ถึงที่สุดแล้ว! ศาลอุทธรณ์ชี้ไม่มีหลักฐานว่า “สยาม ธีรวุฒิ” เสียชีวิตจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น ครอบครัวจึงไร้สิทธิขอรับเงินเยียวยา

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ศาลจังหวัดสมุทรสาครอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณี “กัญญา ธีรวุฒิ” มารดาของ “สยาม ธีรวุฒิ” บุคคลที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหาย ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ภายใต้ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคณะกรรมการฯ ยกอุทธรณ์ของครอบครัวสยาม เห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าสยามถึงแก่ความตายหรือได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น สยามจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ยื่นคำขอในฐานะทายาทของสยามจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับค่าตอบแทนตามกฎหมาย

.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม “ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์” ภรรยาของ “สุรชัย แซ่ด่าน” และกัญญา ได้เดินทางเข้ายื่นเรื่องเพื่อขอใช้สิทธิในการเยียวยาในฐานะที่เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ  ในระหว่างที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องตามหาที่อยู่และชะตากรรมของสุรชัยและสยามที่เชื่อว่าถูกบังคับให้สูญหายตั้งแต่ ธ.ค. 2561 และ พ.ค. 2562 ตามลำดับ 

วันที่ 9 ก.พ. 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยคดีอาญา ได้ยกคำร้องของทั้งสองครอบครัว คณะอนุกรรมการฯ ได้ระบุเหตุผลว่า สุรชัยและสยามไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิยามของ พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ  เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าทั้งสองคนได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตและร่างกายหรือจิตใจ

ทั้งสองครอบครัวจึงได้อุทธรณ์คำสั่งของอนุกรรมการฯ ต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งคณะกรรมการฯ ก็ได้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน โดยทั้งสองครอบครัวได้รับผลคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 – 24 ส.ค. 2566

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ทั้งสองครอบครัวจึงยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ต่อศาลอุทธรณ์ โดยระบุเหตุผลและข้อโต้แย้งว่า บุคคลที่ถูกบังคับสูญหายทั้งตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และมาตรา 3 และมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ย่อมต้องตีความว่าเป็น “ผู้เสียหาย” ที่อาจมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตาม มาตรา 3 พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ และการเข้าถึงการเยียวยาและค่าตอบแทนของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายและครอบครัวจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ว่าผู้ที่หายสาบสูญได้ถึงแก่ความตายแล้ว 

ศาลอุทธรณ์ได้รับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ก่อนส่งสำนวนไปยังศาลจังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2567 ศาลจังหวัดสมุทรสาครจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 โดยที่ครอบครัวของสยามไม่ได้รับหมายแจ้งใด ๆ และไม่ทราบว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ไปแล้ว ภายหลังครอบครัวสยามจึงได้ติดตามเรื่องนี้กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และได้รับคำพิพากษามา

เป็นเวลากว่า 2 ปี นับแต่ครอบครัวสยามได้เดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะอนุกรรมการฯ และต่อสู้ตามกระบวนการเพื่อให้ได้รับการเยียวยามาตลอด โดยมี Protection International (PI), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาฯ มาตรา 25 

โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในกรณีสยามนี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานสำหรับการขอค่าเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยมีนโยบายคุ้มครองและเยียวยาประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากการถูกบังคับให้สูญหายอย่างไร

.

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุว่า เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาอาญา พ.ศ. 2544 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้เสียหาย หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น” 

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ยื่นคำขอมาสถานีตำรวจเพื่อแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เวลาประมาณ 14.09 นาฬิกา ผู้แจ้งไม่สามารถติดต่อกับสยาม บุตรชายได้ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน 2557 จึงมาแจ้งเป็นหลักฐานไว้กับพนักงานสอบสวนเพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 

และปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2560 และได้รับแจ้งจากกองบังคับการปราบปรามว่า ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดทำการจับกุมตัวสยามมาส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปราม 

นอกจากนี้ ยังได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่าได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งได้รับแจ้งเป็นการภายในว่าไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้าไปยังสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามของสยาม ยังไม่ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการจับกุม ที่อยู่ในปัจจุบัน และสวัสดิภาพของสยาม 

ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสยาม เห็นควรยุติเรื่อง จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่พยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าสยามถึงแก่ความตาย หรือได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น สยามจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ยื่นคำขอในฐานะทายาทของสยามจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับค่าตอบแทนตามกฎหมาย

ที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาวินิจฉัยให้ยกคำขอนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ยื่นคำขอฟังไม่ขึ้น พิพากษายกอุทธรณ์

ผู้พิพากษาที่ลงนามในคำพิพากษา ได้แก่ ประสงค์ กระจ่างวุฒิชัย, ปิยะสันติ์ กาววิไล และ วรสิทธิ์ บรรจงประพันธ์

.

X