เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2568 เวลา 10.00 น. ครอบครัวและองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ถูกบังคับสูญหายได้เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearance หรือ WGEID) เพื่อติดตามความคืบหน้าและให้ข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกบังคับสูญหาย
ในนัดประชุมดังกล่าว ทางองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านผู้ถูกบังคับสูญหายต่างประสบข้อท้าทายในการทำงานในประเด็นที่คล้ายกัน เช่น การปัดความรับผิดชอบของรัฐบาล ทั้งจากรัฐบาลไทยและต่างประเทศ การไม่ได้รับเยียวยาตามกฎหมาย และการยุติการสอบสวนตามกลไก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 กับหลายกรณี ด้วยเหตุผลว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอและไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการถูกบังคับสูญหายเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐไทยอย่างไร ทำให้ปัจจุบันครอบครัวยังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายและยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ
ผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้มีตัวแทนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ได้แก่ ตัวแทนครอบครัว สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (พบศพว่าเสียชีวิต), ไกรเดช ลือเลิศ (พบศพว่าเสียชีวิต), สยาม ธีรวุฒิ และ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และตัวแทนของครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหายจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าร่วม ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)
.
ไร้การเยียวยา ไร้ความคืบหน้าทางคดี
ตัวแทนองค์กรและฝั่งครอบครัวได้ร่วมกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะทำงานฯ โดยในกรณีชัชชาญ บุปผาวัลย์ และ ไกรเดช ลือเลิศ ที่ถูกพบเป็นศพลอยมาตามแม่น้ำโขงในเวลาไล่เลี่ยกันด้วยสภาพศพที่ถูกอำพรางคล้ายคลึงกัน โดยถูกมัดมือไพล่หลัง อวัยะวะถูกผ่าออกพร้อมยัดด้วยแท่นปูน บรรจุศพลงมาในถุงป่านและมัดไว้
เดิมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 ในการประชุมกับ กมธ.กฎหมายฯ ตัวแทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งว่าจะเร่งดำเนินการพิจารณาให้เร็วที่สุด ภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือน ปัจจุบันผ่านมาแล้วกว่า 7 เดือน ครอบครัวทั้งสองยังคงรอผลการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
กรณีสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ปัจจุบันทางครอบครัวยังไม่ได้รับการเยียวยาภายใต้ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการฯ ยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า สุรชัยไม่ใช่ผู้เสียหายตามนิยามของ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงแน่ชัดว่าได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตและร่างกายหรือจิตใจ ปัจจุบันทางครอบครัวได้ยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลอุทธรณ์แล้ว อยู่ระหว่างรอคำพิพากษา
กรณีของสยาม ธีรวุฒิ ได้ยื่นขอเยียวยาเช่นเดียวกันกับกรณีของสุรชัย เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2568 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามคณะกรรมการฯ ยกอุทธรณ์ของครอบครัวสยาม เห็นว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าสยามถึงแก่ความตาย หรือได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ มาตรา 25 ปัจจุบันครอบครัวของสยามจึงยังไร้สิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยา
ส่วนในทางคดี ครอบครัวของสุรชัยและสยาม ได้พยายามใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ทั้งสองครอบครัวได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาว่ามีคำสั่งให้ยุติคดีและไม่รับทำการสอบสวน เนื่องจากหลักฐานไม่พอให้เชื่อได้ว่าเป็นการอุ้มหายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ ทำให้ทั้งสองครอบครัวไม่สามารถรับการเยียวยาตามระเบียบของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้
สุดท้ายกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จากการประชุมกับ กมธ.กฎหมายฯ ในวันเดียวกันกับกรณีของชัชชาญ ครอบครัววันเฉลิมทราบเพียงแค่ว่าคดียังไม่ยุติการสอบสวน ในส่วนของอัยการสูงสุดที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อทำงานตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. 2567 โดยจะเริ่มดำเนินกระบวนการสืบสวนตามอำนาจ มาตรา 26 เข้าไปติดต่อและติดตามคดีด้วยตนเอง ณ ประเทศกัมพูชา ภายในเดือนตุลาคม 2567 แต่ปัจจุบันทางครอบครัวก็ยังไม่ได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากคณะอนุกรรมการ
.
แม้จะมีกฎหมาย แต่ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ ยังไม่สามารถใช้ได้จริง รัฐยังมีกระบวนการแทรกแซงครอบครัวในการใช้กลไกระหว่างประเทศ
ทนายความตัวแทนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้กล่าวถึงข้อท้าทายในการใช้กลไกตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงกรณีที่การทรมานหรือบังคับสูญหายเกิดขึ้นก่อนที่มีการประกาศใช้ ถึงแม้ว่าในมาตรา 10 จะบัญญัติ “…ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตาย และทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด” แต่ในกรณีชัชชาญ-ไกรเดช ที่พบเป็นศพกลับถูกยุติการสืบสวนโดยให้เหตุผลว่าทราบชะตากรรมแล้ว โดยที่ยังไม่มีการสืบสวนถึงเหตุแห่งการตายและทราบตัวผู้กระทำความผิด
ในกรณีสุรชัย-สยาม จะเห็นได้ว่าเหตุผลในการยุติการสืบสวนเป็นเหตุผลเดียวกัน คือ 1. ไม่มีหลักฐานเพียงพอ และ 2. ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความเกี่ยวข้อง
มีเพียงกรณีวันเฉลิมที่ยังไม่ยุติการสอบสวนเนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจสูง หรืออาจเพราะในอดีตวันเฉลิมเคยทำงานสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในช่วงสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จึงอาจมีส่วนที่ทำให้คดียังไม่ถูกยุติการสืบสวน
นอกจากนี้ ครอบครัวสยามได้ร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร สั่งให้สยามเป็นบุคคลสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 โดยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 ได้มีคำสั่งไม่ให้สยามเป็นคนสาบสูญ เห็นว่าพยานหลักฐานไม่แน่ชัดประกอบกับสยามมีหมายจับในข้อหามาตรา 112 อาจจะมีเหตุให้หลบหนีหรือซ่อนตัว ในขณะที่ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” ผู้ที่ถูกบังคับสูญหายไปพร้อมกันกับสยามและมีหมายจับตามมาตรา 112 เช่นเดียวกัน ศาลแพ่งตลิ่งชันกลับมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว
ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในหลายกรณีที่เหตุในการบังคับสูญหายเกิดนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม จะเห็นได้ว่า รัฐไทยจะอ้างว่าอยู่นอกเหนือเขตอำนาจในการสืบสวน จึงควรให้ความสำคัญกับความพยายามของรัฐอื่น ๆ ในการพยายามค้นหาความจริง รวมถึงการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ฝั่งไทย มากกว่าจะอ้างว่าอยู่นอกอำนาจอธิปไตย
นอกจากนี้ ตัวแทนจากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐไทยมีกระบวนการพยายามเรียกครอบครัวผู้ที่ถูกบังคับสูญหายในบางกรณีเข้าประชุมเพื่อขอให้ถอนเรื่องร้องเรียนเพื่อขึ้นทะเบียนบุคคลผู้ถูกบังคับสูญหายกับองค์การสหประชาชาติ แลกกับคำมั่นว่าการถอนเรื่องออกไปจะไม่ส่งผลกระทบกับคดี และจะทำให้คดีคืบหน้า พร้อมเสนอให้เงินเยียวยาหรือทุนการศึกษากับครอบครัว
.
คณะทำงานฯ พร้อมช่วยเหลือครอบครัวในการตามหาความจริง และชี้ว่ารัฐไทยไม่สามารถปฏิเสธภาระในการสืบสวนได้
คณะทำงานฯ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ในการทำงานของคณะทำงานฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งสารระหว่างครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายกับนานาประเทศ ภายใต้กลไกความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) โดยถึงแม้คณะทำงานฯ จะไม่ได้ทำการสืบสวนด้วยตนเอง แต่สามารถถามคำถามแบบเฉพาะเจาะจงกับรัฐบาลเพื่อช่วยในการสืบสวน เช่น การเจาะจงให้ค้นหาเฉพาะพื้นที่
กรณีที่เหตุเกิดขึ้นระหว่าง 2 รัฐ คณะทำงานฯ จะมุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ทำการสืบสวนเป็นหลัก (ประเทศที่เกิดการบังคับสูญหายขึ้น) โดยจะมีการลงทะเบียนว่ากรณีนั้น ๆ อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐใด แต่ก็ยังคงจะสื่อสารให้กับอีกรัฐที่เกี่ยวข้องด้วย และจะมีการสอบถามรัฐทั้งสองว่าการสืบสวนควรจะอยู่ในเขตอธิปไตยรัฐใด
ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่การสืบสวนถูกลงทะเบียนว่าอยู่ในอำนาจของประเทศเวียดนาม หากภายหลังมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพบผู้ถูกทำให้สูญหายครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทย ก็สามารถเปลี่ยนการลงทะเบียนจากเดิมที่อยู่ในการสืบสวนของเวียดนาม กลายเป็นไทยที่ต้องรับผิดชอบการสืบสวนต่อ
หลังจากที่ได้ทำการสืบสวนและรายงานมายังคณะทำงานฯ แล้ว รายงานดังกล่าวจะถูกส่งต่อให้กับทางครอบครัว โดยมีระยะเวลา 6 เดือน ในการแก้ต่างในรายงานดังกล่าว หากเลยไปกว่านั้นจะถือว่ารายงานที่ส่งมาถูกต้องเป็นความจริง แต่หากยังไม่พบความจริง ทางคณะทำงานฯ จะส่งจดหมายเตือนไปที่รัฐบาลทุก ๆ ปี ในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการตอกย้ำและทำให้ชื่อของผู้ถูกบังคับสูญหายไม่สูญหายตาม
ทั้งนี้คณะทำงานฯ มีความเห็นว่า ภาระการแสวงหาหลักฐานและพิสูจน์ความจริงไม่ควรถูกผลักมาให้ฝ่ายครอบครัวผู้เสียหาย รัฐไม่สามารถปฏิเสธการสืบสวนโดยอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ทั้งที่ตัวรัฐเองก็ยังไม่แม้แต่จะทำการสืบสวนด้วยซ้ำ
ปัจจุบัน กรณีวันเฉลิมจึงเหลือเป็นกรณีสุดท้ายที่ยังต้องติดตามว่าจะมีการยุติการสืบสวนภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ หรือไม่ ในขณะที่ครอบครัวอื่นถูกยุติการสืบสวนไปเป็นที่เรียบร้อยและไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ จากรัฐ ทุกครอบครัวต่างยังคงรอให้ความจริงปรากฏและรอการเยียวยาที่เหมาะสม โดยเฉพาะด้านจิตใจจากการหายไปของคนในครอบครัว