‘ต้าร์’ วันเฉลิม ในเรื่องเล่าของสหาย: แด่ความหวัง ความฝัน และการเปลี่ยนแปลง

รู้จักต้าร์ครั้งแรกสมัยเรียน ม.5 ที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี ราวปี 2542 ตอนนั้นผมกับต้าร์ยังไม่สนิทกัน เพราะเป็นเพื่อนคนละกลุ่ม เรียนคนละห้อง แต่พอรู้ว่าเขาสนใจเรื่องเลือกตั้งประธานนักเรียน เรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ชอบเข้าหาผู้ใหญ่ กลุ่มผมเคยมีความคิดว่าจะตั้งพรรคแล้วลงแข่งเลือกตั้งประธานนักเรียนกับพรรคต้าร์ แต่ไม่ได้ทำ

ต้าร์เป็นคนเฟรนด์ลี่มากแต่แสดงออกทางความคิดและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาด้วยเหมือนกัน เขาเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัย ม.ปลาย มีเพื่อนเยอะ ผู้ใหญ่เอ็นดู ไม่เคยทำตัวนอกลู่นอกทาง ข้อโจมตีต้าร์ที่เกิดขึ้นในโซเชียลฯ หลังจากเขาหายตัวไป การใส่ความต่าง ๆ ไม่ได้มีมูลความจริง ผมยืนยันได้ คนไม่รู้จักเขาจริง ๆ จะตีความกันไปเองมากมาย

พอจบ ม.ปลาย ผมไม่ได้เจอต้าร์อีกเลย มาคุยกันอีกทีเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองตอนทำงานแล้วคล้ายกัน ครั้งล่าสุดที่เจอกันตัวเป็นๆ คือปี 2558 ผมไปเที่ยวกัมพูชาเลยได้เจอต้าร์ที่นั่น มีโอกาสพูดคุยกันตามประสาเพื่อน แต่ถ้าเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ หลังรัฐประหาร ปี 2557 ผมจะได้คุยกับเขาอย่างน้อย 1-3 ครั้งต่อเดือน อัพเดตเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกัน

ต้าร์เป็นคนมีนิสัยบุคลิกเกือบทุกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย พูดเก่ง พูดได้ทั้งวัน พูดจนลิงหลับ มีไฟ มีไอเดียในการทำงานอยู่ตลอดเวลา เป็นเจ้าโปรเจกต์ คิดเร็ว ทำเร็ว มีโครงการสารพัดอย่างในหัวของเขา ชอบชักชวนคนมาร่วมงาน ช่วงที่เขาทำงาน NGO สายเยาวชนและสุขภาพ เขามีความไฟแรง ต้องการผลักดันประเด็นต่าง ๆ มากมาย อินกับประเด็นทางสังคมมาก

ต้าร์ไม่ใช่คนหมดหวังง่ายๆ ด้วยความที่เป็นมนุษย์เจ้าโปรเจ็กต์ แม้จะอยู่ต่างประเทศแต่เขามีอะไรทำตลอดเวลา เขาอยากเห็นประชาชนทุกคนมีปากมีเสียงเท่าเทียมกัน เขาค่อนข้างอ่อนไหวเรื่องความจน เขาพูดเรื่องนี้ให้ผมฟังบ่อย ๆ เขาเคยพูดติดตลกว่าถ้าวันหนึ่งเขาเป็นรัฐมนตรี เขาจะทำโครงการเมกะโปรเจ็กต์ซัก 10 โครงการ คนจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาทำ เขามีทัศนคติว่าสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย เป็นเผด็จการแล้วไปไม่รอด มันไม่เห็นอนาคต

ก่อนโดนอุ้ม เขาได้รับคำเตือนมาก่อนว่าสถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย แต่เขายังยืนยันอยู่ที่กัมพูชาต่อ เพราะยังอยากอยู่ใกล้เพื่อนใกล้ครอบครัว ส่วนตัวผมคิดว่า เขายังหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ไทยอีกครั้ง เพราะสำหรับเขามันคือบ้าน เขาบอกผมเสมอว่าอยากกลับบ้าน เขารักและคิดถึงบ้าน ครอบครัว แคร์แม่และพี่น้อง

กรณีต้าร์ได้สร้างให้เกิดการตื่นรู้ในสังคมไทยที่มีต่อเรื่องผู้ลี้ภัยได้ค่อนข้างมาก ผมยังประหลาดใจพอสมควรจนถึงวันนี้ ผิดกับกรณีอุ้มหายในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามเยอะมากเกี่ยวกับสิทธิ เสรีภาพ และการแสดงออกทางความคิด ตั้งคำถามว่าทำไมคนหนึ่งซึ่งมีความคิดต่างจากรัฐถึงขั้นต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น ถูกใครไม่รู้อุ้มหายไป ทำไมต้องสร้างความหวาดกลัวและแรงกดดันไม่ให้เราใช้สิทธิเสรีภาพทางความคิด ทำไมต้องมีกระบวนการทางอำนาจส่งสัญญาณให้หยุดเคลื่อนไหวเรื่องต้าร์

ความสงสัยพวกนี้กระจายตัวไปในวงกว้าง กรณีต้าร์ทำให้เพดานความสงสัยบางอย่างของสังคมไทยถูกผลักให้สูงขึ้น มีการสนทนาประเด็นนี้ในโลกออนไลน์กันอย่างออกรสชาติเพื่อหาคำตอบและความเป็นไปได้ต่าง ๆ และสุดท้าย แน่นอนว่าไม่มีใครอยากถูกอุ้มหายเหมือนต้าร์ ดังนั้นเราต้องร่วมกันคิดและนำเสนอหลักการบางอย่างเพื่อบอกว่า เฮ้ย! ไม่มีใครมีสิทธิทำอันตรายกับใครเพียงเพราะเขาเห็นต่างจากเราหรือเห็นต่างจากรัฐ

ถ้าต้าร์ได้เห็นความสงสัยพวกนี้ก่อนอื่นต้าร์คงหัวเราะสนุกตามนิสัยของเขา แซวตัวเองก่อน แล้วพูดว่า ดีแล้ว ก้าวต่อไปข้างหน้า ช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน เพราะต้าร์อินกับเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว ผมกล้ายืนยัน

กรณีของต้าร์บอกเราว่าผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้านแทบไม่มีความปลอดภัยเลย พวกเขาพร้อมถูกกระทำได้เสมอหากตกเป็นเป้าหมาย เราควรคิดได้แล้วว่า ผู้ลี้ภัยคือพลเมืองไทยที่มีศักดิ์ศรี มีสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับพลเมืองไทยคนอื่น การเห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรมและเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ควรต้องช่วยผลักดันให้เกิดการคุ้มครองผู้ลี้ภัยทางการเมือง ใช้ทุกช่องทางที่มีเพื่อผลักดัน เช่น กระบวนการทางสังคม ทางรัฐสภา ทางรัฐบาล หรือมีมาตรการที่เป็นไปได้ทางกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของคนเหล่านี้

“แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ควรจะเป็นมากที่สุด คือ ประเทศไทยต้องไม่มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองตั้งแต่แรกแล้ว”

–‘สหาย’ รายหนึ่ง – อดีตเพื่อนร่วมรุ่นมัธยมปลาย สหายร่วมอุดมการณ์ทางการเมือง และมิตรผู้คอยเฝ้าดูการเติบโตของกันและกัน

X