ฟื้นใจแอคทิวิสต์: 3 ขั้นตอน จัดการสภาพจิตใจ ก่อนกลับเข้าร่วมกิจกรรมครั้งใหม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน X การเมืองหลังบ้าน

ติดเชื้อรายวันเกือบสองหมื่น ติดเชื้อสะสมไปกว่าหกแสน กว่าสองปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงอยู่ในวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า-2019 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ความกลัว ความโกรธ ความเป็น และความตายได้แผ่กระจายลุกลามไปทั่วประเทศ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดน้อยลงไป มิหนำซ้ำการบริหารจัดการของรัฐบาล กลับยิ่งสร้างพยายามอุปสรรคให้กับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการดำเนินคดีกับการชุมนุมที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ด้วยการใช้ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ กล่าวหาดำเนินคดี หรือการดำเนินคดีต่อผู้แสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ด้วยข้อหาต่างๆ

สำหรับคนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองรายวันมากๆ เข้า หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจพบความเสี่ยงต่อการประสบภาวะที่เรียกว่า “เครียดทางการเมือง” หรือ Political Stress Syndrome (PSS) ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ 

แต่สำหรับ นักเคลื่อนไหว/นักกิจกรรม (Activist) หรืออาจรวมไปถึงนักการเมืองหลาย ๆ คนที่นำปัญหาและประเด็นสังคมออกมาเคลื่อนไหวแล้วนั้น อาจเสี่ยงที่จะต้องเจอกับอีกภาวะหนึ่งที่มากกว่าคนทั่วไป นั่นก็คือ “ภาวะหมดพลัง (Burnout)”  อาการที่รู้สึกว่างเปล่า ไร้เรี่ยวแรง และขาดกำลังใจในการทำงาน ทั้งๆ ที่เคยเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข และอาการเหล่านี้มีผลซึ่งกันและกันกับการเกิดภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงภาวะวิตกกังวล (Anxiety) จนอาจเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะทางใจและนำไปสู่การเจ็บป่วยทางใจตามมา

จากการศึกษาของอาจารย์สังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน ในสหรัฐอเมริกา โดยนำนักเคลื่อนไหว 14 คน ที่มีความต่างทั้งเพศสภาพ เชื้อชาติ และต่างประเด็นการเรียกร้อง ตั้งแต่ประเด็นทางสังคมต่างๆ ไปจนถึงการเรียกร้องสิทธิให้กับสัตว์ ผลการศึกษาพบว่าพวกเขาทุกข์ทรมานจากภาวะหมดพลัง ซึ่งเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงจิตใจที่เกิดมาจากความเครียด ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ หมดแรงจูงใจ ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงานร่วมด้วย

อาการของภาวะหมดไฟเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการที่ยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสภาพอารมณ์ลักษณะนี้เดิมๆ อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือนานวันเข้าก็อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าขึ้นมาได้เช่นกัน 

ถึงเวลาพักยก!

เหนื่อยหน่าย, ไร้ความหวัง, นอนไม่หลับ, กินอาหารไม่อร่อย 

เมื่อมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวเอง มนุษย์ร้อยทั้งร้อยมักปล่อยปละละเลย เพราะคิดว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย ไม่จำเป็นที่ต้องไปพบแพทย์ หรือเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง

แล้วทำไมต้องรอให้จิตใจเข้าขั้นวิกฤตก่อนถึงจะหันกลับมาดูแลตัวเองด้วยล่ะ? ลองถอยหลังกลับมาตั้งหลักสักก้าว ก่อนออกเดินทางอีกครั้ง และไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะพักสักหน่อย เพราะอย่าลืมไปว่าการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคมให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ก็อาจต้องใช้ระยะเวลา บางครั้งสั้น บางครั้งยาว ยิ่งถ้าหากอุปสรรคเยอะ การต่อสู้ยืดเยื้อไม่ทีท่าทีว่าจะสิ้นสุด การไม่หยุดพักเลย ก็อาจทำให้จิตใจของคุณหมดพลังเสียก่อนการต่อสู้จะสิ้นสุดก็เป็นได้

ก่อนไปดูวิธีการดูแลตัวเองให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ ลองมาทำแบบทดสอบภาวะหมดพลัง จากกลุ่ม “การเมืองหลังบ้าน” (Backyard Politics) กันก่อนว่า ตอนนี้พลังของคุณดับมอดไปถึงขั้นไหนแล้ว 

>>> แบบทดสอบ: คุณกำลังมีภาวะหมดพลัง (burnout) อยู่หรือเปล่า

______________________________

ยิ่งสู้เพื่อการเมืองที่ดี ยิ่งต้องอ่อนโยนกับตัวเอง

ไม่ว่าคุณจะเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งคราว หรือเข้าร่วมถี่จนเป็นตัวตั้งตัวตีระดับแถวหน้า และไม่ว่าคุณจะขับเคลื่อนปัญหาทางสังคมในประเด็นเล็ก หรือใหญ่แค่ไหน คุณก็คือ “นักเคลื่อนไหว” และสิ่งที่คุณกำลังทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นความท้าทายต่อจิตใจเป็นอย่างมาก 

อย่างแรก นั้นเป็นเพราะ นักกิจกรรมแทบจะทุกคนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมในสังคม ล้วนแล้วแต่เคยประสบความไม่ยุติธรรมสักครั้งในชีวิต บ้างอาจจะเคยเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยในสังคม พูดปัญหาอะไรไปก็แทบจะไม่มีใครได้ยินหรือให้ความสนใจ บ้างอาจเคยถูกผลักให้เป็นคนชายขอบของสังคม ไม่มีอำนาจ ที่จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงมี ซึ่งทุกคนต่างมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย 

สิ่งเหล่านี้ที่พวกคุณเคยเผชิญ ทั้งที่อาจรู้ตัวและไม่รู้ตัว ได้ตกผลึกเป็นความเข้าใจถึงแก่นแท้ของปัญหาของสังคมที่ต้องการจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่าคนอื่นๆ 

แต่ในขณะเดียวกัน การที่จะทำบางอย่างซึ่งเกี่ยวโยงกับประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวก็ทำให้ต้องแบกรับภาระทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อย่างที่สอง หลังจากที่คุณใช้ความพยายามส่งเสียงเรียกร้องให้คนที่มีอำนาจเข้ามาแก้ไขปัญหา หรือเคลื่อนไหวให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเจอกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เลี่ยงไม่ได้ อย่างเช่น การปราบปราม หรือความรุนแรงอื่นๆ  ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อสุขภาพจิตโดยตรงอย่างแน่นอน 

ถึงแม้บางครั้งคุณอาจจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้นโดยตรง แต่หากคุณร่วมรับรู้ความรุนแรงนั้นๆ ไม่ว่าจะผ่านคนใกล้ตัวหรือโซเซียลมีเดีย ก็นับว่าคุณเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเช่นเดียวกัน 

กรณีแบบนี้มักถูกเรียกว่า “ความรุนแรงมือสอง”  แม้ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ซึมซับเรื่องราวบาดแผลทางใจของคนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมา ไม่ว่าจะผ่านการฟัง การรับชมภาพและเสียง ก็สามารถกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกเราได้เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง จนก่อเกิดเป็นความรู้สึกด้านลบในจิตใจสะสมทับถมต่อไปเรื่อยๆ และถูกซ่อนไว้ในส่วนลึกของจิตใจ หากไม่ได้รับการปลดปล่อยหรือดูแล อาจกลายเป็น “ปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรัง” ซึ่งอาจจะต้องเข้าปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักบำบัดต่อไป

เมื่อกายและใจบอบช้ำ ยากที่จะลุกขึ้นมาสู้ตามอุดมการณ์ได้

การป่วยทางกายบางครั้งเราอาจรับรู้และรักษาได้ง่ายเมื่อรู้สึกถึงมัน แต่สำหรับการป่วยใจ หากไม่สังเกตดีๆ ก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าสุขภาพจิตของเราพังไปถึงขั้นไหนแล้ว และเมื่อไม่รู้ นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่สุขภาพจิตของคุณจะย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งความรู้สึกด้านลบนี้อาจถูกส่งต่อเป็นทอดๆ ไปยังมิติอื่นๆ ของการใช้ชีวิตได้อีก

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดผลเสียทางความรู้สึกหลังผ่านเหตุการณ์การถูกคุกคามหลังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง คุณอาจเกิดอารมณ์ โกรธ กลัว หงุดหงิด กระวนกระวายใจ กว่าที่เคยเป็น 

และอาจตามมาด้วย ผลเสียทางกาย ทั้งอาการนอนไม่หลับ รับประทานอาหารได้น้อยลง จนส่งผลเสียทางความสัมพันธ์และเพศ  ทะเลาะหรือไม่เข้าใจกับคนรอบข้างบ่อยขึ้น หรืออาจทำให้รู้สึกอยากมีเพศสัมพันธ์มากขึ้นหรือน้อยลงไปจากที่ตัวเองเป็นอยู่ตามปกติ 

จนในท้ายที่สุดส่งผลเสียต่อแนวทางการเคลื่อนไหวในอนาคต  คุณอาจสูญเสียศรัทธาในอุดมการณ์ที่เคยยึดมั่น จากการพยายาม คิด ทำ และการหาวิธีการต่อสู้ในครั้งต่อๆ ไป จนทำให้รู้สึกหมดกำลังใจ ท้อแท้ ผิดหวัง และสิ้นหวัง 

ตัวอย่างผลกระทบข้างต้นที่กล่าวมา อาจเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดก็ได้ หรืออาจจะกระทบเพียงบางด้านของชีวิตคุณก็ได้ หรือบางคนอาจเกิดเป็นผลกระทบทางจิตใจที่ฝังรากลึกลงไปในระบบประสาท ระบบของร่างกาย หรือที่รู้จักในชื่อ “บาดแผลทางใจ” (Trauma) ถือเป็นผลกระทบในระดับรุนแรง ต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์หรือนักบำบัด เพื่อปรับระบบการตอบสนองของร่างกายให้เป็นจนเข้าสู่สมดุลดังเดิมต่อไป 

บันได 3 ขั้น สำรวจ รับมือ และดูแลตัวเอง ก่อนจะสายเกินไป

ถึงกระนั้น คุณก็ไม่ควรรอให้ถึงจุดวิกฤต คุณไม่จำเป็นจะต้องมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่เข้าขั้นวิกฤตก่อน ถึงจะเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ บางครั้งการขอคำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นจากนักบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เป็นเรื่องที่ดี แม้ว่าเมื่อผลวินิจฉัยการตรวจเบื้องต้นออกมาแล้ว คุณอาจจะมีแค่เพียงความไม่สบายใจเล็กน้อยก็ตาม 

เพราะยิ่งรอนาน การจะกลับมามีสุขภาพจิตสมดุลดังเดิม ก็ใช้เวลามากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แล้วเมื่อเกิดคำถามว่า “จุดไหนควรจะต้องลุกขึ้นมาทำบางอย่างกับตัวเอง” คำตอบง่ายๆ คือ คุณสามารถเริ่มทำได้ในทุกเมื่อ 

ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ชอบติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ หรือมักเข้าร่วมการประท้วงบ่อยครั้ง ยิ่งจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ และรู้จักสร้าง “ภูมิคุ้มกันทางจิตใจ” ให้จิตใจสามารถรับมือได้กับสถานการณ์ที่กระทบต่อความรู้สึกของตัวเองจนเสียสมดุลได้ในอนาคต

หนึ่ง: สำรวจตัวเองก่อนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

ก่อนอื่นคุณลองสำรวจตัวเองว่า กิจกรรมที่ทำหรือเข้าร่วมอยู่ คุณทำด้วยเป้าหมายอะไร ลองเขียนความตั้งใจและเป้าหมายทดไว้ในใจ หรือปรึกษาคนที่ไว้ใจและสามารถรับฟังคุณได้ หลังจากนั้นลองประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเราเข้าร่วมกิจกรรมว่า คุณสามารถรับมือได้ไหม และต้องการความช่วยเหลือเรื่องไหนบ้าง 

หลังจากนั้น ทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อไตร่ตรองและเตรียมการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง  

สุดท้ายคือการเตรียมความพร้อม เมื่อใจพร้อม ก็อย่าลืมเตรียมกายให้พร้อมด้วย เช่น แต่งตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ เตรียมน้ำและอาหารให้เพียงพอ พกอุปกรณ์ช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้นอย่างผ้ากันฝน หน้ากากกันสารเคมี เป็นต้น

สอง: ระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง

สังเกตอารมณ์ตัวเองขณะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นระยะ หากรู้สึกไม่สบายใจ หรือโมโหในระดับมาก ให้พาตัวเองออกจากพื้นที่ดังกล่าวไปยังบริเวณที่คิดว่าสงบและปลอดภัยเพื่อสงบสติอารมณ์และปลดปล่อยความรู้สึกนั้นออกไปให้ได้มากที่สุด

เมื่อรู้สึกดีขึ้นจึงกลับเข้ามาทำกิจกรรมต่อ แต่หากไม่ดีขึ้นให้ออกมาพักและให้การสนับสนุนในวิธีอื่นจากระยะไกลแทน เช่น รับชมการถ่ายทอดสด (Live Streaming) ร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง หรือร่วมทำกิจกรรมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างการช่วยผลักดันประเด็นหรือติดแฮชแท็กการชุมนุมให้ผู้คนได้รับทราบในวงกว้างมากขึ้น 

ทั้งนี้ การสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยอาจไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเข้าร่วมชุมนุมเสมอไป คุณอาจเลือกทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมผ่านการเรียนรู้ได้ในหลากหลายวิธีที่ต่างกันออกไปแทน

สาม: ดูแลตัวเอง เมื่อร่างกายและจิตใจถึงขีดกำจัด

หลังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง อย่าลืมสำรวจอารมณ์ยังคงติดค้างอยู่ภายในใจ ด้วยใช้เวลาคิดทบทวนกับตัวเองให้ได้ตกผลึกทางความคิดมากที่สุด ในพื้นที่เงียบสงบและเอื้อต่อการสร้างสมาธิ 

อย่าลืม! จัดการกับความเครียดของตัวเองก่อนที่จะไปลงมือทำอย่างอื่น  โดยวิธีจัดการกับความเครียดอาจเป็นวิธีง่ายๆ เช่น ดื่มน้ำ กินอาหารที่ชอบ ทำความสะอาดร่างกายเพื่อปลดปล่อยความเหนื่อยล้า หรืออาจจะใช้วิธีกายภาพบำบัดหรือนวดผ่อนคลาย เพื่อระบายความรู้สึกด้านลบที่คั่งค้างอยู่ในร่างกายให้ออกไป ซึ่งการเลือกดูแลตัวเองในแบบที่ชอบจะได้ผลดียิ่งขึ้น

และถ้าหากสิ่งข้างต้นยังขจัดความรู้สึกด้านลบออกไปได้ไม่ดีนัก อาจจะลองเข้าไปรับคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป

เมื่อความคาดหวัง กลับกลายเป็นความกดดัน

การกลับมาชุมนุมในครั้งนี้ อาจเป็นความคาดหวังของใครหลายคนที่หวังให้นักเคลื่อนไหวออกมาพูดในประเด็นใหม่ๆ ดันเพดานให้สูงกว่าที่เคยเป็น แต่ความคาดหวังเหล่านั้น อาจกลับกลายเป็นความกดดันที่จะดับไฟในการลุกขึ้นสู้ในรอบใหม่ก็ได้

ไม่เป็นไร หากเราจะพูดว่าไม่ไหว… 

ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง นักเคลื่อนไหวก็เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ใช่ฮีโร่มากพลังวิเศษ และการต่อสู้กับความเหนื่อยล้าในตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่นักกิจกรรมต้องต่อสู้เองเช่นกัน 

การรับผิดชอบที่จะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ได้เป็นการเห็นแก่ตัว เพราะกว่าขบวนการต่อสู้จะไปถึงเป้าหมาย คุณจำเป็นจะต้องใช้เวลา ใช้สติปัญญา และพลังใจอย่างมากในการทำงาน

บางครั้งความพยายามในการเปลี่ยนแปลงของคุณ อาจจะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายให้กับหลายชีวิตในภายภาคหน้า แต่หากคุณเดินรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดพัก ความเหน็ดเหนื่อยอาจกลับกัดกินอุดมการณ์ ทิ้งไว้ให้เหลือแต่ความรู้สึกว่างเปล่าและไร้ซึ่งพลัง

ฉะนั้นการพักผ่อนและดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ลองหันกลับมา #saveตัวเอง บ้าง ก่อนจะกลับไปสู้ครั้งใหม่ ลองพักสักหน่อยเพื่อกลับมาเป็นคนที่มีพลังกายและใจมากกว่าเดิม และอย่าลืมคอยเตือนคนรอบข้างให้หยุดพักด้วยกัน 

สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองกำลังมีความเสี่ยงต่อภาวะทางจิตใจอันเนื่องมาจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และต้องการขอคำปรึกษาและคนช่วยดูแลปัญหาเรื่องจิตใจ ทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวม 7 องค์กรดูแลใจที่เปิดให้รับให้คำปรึกษาไว้ด้านล่างนี้แล้ว  

รายชื่อกลุ่มผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลใจสำหรับนักกิจกรรม

กลุ่มหิ่งห้อยน้อย

ในม็อบมีเด็ก Child in Mob

Childline Thailand Foundation

ฟื้น ความสุขของผู้หญิง

ก่อการสิทธิเด็ก

การเมืองหลังบ้าน

Full Jai People

อ้างอิงจาก

>>> Activism Fatigue: The Mind is a Powerful Resource of Change

>>> staying resilient while trying to save the world

>>> “Frayed All Over:” The Causes and Consequences of Activist Burnout Among Social Justice Education Activists

>>> ดูแลใจก่อน-ระหว่าง-หลัง การเผชิญสถานการณ์ที่กดดันบีบคั้น

>>> BURNOUT SYNDROME ภาวะการหมดไฟคืออะไร?

X