม ไม่ได้เป็นแกนนำหรือขึ้นปราศรัยก็มักจะถูกดำเนินคดีไปด้วย
พูนสุขได้ทิ้งคำถามในประเด็นนี้ไว้ว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึงปัจจุบันนี้ได้ถูกนำมาใช้ในการควบคุมโรคจริงหรือไม่ หรือมีการประกาศใช้เพียงเพื่อการควบคุมสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองของเฉพาะบางกลุ่มประชาชนเท่านั้น
.
.
ปัญหาการดูแลการชุมนุม กับการสลายการชุมนุมทางการเมือง
ตามคู่มือการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2563) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของมาตรการหลักการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรุปใจความได้ว่าในมาตรการดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้กำลังตามความจำเป็นของสถานการณ์ โดยใช้กำลังให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุภารกิจ โดยเฉพาะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ซึ่งเป้าประสงค์หลักของการใช้เครื่องมือ อย่างเช่น กระบอง ควรที่จะเป็นไปเพื่อการควบคุมฝูงชนให้ออกจากพื้นที่การชุมนุม
แต่ในความเป็นจริงพบว่า การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งในประเทศไทย การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อกักไม่ให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ เพื่อที่จะได้ทำการจับกุมผู้ชุมนุมมาดำเนินคดีได้ ตลอดจนการยิงกระสุนยาง ซึ่งสามารถทำได้ในกรณีที่มีการกระทำที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่นเท่านั้น และไม่ยิงโดยไม่แยกแยะหรือไม่เลือกเป้าหมาย และจะต้องเล็งให้กระสุนยางกระทบส่วนล่างของร่างกายเท่านั้น ซึ่งหลายครั้งก็ได้เกิดกรณีการยิงกระสุนยางเข้าไปในกลุ่มของสื่อมวลชนหรือกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม
ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้สื่อข่าวของประชาไท ถูกกระสุนยางจากตำรวจควบคุมฝูงชนยิงเข้าที่ช่วงบริเวณหลัง ขณะที่กำลังถ่ายทอดสดสถานการณ์ ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่ม REDEM ที่ถนนข้าวสาร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564
หรือในกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงและมีการใช้แก๊สน้ำตา ขัดขวางกลุ่มผู้ชุมนุม พูนสุขให้ความเห็นว่ากรณีนี้ มีลักษณะเป็นการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้เข้าไปชุมนุมในพื้นที่หน้ารัฐสภา ทั้งที่ไม่ได้มีเหตุที่ต้องขัดขวางใดๆ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุม เนื่องจากในการชุมนุมวันดังกล่าว เป็นการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นข้อเรียกร้องตามกฎหมายที่สามารถทำได้ และไม่ได้ปรากฏความรุนแรงในกลุ่มผู้ชุมนุมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม พูนสุขได้ตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์ในวันชุมนุมดังกล่าว ที่มีการปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองเข้ามาพบกับกลุ่มราษฎร โดยตามหลักการแล้ว ทั้งสองฝั่งมีสิทธิ์การชุมนุมอย่างเท่าเทียมกัน ตราบใดที่สามารถชุมนุมกันอย่างสงบและปราศจากอาวุธได้ แต่ในวันเดียวกันก็ได้เกิดการปะทะความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่งขึ้น ทั้งนี้ข้อสงสัยจึงตกไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ซึ่งมีหน้าที่หลักในการอำนวยความสะดวกและป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุม การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนในวันนั้น จึงน่าสงสัยว่าเป็นการขาดความรับผิดชอบในหน้าที่ตามหลักปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือไม่
.
.
ปัญหาในชั้นจับกุมและการสอบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง
ในประเด็นการปฏิบัติตามขั้นตอนในการจับกุมผู้ชุมนุม พูนสุขระบุว่าโดยปกติแล้วการจับกุมจะต้องมีการแจ้งข้อหาในการกระทำผิดในพื้นที่ อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์ชุมนุมหลายครั้ง ผู้ชุมนุมมักจะถูกจับไปก่อนและค่อยมีการหาข้อหามาแจ้งข้อกล่าวหากันภายหลัง เมื่อผ่านไปแล้วหลายชั่วโมง
อีกทั้งมักจะถูกแจ้งในพื้นที่นอกเหนือการชุมนุมอีกด้วย อาทิเช่น กองบังคับการตำรวจตะเวนชายแดน ภาค 1 (บก.ตชด.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หรือแม้แต่สถานีตำรวจที่ไม่ใช่ท้องที่เกิดเหตุ โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึง 3 สิงหาคม 2564 พบว่ามีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมทางการเมืองและถูกนำตัวไปในสถานที่ดังกล่าวมาแล้วอย่างน้อย 335 ราย ซึ่งทางศูนย์ทนายสิทธิฯ เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงทนายความ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขัดขวางไม่ให้ทนายความเข้าถึงตัวผู้ถูกจับกุม รวมถึงการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานผู้ชุมนุมในชั้นจับกุมหรือในขณะสอบสวน พูนสุขได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในช่วงเวลาที่กฎหมายเปิดช่องว่างให้เกิดการควบคุมตัวในสถานที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจในท้องที่ และในช่วงเวลาที่ทนายความไม่รู้ว่าลูกความหรือผู้ถูกจับกุมอยู่ที่ใด เขาหายไปและไม่อยู่ในการรับรู้ของใครเลย ในขณะนั้นเอง จึงเป็นช่วงเวลาที่สามารถเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลได้ทุกเมื่อ
.
ปัญหาการประกันตัว และเงื่อนไขในการประกันตัวของผู้ชุมนุม
ประเด็นสุดท้าย ในเรื่องการประกันตัวกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง พบว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคมากทั้งในเรื่องการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว โดยเฉพาะผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ด้วย, การตั้งเงื่อนไขห้ามกระทำการตามที่ถูกกล่าวหาซ้ำอีก, การห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร, การวิจารณ์ศาล และการให้ติดกำไล EM ที่มีการจำกัดเงื่อนไขต่างๆ ในการดำเนินชีวิต อันส่งผลต่อความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพ
ตลอดจนปัญหาความเป็นอิสระในการทำคำสั่งของศาล ยกตัวอย่างเช่น กรณีของศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่มีคำสั่งยกคำร้องไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา ในคดีม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ซึ่งศาลระบุคำสั่งว่า “เป็นมติของที่ประชุมคณะผู้บริหารของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งร่วมกันพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เป็นเหตุผลทั่วไปที่ไม่ใช่เหตุในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”
ในขณะการพิจารณาคดีดังกล่าว มีผู้พิพากษาที่มีอำนาจในการพิจารณาเพียงคนเดียว แต่ไม่ได้เป็นผู้เซ็นชื่อในคำสั่งประกันตัวแก่จำเลย แต่กลายเป็นการให้อำนาจการวินิจฉัย/สั่งคำสั่งโดยคณะผู้บริหารศาลฯ ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าการออกคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการแทรกแซงอำนาจศาลและผู้พิพากษาในคดี เนื่องจากว่าในขั้นตอนพิจารณาคดีดังกล่าวไม่ได้มีคณะผู้บริหารลงมานั่งพิจารณาคดีร่วมกัน และด้วยคำวินิจฉัยดังกล่าว ได้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมวงกว้างว่าเป็นปัญหาในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายในทางมิชอบของคณะผู้บริหารศาลอาญากรุงเทพใต้หรือไม่
.
อ่านข้อสังเกตการณ์ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม
9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม
คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องแล้ว 7 คดี อัยการไม่ฟ้อง 7 คดี ไม่มีคดีที่ต่อสู้แล้วลงโทษแม้แต่คดีเดียว