870 วัน ของการจองจำ ‘ไผ่’

8 พ.ค. ที่ผ่านมา เฟสบุ๊คส่วนตัวของวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ได้เผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ลูกชายของเขาว่า “แจ้งข่าวดี ไผ่ ดาวดิน จะถูกปล่อยตัววันที่ 10 พ.ค.62 ช่วยแชร์ต่อกันด้วย เพราะหลายคนถามข่าวคราวมาตลอด ขอบคุณครับ”

หลังจากเขาถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พิพากษาให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน และถูกคุมขังมาตั้งแต่ธ.ค.60 ซึ่งจะรับโทษครบกำหนดเดิมในวันที่ 19 มิถุนายน 62 

สู่การจองจำอันยืดเยื้อยาวนาน

การจองจำ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา เริ่มขึ้นหลังการแชร์ข่าว BBC ไทย ในเช้าวันที่ 2 ธ.ค. 59 โดย พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีไผ่ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 และศาลจังหวัดขอนแก่นออกหมายจับในวันเดียวกัน

จากนั้น ความไม่เป็นปกติของกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ก็ปรากฏให้เห็นโดยตลอด สะท้อนถึงปัญหาที่ดำรงอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

ความไม่เป็นปกติดังกล่าวนำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมต่อไผ่ ทำให้เกิดความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในการปิดกั้นการแสดงความเห็น ตลอดจนสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในสังคมไทย จนเกิดกระแสรณรงค์ #ปล่อยไผ่ ในช่วงนั้น

ไผ่และสถานการณ์มาตรา 112 ใน “ระยะใหม่”

คดี ‘ไผ่’ นับได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ของสถานการณ์คดีมาตรา 112 ใน “ระยะใหม่” ภายหลังการเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 59 ซึ่งต่อมามีการดำเนินคดีอีกหลายคดีในปี 2560 ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การไม่ฟ้องคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ใหม่ รวมถึงยกฟ้องข้อหานี้ในหลายคดีในช่วงปี 2561

การถูกละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้ไม่ได้จบแค่คำพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ไผ่ยังถูกปฏิเสธให้พักโทษที่เหลือโทษเพียง 111 วัน

สุดท้ายไผ่ได้รับปล่อยตัวเร็วกว่ากำหนดโทษเดิม 41 วัน ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562  ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ต้องขังคดี 112 ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น (ศาลทหาร) อีกอย่างน้อย 8 ราย เป็นผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น 6 ราย และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 2 ราย พวกเขาไม่ได้พระราชทานอภัยโทษในรอบนี้เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด

รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังอีกหลายราย (ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน) ที่คดีถึงที่สุดแล้วแต่มีโทษหนัก ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พวกเขายังไม่ได้รับการปล่อยตัว  แต่ได้ลดวันต้องโทษลดหลั่นกันไปตามแต่ชั้นของนักโทษ (ดูข้อมูลผู้ต้องขัง 112 ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ เขาและเธอยังถูกจองจำ: จำเลยคดี 112 อีกอย่างน้อย 9 ราย ยังต่อสู้คดี โดยไม่ได้ประกันตัว)

 

 

X