เปิดหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ถามรัฐบาลไทยกรณีละเมิดสิทธิ “ไผ่” และคดี 112

เปิดหนังสือที่ผู้รายงานพิเศษ UN ส่งถึงตัวแทนรัฐบาลไทย แสดงความกังวลถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณี“ไผ่” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 โดยเฉพาะสิทธิที่จะไม่ถูกลิดรอนอิสรภาพตามอำเภอใจและสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม พร้อมย้ำถึงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 สร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวในสังคมไทย ขณะตัวแทนรัฐบาลยันไทยสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในทางความคิด

 

กรณี ไผ่กับการละเมิดกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 สองผู้รายงานพิเศษภายใต้สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ณ นครเจนีวา ได้แก่ นายเดวิด เคย์ (David Kaye) ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และนายมิเชล ฟอร์สท์ (Michel Forst) ผู้รายงานพิเศษติดตามสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้มีหนังสือถึงตัวแทนของรัฐบาลไทย (หนังสือลำดับที่ UA THA 1/2017) มีเนื้อหาสอบถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” จำเลยในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีการแชร์รายงานข่าวของบีบีซีไทยเรื่องพระราชประวัติของรัชกาลที่ 10 โดยจนถึงปัจจุบันจตุภัทร์ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำที่จังหวัดขอนแก่น

ผู้รายงานพิเศษทั้งสองระบุว่าได้รับข้อร้องเรียนเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวนายจตุภัทร์ในฐานะนักศึกษานักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน  ก่อนหน้านี้ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติได้เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยการใช้มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยตั้งแต่ปี 2554 ได้เคยทำหนังสือสื่อสารกับรัฐบาลไทยมาแล้ว 9 ฉบับ รวมทั้งเคยแสดงความกังวลต่อการจับกุมคุมขังสมาชิกของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในหนังสือสื่อสารกับรัฐบาลไทยเมื่อปี 2558 และ 2559 หากแต่สิ่งที่ผู้รายงานพิเศษแสดงความกังวลถึงการบังคับใช้มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกลับยังคงดำเนินต่อไป

ผู้รายงานพิเศษทั้งสองระบุว่ากรณีการจับกุมคุมขังนายจตุภัทร์มีลักษณะที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสิทธิที่จะไม่ถูกลิดรอนอิสรภาพตามอำเภอใจ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรม โดยศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง ตามข้อ 9 และ 10 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และข้อ 9 และ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี

ผู้รายงานพิเศษทั้งสองย้ำว่าการละเมิดบทบัญญัติดังกล่าว สะท้อนถึงการทำให้การแสดงออกโดยชอบธรรมกลายเป็นอาชญากรรม และดังนั้นจึงไม่สอดคล้องกับกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยมีพันธะต้องปฏิบัติตาม ทั้งยังน่ากังวลอีกด้วยว่าการพิจารณาคดีของศาลเพื่อถอนการประกันตัวนายจตุภัทร์ เกิดขึ้นโดยมีการพิจารณาเป็นการลับ ซึ่งขัดแย้งต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเป็นสาธารณะ

 

ผู้รายงานพิเศษย้ำการใช้ 112 ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

ผู้รายงานพิเศษทั้งสองยังย้อนทบทวนถึงคำตอบเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ของตัวแทนรัฐบาลไทยในหนังสือเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ระบุว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้มีจุดประสงค์เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นการปกป้องสิทธิและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

แต่ผู้รายงานพิเศษทั้งสองมีความเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 ของกติกา ICCPR จะต้องถูกบัญญัติไว้ในกฎหมาย และจะต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนอย่างเข้มงวด โดยผู้รายงานพิเศษทั้งสองเห็นว่าการบังคับใช้มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ได้สอดคล้องกับข้อ 19 ของกติกาดังกล่าว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะ รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุด อย่างเช่น ประมุขของรัฐและรัฐบาล จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้ามได้ โดยตามความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ฉบับที่ 34 (2554) รูปแบบของการแสดงออกที่พิจารณาได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะไม่สมควรที่จะมีการกำหนดโทษจำคุก  การใช้กฎหมายมาตรา 112 และข้อหาหมิ่นประมาทจึงควรจะระมัดระวังให้เป็นไปโดยสอดคล้องกับข้อ 19 (3) ของ ICCPR และไม่ให้มีผลในทางปฏิบัติเป็นการยับยั้งเสรีภาพในการแสดงออก

ผู้รายงานพิเศษทั้งสองยังระบุถึงความกังวลโดยเฉพาะต่อผลของการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่จะทำให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว ซึ่งกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย ผู้รายงานพิเศษยังย้ำถึงความกังวลกรณีการปฏิเสธสิทธิการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิบัติที่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีเป็นการลับในคดีเหล่านี้

 

ทูตไทยยันเคารพเสรีภาพการแสดงออก

หลังจากผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติทั้งสองได้มีหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลไทยฉบับดังกล่าว นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 มกราคม 2560 ตอบถึงประเด็นคำถามดังกล่าว ระบุในสองประเด็นสั้นๆ ว่าปัจจุบันคดีของนายจตุภัทร์อยู่ในระหว่างกระบวนการในชั้นศาล ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถที่จะแทรกแซงกระบวนการของตุลาการซึ่งเป็นอิสระและมีความเป็นกลางตามกฎหมายได้ โดยการถูกถอนประกันของนายจตุภัทร์เกิดขึ้นหลังจากศาลเห็นว่าเขาได้ละเมิดต่อเงื่อนไขการประกันตัว เพราะได้มีการกระทำความผิดซ้ำ

ประเด็นที่สอง เอกอัครราชทูตไทยฯ ระบุว่ารัฐบาลไทยสนับสนุนและให้คุณค่ากับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในทางความคิดที่เป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านั้นจะต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย และไม่กระทบต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความปรองดองภายในสังคม หรือละเมิดสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น ตามที่ระบุไว้ในกติกา ICCPR ข้อ 19 (3) การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 จึงสอดคล้องกับบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว

 

ไผ่ไม่ได้ถูกถอนประกันเพราะกระทำผิดซ้ำ

ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงในคดีนี้ นายจตุภัทร์ถูกถอนการประกันตัวเนื่องจากหลังได้รับการประกันตัวในครั้งแรกแล้ว ทาง พ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี ซึ่งเป็นผู้แจ้งความในคดีนี้ ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ยื่นต่อศาลขอให้ถอนการประกันตัว ก่อนที่ศาลจะไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้ถอนประกันผู้ต้องหา โดยระบุสาเหตุเรื่องการไม่ได้ลบข้อความที่ถูกกล่าวหา และผู้ต้องหายังได้แสดงออกถึงพฤติกรรมในสื่อสังคมออนไลน์ในเชิงสัญลักษณ์เย้ยหยันอำนาจรัฐ โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ศาลจึงกล่าวอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว

การถูกถอนการประกันตัวจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดซ้ำ โดยจตุภัทร์ไม่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายใดๆ เพิ่มเติมหลังจากได้รับการประกันตัวในครั้งแรกแล้ว รวมทั้งในทางกฎหมายก็ยังไม่ได้มีการกำหนดให้ “การเย้ยหยันอำนาจรัฐ” เป็นความผิดตามบทบัญญัติใดๆ (ดูสรุปกระบวนการในคดีของไผ่)

สำหรับผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติในทั้งสองประเด็นดำเนินการในฐานะเป็นกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่ติดตามสอดส่องและรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ ในลักษณะติดตามประเด็นสิทธิรายประเด็น โดยมีกลไกเปิดรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ก่อนจะมีระยะเวลาตามรอบที่กำหนดในการเผยแพร่ข้อร้องเรียนความเห็นของผู้รายงานพิเศษ รวมทั้งคำชี้แจงของรัฐบาลต่อสาธารณะ

กรณีของนายจตุภัทร์แม้หนังสือของผู้รายงานพิเศษ และหนังสือชี้แจงของรัฐบาล จะมีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ก็เพิ่งมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เมื่อครบกำหนดรอบระยะเวลาในการเผยแพร่ต่อสาธารณะ

คดีของ “ไผ่” ยังเป็นกรณีการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 คดีแรกภายหลังรัชกาลที่ 10 ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึง 30 เมษายน 2560 มีประชาชนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 อย่างน้อย 93 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างน้อย 138 ราย (ดูในรายงาน 3 ปีหลังรัฐประหาร)

 

อ่านเพิ่มเติม

112 วันของไผ่ในเรือนจำขอนแก่น

กระบวนการยุติธรรมกับการจำกัดเสรีภาพ‘ไผ่ดาวดิน’: ประมวลคดี 112 ‘ไผ่’ ก่อนถึงวันสิ้นปี 59

จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: ย้อนดูความเห็นคณะทำงาน UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการในคดี 112

 

X