เปิดใจ ‘อาทิตย์ ทะลุแก๊ซ’ กับเงื่อนไขศาลที่เปลี่ยนบ้านเป็น ‘คุก’ – ถูกตามติดด้วยเครื่องหมายตีตรา ตัวจุดชนวนคิด ‘ฆ่าตัวตาย’

Trigger Warning: Suicide

.

“ถ้าผมตาย คดีของผมจะจบไหมครับ…” 

‘อาทิตย์’ โทรมาถามทนายความเพื่อคลายความสงสัยเป็นครั้งสุดท้าย ขณะกำลังยืนหันหน้าแนบราวสะพานภูมิพลที่สูงจากพื้นผิวแม่น้ำเจ้าพระยาเท่ากับความสูงของตึก 17 ชั้น และพร้อมจะทิ้งร่างตัวเองลงไปเพื่อจบชีวิตทุกเมื่อ…

ย้อนกลับไปเมื่อ 4 เดือนก่อน ศาลกำหนดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวกับ อาทิตย์ วัย 22 ปี ในคดีชุมนุม #ม็อบ7สิงหา64 ที่บริเวณดินแดง ด้วยการให้ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00-06.00 น. 

ผลพวงจากเงื่อนไขดังกล่าวทำให้คนรอบข้างมองเขาแปลกไป มีท่าทีระแวดระวังเสมือนว่าเป็นตัวประหลาด มีเวลาทำงานน้อยลงจนรายได้หดหายไปหลายเท่าตัว บางวันเงินในกระเป๋าเป็น 0 บาท ไม่พอที่จะเลี้ยงดูอีก 3 ชีวิตในครอบครัว

ห้องเช่าเล็กๆ ที่เคยมีไว้นอนพักเอาแรงถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘ทัณฑสถานส่วนบุคคล

หนึ่งวันที่มี 24 ชั่วโมง แต่เขาได้รับอนุญาตให้มีอิสรภาพนอกห้องเช่าเพียง 9 ชั่วโมงเท่านั้น ทุกนาทีหลังเวลาบ่ายสามโมงผ่านไปราวกับว่าผนังทึบรอบห้องกำลังค่อยๆ บีบอัดมาหาเขาทุกที ไร้เสียงจรรโลงใจจากจอโทรทัศน์ ไร้ความเพลิดเพลินจากโทรศัพท์มือถือ เหลือแต่ความเงียบงัน เดียวดาย และว้าวุ่น เป็นเชื้อเพลิงจุดติดชนวนให้สารพันปัญหาในหัวระเบิดออกมาวิ่งวุ่นอย่างไม่หยุดหย่อน ซ้ำเติมโรคซึมเศร้าที่เป็นมาเกือบ 2 ปี ให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก 

วังวนเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านานนับ 4 เดือน

ปัญหาที่ไร้ทางออกทำให้ชายหนุ่มคิดไปถึงการจบชีวิตตัวเองไม่น้อยกว่า 6 ครั้ง และครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ‘บาดแผลจากความกระบวนยุติธรรม’ ผลักให้เขาตัดสินใจขึ้นมายืนอยู่บนราวสะพานสูงเพื่อ ‘ฆ่าตัวตาย’ โดยที่ข้อเท้าข้างซ้ายยังถูกตรวนไร้สายสีดำพันธนาการอยู่ 

ท้ายที่สุด อาทิตย์ถูกช่วยไว้ได้ทัน และยังคงมี ‘ชีวิตรอด’ มาจนถึงวันนี้

หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกเงื่อนไขทั้งสองข้อ โดยระบุถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของอาทิตย์ ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องดังกล่าว สภาพจิตใจของเขาจึงดีขึ้นตามลำดับ 

และวันนี้เขาตั้งใจมาบอกเล่าความทรมานที่เกิดขึ้นตลอด 4 เดือนที่มีลมหายใจ แต่ก็เหมือน ‘ตายทั้งเป็น’ 

15.00 น. –  จุดเริ่มต้นของความคับแค้น

‘บังมัด’ อาทิตย์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มไทย-อิสลาม วัย 22 ปี หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมกับมวลชนอิสระ ‘ทะลุแก๊ซ’ ที่ดินแดง #ม็อบ7สิงหา คือการชุมนุมแรกที่เขาเข้าร่วมด้วยเหตุผลใหญ่เกี่ยวกับความโกรธที่ชีวิตคนใกล้ตัวถูก ‘สังเวย’ ให้กับการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล  

“ผมไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ในหลายๆ เรื่องอยู่แล้ว

“และเหตุผลอีกอย่างที่สำคัญก็คือ รุ่นน้องของผม ‘ฆ่าตัวตาย’ เพราะโควิด จริงๆ น้องมีปัญหาส่วนตัวหลายอย่าง แต่ ‘รัฐบาล’ ก็เป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งในนั้นด้วย”

อาทิตย์เล่าว่า รุ่นน้องคนดังกล่าวตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการ ‘ผูกคอตาย’

เขาเข้าใจว่าน่าจะมาจากหลายปัญหาที่รุมเร้าชีวิตในภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อกลางปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน ไม่มีรายได้ ต้องกักตัวขณะที่ไม่มีแม้แต่ข้าวกิน ธุรกิจครอบครัวเจ๊งเพราะข้อบังคับ ‘ไม่ให้ทานอาหารที่ร้าน’ ซึ่งเขาเห็นว่าทั้งหมดเป็นผลพวงจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

“เรื่องนี้สะเทือนใจกับผมมาก ผมเจอเคยน้องหลายครั้ง เขาเคยออกไปชุมนุมในฐานะตัวแทนของอาชีวะ เคยขึ้นพูดปราศรัย ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของน้องในมุมมอง ‘อาชีวะพิทักษ์ประชาธิปไตย’ ก็รู้เลยว่าน้องได้รับผลกระทบจากการทำงานของรัฐบาลชุดนี้จนชีวิตมีปัญหาจริงๆ

“การตายของน้องทำให้ผมรู้สึกโกรธรัฐบาลมากขึ้นไปอีก และรู้สึกว่าการนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น” 

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นสถานการณ์ม็อบที่ดินแดง ในวันนั้นโลกโซเซียลต่างประโคมแจ้งเตือนข่าวว่า ‘ห้ามไปร่วมชุมนุมเด็ดขาด’ เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ ‘กระสุนจริง’ เมื่อรู้ดังนั้นอาทิตย์จึงตัดสินใจออกไปร่วม #ม็อบ7สิงหา ที่ดินแดงเป็นครั้งแรก ด้วยความโกรธในการตายของรุ่นน้องคนสนิท และเพื่อระแวดระวังให้กับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ

ต่อมาเพียงไม่กี่วัน อาทิตย์ถูกจับกุมตามหมายจับถึงห้องพัก โดยเขาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเผารถคุมขังผู้ต้องขัง ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาทิตย์ได้ประกันตัว โดยศาลให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 47,000 บาท

และเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 ศาลเรียกเขาไปอีกครั้งเพื่อเพิ่ม 3 เงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 

ให้ติดกำไล EM – ให้อยู่ในเคหสถานในเวลา 15.00 – 06.00 น. – ห้ามร่วมชุมนุมที่มีความรุนแร

18.00 น. – จงยืนตรงไว้อาลัย ‘ความยุติธรรม’ 

ก่อนหน้านี้ อาทิตย์ทำหลากหลายอาชีพควบคู่กันไป ทั้งขายของออนไลน์ รับขนมไปขายที่ตลาด โดยยึดงานหลักเป็น ‘ไรเดอร์’ ให้กับแฟลตฟอร์ม Food Delivery รายหนึ่ง วันๆ หนึ่งเขาทำงานมากกว่า 11 ชั่วโมง ตั้งแต่ 07.00 น. ไปจนถึง 02.00 น. มีรายได้เฉลี่ยวันละ 400 บาท

“จากเดิมที่รายได้แทบจะไม่พออยู่แล้ว พอถูกเงื่อนไขของศาลเพิ่มเข้ามา มันกลายเป็นว่าบางวันผมไม่มีรายได้เลยด้วยซ้ำ ผมออกไปวิ่งไรเดอร์ ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนถึงบ่ายสอง ในเฟซบุ๊กก็โพสต์ขายของออนไลน์ไปด้วยบางทีก็หาขายเสื้อ ขายอะไรไปเรื่อย ทำทุกอย่าง แต่ก็ได้เงินวันละไม่เกิน 150 บาท 

“เพราะเวลาทำงานมันมีน้อย ลูกค้าส่วนใหญ่จะใช้งานแอพฯ ตั้งแต่ช่วงบ่ายสามเป็นต้นไป บางวันก็ไม่ได้เงินเลยสักบาท วันไหนที่ได้ 150 บาท คือเยอะมากแล้ว ทั้งที่ผมเองก็มีภาระหลายอย่าง ต้องส่งเงินให้ลูก ให้แฟน ให้น้องชายที่เรียนอยู่ ม.5 ซึ่งจำนวนเงินที่หามาได้แค่ใช้จ่ายส่วนตัวก็แทบไม่พออยู่แล้ว”

ภายหลังศาลกำหนดเงื่อนไขกับอาทิตย์ เขามีเวลาทำงานเฉลี่ยเพียงวันละ 6 ชั่วโมง โดยจะเริ่มตั้งแต่ 07.00 ถึง 14.00 น. และจะต้องเผื่อเวลาขับรถไป-กลับที่พักเพื่อให้ทันเวลาตามเงื่อนไขอย่างน้อย 1 ชั่วโมง 

เหตุผลอีกอย่างที่ทำให้เขามีรายได้ลดฮวบลงหลายเท่าตัว ก็เพราะต้องเปลี่ยนมาขับรถตั้งแต่ช่วงเช้าไปถึงบ่าย ทำให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มที่จดจำช่วงเวลาทำงานเดิมว่าเป็น ‘ช่วงเย็นไปจนถึงดึก’ ไม่ยอมป้อนงานหรือป้อนงานให้เขาน้อยกว่าปกติ โดยปัญหานี้ต้องใช้เวลานานกว่าเดือนเศษเพื่อให้อัลกอริทึมจดจำเวลารับงาน จึงจะป้อนงานให้อาทิตย์ตามปกติ 

รายได้จากการเป็นไรเดอร์ไม่เพียงพอกับการต่อลมหายใจ ชายหนุ่มจึงคิดหาทางออกด้วยการไปหา ‘งานประจำ’ แต่งานเกือบทั้งหมดต้องการคุณสมบัติผู้ที่มีเวลาทำงาน ขั้นต่ำ 8 ชั่วโมง นั่นทำให้ไม่มีนายจ้างที่ไหนรับเขาเข้าทำงานเลย ไม่ว่าจะเป็นงานแพ็คของที่โรงงานเซรามิก บาริสต้า พนักงานเสิร์ฟ ฯลฯ 

สุดท้ายอาทิตย์จึงต้องจำใจทำงานเป็นไรเดอร์ต่อไปดังเดิม แม้ว่าบางวันค่ารอบวิ่งจะไม่คุ้มกับค่าน้ำมันรถ เพราะไม่มีงานเลยก็ตาม

19.00 น. – ค่ำที่ทุกข์ทนจากบาดแผล

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ต้องหา-จำเลย ที่ถูกให้ใส่ EM ประสบเจอเหมือนกัน คือกำไลอิเล็กทรอนิกส์นี้รัดแน่นจนเกินไป เวลาจะขยับเขยื้อนก้าวเดินไปไหนข้อเท้าจะถูกเสียดสีตลอดเวลา เกือบทุกรายที่บริเวณตาตุ่มถลอกเป็นแผล สร้างความทรมานเมื่อย่างก้าว หรือใช้ชีวิต โดยเฉพาะเมื่อต้องโดนเหงื่อหรืออาบน้ำ จนทำให้แทบไม่อยากจะขยับตัวไปไหน

“กำไล EM มันเสียดสีข้อเท้าตลอดเวลา มันรัดแน่นมาก จนตาตุ่มผมเป็นแผล หนังหลุดออกเลย เวลาอาบน้ำจะแสบมาก จะถอดมันออกมาทำแผลก็ไม่ได้ จะขยับหรือแงะก็ไม่ได้เลย กลัวจะมีปัญหาว่าเราพยายามจะหนีเลยทำได้แค่ปล่อยให้แห้งแล้วหายเอง”

นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกให้ใส่ EM หลายคนยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า EM ‘แบตเสื่อม’ ทำให้ต้องชาร์ตบ่อยครั้ง การชาร์ตครั้งหนึ่งกินเวลานานถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับคนทำงานไม่อยู่กับที่อย่างอาทิตย์

“ครั้งหนึ่งแบตใกล้จะหมดตอนที่ผมกำลังรอรับอาหาร จู่ๆ มันก็แจ้งเตือนเสียงดัง ปี๊บๆๆๆ จนลูกค้าทั้งร้านหันมามองที่ผม ไอ้ผมก็ต้องจำใจถกขากางเกงขึ้นเพื่อปิดเสียง EM คนก็เลยเห็นกันหมดเลยว่าผมใส่กำไลอีเอ็มอยู่ที่ข้อเท้า ผมเลยต้องเดินออกมารอนอกร้าน พอส่งอาหารเสร็จก็ต้องรีบกลับบ้านไปชาร์จแบต”

การชาร์จครั้งหนึ่ง EM จะอยู่ได้นาน 10-12 ชม. แต่เพราะอาทิตย์ขับรถส่งอาหารตลอดเวลา อุปกรณ์จึงใช้พลังงานแบตเตอรี่ในการระบุสัญญาณตำแหน่ง GPS มากกว่าปกติ ฉะนั้นวันไหนที่ต้องวิ่งงานเยอะ ขับรถตลอดเวลา แบตก็จะหมดเร็วขึ้น เป็นช่วงบ่ายสองโมง จากเดิมจะอยู่ได้ถึงประมาณ 6 โมงเย็น 

เมื่อ EM แจ้งเตือนว่าแบตใกล้จะหมดในครั้งแรก เขาจะรีบเคลียร์งานแล้วกลับห้องพักไปชาร์จแบตทันที ยิ่งทำให้ชั่วโมงหาเงินเลี้ยงดูปากท้องน้อยลงไปอีกอย่างควบคุมไม่ได้

20.00 น. – แปลงร่างเป็น ‘สัตว์ประหลาด’

‘ตัวประหลาด’ ความรู้สึกน่าอึดอัดที่อาทิตย์มักประสบบ่อยครั้ง เมื่อหลายคนสังเกตว่าเขามีกำไล EM ติดอยู่ที่ข้อเท้า ทำให้ สายตา ท่าที และบรรยากาศรอบข้างจะเปลี่ยนไปโดยทันทีอย่างรู้สึกได้

นั่นทำให้เขาไม่กล้าเข้าสังคม หมดความมั่นใจในตัวเอง

และเลือกใส่เฉพาะ ‘กางเกงขายาว’ เวลาออกมาข้างนอก เพื่อปกปิดเครื่องหมายตีตราบริเวณข้อเท้าของตัวเอง  

“บางครั้งที่ต้องไปส่งอาหารในหมู่บ้านจัดสรร ไรเดอร์คนอื่นจะขับรถเข้าไปได้ปกติ แต่พอเป็นผม รปภ. กลับถามเจ๊าะแจ๊ะว่าเป็นใคร ไปส่งบ้านไหน จดเลขทะเบียนรถมอเตอร์ไซต์เราไว้ แล้วก็ขับรถประกบตามเข้าไปถึงบ้านที่สั่งอาหาร 

“เวลาไปรอรับอาหารที่ร้าน บางครั้งผมก็สังเกตเห็นว่า คนแถวนั้นทั้งลูกค้า พนักงานไรเดอร์ด้วยกันเองมักจะมีท่าทีที่เปลี่ยนไป อย่างพยายามเก็บกระเป๋า-ของมีค่าเข้าหาตัว ดึงลูกที่กำลังวิ่งเล่นอยู่เข้าไปใกล้ตัว จากที่ทุกคนพูดคุยกันปกติ แต่พอบางคนเริ่มเห็นกำไล EM ที่ข้อเท้าผม บรรยากาศโดยรอบก็เงียบขึ้น ผมเลยเดินออกมารอข้างนอกร้าน จะไม่กล้าไปรอกับไรเดอร์คนอื่นๆ

“ผมรู้สึกอึดอัดมาก มันทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘ตัวประหลาด’ ในสังคม ผมเลยไม่ค่อยออกไปไหน ไม่ค่อยเข้าสังคม เอาแต่เก็บตัวอยู่ภายในห้อง”

การถูกเลือกปฏิบัติอยู่บ่อยครั้งจากสังคมรอบข้างในช่วง 4 เดือนที่ศาลให้ใส่กำไล EM ยิ่งตอกย้ำปม ‘ไม่เป็นที่ต้องการ’ จากปัญหาความไม่อบอุ่นของครอบครัวในวัยเด็กที่เขาถูกแม่ทิ้งไปมีครอบครัวใหม่ และไม่นานก็ต้องสูญเสียพ่อ ซึ่งเป็นผู้ปกครองเพียงคนเดียวของอาทิตย์และน้องชาย ขณะเขาเรียนอยู่เพียงชั้น ป.6 

“เกิดคำถามกับตัวเองบ่อยมากว่า ‘ผมเกิดมาทำไม’ บางครั้งมันก็รู้สึกน้อยใจกับชีวิต”

22.00 น. – คืนที่ยาวนานใน ‘คุกส่วนตัว’

ความน้อยใจกับสารพันปัญหาชีวิต ทั้งที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันและทั้งที่ผ่านมาในตลอด 22 ปี ความคิดเหล่านี้จะรุนแรงขึ้นเมื่อเขาต้องกลับเข้าที่พักตามเงื่อนไขในเวลา 15.00 น. 

การ ‘อยู่คนเดียว’ ในช่วงแรกหลังศาลให้ประกันตัว เขาไม่มีแม้โทรศัพท์มือถือที่จะบรรเทาความคิดฟุ้งซ่านได้ เพราะถูกยึดไปด้วยตอนถูกจับ ไม่มีโทรทัศน์ให้ดู ไม่มีแม้แต่เสียงของลูกน้อยร้องไห้-หัวเราะอย่างเคย 

การจมอยู่กับความคิดว้าวุ่นของตัวเอง คือ สิ่งเดียวที่เขาต้องเผชิญทุกวันคืน และไม่อาจหนีจากสภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นอิสรภาพและความสุขไปได้จนกว่าเข็มสั้นนาฬิกาจะขยับไปเลข 6 ในเวลาเช้า และนั่นยิ่งทำให้ภาวะเครียดและซึมเศร้าของอาทิตย์ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน  

“ผมอาศัยอยู่ห้องเช่าคนเดียว การต้องอยู่ภายในที่พักตามเวลาที่กำหนดไว้ ตั้งแต่บ่ายสามไปจนถึงหกโมงเช้า มันไม่ต่างอะไรกับ ‘โดนขังในคุกส่วนตัว’ 

“มีวันหนึ่ง ผมลืมซื้อข้าวกลับมาที่ห้องด้วย เลยโทรไปขอเจ้าหน้าที่ศาลว่า ‘ขอออกไปซื้อข้าวได้ไหม’ ร้านอยู่ห่างออกไปไม่ถึง 200 เมตรเอง แต่เขาก็บอกว่า ‘ไม่ได้’ คืนนั้นผมต้องนอนปวดท้องจนถึงเช้า เหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวันแล้ว ข้าวก็ไม่ได้กินอีก”

“ผมป่วยเป็นโรคซึมเศร้าต้องกินยารักษามา 2 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้ผมทำให้ตัวเองสบายใจขึ้นได้ด้วยการขับรถมอเตอร์ไซต์ออกไปในที่ต่างๆ ไปนั่งฟังเพลงเงียบๆ คนเดียว ได้คิดทบทวน ได้ใช้เวลากับตัวเอง มันช่วยให้ผมดีขึ้นได้เยอะมาก แต่พอให้อยู่แต่ในห้องแบบนี้ ก็ไม่มีวิธีไหนที่ทำให้ผมดีขึ้นได้ 

“ต้องอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม มันทำให้ผมแทบกลายเป็น ‘คนบ้า

“แล้วผมเป็นคนที่ถ้ามีเรื่องเครียดเข้ามาสักเรื่องหนึ่ง ความเครียดเรื่องอื่นๆ ที่สะสมมา หรือเป็นปมตั้งแต่อดีตก็จะผุดขึ้นมาพร้อมกันด้วย ‘อาการนอนไม่หลับ’ เหมือนเป็นชีวิตประจำวันของผมไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะข่มตาให้ตัวเองนอนได้ด้วยวิธีไหน เพราะสมองมันคิดอยู่ตลอดเวลา คิดเรื่องหาเงิน เรื่องครอบครัว มันไม่มีความสุข 

มันทำให้ ‘ผมไม่อยากอยู่’…

23.59 น. – นาทีสุดท้าย

อาทิตย์เปิดใจว่า ตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ปัญหาทุกอย่างถาถมและทวีความรุนแรงเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ทำให้เขา ‘ไร้ทางออก’

อาทิตย์สารภาพด้วยแววตาที่ยังเศร้าไม่น้อยว่า ‘คิดอยากฆ่าตัวตายอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง’

และลงมือทำจริงๆ อย่างน้อยเกิน 6 ครั้ง ทั้งใช้เชือกผูกคอกับหน้าต่าง จะกระโดดสะพาน กินยาเกินขนาด กรีดแขนตัวเอง แต่ก็ไม่เคยทำให้เสียชีวิตจริงๆ เลยสักครั้ง

“4 เดือนที่ต้องใส่กำไลอีเอ็ม ผมพยายามฆ่าตัวตายเกิน 6 ครั้งได้ ผมผูกคอกับหน้าต่างในห้องนอน แต่สุดท้ายเชือกก็ขาด กำลังจะกระโดดสะพานพุทธฯ ก็มีคุณลุงแถวนั้นมาคว้าไว้ พยายามเอามีดคัตเตอร์กรีดเส้นเลือดก็ไม่ตาย กินยานอนหลับให้เกินขนาดมันก็แค่หลับไป ตื่นมาแล้วสมองตื้อไปหลายวัน ไม่เคยสำเร็จสักที

“ครั้งสุดท้าย ผมเลือกที่จะไปจบชีวิตตัวเองที่สะพานภูมิพล พอไปถึงอยู่ๆ ผมกังวลว่า ถ้าจากไปทั้งที่ยังใส่ EM อยู่จะส่งผลเสียต่อน้องที่เป็นคู่คดีไหม เลยตัดสินใจโทรไปถามทนายเป็นครั้งสุดท้ายว่า ‘ถ้าผมตายไปคดีของผมจะจบไหม …’ 

“ผมมารู้ทีหลังว่า วันนั้นโทรไปติดๆ กันเกิน 20 สายได้  ผมไม่รู้ตัวเลย เพราะสองวันก่อนหน้านั้นผม ‘กินยาเกินขนาด’ ประมาณ 10-20 เม็ดได้ กะว่าจะให้ตายเลย แต่ก็ไม่ตาย กลายเป็นว่ามันทำให้สับสนและเบลอตลอดเวลาไปหลายวัน”

หลังวางสายจากทนายความ อาทิตย์เตรียมลงมือตามความตั้งใจที่จะจบชีวิตตัวเองต่อ

เขาใช้โทรศัพท์เปิดเพลงที่ชื่อว่า ‘ตาย’ ของ พราย-ปฐมพร ศิลปินเพลงอินดี้ที่เขาชื่นชอบ แล้ววางมือถือไว้กับพื้น

จากนั้นค่อยๆ ถอดรองเท้า ถุงเท้า วางรวมไว้กับกระเป๋าสะพาย และภาพถ่ายครอบครัวใบเล็กๆ ไว้ข้างๆ หวังว่าถ้าหากมีใครเดินผ่านมาเจอ จะได้รู้ว่าเป็นเขาเองที่ได้จากโลกนี้ไปแล้ว 

เพลงบรรเลงมาจนถึงฮุคสุดท้าย

อาทิตย์ลุกยืนหันหน้าออกพิงราวสะพานสูง หลับตาปล่อยตัวเองจมอยู่กับที่พูดถึงการปลดเปลื้องครั้งสุดท้าย และตั้งใจว่าเมื่อเพลงนั้นจบลง เขาก็จะกระโดดทิ้งตัวลงแม่น้ำข้างล่างไป… 

แต่ จู่ๆ ก็ได้ยินเสียงตะโกนเรียกจากข้างหลังว่า ‘พี่อย่าโดดนะ! ’ 

“เป็นน้องชายผมวิ่งร้องไห้ตรงมาหา ผมทำอะไรไม่ถูกเลย มันชาไปทั้งตัว ความคิดที่อยากจะตายตีกับความสงสารน้องชาย ตอนนั้นเองที่ผมคิดได้ว่า ถ้าน้องเห็นผมตายไปต่อหน้าต่อตามันคงจะเพิ่มปมในใจน้องไปอีกเรื่อง 

“จริงๆ เราเป็นพี่น้องกัน ปัญหาครอบครัวทุกอย่างเราเจอมาพร้อมกัน โดนแม่ทิ้งเหมือนกัน พ่อตายจากไปตั้งแต่เด็กเหมือนกัน แต่น้องก็ยังอยู่ได้ แล้วถ้าเราทิ้งน้องไปอีกคน เขาจะอยู่กับใคร ผมเลยหยุดความคิดที่อยากจะจบชีวิตตัวเอง แล้วกลับบ้านกับน้องเลย”

00.01 – วันใหม่

จากเหตุการณ์คิด ‘ฆ่าตัวตาย’ ครั้งสุดท้ายของอาทิตย์ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ทนายความได้เดินทางไปยื่นคำร้องขอถอดกำไล EM และยกเลิกการกำหนดให้อยู่ในเคหสถานกับอาทิตย์ต่อศาลอาญา โดยระบุเหตุผลหลักเกี่ยวกับผลกระทบเรื่องรายได้ การทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว และทำให้ภาวะซึมเศร้ารุนแรงมากขึ้น

ต่อมาในวันเดียวกัน ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอด EM ได้ พร้อมทั้งยกเลิกเงื่อนไขให้อยู่ในเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00-06.00 น.

หลังชีวิตถูกกลืนกินอิสรภาพกว่า 4 เดือนเศษ อาทิตย์ได้รับปลดเปลื้องจากเครื่องพันธนาการและถูกปล่อยตัวจากการจองจำในคุกส่วนตัวแล้ว เขากลับมาทำงานได้เป็นปกติ มีรายได้พอใช้จ่าย พอส่งเงินให้น้องชายและลูกสาวเหมือนเดิม

นอกจากนี้แล้ว อาทิตย์ยังได้คนคอยรับฟังที่เขาเรียกว่า ‘แม่หยิน’ หรือ อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดูแลจิตใจจากกลุ่ม ‘การเมืองหลังบ้าน’ เข้ามาพูดคุยและรับฟังปัญหาของอาทิตย์ ทำให้สภาพจิตใจโดยรวมของเขาดีขึ้นมากจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้อาทิตย์มีกำลังใจใช้ชีวิตต่อไปก็คือ ‘พี่พราย’ ปฐมพร ศิลปินที่เขาชื่นชอบและรักมาก 

“พี่พรายฝากทีมงานมาบอกกับผมว่า “ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ขอแค่อย่ายอมแพ้ ถ้าหากผ่านปัญหานี้ไปได้เราอาจมีโอกาสได้เจอกัน …” สิ่งนี้คือเติมเต็มใจผมมาก มันสร้างเป้าหมายสำคัญให้ผมอยากอยู่ต่อ อย่างน้อยก็เพื่อได้เจอกับศิลปินที่ผมรักสักครั้งหนึ่งในชีวิต”

06.00 – รุ่งอรุณแห่งความหวัง

และเมื่อถามต่อว่า หลังจากนี้ยังคาดหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอยู่ไหม เพราะสิ่งที่ต้องแลกมานั้น เขาได้รู้ซึ้งเป็นประสบการณ์แล้ว

“ผมยังเลือกที่จะออกไปเรียกร้องครับ ‘มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด’” อาทิตย์ยืนยันเสียงแข็ง

“ผมแค่อยากเห็นวันพรุ่งนี้ที่มันดีกว่า ผมไม่อยากเห็นคนเร่ร่อนนอนข้างทาง ประเทศที่แบ่งชนชั้น ทุกวันนี้มันใช่ประชาธิปไตยจริงๆ เหรอ ทุกอย่างมันแย่ไปหมด … 

“ผมอยากส่งต่อสังคมในฝันให้ ‘ลูกสาว’ ของผมที่กำลังโตวันโตคืน เขาจะได้ไม่ต้องมาลงถนนแบบผม มาเสี่ยงถูกยิงกระสุนจริง แก็สน้ำตา เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแบบพวกเราในตอนนี้อีก ผมอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าเดิม สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่เอื้อให้คนคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างทุกวันนี้ 

“หลายคนที่ ‘ฆ่าตัวตาย’ ส่วนหนึ่งก็เพราะ ‘รัฐบาล’ มีคนตายเยอะขึ้นทุกวันเพราะความล้มเหลวของรัฐบาล ทุกการบริหาร ทุกนโยบาย ทุกคำสั่ง ส่งผลต่อชีวิตของพวกเราทุกคนโดยตรง วัคซีน ของแพง การเข้าถึงการศึกษา เราเหมือนถูกบังคับให้กินยาพิษทุกวัน ทุกวัน จนวันหนึ่งถ้าต้นทุนชีวิตคุณไม่เหลือแล้ว คุณตาย… 

“ไม่อยากให้ใครต้องมาคิด ‘ฆ่าตัวตาย’ แบบผมอีก มันทรมานมาก…” 

อ่านเพิ่มเติม 

จับกุมหนุ่ม 2 ราย กล่าวหา “วางเพลิงเผารถตำรวจ-มั่วสุมเกิน 10 คน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ใน #ม็อบ7สิงหา ก่อนศาลให้ประกันตัว

ติด ‘EM’ ไว้กับตัวผู้ต้องหา ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิประกันตัว ?

X