อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี 6 ประชาชนร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมดินแดงเมื่อกันยา 64 อีกคดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่มีนักกิจกรรมและประชาชนรวม 6 ราย ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปสังเกตการณ์ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564

คดีมี พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ เป็นผู้กล่าวหานักกิจกรรม-ประชาชนรวม 6 ราย ได้แก่ กตัญญู หมื่นคำเรือง, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, ชาลินี, เมทนี, ธีรเมธ และ โกสินทร์ ว่าได้เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณใต้ทางแยกดินแดง แนวถนนดินแดง ถึงถนนวิภาวดีรังสิต โดยผู้กล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานที่เข้าติดตามการชุมนุม และได้จัดทำรายงานเหตุการณ์ พร้อมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง

ล่าสุดพนักงานอัยการศาลแขวงพระเหนือได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด ส่งถึงผู้กำกับการ สน.ดินแดง เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 โดยไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด

คำสั่งไม่ฟ้องของอัยการระบุว่า ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น เป็นการห้ามบุคคลใดจัดให้มีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค หรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม 

การฝ่าฝืนข้อกำหนดนี้จะต้องเป็นกรณีที่มีผู้จัดให้มีการทำกิจกรรมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ แต่คดีนี้ตามคำให้การของผู้กล่าวหาซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม และจากรายงานการสืบสวนสถานการณ์การชุมนุม พบว่าผู้ต้องหาทั้งหกเพียงแค่มาปรากฏตัวในที่ชุมนุม โดยไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหารายใดเป็นแกนนำจัดกิจกรรมชุมนุม หรือชักชวนบุคคลอื่นมาร่วมชุมนุมด้วยวิธีการใด ไม่ปรากฏข้อเรียกร้องในการชุมนุม ไม่มีเวทีปราศรัย และไม่มีบุคคลปราศรัย

ผู้ต้องหาทั้งหกเป็นเพียงบุคคลที่น่าสนใจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสืบติดตามดูพฤติกรรมที่ปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น นอกจากนี้ยังปรากฏภาพถ่ายผู้ต้องหาทั้งหก และผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้ปิดทึบ ประกอบกับผู้ร่วมชุมนุมก็มีจำนวนไม่มาก มีระยะห่างไม่เบียดเสียดแน่นใกล้ชิด 

เมื่อปรากฏว่าหลังจากเวลา 20.45 น. เป็นต้นไป ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ต้องหาทั้งหกอยู่ในที่ชุมนุมจนถึงเวลาใด ส่วนผู้ต้องหารายหนึ่งที่มายืนอยู่ในพื้นที่ชุมนุม โดยถือโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สดหรือเป็นเพียงการยกโทรศัพท์ขึ้นมาดูทั่วไป ก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคแต่อย่างใด 

จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้เพียงว่าผู้ต้องหาทั้งหกเข้าไปปรากฏตัวในที่ชุมนุมในช่วงแรกเท่านั้น การชุมนุมดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ไม่ได้มีเจตนาชุมนุมเพื่อแพร่เชื้อโรค และไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เนื่องจากเป็นสถานที่โล่ง และผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนมาก

สำหรับพยานปากนักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตดินแดนนั้น ในวันเวลาเกิดเหตุ พยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุแต่อย่างใด จึงไม่อาจยืนยันว่าการชุมนุมที่เกิดเหตุนั้นไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่มีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหกร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คำสั่งไม่ฟ้องลงนามโดย นรินทร์ นันทิพานิชย์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2

.

คดีนี้นับเป็นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีที่ 15 ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบริเวณดินแดง ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว ขณะที่ยังคงมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ไปสังเกตการณ์หรืออยู่ร่วมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกมากกว่า 30 คดี โดยมีคดีในลักษณะเดียวกันอย่างน้อย 1 คดี ที่อัยการได้มีคำสั่งฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือไปแล้ว 

ขณะที่โดยภาพรวม มีคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วอย่างน้อย 37 คดี 

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X