ทำไม ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ไม่รายงานตัวกับคณะรัฐประหาร

21 มีนาคม 2565 ข่าวการเสียชีวิตในวัย 67 ปี ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียนและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญของไทย ขณะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ประกาศความเศร้าเสียใจให้แก่ผู้รักประชาธิปไตยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 2557 ออกไปในวงกว้าง

วัฒน์ วรรลยางกูร คือหนึ่งในประชาชนอีกจำนวนหลายร้อยคนที่จำต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ ไปยังดินแดนที่ไม่คุ้นเคย หลังการรัฐประหาร 2557 ขณะที่วัฒน์และเพื่อนต้องหลบลี้หนีภัยจากการไล่ล่าจากอำนาจรัฐ ถัดจากนั้นอีกหลายปี มีอีกหลายชีวิตต้องจบหัวใจด้วยปฏิบัติการโหดเหี้ยมจากใครที่ยังระบุถึงไม่ได้ คือ การอุ้มฆ่าผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 3 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2559-2563 และอีกหลายคนต้องถูกบังคับสูญหาย

ส่วนวัฒน์เอง แม้จะเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิต ด้วยการลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนซึ่งเป็นสถานที่วาระสุดท้ายของเขา แต่สถานการณ์ของวัฒน์และเพื่อนเช่นนี้ ล้วนบ่งชี้ว่าสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความไม่ปรกติ

.

ภาพหน้าปกโลกหนังสือ หลังกลุ่มนักเขียน-ปัญญาชน คืนป่าสู่เมือง (ภาพจากสุชาติ สวัสดิ์ศรี)

นักเขียนฝ่ายซ้าย ผู้นำศิลปิน-นักเขียนต้านรัฐประหาร 

วัฒน์ วรรลยางกูร คือนักเขียนที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในแวดวงวรรณกรรม ทั้งในแง่ชั้นเชิงและวิถีปฏิบัติ ดังที่เขาได้รับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2550 ตลอดชีวิตของวัฒน์ก็มีผลงานกวีและเรื่องสั้นการันตีไม่ขาดสาย เผยแพร่ตามนิตยสารมาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 อาทิ ฟ้าเมืองไทย ชาวกรุง ลลนา ฯลฯ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการทำหนังสือพิมพ์หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันที่ประชาธิปไตยเบ่งบานเป็นพักๆ วันที่เขาเริ่มเขียนในหนังสือ ‘อธิปัตย์’ โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2517 

นับจากจุดนี้ วัฒน์เริ่มเขียนข่าว บทความ สารคดี เรื่องสั้น และนวนิยาย โดยคอลัมน์ที่สร้างชื่อให้แก่เขาคือ “ช่อมะกอก” ในนามปากกา “ชื่นชอบ ชายบ่าด้าน” และเปลี่ยนเป็นเรื่องชุดในชื่อ “ตำบลช่อมะกอก” และกลายเป็นนวนิยายเรื่อง “ตำบลช่อมะกอก” ต่อมาเขียนเรื่องสั้นและบทกวีพิมพ์อีก 2 เล่มคือ “นกพิราบสีขาว” (2518) และ “กลั่นจากสายเลือด” (2519) 

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วัฒน์ตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธกับรัฐบาลเผด็จการ โดยมีชายคาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในเขตป่าเขาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่พักพิง 

ช่วงเวลานั้น วัฒน์เริ่มเขียนงานที่มีลักษณะซับซ้อนหลากรูปแบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย จนมีผลงานรวมเล่มออกมา 3 เล่ม คือ รวมเรื่องสั้นและบทกวี 2 เล่ม คือ “ข้าวแค้น” (2522) “น้ำผึ้งไพร” (2523) และ “ด้วยรักแห่งอุดมการณ์” (2524)

อย่างไรก็ตาม หลังการต่อสู้ของนักศึกษาในเขตป่าเขาจบสิ้นลง เมื่อกลางทศวรรษ 2520 วัฒน์ต้องกลับสู่แวดวงนักเขียน และได้มีผลงานตีพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น “คือรักและหวัง” “จิ้งหรีดกับดวงดาว” “บนเส้นลวด” “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ซึ่งเรื่องหลังได้มีการนำเอาบทที่วัฒน์เขียนไปสร้างเป็นภาพยนต์ที่กวาดรายได้และรางวัลจากหลายเวที 

จนกระทั่งในปี 2525 เรื่องสั้นชื่อ “ความฝันวันประหาร” ก็ได้รับการเลือกจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ให้เป็นเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี และในปี 2550 วัฒน์ได้รับรางวัลศรีบูพา อันเป็นรางวัลทรงเกียรติซึ่งมอบให้แก่นักคิด นักเขียน ปัญญาชนที่สร้างงานสำคัญให้แก่สังคมไทย 

ที่สุด กระแสความขัดแย้งสีเสื้อหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็มาถึง 

.

ภาพผลงานบางส่วนของวัฒน์ วรรลยางกูร

ท่ามกลาง ศิลปิน นักเขียน ปัญญาชนจำนวนมาก ยุติการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ไม่ก็อีกจำนวนมากกลับหน้าหันเข้าร่วมสนับสนุนการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

วัฒน์และเพื่อนศิลปิน นักเขียน ปัญญาชน ทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยการปฏิเสธอำนาจเถื่อนนั้น เขาและเพื่อนเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร และแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผยในการร่วมชุมนุมกับขบวนการคนเสื้อแดง จนในวันที่ 1 เมษายน 2552 นักเขียน ปัญญาชน ศิลปินจำนวนหนึ่งประกาศสนับสนุนการชุมนุมของคนเสื้อแดงในขณะนั้น และปฏิเสธผลพวงของรัฐประหาร 2549

“เพลงเพื่อชีวิตเกิดขึ้นเมื่อปี 2516 และเพลงเพื่อชีวิต ก็เริ่มตายตั้งแต่ปี 2526 เมื่อได้มอบกายถวายชีวิตให้กับการตลาดยุคของวงคาราบาวโด่งดัง ความหมายของเพื่อชีวิตวิญญาณ เพื่อชีวิตตายไปแล้วเมื่อคุณเข้าไปเอาวิญญาณ อุทิศเพื่อการตลาดเพียงอย่างเดียว และหนักกว่านั้นคือช่วงปี 48, 49 เพลงเพื่อชีวิต นักเพลงเพื่อชีวิตซึ้งผ่านอายุงานมาและอยู่ในฐานะที่สบายแล้ว มีบ้านหลังราคาเป็นสิบล้านแล้วเนี้ย ได้เหินห่างและทอดทิ้งจากประชาชนคนรากหญ้า เมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นก็เฉยๆ ครับ 19 ก.ย. 49 

“และที่มันหนักหนากว่านั้น เฉยก็ยังไม่ว่าเราก็ไม่อยากไปว่ากัน คนคุ้นเคย 19 พ.ค. 53 พี่น้องประชาชนถูกฆ่าตายก็ยังเฉยๆ ครับ หัวใจท่านทำด้วยอะไรครับ ศิลปินถ้าขาดหัวใจที่มีมนุษยธรรม เลิกร้องเพลงเลิกเขียนกวีครับ คิดแล้วของขึ้น คุณเห็นความอยุติธรรมต่อหน้าคุณยังเฉยๆ เลิกเป็นกวีแล้ว มันเสียสถาบันกวีครับ”

ข้อความข้างต้นมาจาก วัฒน์ วรรลยางกูร กล่าวเปิดงานบทกวี ในวันที่ 10 ตุลาคม 2553 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันแสดงให้เห็นถึงจุดแตกหักในเขตแดนศิลปวัฒนธรรมของสังคมไทยกับเพื่อนร่วมอาชีพอีกจำนวนมาก การพาพลพรรคนักเขียน ศิลปินจำนวนหนึ่งเดินออกจากเส้นทางเดิม ช่วยให้เห็นการต่อสู้ที่แหลมคมของวัฒน์ได้มากยิ่งขึ้น

หลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 เพียง 1 ปี หลังจากที่วัฒน์หล่นถ้อยแถลงครั้งนั้น ชีวิตการต่อสู้ของวัฒน์ก็ยิ่งเข้มข้นเต็มไปด้วยสีสันมากขึ้น เพราะการเสียชีวิตของคนเสื้อแดง 90 กว่าศพ เร่งเร้าให้การเคลื่อนไหวของวัฒน์ปรากฏชัดยิ่งขึ้น นับจากนั้น วัฒน์ได้เริ่มเดินสายทำงานทางความคิดกับมวลชน จนบางครั้งลูกๆ ของวัฒน์เอง ได้สะท้อนการทำงานของพ่อในช่วงเวลานั้นไว้อย่างไว้ง่ายงามว่า

“เราในฐานะครอบครัวมันก็เจ็บปวด พ่อไม่อยู่บ้าน ต้องทิ้งบ้านไป ในแง่สถานการณ์ ในแง่การเมืองมันก็น่าเจ็บใจอยู่แล้ว แต่ในแง่ครอบครัวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เราว่าสถานการณ์ของครอบครัวเราอาจจะไม่หนักหนาด้วยซ้ำ คนอื่นหนักกว่านี้ คนอื่นพ่ออยู่ในคุก คงเจ็บปวดกว่านี้”

.

ภาพจากประชาไท

.

คสช. ออกคำสั่งเรียกรายงานตัว 472 คน เกิดผู้ลี้ภัยทางการเมืองกว่า 104 คน

ประชาไท: ก่อนการลี้ภัยมีข้อหาอย่างชัดเจนไหม อะไรทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น

วัฒน์: ข้อหาชัดๆ ก็คือเรื่องไม่รายงานตัว ข้อหาทางอาวุธไม่มี ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรพวกนั้น แต่เวลาประกาศเรียกรายงานตัวชื่อผม ไม่ว่าจะเป็นประกาศครั้งที่เท่าไหร่ก็จะแพ็คกับวงดนตรีไฟเย็น อาจด้วยความเข้าใจว่าผมเป็นหัวหน้าวงดนตรี และเป็นคนแต่งเพลง คือมันมีการพูดต่อๆ  กันไปเรื่อย บางคนก็มาจับมือผมบอกแต่งเพลงนี้ดีมากเลย ซึ่งผมไม่ได้แต่ง ทุกคนในวงก็ยังไม่มีใครโดนข้อหา 112 อย่างเป็นทางการ แต่ว่ารัฐบาลเผด็จการ เขาทำหนังสือรายชื่อขอตัวไปยังประเทศที่เขาเข้าใจว่าเราไปอยู่ประเทศนั้นแล้ว มีคนแจ้งมาว่ามีอยู่ 13 ชื่อ ซึ่งทางการไทยบอกว่าพวกนี้อยู่ในข่ายทำความผิด 112 ซึ่งรวมชื่อผมอยู่ด้วย

หลังการรัฐประหาร 2557 จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีบุคคลถูกเรียกรายงานตัวโดยมีการออกคำสั่ง คสช. ที่เป็นทางการจำนวน 472 รายชื่อ โดยผู้ไม่เข้ารายงานตัวถูกกำหนดให้มีความผิดทางอาญา ขณะที่ยังมีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวหรือเรียกตัวไป “ปรับทัศนคติ” โดยไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการในจังหวัดต่างๆ รวมกันอย่างน้อย 929 คน และยังมีพลเรือนต้องถูกดําเนินคดีในศาลทหาร อย่างน้อย 2,408 คน

รวมทั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกใช้กล่าวหานักเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นในช่วงแรกหลังรัฐประหาร ทั้งคดียังถูกพิจารณาในศาลทหาร และผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้สิทธิในการประกันตัว อีกทั้งผู้เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. อีกจำนวนหนึ่ง ก็กลับถูกดำเนินคดีข้อหานี้ติดตามมา

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประชาชนและนักกิจกรรมจำนวนหนึ่งเลือกจะเดินทางออกนอกประเทศ หลัง คสช. ทำรัฐประหาร 2557 เนื่องจากคาดว่าจะถูกดำเนินคดีฐานเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ทำให้มีจำนวนผู้ลี้ภัยทางการเมืองไม่น้อยกว่า 104 คน

แน่นอนว่า วัฒน์ วรรลยางกูร คือหนึ่งในนั้น และวัฒน์เอง เริ่มถูกเรียกรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารให้หลังการยึดอำนาจไม่นาน จนกระทั่งเมื่อ คสช. ออกคำสั่งให้วัฒน์ไปรายงานตัวถึง 2 ครั้ง แต่เขาเลือกที่จะไม่ไปรายงานตัว จึงถูกออกหมายจับในที่สุด

.

คำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ประกาศรายชื่อบุคคลให้มารายงานตัว มีชื่อวัฒน์อยู่ในลำดับที่ 33

.

รัฐประหาร 2557 “คสช. คือ โจรที่มาปล้นบ้านเรา”

ในเดือนสิงหาคม 2557 ศาลทหารอนุมัติหมายจับวัฒน์ในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยกล่าวหาว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า”  เพิ่มอีกคดี

ท่ามกลางการออกคําสั่งให้กลุ่มบุคคลเข้า “รายงานตัว” ต่อ คสช. นั้น พบว่าประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักการเมือง แกนนํา นักกิจกรรมเคลื่อนไหว นักหนังสือพิมพ์ และนักวิชาการ ส่วนเหตุผลในการเรียกรายงานตัว คือเป็นบุคคลที่ถูกคณะรัฐประหารคาดว่าจะออกมาการต่อต้านคณะรัฐประหาร ซึ่งรวมถึงวัฒน์ที่ปฏิเสธการรายงานตัว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ คสช. จะระวางโทษบุคคลที่ไม่เข้ารายงานตัวจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท อีกทั้งยังมีการออกหมายจับผู้ไม่มารายงานตัว แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธคำสั่งนี้โดยนอกจากวัฒน์แล้ว ยังมีคนสำคัญอื่นจากหลากหลายวงการ อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง, สมบัติ บุญงามอนงค์, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นต้น

ทันทีที่คําสั่งเรียกรายงานตัวเผยแพร่ต่อสาธารณะ สมบัติ บุญงามอนงค์ ได้โพสข้อความในเฟซบุ๊กว่า “ชีวิตเคยไปรายงานตัวตอนสอบเข้าเรียนเท่านั้นนอกจากนั้นไม่เคยไปรายงานตัวเลย… ผมไม่ยอมรับ อํานาจคณะรัฐประหาร การออกประกาศเหล่านี้จึงไม่สามารถบังคับจิตใจผมได้” 

ส่วน ปวิน ชัชวางพงศ์พันธ์ ซึ่งขณะนั้นแม้จะไม่ได้อยู่ที่ไทย แต่ก็ปฏิเสธกลับมารายงานตัว โดยระบุว่าจะส่งสุนัขที่ตนเลี้ยงไปรายงานตัวแทน 

กระนั้น แม้สมบัติจะปฏิเสธการรายงานตัว แต่ในเวลาต่อมาเขาได้ถูกจับกุมในภายหลัง และต้องถูกดําเนินคดีโดยศาลทหาร 

ส่วนวัฒน์ วรรลยางกูร เลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีอะไรจะเสีย เพราะเราเสียไปหมดแล้ว” และยังบอกอีกว่า “เขา (คณะทหารผู้ยึดอํานาจ) ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเรียกเราไปรายงานตัว เขาเป็นโจรที่มาปล้นบ้านเราพร้อมด้วยอาวุธ…เราคือคนที่ถูกปล้น”

คำอธิบายของวัฒน์สอดคล้องกับจอม เพชรประดับ ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง โดยจอมปฏิเสธการเข้ารายงานตัว โดยออกแถลงการณ์ส่วนตัวแจ้งว่า “ตนมิได้โกรธแค้นหรือชิงชังกับคณะ คสช. หากแต่จําเป็นต้องยืนหยัดในหลักการของสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีความเสมอภาคและความเท่าเทียม” 

และอาจรวมถึงกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ยืนยันไม่เข้ารายงานตัวกับ คสช. เนื่องจากเห็นว่าคณะรัฐประหารไม่มีสิทธิในการออกกฎหมายและบริหารประเทศ เพราะไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้ 

สิ่งที่เหมือนกันของจอมและวัฒน์คือ ล่วงผ่านการรัฐประหารมาเกือบ 8 ปี เขาทั้งสองยังมิได้กลับเมืองไทย ต่างกันเพียงว่าขณะที่จอมยังคงต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในต่างแดน แต่วัฒน์ได้จากโลกนี้ไป ก่อนจะได้กลับไทยเสียแล้ว ขณะที่วันเฉลิมนั้นกระทั่งยังไม่ทราบว่าเป็นหรือตาย เนื่องจากถูกบังคับสูญหายไป   

ร่องรอยความคิดของวัฒน์และเพื่อนที่เลือกวิธีการปฏิเสธการรายงานตัวต่อคณะรัฐประหาร ในมุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าเป็นการหลบหลี้หนีภัย แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธยากว่า การไม่ยอมไปรายงานตัวต่อคณะรัฐประหารนั้น คือการต่อต้านรัฐประหารในรูปแบบหนึ่ง ดังที่เราจะพบว่ามีผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยเลือกเส้นทางนี้ และหลายกรณีต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้านอกประเทศที่ตัวเองจากมา

.

วัฒน์ขณะลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพจากสารคดีไกลบ้าน)

กรณีของวัฒน์และเพื่อน เป็นเครื่องเตือนใจที่ชี้ให้เห็นการต่อสู้กับคณะรัฐประหารจากอีกมุมหนึ่งด้วย

คำถามคือ เราจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของวัฒน์ที่ตัดสินใจเช่นนั้นได้อย่างไร ข้อความทิ้งท้ายของวัฒน์ข้างล่างนี้ คงพอจะบอกความจริงอย่างซื่อตรงว่าเหตุใด ในฐานะนักเขียนที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งจึงเลือกต่อต้านรัฐประหาร และหนีตายไปยังดินแดนเสรี 

“ตอนที่เราเลือกเข้าป่าหลัง 6 ตุลา ตอนนั้นอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญยังอยู่ในช่วงการกระชับอำนาจ หลังจาก 6 ตุลามา อำนาจแบบนี้ก็มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผูกขาดแบบโอเว่อร์ อะไรนิดอะไรหน่อยก็จับเข้าคุก ใครไม่ยอมต่ออำนาจก็วางแผนยอกย้อนทุ่มเทกันมากมาย ทหารล้อมฆ่ากลางเมืองเป็นร้อย แล้วไอ้คนฆ่าก็ลอยนวลได้เป็นรัฐมนตรี ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วมันจะอยู่กันได้เหรอประเทศชาติ คิดกันแบบนี้ มันก็บังคับให้คนต้องต่อสู้ หรือปฎิเสธไม่อยู่ด้วย กูอยู่กับมึงไม่ได้”

คุยกับวัฒน์ วรรลยางกูร: ปีที่ 61 ของชีวิต ปีที่ 2 ของการลี้ภัย และหนังสือเล่มใหม่

“.. นักเขียนต้องอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือ และขายหนังสือ เช่นเดียวกับแม่ค้าข้าวแกงต้องอยู่ได้ด้วยการขายข้าวแกง ข้าวแกงต้องมีคุณประโยชน์และอร่อย ลูกค้าจึงอุดหนุนต่อเนื่อง ถ้าสังคมไทยปกติ ไม่วิปริตผิดเพี้ยน ไม่ตรรกะวิบัติ ไม่หลงมายาคติ ไม่บ้าคลั่งงมงาย ไม่ประจบผู้มีอำนาจ ไม่สอพลอผู้ชนะในกระแสเฉพาะหน้า 

.. นักเขียนที่สร้างงานด้วยแรงงานสมองอย่างมีมาตรฐานของตัวเองย่อมสามารถอยู่ได้อย่างเสรีชน ในอดีตมีตัวอย่างมาแล้ว เช่น ยุคของ ศรีบูรพา ยาขอบ ไม้ เมืองเดิม สร้างงานคุณภาพและอยู่ได้อย่างเสรีชน โดยไม่ต้องไปชะเง้อชะแง้รอคอยอภินิหาร หรือฟ้าประทานมาช่วยที่ไหนเลย.. ”

จดหมายน้อยจากวัฒน์ วรรลยางกูรในงานเปิดตัวหนังสือครูไพบูลย์ บุตรขัน

.

X