อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้สังเกตการณ์-สื่ออิสระ-ผู้ชุมนุมดินแดงอีก 5 คดีรวด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดของพนักงานอัยการศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีจากการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส บริเวณย่านดินแดงและใกล้เคียง เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2564 จำนวน 5 คดี ทำให้คดีทั้งหมดสิ้นสุดลง

ทั้ง 5 คดี เป็นกรณีของผู้ร่วมชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ หรือสื่ออิสระ ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.ดินแดง ทั้งหมด โดยไม่ได้มีข้อหาอื่น ได้แก่ คดีผู้ร่วมชุมนุม #เคาะรั้วเจ้าของหมา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 คดีผู้ชุมนุมและร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่ดินแดง วันที่ 20 ส.ค., วันที่ 24 ส.ค., วันที่ 9 ก.ย. และ วันที่ 15 ก.ย. 2564 

.

สั่งไม่ฟ้องคดีผู้ร่วมชุมนุม #เคาะรั้วเจ้าของหมา ชี้ไม่มีหลักฐานว่าทำกิจกรรมเสี่ยงโรค

สำหรับคดีแรก เหตุชุมนุมวันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่ใช้ชื่อว่า #เคาะรั้วเจ้าของหมา มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นประชาชน 1 ราย ซึ่งถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับในภายหลังเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยมี พ.ต.ท.นพโรจน์ พัชราจิระศักดิ์ เป็นผู้กล่าวหาว่าประชาชนรายนี้ได้เข้าร่วมการชุมนุมวันดังกล่าว ซึ่งมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่บริเวณใกล้แยกสามเหลี่ยมดินแดง

พนักงานอัยการเห็นว่าคดีนี้ปรากฏเพียงภาพถ่ายของผู้ต้องหาที่อ้างว่ามาปรากฏตัวในที่ชุมนุม ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเป็นแกนนำจัดกิจกรรม ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลน่าสนใจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดูพฤติกรรมที่ปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นที่เป็นการแสดงว่าเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมแต่อย่างใด และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่า ผู้ต้องหาอยู่ในที่ชุมนุมหรือไม่ หรือสร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างไรบ้าง หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่โรคอย่างไรบ้าง พยานหลักฐานจึงไม่เพียงพอพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาร่วมจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

.

ไม่ฟ้อง 4 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดินแดง ชี้เป็นเพียงบุคคลที่ตำรวจติดตามดูพฤติกรรม ไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้จัด-ทำให้เสี่ยงโรค

ส่วนคดีจากการชุมนุมบริเวณดินแดงอีก 4 คดีนั้น มี พ.ต.ต.ประวิทย์ กองชุมพล เป็นผู้กล่าวหาทั้งหมด โดยมีการกล่าวหาทั้งนักกิจกรรม ผู้ชุมนุม ผู้สังเกตการณ์ หรือสื่ออิสระ ที่เจ้าหน้าที่จับตาและพบเห็นไล่ไปตามวันที่มีการชุมนุม ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ดินแดง 

สำหรับคดีจากการชุมนุมวันที่ 20 ส.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ได้แก่ ชาญชัย ปุสรังษี, เอกชัย หงส์กังวาน และ วสันต์ กล่ำถาวร

คดีจากการชุมนุมวันที่ 24 ส.ค. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 3 ราย ได้แก่ ชาญชัย ปุสรังษี, “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง และจีระพงษ์

คดีจากการชุมนุมวันที่ 9 ก.ย. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ได้แก่ ชาญชัย ปุสรังษี, เอกชัย หงส์กังวาน, วงศกร พลซื่อ และเมทนี  

คดีจากการชุมนุมวันที่ 15 ก.ย. 2564 มีผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย ได้แก่ ชาญชัย ปุสรังษี, “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก, พรชัย, ใบบุญ และ ดนตรี

แต่ละคดีดังกล่าว อัยการได้วินิจฉัยในลักษณะเดียวกัน โดยสรุปว่าจากพยานหลักฐาน พบเพียงภาพถ่ายของผู้ต้องหาแต่ละคนที่ปรากฏในบริเวณที่มีการชุมนุม ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ต้องหาแต่ละรายเป็นแกนนำหรือเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลที่น่าสนใจซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามดูพฤติกรรมบุคคลที่ปรากฏตัวในที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นใด ที่เป็นการแสดงข้อเท็จจริงได้อย่างแน่ชัดว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม หรือเป็นบุคคลที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายอย่างไรบ้าง หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคอย่างไร 

แม้แต่ละคดีจะมีนักวิชาการสุขาภิบาลชำนาญการ สำนักงานเขตดินแดง เป็นพยาน แต่พยานก็ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าการชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่างปลอดภัยจริงหรือไม่  ทั้งบางกรณียังปรากฏภาพถ่ายผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยเป็นส่วนมาก และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเป็นพื้นที่โล่ง ไม่ได้ปิดทึบหรือแออัด จึงยังไม่ถึงขนาดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจึงไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาในแต่ละวันดังกล่าว ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยภาพรวมจนถึงวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 33 คดี 

สำหรับคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและใกล้เคียง ที่ถูกกล่าวหาเฉพาะข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็นับเป็นคดีที่ 14 แล้ว ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง

ขณะที่ยังมีคดีลักษณะเดียวกันนี้ ดำเนินอยู่ในชั้นสอบสวนอีกหลายคดี เนื่องจากตำรวจมีการไล่แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่พบเห็นและจับตาในการชุมนุมระหว่างช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 โดยแยกคดีไปตามวันที่เกิดเหตุ ทำให้มีคดีจำนวนมากที่เกิดจากการชุมนุมในช่วงดังกล่าว

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X