ทบทวน “ความผิด” ไม่รายงานตัว คสช.: แรงผลักดันสู่การลี้ภัย 6 ปีของวันเฉลิม

“ผมไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มาจะ 1 ปีแล้วครับ และคิดว่าจะไม่ไปรายงานตัว เพราะเห็นว่า คสช. ไม่มีสิทธิในการออกกฎหมายและบริหารประเทศ เนื่องจากไม่มีอำนาจอันชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้ ผมอยู่ต่างประเทศเรื่อยๆ ได้ครับ ดีกว่าไปยอมรับเผด็จการ และอยู่แบบไม่มีหลักการอะไร…”

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558

มูลเหตุเริ่มแรกอันเป็นที่มาทำให้วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จำต้องลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 คือการถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามตัวถึงบ้าน และถูกคณะรัฐประหารออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 ออกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 และเรียกให้ไปรายงานตัวที่สโมสรทหารบกในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ซึ่งนายวันเฉลิมไม่ได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งดังกล่าว และได้ถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร

ข้อหาไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. นั้น ถูกกำหนดให้เป็นความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 โดยกำหนดโทษทางอาญาให้ผู้ฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดข้อหาดังกล่าวจึงเกิดขึ้นจากคำสั่งของคณะรัฐประหารเอง ไม่ใช่ความผิดที่มีอยู่ในกฎหมายโดยปกติ เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว บัญญัติคำสั่งขึ้นเองให้บุคคลที่ไม่มารายงานตัวถือว่ากระทำความผิดทางอาญา รวมทั้งส่งนายทหารไปแจ้งความดำเนินคดีบุคคลที่ไม่มารายงานตัว โดยหากถูกกล่าวหาดำเนินคดีแล้วยังต้องถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบของ คสช. เองอีกด้วย

ในช่วงหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งที่เป็นทางการ เรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวจำนวน 472 รายชื่อ รวมทั้งมีการไปจับกุมและติดตามตัวถึงบ้านของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย หลายคนที่ยินยอมเข้ารายงานตัวได้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร และถูกบังคับให้ลงนามในเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงกับทางทหาร โดยเฉพาะข้อตกลงว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก

ในช่วงแรกหลังรัฐประหาร ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเข้ารายงานตัวกับคณะรัฐประหารจะถูกดำเนินการเช่นใดบ้าง จะมีผลกระทบใดเกิดขึ้นหรือไม่ หรือบางคนที่เข้ารายงานตัวกลับถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามมา ทำให้บุคคลที่ปรากฏรายชื่อเรียกรายงานตัวบางส่วนไม่ยินยอมเข้ารายงานตัวกับ คสช.

บางรายตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศไทยไปก่อน บางรายยืนยันไม่เข้ารายงานตัวไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะมีจุดยืนปฏิเสธอำนาจของคณะรัฐประหาร และยืนยันความไม่เป็น “กฎหมาย” ของคำสั่งเรียกรายงานตัวดังกล่าว

ผู้ไม่เข้ารายงานตัว ได้ถูก คสช. เข้าแจ้งความดำเนินคดี และต่อมามีการออกหมายจับโดยศาลทหาร ผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงหลายรายก็ถูกออกหมายจับในกรณีนี้ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, วัฒน์ วรรลยางกูร, จรัล ดิษฐาอภิชัย, วิสา คัญทัพ รวมทั้งวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวนี้ยังมีอายุความ 10 ปี ปัจจุบันจึงยังเหลืออายุความอีก 4 ปี

ส่วนเมื่อบุคคลที่ถูกเรียกได้กลับเข้ารายงานตัวในภายหลัง หรือถูกจับกุมในเวลาต่อมา ก็ได้ถูกแจ้งข้อหาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในยุค คสช. มีสถิติการดำเนินคดีกับบุคคลที่ไม่มารายงานตัว คสช. อย่างน้อย 14 ราย คดีสำคัญอันมีการต่อสู้คดีในชั้นศาล ได้แก่ คดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์, คดีของจาตุรนต์ ฉายแสง, คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์, คดีของจิตรา คชเดช และคดีของสิรภพ

คดีแทบทั้งหมดศาลทหารและศาลพลเรือนมีคำพิพากษาว่าผู้ฝ่าฝืนไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. มีความผิด แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ โดยศาลวินิจฉัยรับรองความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. เนื่องจากศาลอ้างว่าคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว การออกประกาศ คำสั่ง หรือกฎหมายใดในการใช้สั่งบังคับกับประชาชน จึงถือว่าเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้

มีเพียงคดีของจิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน ที่ศาลทหารมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเธออยู่ในต่างประเทศขณะมีคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว และได้พยายามติดต่อสถานฑูตไทยเพื่อขอรายงานตัวแล้ว แต่กลับถูกปฏิเสธ ทำให้ศาลทหารพิพากษายกฟ้อง เพราะเห็นว่าจิตราไม่มีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัว

ขณะเดียวกันในจำนวน 14 คดีนี้ ยังมีถึง 2 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุดลง แม้เวลาผ่านมากว่า 6 ปีแล้ว ได้แก่ คดีของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคดีของจาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองซึ่งปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจ คสช. ทั้งสองคดีถูกพิจารณาในศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งดำเนินไปอย่างล่าช้า กระทั่งถูกโอนย้ายมาพิจารณาต่อในศาลพลเรือนในปัจจุบัน
.
จนถึงปัจจุบันแม้ไม่มี คสช. แล้วก็ตาม แต่ประกาศ คสช. ที่กำหนดให้การไม่ไปรายงานตัวกับ คสช. เป็นความผิดนั้น ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป ทำให้คดีความและหมายจับของบุคคลที่ยังไม่มารายงานตัวกับ คสช. คงมีผลทางกฎหมายอยู่ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เคยปฏิเสธการเข้ารายงานตัวกับ คสช. และได้ถูกออกหมายจับไว้ ก็ยังคงไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยได้

————————-

อ่านเพิ่มเติม

อ่านสเตตัส ‘วันเฉลิม’ ผู้ถูกอุ้มหาย: การลี้ภัย ต้านรัฐประหาร และความหวังในชีวิตไกลบ้าน

คดีของสิรภพ: สำนึกของสิรภพ ประชาชนผู้ขัดขืนอำนาจของคณะรัฐประหาร และ ศาลทหารพิพากษาคดี ‘รุ่งศิลา’ ไม่รายงานตัว จำคุก 8 เดือน ปรับหมื่นสอง แต่ให้รอลงโทษจำคุก

คดีของจิตรา: ศาลทหารยกฟ้อง “จิตรา คชเดช” คดีไม่รายงานตัว ชี้ “ไม่มีเจตนา”

คดีของสมบัติ: ศาลฎีกาพิพากษาคดี “หนูหริ่ง” ไม่รายงานตัว คสช. ตามศาลอุทธรณ์ คุก 2 เดือน แต่ให้รอลงโทษ

 

X