บันทึกสืบพยานคดี ม.112 “ตี้-บิ๊ก-เบนจา” เหตุปราศรัยม็อบ #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ปี 64 ยืนยันวิจารณ์รัฐบาล-เจ้าหน้าที่รัฐ กล่าวถึงประวัติศาสตร์ พร้อมข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ

วันที่ 24 มี.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 1), “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ (จำเลยที่ 2), และ เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 3) กรณีสืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน

.

กิจกรรมในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบการอภิวัฒน์สยาม เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งวัน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 5.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย  จนเวลา 17.00 น. กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวกันทำกิจกรรมอีกครั้งที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน โดยมีผู้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัย บอย-ชาติชาย แกดำ ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นคนแรก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงตัวเพื่อประกาศข้อกำหนดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าการรวมตัวมากกว่า 50 คนเป็นการฝ่าฝืนข้อกฎหมาย 

จากนั้นแกนนำคนอื่น  ผลัดกันขึ้นปราศรัยเพื่อตอกย้ำว่าจะไม่มีการลดเพดานข้อเสนอในการออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” รวมไปถึงเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ปัญหาของระบบการศึกษา และปณิธานของคณะราษฎร 2475  ในช่วงท้ายของกิจกรรมประชาชนได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์คณะราษฎร และจุดเทียนวางเป็นตัวเลข 2475 ก่อนยุติกิจกรรมในเวลาราว 20.30 น.

คดีนี้มี พ.ต.ท.ธนพล ติ๊บหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน กับ มะลิวัลย์ หวาดน้อย สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2564 จำเลยที่ 2 เข้าพบ ร.ต.อ.สุรศักดิ์ ช่วงทิพย์ รองสารวัตรสอบสวน สน.ปทุมวัน ส่วนจำเลยที่ 1 และ 3 เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ก.ย. 2564 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้  ในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

พฤติการณ์ตามคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 จำเลยทั้ง 3 กับนักกิจกรรมรายอื่นอีก 6 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน และนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย แยกดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และ 3 และพวกนักกิจกรรมบางราย ได้ร่วมกันจัดการชุมนุม ชื่อ “ราษฎรยืนยันดันเพดาน” โดยจำเลยที่ 1 และ 3 ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนบนเฟซบุ๊ก

เมื่อถึงวันนัด มีประชาชนมาเข้าร่วมการชุมนุมราว 400 กว่าคน ที่บริเวณสกายวอล์ค แยกปทุมวัน เป็นการชุมนุมที่ไม่ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั้งยังเป็นการชุมนุมที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค

ในระหว่างการชุมนุม จำเลยทั้งสามและกลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันปราศรัยผ่านไมโครโฟน-ลำโพงเครื่องขยายเสียง พูดโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลและการปฏิรูปสถาบันฯ 

จำเลยที่ 1 ได้ปราศรัยเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในอดีต ซึ่งมีประชาชนร่วมรบจนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่กลับทำการเชิดชูเพียงแค่กษัตริย์ ไม่มีการบันทึกชื่อของประชาชนที่เสียสละแต่อย่างใด

อัยการระบุว่า ข้อความดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจได้ว่า ในเวลาที่มีสงคราม คนที่บาดเจ็บล้มตายคือประชาชน ในขณะที่กษัตริย์ไม่เคยออกรบ อยู่แต่แนวหลัง มีความหมายสื่อถึงกษัตริย์ทุกพระองค์

อัยการยังอ้างว่าจำเลยที่ 1 ยังได้ปราศรัยสื่อถึงรัชกาลที่ 10 ว่า การใส่เสื้อเหลืองหมายความว่าเป็นคนรักชาติ เมื่อใส่เสื้อเหลืองแล้วจะไม่โดนดำเนินคดี แม้จะฆ่าคนตายก็ตาม โดยอัยการมองว่า คำปราศรัยนั้นอาจทำให้คนฟังเข้าใจว่า ถ้าเป็นคนของกษัตริย์ เมื่อทำผิดกฎหมายก็ไม่ต้องรับโทษ สื่อว่าพระองค์อยู่เหนือกฎหมาย สามารถปกป้องพรรคพวกและบริวารของตนได้

ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ปราศรัย ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ รัชกาลที่ 5, 7 และ 10 ระบุว่า

1. ถึงจะมีการเลิกทาสไปแล้ว แต่ประชาชนยังคงถูกกดขี่ ทำให้โง่และกลัว ไม่กล้าทวงสิทธิที่ตัวเองมี อัยการระบุ เป็นการสื่อว่า แม้จะเลิกทาสไปแล้วก็ยังมีการกดขี่ประชาชน กษัตริย์ไม่ได้ล้มเลิกระบบทาสอย่างแท้จริง

2. การที่หนังสือเรียนระบุว่า รัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง เป็นข่าวปลอม อัยการระบุว่า จำเลยต้องการให้คนที่ฟังเข้าใจว่า การที่ประชาชนยกย่องรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้สถาบันอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนั้นไม่เป็นความจริง แท้จริงแล้ว รัชกาลที่ 7 ไม่ได้ประสงค์จะให้ประชาธิปไตยแก่ประชาชน

3. การที่กษัตริย์องค์ปัจจุบันถูกยกย่องให้สูงส่งเหมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ อัยการระบุว่า ต้องการให้คนฟังเข้าใจว่า กษัตริย์ถูกยกย่องจนเกินความจริงและเปรียบเทียบกษัตริย์ให้สูงส่ง ทำให้เข้าใจได้ว่า กษัตริย์องค์ปัจจุบันวางพระองค์ไม่เหมาะสม

4. การยกสถาบันฯ ไว้สูงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณสถาบันฯ อัยการมองว่า เป็นการสื่อว่ากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย อยู่เหนือการตรวจสอบและไม่มีความโปร่งใส

5. การปฏิรูปสถาบันฯ ข้อแรก ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร อัยการระบุ ต้องการสื่อว่า รัชกาลที่ 10 ทรงรับรองให้กับคณะรัฐประหาร ไม่ปฏิบัติตนในฐานะประมุขของประเทศ ซึ่งจะต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้ง

จำเลยที่ 3 ได้ปราศรัยดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9 และ 10 กล่าวคือ ได้พูดว่า กษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารหลายครั้ง มีครั้งเดียวที่ไม่ยอมให้เกิดการรัฐประหาร อัยการระบุเท้าความว่า การรัฐประหารตามประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 9 ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐกาลที่ 10 เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ว่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะพระองค์เป็นกลางทางการเมือง

จำเลยปราศรัยต่อว่า มีครั้งเดียวที่กษัตริย์ไม่ยอมปล่อยให้มีการรัฐประหาร แสดงว่าย่อมยับยั้งการรัฐประหารได้ แต่ก็ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกต่อมา เป็นการไม่เห็นหัวประชาชน อัยการระบุ ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 9 ไม่เป็นความจริง เพราะทรงเป็นกลางทางการเมือง

ข้อความสุดท้าย ปราศรัยเรื่องวันพ่อวันที่ 5 ธ.ค. ต่อมาเปลี่ยนเป็นวันชาติ ในวันดังกล่าวมีการนำเงินภาษีประชาชนไปจัดกิจกรรม ทั้งที่เงินดังกล่าวควรหมุนเวียนกลับสู่ประชาชน อัยการระบุว่า วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ต่อมาหลังสวรรคต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติ ถ้อยคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการกล่าวหาว่า รัชกาลที่ 10 เอาเงินภาษีไปจัดงานวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นบิดา แทนที่จะนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อประชาชน

ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันรายละ 200,000 บาท รวม 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการใดๆ อันมีลักษณะทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือมีลักษณะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามชักชวนหรือโพสต์ข้อความลงในสื่อโซเชียลมีเดีย ชักชวน ยุยง ให้เกิดการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากศาล” และยังกำหนดให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ด้วย โดยต่อมา ศาลทยอยมีคำสั่งให้ปลดกำไลดังกล่าวได้

.

คดีนี้ ศาลสืบพยานโจทก์และจำเลยไปกว่า 11 นัด ในระหว่างวันที่ 20 มิ.ย., 19, 20 ต.ค. 2566, 31 ม.ค., 7 – 8 มี.ค., 30 – 31 พ.ค., 16, 23 ส.ค. 2567 และ 17 ม.ค. 2568

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 15 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ผู้กล่าวหาที่ 1, มะลิวัลย์ หวาดน้อย สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ผู้กล่าวหาที่ 2, พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน และพนักงานสอบสวน, พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เนตรพุดชา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน, นันทนัช เปี่ยมสิน พยานความเห็น, 

ร.ต.อ.อมร โนนมะหิง รองสารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน, ชูเกียรติ ชมกลิ่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน, พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย พยานความเห็น, ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ สัตย์สารกุลธร เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัย, คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระ พยานความเห็นทางกฎหมาย, 

กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน, หนูจันทร์ พิมพรมมา พยานความเห็น, พ.ต.อ.เทอดไทย สุขไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1, กันตเมธส์ จโนภาส ทนายความ พยานความเห็นทางกฎหมาย และ ร.ต.อ.สุรศักดิ์ ช่วงทิพย์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน

ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ วรรณวลี ธรรมสัตยา จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยาน, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ จำเลยที่ 2 อ้างตนเป็นพยาน, เบนจา อะปัญ จำเลยที่ 3 อ้างตนเป็นพยาน และ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานความเห็นทางวิชาการ

ข้อต่อสู้ของจำเลยในข้อหามาตรา 112 จำเลยทั้งสามยืนยันว่า คำปราศรัยไม่ได้เป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 จึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ข้อความแรกกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์ยุคที่ยังมีศึกสงคราม ส่วนข้อความที่สองเป็นการวิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนการยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎร

คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ข้อความที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 5 เรื่องการเลิกไพร่ เลิกทาส แต่ประชาชนยังถูกกดขี่ และกล่าวถึงรัชกาลที่ 7 ว่าไม่เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย เป็นการพูดถึงประวัติศาสตร์อีกมุมนอกจากแบบเรียน ส่วนข้อความที่กล่าวว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกยกเป็นพระเจ้านั้น พยานต้องการวิจารณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่อภิปรายตรวจสอบงบสถาบันฯ ปี 2564 จำนวน 37,000 ล้านบาท

คำปราศรัยของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้รัฐประหารนั้น เพียงต้องการเล่าวิธีต่อต้านรัฐประหารซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งกบฏเมษาฮาวายที่ทำรัฐประหารไม่สำเร็จ ส่วนข้อความเรื่องการใช้ภาษีประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น พยานสื่อถึงพลเอกประยุทธ์และผู้มีอำนาจที่นำเงินภาษีประชาชนไปจัดงานใหญ่โต เป็นเพียงต้องการให้เป็นผลงานของตน

ข้อต่อสู้ของจำเลยในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสามยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงผู้ร่วมปราศรัยเท่านั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตจัดการชุมนุมหรือขอใช้เครื่องขยายเสียง และไม่มีหน้าที่ต้องจัดมาตรการควบคุมโรคโควิด 19

นอกจากนี้ สกายวอล์คซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เวทีปราศรัยอยู่ห่างจากผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ และไม่พบว่ามีการระบาดของโรคโควิด 19 จากการชุมนุม

ทั้งนี้ ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ยังเกิดเหตุการณ์สืบพยานโดยไม่มีทนายความ เมื่อผู้รับมอบฉันทะจากทนายความของจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากทนายความมีอาการป่วยไมเกรน ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่ามีอาการโรคปวดศีรษะและขอให้พักรักษาตัว 1 วัน ตามใบรับรองแพทย์ แต่ศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี 

ผู้รับมอบฉันทะจากทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานต่อศาล และจำเลยที่ 1 กับ 2 แถลงว่า ไม่ต้องการที่จะสืบพยานโจทก์โดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วย แต่ศาลก็ยังยืนยันที่จะให้มีการสืบพยานโจทก์ต่อ แม้จำเลยทั้งสองออกจากห้องพิจารณาคดีไปเพื่อเขียนคำร้องขอพบอธิบดีศาล ในระหว่างนั้นที่ห้องพิจารณาคดีศาลก็ได้ทำการสืบพยานโจทก์ต่อ โดยที่ไม่มีจำเลยอยู่รับฟังการพิจารณาด้วย 

ภายหลังศาลระบุในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ไม่ได้ตัดสิทธิให้ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ที่มาในวันนี้ และแม้จะมีการสืบพยานโจทก์ไปก่อน ทนายก็สามารถคัดคำเบิกความของพยานโจทก์เพื่อไปซักค้านในนัดต่อไปได้ ไม่เห็นว่าจำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด 

.

พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ผู้กล่าวหาที่ 1 เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุในวันที่ 23 มิ.ย. 2564 พยานพบเห็นข้อความที่มีการลงในเฟซบุ๊กว่าจะมีการจัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณสกายวอล์คปทุมวัน แต่จำชื่อบัญชีไม่ได้ จำได้เพียงว่าเป็นของตี้ และชาติชาย แกดำ ซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนี้ ชักชวนให้มาชุมนุมในวันเกิดเหตุ เวลา 17.00 น. แต่นอกจากนี้จะมีผู้อื่นโพสต์เชิญชวนอีกหรือไม่นั้น พยานจำไม่ได้

หลังทราบข่าว พยานได้สืบสวนหาข่าวและลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุตั้งแต่ 16.30 น. โดยไปกับพวกประมาณ 8 คน พบว่ามีการจัดกิจกรรมหน้าหอศิลป์ หลังจากนั้นจึงเดินขึ้นมาบนสกายวอล์ค โดยก่อนหน้าที่จำเลยทั้งสามขึ้นปราศรัยบนสกายวอล์ค พยานไม่เห็นทั้งสามคน

พยานเห็นจำเลยที่ 3 ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรกในเวลาประมาณ 17.30 น. แต่จำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 พูดอะไรและใช้เวลาปราศรัยนานเท่าใด จำเลยที่ 2 ขึ้นปราศรัยในเวลาประมาณ 18.30 น. แต่พยานจำเนื้อหาไม่ได้ ต่อมาในเวลาประมาณ 19.00 น. จำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัย แต่พยานจำข้อความที่ปราศรัยไม่ได้ 

ในระหว่างที่จำเลยทั้งสามปราศรัย พยานเดินไปมารอบนอก ห่างจากจุดปราศรัยประมาณ 20 เมตร พยานเห็นจำเลยทั้งสามชัดเจน เนื่องจากมีแสงสว่างบนสกายวอล์ค จนถึงเวลาประมาณ 20.30 น. ชาติชายจึงประกาศยุติการชุมนุม

พยานเห็นว่ามีประชาชนมาชุมนุมประมาณ 200 – 300 คน โดยไม่มีมาตรการควบคุมโรค ไม่มีจุดคัดกรองโควิด-19 จำเลยทั้งสามใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งพยานได้ตรวจสอบที่ สน.ปทุมวัน แล้ว และไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุม ปรากฏตามหนังสือของสำนักอนามัยของเขตปทุมวัน และหนังสือของ สน.ปทุมวัน ซึ่งต้องขออนุญาตจัดการชุมนุมจากทั้งสองที่ และพยานได้สอบถามพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน จึงทราบว่าจำเลยไม่ได้ทำหนังสือไปที่ผู้กำกับฯ

พยานเบิกความต่อไปว่า พยานจำคำพูดที่จำเลยทั้งสามกับพวกปราศรัยไม่ได้ แต่จำได้ว่ามีคำพูดหมิ่นเหม่เรื่องสถาบันฯ มีใจความก้าวล่วงด้อยค่าสถาบันฯ จึงไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสามกับพวก

พยานเป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวน โดยได้ไปถ่ายรูปและรายงานสถานการณ์ในที่เกิดเหตุ และให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทปคำปราศรัย ก่อนรายงานต่อผู้บังคับบัญชา หลังจากนั้น พยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้จัดการชุมนุมในคดีนี้ และไม่ทราบว่าโปสเตอร์ตามโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1  ใครเป็นผู้จัดทำ และรับว่าผู้จัดงานกับผู้เชิญชวนไปร่วมชุมนุมอาจเป็นคนละคนก็ได้ 

พยานเบิกความว่า ขณะที่ชุมนุม บริเวณโดยรอบสกายวอล์คสามารถเดินไปมาได้ ที่ชุมนุมเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้เป็นปกติ พยานขึ้นมาบนสกายวอล์คจากฝั่งมาบุญครอง ไม่ได้เดินไปดูทางขึ้นหอศิลป์ และไม่ได้ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจดูว่ามีจุดคัดกรองหรือไม่ แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาบอกพยานว่าไม่เห็นจุดคัดกรองในบริเวณชุมนุม 

พยานทราบว่า หน้าที่หลักในการจัดมาตรฐานเป็นของสำนักอนามัยและสิ่งแวดล้อมเขตปทุมวัน ในวันเกิดเหตุ สำนักอนามัยและสิ่งแวดล้อมเขตปทุมวันไม่ได้ไปบริเวณที่ชุมนุม และรับว่าผู้ชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยเกือบทุกคน

ในตอนแรก พยานร้องทุกข์แค่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ไม่ได้ร้องทุกข์ตามมาตรา 112

ขณะที่พยานไปถึงบริเวณที่ชุมนุม มีเครื่องขยายเสียงติดตั้งอยู่แล้ว พยานไม่เห็นจำเลยทั้งสามเป็นผู้นำเครื่องขยายเสียงมาติดตั้งในที่ชุมนุม

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

พยานไม่ทราบว่า โปสเตอร์ผู้ใดเป็นผู้จัดทำ แต่ทราบว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุม

.

มะลิวัลย์ หวาดน้อย สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ผู้กล่าวหาที่ 2 เบิกความว่า ปัจจุบันประกอบอาชีพรับจ้าง เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นผู้กล่าวหาที่ 2  และเป็นสมาชิกของ ศปปส.

พยานทราบเหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564  โดยพยานอยู่บ้านแล้วเปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวเจอเพจของ Daily Topics เอาการชุมนุมในวันเกิดเหตุมาลง จึงเปิดดู เห็นข้อความของจำเลยที่ 3  ในคลิปชื่อ ‘24 มิถุนายน ราษฎรยืนยันดันเพดาน’ และได้ฟังเนื้อหาการปราศรัยช่วง 19.00 – 19.20 น. มีข้อความว่า “เราจะเรียกพระองค์ว่าท่าน” ซึ่งพยานเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งต้องเรียกว่าพระองค์ จะเรียกท่านไม่ได้ 

นอกจากนี้ จำเลยที่ 3 มีการปราศรัยในทำนองว่า พระมหากษัตริย์สั่งให้ทำรัฐประหาร โดยเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 เพราะการทำรัฐประหารจะเป็นคณะใดที่ทำ ทำเสร็จแล้วก็ต้องมาให้พระองค์ลงพระปรมาภิไธย

และจำเลยที่ 3 ยังปราศรัยเรื่องวันชาติในทำนองว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพ่อและเป็นวันชาติ และปราศรัยว่า ทำไมต้องนำภาษีประชาชนมาจัดงาน ซึ่งพยานเห็นว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 เอาภาษีประชาชนไปจัดงานวันพ่อ ไม่เอาเงินมาจัดเอง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9  เป็นพระบิดาของรัชกาลที่ 10  

จำเลยที่ 1 นั้น พยานจำเวลาปราศรัยไม่ได้ แต่มีเนื้อหาลักษณะว่า การสงครามที่ผ่านมา พ่อแม่ พี่น้อง ประชาชนเสียชีวิต ทำไมไม่มีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ มีแต่พระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์อยู่ด้านหลัง ทำไมยกย่องแต่พระมหากษัตริย์ ซึ่งพยานเข้าใจว่า ประชาชนที่ล้มตายทำไมไม่ยกย่องบ้าง ประชาชนอยู่ข้างหน้า พระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลัง ซึ่งพยานเห็นว่ามีพระมหากษัตริย์สู้รบรักษาเอกราชมาหลายพระองค์แล้ว ข้อความจึงหมายถึงพระมหากษัตริย์ที่ผ่านมาทุกพระองค์ เป็นการด้อยค่าการสู้รบของพระองค์

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ปราศรัยในทำนองว่า ถ้าใส่เสื้อเหลืองแสดงว่ารักชาติ  หากจำเลยที่ 1 ใส่เสื้อเหลืองแล้วจะสามารถทำความผิดอะไรก็ได้ ซึ่งพยานเห็นว่า ทำให้คนเข้าใจว่าหากเป็นพรรคพวกของในหลวงแล้ว สามารถทำความผิดอะไรก็ได้ ซึ่งพยานเห็นว่าจำเลยที่ 1 หมายถึง รัชกาลที่ 10

จำเลยที่ 2 นั้น ปราศรัยเกี่ยวกับการเลิกทาสของในหลวงรัชกาลที่ 5  ว่ามีการประกาศเลิกทาส เลิกระบบไพร่ แต่ไม่เป็นความจริง เพราะทุกวันนี้ประชาชนยังโดนกดขี่อยู่ และมีการปราศรัยถึงรัชกาลที่ 7  ว่าพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนเพื่อให้เกิดประชาธิปไตย แต่ไม่เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยตรงไหนเลย ซึ่งพยานเข้าใจว่า เหมือนรัชกาลที่ 7 ไม่ได้ประชาธิปไตยแก่ประชาชนจริง และพยานถามกลับว่า ทุกวันนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน

จำเลยที่ 2 ยังปราศรัยทำนองว่า พระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนเทวดา เราก็คน คุณก็คน ทำไมทำตัวเป็นเหมือนเทวดา เหมือนพระพุทธเจ้า ทำให้พยานเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือคนทั่วไป เป็นการด้อยค่าพระมหากษัตริย์ เนื่องจากความจริงแล้ว พระมหากษัตริย์ก็เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป

นอกจากนี้ จำเลยที่ 2  ยังพูดถึงเรื่องการทำรัฐประหารว่าในหลวงทรงอยู่เบื้องหลัง แต่ความจริงพระองค์ทรงเป็นกลาง 

และพูดเรื่องงบประมาณสถาบันฯ 37,000 ล้านบาท ที่ไม่สามารถติงหรือวิจารณ์ได้ ซึ่งพยานเห็นว่า เป็นการบิดเบือนว่าไม่สามารถวิจารณ์ได้ เพราะงบประมาณต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร 

หลังจากพยานได้ฟังคลิปคำปราศรัย พยานได้ไปกล่าวโทษร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 โดยนำคลิปวิดีโอที่พยานดูผ่านเฟซบุ๊กไปยื่นประกอบ ตามคลิปที่เป็นพยานวัตถุในคดีนี้

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาการตลาด พยานมีความสนใจทางด้านการเมือง และรับว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการชุมนุมหลายครั้งมักมี 3 ข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก แก้รัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันฯ โดยในความรู้สึกของพยาน ข้อเรียกร้องที่ 1 กับ 2  พยานเฉยๆ แต่ข้อเรียกร้องที่ 3 พยานรู้สึกไม่ชอบใจที่พูดถึง

ก่อนหน้าการชุมนุมนี้ พยานเคยฟังคำปราศรัยของบุคคลอื่นนอกจากจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่มราษฎร แต่อาจฟังไม่ครบ และจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำของกลุ่มดังกล่าวด้วย 

พยานกับสมาชิกกลุ่ม ศปปส. เคยแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับกลุ่มราษฎรมาก่อนคดีนี้หลายคดี ในส่วนของพยานเคยร้องทุกข์กล่าวโทษมาตรา 112 มาแล้วกว่า 10 คดี พยานรับว่า ศปปส. เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัวจำเลยในคดีนี้ แต่พยานไม่ขอตอบว่าเคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัวของจำเลยทั้งสามในคดีอื่นหรือไม่

พยานเกิดในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 พอรัชกาลที่ 9 ภายหลังสวรรคตในวันที่ 13 ต.ค. 2559 รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ประเทศชาติก็ปกติดี ไม่เคยมีศึกสงครามใด ๆ เกิดขึ้น พยานเคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีต ประเด็นที่จำเลยที่ 1 พูดถึงเวลาที่มีศึกสงครามคือการพูดถึงในหน้าประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาแล้ว

พยานรับว่า ในอดีตเคยมีพระราชวงศ์ชั้นสูงที่เสียชีวิตในสงคราม เช่น พระศรีสุริโยทัย แต่พยานไม่ขอตอบว่าเคยมีพระมหากษัตริย์เสียชีวิตในสงครามหรือไม่ 

ทนายความถามว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องการใส่เสื้อเหลือง ก่อนพูดเรื่องนี้ จำเลยที่ 1 ได้เท้าความเรื่องของแน่งน้อย (อดีตประธานกลุ่ม ศชอ.) ซึ่งไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และเยาวชนอายุ 14 ปี พยานตอบว่า ถ้าไม่พอใจบุคคลที่ชื่อแน่งน้อยก็ไม่ควรเอาสถาบันฯ ลงมาเปรียบเทียบ แต่รับว่า ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 เสื้อเหลืองกลายเป็นสัญลักษณ์แสดงความจงรักภักดี  การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีการยึดสนามบิน ก็ใส่เสื้อเหลืองเป็นสัญลักษณ์

พยานเบิกความตอบว่า เป็นสมาชิกกลุ่ม ศปปส. ตั้งแต่ปี 2563  โดยรวมกลุ่มแสดงความจงรักภักดี รับเสด็จ และปกป้องสถาบันฯ โดยหากมีการกระทำเข้าข่ายมาตรา 112 ก็จะไปกล่าวโทษ โดยสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ มีหลากหลายประเภท เช่น ตำรวจ นักการเมือง และประชาชน และรับว่า ในการแจ้งความของกลุ่ม ศปปส. จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานซึ่งมีนักกฎหมายด้วย และเท่าที่พยานทราบกลุ่ม ศปปส. น่าจะมีสมาชิกประมาณ 70,000 กว่าคนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่มของพยานมีภาคีเป็นกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ แต่พยานไม่ใช่สมาชิกกลุ่มดังกล่าว ประธานกลุ่ม ศปปส. คือ อานนท์ กลิ่นแก้ว ทนายความให้พยานดูสำเนาเอกสารซึ่งเป็นข่าวของประธานกลุ่มไลฟ์สดขู่ฆ่าเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี พยานดูแล้วรับว่า มีข่าวเช่นนั้นจริง เป็นการไลฟ์สดส่วนตัวของอานนท์ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม และพยานไม่ได้อยู่ด้วยในขณะนั้น

พยานเอกสารซึ่งพยานส่งให้ตำรวจ มีทีมงานในกลุ่มเป็นผู้จัดทำ รวมถึงถอดเทปคำปราศรัยให้ ซึ่งคนในกลุ่มจะช่วยกันวิเคราะห์ว่าข้อความเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ ก่อนจะเข้าแจ้งความร้องทุกข์ แต่พยานไม่ขอตอบว่าคนในกลุ่มมีใครบ้าง โดยระบุว่าไม่เป็นความลับ แต่ไม่ขอตอบ

พยานรับว่า ที่จำเลยที่ 2 พูดถึงการเลิกทาสเป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ในรัชกาลที่ 5 หลังพยานได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยที่ 2  ก็ยังคงเคารพรักและยอมตายแทนสถาบันได้ ไม่ได้รู้สึกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือเกลียดชัง โดยพยานระบุว่า ยิ่งหมิ่นยิ่งรัก 

พยานรับว่า หลังรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ก็ไม่เคยเกิดการรัฐประหารขึ้น ทนายความถามว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะพูดถึงเรื่องการรัฐประหาร ได้ปราศรัยเกี่ยวกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่ 1 สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร ก่อนใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พูดถึงอย่างไรก็ไม่ควรมีข้อความด้อยค่าหรือเสียดสี แต่พยานฟังข้อความแล้ว ไม่ได้ทำให้รู้สึกดูถูก ดูหมิ่น หรือเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ทนายความถามว่า พยานฟังข้อความของจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับการที่พระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารหลายครั้ง ไม่ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า แม้ไม่ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10  แต่ดูหมิ่นรัชกาลที่ 9  ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของประชาชน และเปรียบเสมือนเป็นพ่อแห่งแผ่นดิน ไม่ได้จำกัดความว่าเป็นพ่อของในหลวงรัชกาลที่ 10 เท่านั้น 

พยานไม่ขอตอบว่า พระมหากษัตริย์ใช้เงินภาษีของประชาชนหรือไม่ และไม่ขอตอบคำถามว่า ความเป็นจริงแล้ว พระมหากษัตริย์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการจัดการงบประมาณแผ่นดิน

ทนายความถามว่า ที่จำเลยที่ 3 ปราศรัยเกี่ยวกับการใช้งบประมาณจัดงานวันพ่อนั้น เป็นการปราศรัยเพื่อตำหนิรัฐบาลที่ใช้เงินจัดงานใช่หรือไม่ พยานตอบว่า พยานเข้าใจว่ากล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่รับว่าการจัดงานวันชาตินอกจากรัฐบาล ก็มีหน่วยงานอื่น ๆ จัดด้วยเช่นกัน

พยานไม่ขอตอบว่า ก่อนที่รัฐบาลประยุทธ์จะประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันชาติ วันที่ 24 มิถุนายนเคยเป็นวันชาติมาก่อน  

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

พยานตอบว่า ข้อความที่ปราศรัยว่า การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ข้อที่ 1 สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร พยานเห็นว่า ผู้ที่ทำรัฐประหารเป็นกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจะมาปฏิรูปสถาบันฯ ตรงที่ใด

.

พ.ต.อ.พันษา อมราพิทักษ์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน และพนักงานสอบสวน, พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เนตรพุดชา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน, ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ สัตย์สารกุลธร เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถอดเทปคำปราศรัย  และ ร.ต.อ.อมร โนนมะหิง รองสารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความในทำนองเดียวกัน สามารถสรุปได้ ดังนี้

เกี่ยวกับคดีนี้ ร.ต.อ.อมร สืบทราบจากเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งข้อความลงวันที่ 20 มิ.ย. 2564 ว่าเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ที่หอศิลป์และสกายวอล์คปทุมวัน จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

ด้าน พ.ต.อ.พันษา นั้น เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สืบสวนว่าจะมีกิจกรรมในวันเกิดเหตุ จึงได้จัดกำลังตำรวจดูแลความเรียบร้อยให้กับผู้จัดและบุคคลอื่น ๆ  

พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า ในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี 2475 และวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล พร้อมมีข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

พ.ต.อ.พันษา ไปถึงสกายวอล์คในเวลา 14.00 น. เพื่อตรวจความเรียบร้อยและวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 กองร้อย ประมาณ 170 คน โดยมีการเกณฑ์กำลังไว้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกรณีต้องการการสนับสนุน ส่วน พ.ต.ต.อัศฎาศ์ และ ร.ต.อ.อมร ลงพื้นที่การชุมนุมประมาณ 16.00 น. กว่า และตำรวจทั้งสามเบิกความว่า ผู้ชุมนุมทยอยเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 17.00 น. เศษ

พ.ต.อ.พันษา พบว่ามีเครื่องขยายเสียง เล่นดนตรี และพูดประชาสัมพันธ์ พยานจึงเข้าไปพูดคุยขอให้หันเครื่องขยายเสียงไปฝั่งตรงข้ามวังสระปทุม หรือปรับเสียงไม่ให้ดังเกินไป ต่อมาประมาณ 17.15 น. พยานเห็นว่า มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จึงเข้าไปชี้แจงผู้ชุมนุมอีกครั้งว่าการทำกิจกรรมเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

พ.ต.อ.พันษา และ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เห็นว่า ในตอนแรกชาติชาย แกดำ เป็นผู้ดำเนินรายการ ก่อนมีการสับเปลี่ยนขึ้นปราศรัย รวมถึงจำเลยทั้งสามในคดีนี้ พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า การปราศรัยมีการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า เสียงดังในระดับที่คนบนสกายวอล์คได้ยินชัดเจน โดยการใช้เครื่องขยายเสียง ต้องขออนุญาตผู้อำนวยการ สำนักงานเขตปทุมวัน และการรวมตัวกันเกิน 50 คนก็ต้องขอสำนักงานเขตปทุมวัน เพื่อจัดให้มีมาตรการควบคุมโรคระบาด 

ร.ต.อ.อมร เข้าสังเกตสถานการณ์และถ่ายภาพในบริเวณที่ชุมนุม ซึ่งบริเวณที่เกิดเหตุตอนกลางคืนมีแสงสว่างจากสกายวอล์คและหอศิลป์ พยานเห็นว่าผู้ชุมนุมมีประมาณ 500 คน โดยไม่เห็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาในบริเวณใกล้เคียง และพยานเป็นผู้จัดทำรายงานการสอบสวนร่วมกับ พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู ผู้กล่าวหาที่ 1 และทำบัญชีของกลาง

พ.ต.อ.พันษา และ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า บริเวณที่ชุมนุมไม่เห็นจุดคัดกรอง ไม่พบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

ส่วน พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เบิกความว่า ที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่ง บริเวณสกายวอล์คสามารถเชื่อมโยงไปห้างสรรพสินค้าและสถานีรถไฟฟ้าได้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมน่าจะมีประมาณ 600 คน

ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ เบิกความว่า พยานมีหน้าที่ถอดเทปคำปราศรัยของจำเลยทั้งสาม  คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 สรุปได้ว่า สถาบันกษัตริย์ถูกยกย่องในเรื่องการศึกสงคราม ส่วนประชาชนซึ่งออกสู้รบไม่ได้ถูกเชิดชู คงมีเพียงเชิดชูพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ทั้งที่ในสนามรบอยู่ด้านหลัง และข้อความที่ว่า การใส่เสื้อเหลืองก็ดูเป็นคนรักชาติ สามารถขอให้กษัตริย์ยกโทษให้ได้ 

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2  สรุปได้ว่า รัชกาลที่ 5 มีการเลิกทาส แต่ความเป็นจริงยังมีการกดขี่ประชาชน และรัชกาลที่ 7  ที่ยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตยนั้น ไม่เป็นความจริง และเห็นควรว่าไม่ให้พระมหากษัตริย์เซ็นรัฐประหาร และปราศรัยว่ามีการยกย่องกษัตริย์เหมือนเทพ ทำให้ประชาชนไม่กล้าตรวจสอบและพูดถึงเรื่องงบประมาณ

ส่วนของจำเลยที่ 3  สรุปได้ว่า สถาบันกษัตริย์ไม่ควรเซ็นรับรองรัฐประหาร และเรื่องเกี่ยวกับวันที่ 5 ธันวาคม ว่าทำไมต้องอาศัยงบประมาณประชาชนจัดงาน

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พ.ต.อ.พันษา, ร.ต.อ.อมร และ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า จากการสืบสวนไม่ปรากฏว่าผู้ดูแลเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นใคร เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งสามหรือไม่ 

พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า เรื่องเครื่องขยายเสียง ผู้ที่มีหน้าที่ขออนุญาตคือเจ้าของหรือผู้ที่ควบคุมดูแลเครื่องขยายเสียง ในวันดังกล่าวพยานเห็นคนขนเครื่องขยายเสียงมา แต่ไม่ทราบว่าใคร แต่ไม่ใช่จำเลยทั้งสาม สอดคล้องกับที่ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ และ ร.ต.อ.อมร เบิกความว่า ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมในคดีนี้ และไม่ทราบว่าผู้ใดขนย้าย หรือนำเครื่องขยายเสียงเข้ามาในพื้นที่ 

เกี่ยวกับการประกาศห้ามจัดการชุมนุมเกินกว่า 50 คนนั้น พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาด แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานคร โดยปกติพยานจะส่งหนังสือไปสอบถามสำนักงานเขตฯ ว่ามีการขออนุญาตหรือไม่ แต่ในครั้งนี้ พยานจำไม่ได้ โดยสำนักงานเขตจะตอบกลับมาบ้างหรือไม่ตอบบ้าง แต่พยานทราบจากผู้ปฏิบัติงาน เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจว่าไม่มีการขออนุญาต

พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการกีดกั้นพื้นที่ ประชาชนทั่วไปสามารถเดินผ่านไปทิศทางต่าง ๆ ได้ ผู้ชุมนุมมีการออกันในช่วงที่ปราศรัยค่อนข้างหนาแน่น พยานจำไม่ได้ว่าผู้ชุมนุมมีการแต่งตัวเชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกันหรือไม่ 

สอดคล้องกับที่ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เบิกความว่า ห้างสรรพสินค้าบริเวณใกล้เคียงยังเปิดให้บริการตามปกติ ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและห้างสรรพสินค้าสามารถเดินผ่านไปมาได้ และหากผู้ชุมนุมตั้งจุดคัดกรองโดยการกั้นเขต พยานเห็นว่าอาจจะเป็นการกีดขวางการสัญจรไปมาของประชาชน และบริเวณที่เกิดเหตุ ในเวลาปกติมักมีประชาชนเดินไปมาพลุกพล่านอยู่แล้ว และในวันดังกล่าวผู้ชุมนุมไม่ได้แต่งกายสีใดโดยเฉพาะอันเป็นการแสดงสัญลักษณ์ โดยแต่งกายหลากหลาย 

พ.ต.อ.พันษา และ พ.ต.ต.อัศฎาศ์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า พื้นที่ชุมนุมมีลักษณะเปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเหตุรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย และ พ.ต.อ.พันษา เบิกความเพิ่มเติมว่า การชุมนุมสามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วน ร.ต.อ.อมร เบิกความว่า ในการชุมนุมไม่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดเป็นนัยสำคัญ แต่พยานไม่ทราบว่าถ้ามีคนชุมนุมเต็มบริเวณสกายวอล์คจะได้จำนวน 4,000 คนหรือไม่

พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า หลังทราบว่าจะมีการชุมนุม พยานได้ประสานไปที่กลุ่มงานควบคุมโรคและสาธารณสุขด้วย แต่ไม่ทราบว่าในวันเกิดเหตุจะมีเจ้าหน้าที่มาหรือไม่ พยานไม่ได้รับแจ้งเรื่องการควบคุมโรคจากสำนักงานสาธารณสุขฯ และพยานไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องระบาดวิทยาหรือควบคุมโรค 

ร.ต.อ.อมร เบิกความว่า ในวันดังกล่าวพยานแต่งกายนอกเครื่องแบบ จำได้ว่าจำเลยที่ 1 ปราศรัยเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยพยานบันทึกเหตุการณ์ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นช่วง ๆ 4 – 6 คลิป เฉลี่ยคลิปละ 3 – 4 นาที รวมแล้วน่าจะประมาณ 20 นาที และได้ถ่ายภาพนิ่งไว้ แต่ภาพในพยานเอกสารเป็นเจ้าหน้าที่คนอื่นเป็นผู้ถ่าย และพยานไม่ได้เป็นผู้ถอดเทปคำปราศรัย

ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ เบิกความว่า พยานทราบว่าในช่วงปี 2562 –  2564 มีการชุมนุมทางการเมืองโดยกลุ่มราษฎรเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขมาตรา 112

ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ รับว่า ข้อความของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใด 

การถอดเทปคำปราศรัยทำโดยคณะทำงานฯ จึงมีบุคคลอื่นนอกเหนือจากพยานด้วย พยานจำไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยข้อความเรื่องการยกสถาบันกษัตริย์ให้สูงส่งเกินไปทำให้ตรวจสอบไม่ได้นั้น มีการพิมพ์ผิดหรือถูกต้องตรงคำปราศรัยหรือไม่ 

ข้อความปราศรัยของจำเลยที่ 3 นั้น พยานรับว่า การรัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 10  ที่จำเลยที่ 3 ปราศรัยเกี่ยวกับคำว่า “กษัตริย์” นั้น พยานไม่ทราบว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 หรือไม่

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

พ.ต.อ.พันษา เบิกความว่า ในภาวะปกติ การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีข้อกำหนดห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 50 คน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค 

.

พ.ต.อ.เทอดไทย สุขไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความว่า พยานเป็นคนทำรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงในเขตกรุงเทพมหานคร

เกี่ยวกับคดีนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 22 มิ.ย. 2564 มีการนัดชุมนุมในโอกาสครบรอบ 89 ปี  ปีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในสื่อโซเชียล โดยนัดหมายในวันที่ 24 มิ.ย. 2564 

พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยเป็นคนแรก ในทำนองว่า พระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในศึกสงคราม แต่ความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ในอดีตก็นำทัพอยู่ และพูดถึงคนใส่เสื้อเหลืองว่าจะไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งหมายความว่ากฎหมายไม่เป็นธรรม ลงโทษเฉพาะฝ่ายตัวเองฝ่ายเดียว หากเป็นฝ่ายตรงข้าม ศาลจะไม่ลงโทษ และปราศรัยว่า หากไม่แก้มาตรา 112  หรือปฏิรูปสถาบันฯ จะส่งผลถึงลูกหลาน ซึ่งพยานเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเลยที่ 1 เข้าใจไปเอง ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกด้อยค่า 

ในส่วนของจำเลยที่ 2 ทางสันติบาลมีการติดตามมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2563  และพบว่าที่ผ่านมาก็จะมีการปราศรัยเกี่ยวกับปฏิรูปสถาบันฯ และถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 

ในส่วนของจำเลยที่ 3  พยานจำได้ว่าเป็นการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรายงานที่พยานได้จัดทำไว้ และรายงานต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานตอบว่า พยานรับราชการที่กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 มาก่อนเกิดเหตุ 2 ปี มีอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีความมั่นคงและการเมืองที่เกี่ยวข้อง

พยานทราบเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองว่า ก่อนหน้านี้ในปี 2548 –  2549 มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ใช้สัญลักษณ์เป็นเสื้อสีเหลือง มีการยึดทำเนียบและสนามบิน แต่เกิดขึ้นในปีใดนั้น พยานจำไม่ได้ 

ทนายความถามว่า “คนเสื้อเหลือง” เป็นคำศัพท์ใช้เรียกกลุ่มบุคคลที่มีความอนุรักษ์นิยมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า กลุ่มคนมีการใช้สีเป็นสัญลักษณ์ แต่ในหน้าที่ของสันติบาลจะเรียกเป็น กลุ่ม นปช. หรือกลุ่มพันธมิตรฯ ในการทำหน้าที่ของพยานจะไม่มีการแบ่งแยกสีเสื้อ เพราะกลุ่ม นปช. ที่มาร่วมกับกลุ่มราษฎร บางคนก็มีสัญลักษณ์ แต่บางคนก็ไม่ได้ใส่

พยานไม่ได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ แต่สื่อมวลชนที่ไปทำข่าวก็จะลงคลิปวิดีโอให้เห็น พยานจะเป็นมอนิเตอร์จากสื่อมวลชน ส่วนในที่ชุมนุมก็จะมีผู้ใต้บังคับบัญชาของพยานลงพื้นที่และรายงานเข้ามา โดยจดบันทึกว่าเริ่มกี่โมง ใครพูดอะไรบ้าง และถอดคำพูดเป็นคำ ๆ การทำงานของสันติบาลมี 2 ส่วน คือ งานประสาน และงานภาคสนาม 

พยานรับว่า จากการสืบสวนหาข่าว พยานไม่ทราบว่าผลคดี มาตรา 112 อื่น ๆ ของจำเลยที่ 2  เป็นอย่างไร

พนักงานอัยการถามติง

พยานตอบว่า พยานไม่ทราบเรื่องผลคดีของจำเลยที่ 2 เพราะไม่มีหน้าที่ โดยเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ผู้รับผิดชอบ พยานมีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ชุมนุมแล้วนำข้อมูลจากส่วนกลางมาประกอบเท่านั้น

.

ชูเกียรติ ชมกลิ่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ สำนักงานเขตปทุมวัน เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุ จำวันเวลาไม่ได้ มีหนังสือมาจาก สน.ปทุมวัน เชิญให้สำนักงานเขตปทุมวันร่วมจัดเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ดูแลความสงบเรียบร้อยที่สกายวอล์ค พยานกับพวกประมาณ 5 คน จึงเดินทางไปที่เกิดเหตุเวลาประมาณ 16.30 น. พบว่ามีผู้ชุมนุมมาจากหลักสิบเป็นหลักร้อย 

ในการชุมนุม พยานอยู่จนเลิกกิจกรรมในเวลาประมาณ 20.30 น. จำได้แค่เพนกวิน แต่มีหลายคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัยประมาณ 3 – 4 คน โดยใช้เครื่องขยายเสียง และที่ชุมนุมมีแสงสว่าง พยานเห็นได้ชัดเจน

พยานเบิกความว่า ผู้ชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 มีบางคนใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่มีมาตรการอื่น และกลุ่มผู้ปราศรัยไม่มีการขอจัดการชุมนุมกับสำนักงานเขต

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ฝ่ายเทศกิจมีเจ้าหน้าที่ 10 ท่าน มีหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ และทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

ในการจัดกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมต้องขออนุญาตสำนักงานเขต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรวมตัวกันที่อาจจะขัดต่อประกาศเกี่ยวกับการชุมนุมในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นการแจ้งต่อผู้อำนวยการเขต แต่ฝ่ายเทศกิจไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับการขออนุญาต 

นอกเหนือจากการแจ้งสำนักงานเขตแล้ว ต้องขออนุญาตต่อสำนักงานอนามัย แต่ต้องมีจำนวนคนร่วมกิจกรรมเท่าใดจึงต้องขออนุญาตต่อสำนักงานอนามัยนั้น พยานจำไม่ได้ และพยานไม่ทราบว่าในคดีนี้จะมีผู้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานอนามัยหรือไม่

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในช่วงโรคโควิด-19 คือสำนักงานอนามัย ในส่วนของสำนักงานเขตซึ่งเป็นหน่วยงานย่อย จะเรียกว่าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล มีหน้าที่ตรวจสอบโรคระบาด ซึ่งอาจมีการขอความร่วมมือจากเทศกิจ 

เจ้าหน้าที่เทศกิจไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และพยานไม่มีประกาศนียบัตรเกี่ยวกับการอบรมเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ หรือฝ่ายกฎหมายจะมีแจกประกาศเวียนแจ้งเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ 

ดังนั้น อำนาจหน้าที่ในการสรุปสำนวนไม่ใช่ของพยาน เป็นหน้าที่ของฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ที่จะทำรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา เทศกิจเป็นหน่วยสนับสนุนด้วยการถ่ายภาพและส่งทางไลน์ให้ผู้บังคับบัญชา แต่พยานไม่ทราบว่าผู้บังคับบัญชาจะส่งเข้ามาในสำนวนคดีนี้หรือไม่

เมื่อมีหนังสือจากหน่วยงานราชการถึงผู้อำนวยการเขต ทุกฝ่ายจะไม่ได้ทราบเรื่อง ขึ้นอยู่กับว่าเกี่ยวข้องกับฝ่ายใด กรณีมีการชุมนุมหรือการควบคุมโรคจะต้องส่งให้ฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ โดยฝ่ายเทศกิจจะต้องไปดูความเรียบร้อยและลักษณะการชุมนุมก่อน แล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมจะลงพื้นที่ตามมา แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมที่ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุคดีนี้กับพยานชื่ออะไรนั้น พยานจำไม่ได้

พยานรับว่า ฝ่ายสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ดูแลประชาชนด้วย เช่น การติดประกาศประชาสัมพันธ์ ส่วนฝ่ายปกครองและข้าราชการทั่วไปก็มีหน้าที่ดูแลประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคด้วยเช่นกัน โดยผู้จัดหรือเจ้าภาพจะต้องเป็นคนจัดให้มีมาตรการควบคุมโรคพร้อมขออนุญาตชุมนุม แล้วฝ่ายสิ่งแวดล้อมจะพิจารณาคัดกรองว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ 

พนักงานอัยการไม่ถามติง

.

กุลศิรินทร์ นาคไพจิตร สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน เบิกความว่า พนักงานสอบสวนได้ขอความร่วมมือไปที่สำนักงานราชบัณฑิต สำนักงานฯ จึงมอบหมายให้พยานมาให้การในคดีนี้ 

พยานเบิกความว่า สำนักงานราชบัณฑิตให้คำปรึกษาเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย การตีความหมายจะต้องพิจารณาประโยคที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน พิจารณาเจตนาของผู้กล่าว ผู้รับฟัง และความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลทั่วไป ซึ่งแตกต่างกันไป สำนักงานไม่มีอำนาจให้ความเห็นในภาพรวม แต่สามารถให้ความหมายของคำตามพจนานุกรมได้ 

พนักงานสอบสวนให้พยานให้ความหมายคำว่า “เสือก”, “ไม่เห็นหัว”, “กดขี่”, “กดให้จม”, “โคตรชิบหาย” และ “ห่าเหว” ซึ่งพยานได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

ช่วงตอบทนายความจำเลยถามค้าน

ทนายความจำเลยถามว่า การศึกษา ความเชื่อทางศาสนา ความคิดทางการเมือง มีส่วนในการตีความหมายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นดุลยพินิจในของพนักงานสอบสวน พยานยืนยันตามข้อความที่เคยให้การไว้ พยานมาในนามของผู้แทนสำนักงานฯ จึงต้องอ้างตามพจนานุกรมเท่านั้น

ทนายความถามว่า ในส่วนของสำนักงานราชบัณฑิตยสถาน มีพจนานุกรมที่เป็นหนังสือและการสืบค้นทางออนไลน์ “สถาบันกษัตริย์” จะแยกเป็นคำ ๆ คือ “สถาบัน” และ “กษัตริย์” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ในออนไลน์มาจากพจนานุกรม แต่ทำให้ง่ายโดยปรับรูปแบบให้เหมาะสมสำหรับประชาชน ที่พยานใช้อ้างอิงจะมาจากหนังสือพจนานุกรม พยานรับว่า คำว่า “สถาบัน” และ “กษัตริย์” ตามที่ทนายค้นมานั้น แยกกัน ไม่ใช่คำประสม แต่คำว่า “สถาบันกษัตริย์” เป็นการตีความ ในพจนานุกรมจะมีคำว่า “สถาบันกษัตริย์” หรือไม่นั้น พยานต้องไปตรวจสอบ แต่เชื่อว่าไม่มีการเก็บคำประสมดังกล่าวเป็นคำเดียวกัน

พยานเบิกความตอบว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ส่งคำปราศรัยทั้งหมดให้พยานดู แต่ต่อให้ส่งมาทั้งหมด พยานก็ต้องถามว่าให้แปลถ้อยคำใด หากไม่จำกัดคำ พยานก็จะให้ความหมายทั้งหมดตามที่ปรากฏในพจนานุกรม

ทนายความถามว่า คำว่า “ประวัติศาสตร์” คือเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำความหมายไม่ได้ ทั้งหมดพยานยืนยันตามพจนานุกรม

พนักงานอัยการไม่ถามติง

.

นันทนัช เปี่ยมสิน ประชาชนทั่วไป, พล.ร.ต.ทองย้อย แสงสินชัย ข้าราชการบำนาญ และ หนูจันทร์ พิมพรมมา ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นพยานความเห็น เบิกความในทำนองเดียวกันว่า พนักงานสอบสวนได้ขอให้พยานมาให้ความเห็นเกี่ยวกับคดี

ข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในศึกสงครามนั้น นันทนัชและหนูจันทร์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า อ่านแล้วเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ได้รับการยกย่องจากการทำศึกเพียงผู้เดียว โดยไม่ได้อยู่แนวหน้า ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เข้าใจเพิ่มเติมว่า พระมหากษัตริย์ให้ประชาชนไปรบ แต่พระมหากษัตริย์อยู่ด้านหลังสบาย เวลาเกิดสงครามจริง ๆ พระมหากษัตริย์ไม่ได้ออกรบ

ข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องใส่เสื้อเหลืองแล้วทำผิดจะไม่ถูกดำเนินคดีนั้น พยานความเห็นทั้งสามเข้าใจในทำนองเดียวกันว่า ประชาชนคนใดที่ใส่เสื้อเหลืองหรือเป็นคนของพระมหากษัตริย์กระทำความผิดจะไม่มีความผิด โดยหนูจันทร์เสริมว่า ผู้ที่ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าวจะมีความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องรัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ เลิกทาส แต่ยังกดขี่ประชาชน และเรื่องรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงนั้น นันทนัชกับหนูจันทร์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า อ่านแล้วเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้กดขี่ประชาชน และรัชกาลที่ 7 เป็นพระมหากษัตริย์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยหนูจันทร์เสริมว่า ผู้ที่ได้รับฟังจะเกิดความรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า หมายความว่าไม่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องโกหก

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้สูงส่ง เปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนและภาครัฐไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น พยานความเห็นทั้งสามเข้าใจในทำนองเดียวกันว่า หมายถึงพระมหากษัตริย์ถูกยกให้สูงส่ง ทำให้ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดย พล.ร.ต.ทองย้อย เข้าใจเพิ่มเติมว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือประชาชน จนประชาชนไม่กล้าแตะต้อง แม้กระทั่งเรื่องงบประมาณก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใช้จ่ายเงินอย่างไร

ข้อความของจำเลยที่ 2 ว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหารนั้น นันทนัชเข้าใจว่า หมายถึงพระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่เซ็นรับรองให้มีการรัฐประหาร ในขณะที่ พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า จำเลยที่ 2 ต้องการให้สื่อว่าระบอบการปกครองในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ต้องไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารนั้น นันทนัชเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทำให้เกิดรัฐประหาร ส่วนหนูจันทร์เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้กำหนดว่าจะเซ็นรัฐประหารหรือไม่ ในขณะที่ พล.ร.ต.ทองย้อย เข้าใจว่า พระมหากษัตริย์เห็นด้วยกับการรัฐประหาร มีเพียงบางครั้งที่ไม่เห็นด้วย

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องใช้ภาษีของประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น นันทนัชกับหนูจันทร์เข้าใจในทำนองเดียวกันว่า วันที่ 5 ธันวาคม ไม่ควรเป็นวันพ่อและวันชาติ โดยนันทนัชเสริมว่า เพราะไม่ใช่วันสำคัญของคนทั้งประเทศ ในขณะที่ พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า หมายความว่าวันพ่อมีการเอาผลประโยชน์ของประชาชนไปจัดงานให้

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

นันทนัชเบิกความว่า เคยเป็นพยานในคดีมาตรา 112 เฉพาะคดีนี้ พยานรู้จักพนักงานสอบสวนในคดีเรียกว่า “สารวัตรอู๋” เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้เคียงกับ สน.ปทุมวัน ซึ่งสารวัตรอู๋แจ้งว่ามีคดีมาตรา 112 ให้พยานช่วยอ่านข้อความดังกล่าว 

พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า พยานได้รับการติดต่อให้มาเป็นพยานคดีมาตรา 112 หลายคดี และเคยเบิกความต่อศาลมาแล้วหลายครั้ง

นันทนัชและ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความตอบในทำนองเดียวกันว่า ติดตามข่าวสารการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มราษฎรตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นันทนัชเบิกความเสริมว่า พยานไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ในขณะที่ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความต่อไปว่า ข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และแก้ไขมาตรา 112 นั้น พยานไม่ทราบเจตนาของกลุ่มดังกล่าวว่าเจตนาดีหรือต้องการยุยงปลุกปั่นบ้านเมือง พยานเห็นด้วยกับการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เพียงบางประเด็น ซึ่งการแก้ไขต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่เหมาะสม

ข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในศึกสงครามนั้น พยานความเห็นทั้งสามรับว่า เป็นข้อความที่พูดถึงประวัติศาสตร์ และไม่ได้ระบุเจาะจงว่าหมายถึงกษัตริย์พระองค์ใด โดยนันทนัชเบิกความเสริมว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการเรียกร้องให้เห็นความสำคัญของประชาชน

พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความรับว่า ตั้งแต่เริ่มชาติไทยมาตั้งแต่สุโขทัย ศึกสงครามในอดีต ทหารอาชีพมีจำนวนไม่มาก ดังนั้นจึงใช้การเกณฑ์ไพร่พล คือชาวบ้านธรรมดา ดังนั้นกำลังรบหลักจึงเป็นราษฎร การบาดเจ็บล้มตามมักเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้มากกว่าบุคคลอื่น ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ โดยพยานเห็นว่า ในประวัติศาสตร์ พระมหากษัตริย์มักออกรบโดยพระองค์เอง แต่รับว่า พระมหากษัตริย์เป็นทัพหลวง แต่ในการสู้รบจะใช้ทัพหน้าซึ่งเป็นราษฎรเป็นหลัก

ทนายความถาม พล.ร.ต.ทองย้อย ว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 พูดเป็นการตัดพ้อว่าในประวัติศาสตร์ยกย่องแค่พระมหากษัตริย์ แต่ละเลยประชาชนทั่วไปที่ออกไปรบใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นความเข้าใจของผู้พูดเอง

ข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องใส่เสื้อเหลืองแล้วทำผิดจะไม่ถูกดำเนินคดีนั้น หนูจันทร์รับว่า พนักงานสอบสวนให้พยานอ่านข้อความทั้งหมด ก่อนหน้านี้จำเลยที่ 1 พูดข้อความดังกล่าว มีการพูดถึงแน่งน้อย ส่วนสัญลักษณ์เสื้อเหลืองหมายถึงอะไร พยานไม่ทราบ

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องรัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ เลิกทาส แต่ยังกดขี่ประชาชนนั้น พยานความเห็นทั้งสามรับว่า เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 

ทนายความถาม นันทนัช และ พล.ร.ต.ทองย้อย ว่า การเกณฑ์ทหารเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 5 หรือไม่ พยานทั้งสองตอบว่า ไม่ทราบว่าการเกณฑ์ทหารจะเป็นการแทนระบบการเลิกไพร่ เลิกทาสหรือไม่ โดยนันทนัชทราบว่า การเกณฑ์ทหารเป็นการบังคับ มิใช่การสมัครใจ หากไม่ไปเกณฑ์ทหารจะมีความผิดตามกฎหมาย

เรื่องรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงนั้น นันทนัชและหนูจันทร์เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เป็นการวิจารณ์ตำราเรียน ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 7 แม้จะมีข้อความว่า “หนังสือ” ก็เป็นเพียงที่จำเลยที่ 2 อ้างอิงขึ้นมาเท่านั้น

นันทนัช และ พล.ร.ต.ทองย้อย รับว่า หากตำราเรียนผิดพลาดหรือมีการพบข้อเท็จจริงใหม่ ๆ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์แก้ไขได้ แต่นันทนัชเห็นว่า ตำราบทเรียนที่นำมาสอนนั้น มีการกลั่นกรองความถูกต้องมาแล้ว 

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้สูงส่ง เปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ประชาชนและภาครัฐไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น พยานความเห็นทั้งสามเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ข้อความไม่ได้ระบุว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด 

นันทนัชเบิกความต่อไปว่า พยานเข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ และไม่ทราบว่าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ไม่รวมถึง “สถาบัน” พระมหากษัตริย์

ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และพระมหากษัตริย์ แต่หากดูเฉพาะข้อความจะมีเฉพาะคำว่าสถาบันกษัตริย์ 

นันทนัชกับหนูจันทร์จำไม่ได้ว่า ก่อนข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 2 กล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ไม่กล้าอภิปรายงบประมาณสถาบันกษัตริย์หรือไม่ แต่หนูจันทร์รับว่า ในช่วงปี 2564 ซึ่งมีการเสนองบประมาณในสภา พยานได้ยินข่าวว่านายกรัฐมนตรีห้ามมิให้พูดถึงสถาบันฯ หรืองบสถาบันฯ

ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า พยานทราบว่าก่อนที่จำเลยที่ 2 จะกล่าวถ้อยคำดังกล่าว มีการพูดข้อความอื่นก่อน บริบทข้อความดังกล่าว ผู้ที่ยกสถาบันกษัตริย์ให้สูงส่ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อความของจำเลยที่ 2 ว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหารนั้น พยานความเห็นทั้งสามรับว่า สมัยรัชกาลที่ 10 ไม่เคยมีการรัฐประหาร หนูจันทร์เบิกความด้วยว่า ไม่ได้ระบุถึงกษัตริย์องค์ใด

ส่วนนันทนัชกับ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความตอบว่า ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะกล่าวข้อความดังกล่าว ได้ปราศรัยถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ แต่ พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า ไม่ใช่ข้อความที่พูดเพื่อเสนอแนะการปฏิรูปสถาบันฯ แต่อย่างใด ก่อนรับว่า จำเลยที่ 2 กล่าวถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และห้ามมิให้เกิดขึ้น

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารนั้น หนูจันทร์เข้าใจว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลอื่น ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ส่วนนันทนัชเห็นว่า หมายถึงรัชกาลที่ 9 ในขณะที่ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าไม่ได้หมายถึงรัชกาลที่ 10

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องใช้ภาษีของประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น หนูจันทร์กับ พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ผู้ที่ใช้งบประมาณจัดงานวันพ่อนั้น เป็นรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 แต่ พล.ร.ต.ทองย้อย เห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพาดพิงพระมหากษัตริย์ 

หนูจันทร์เบิกความว่า เมื่ออ่านถ้อยคำที่จำเลยที่ 3 ปราศรัย พยานไม่ได้รู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังพระมหากษัตริย์ และไม่ได้ถามความเห็นผู้อื่น ส่วน พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า แม้พยานได้ฟังคำปราศรัยของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ ความรัก เคารพ เทิดทูนสถาบันฯ ของพยานก็ไม่ลดลง พยานมีความใกล้ชิดกับสถาบันฯ เท่า ๆ กับประชาชนทั่วไป ในฐานะพสกนิกร ไม่ใช่ในฐานะทหาร พยานก็สามารถสละชีพเพื่อกษัตริย์ได้

นันทนัชเบิกความว่า พยานมีความรักเทิดทูนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และสามารถเรียกว่าพ่อได้ รวมถึงประชาชนคนไทยหลายคนด้วย หากมีผู้มาวิจารณ์พระมหากษัตริย์ พยานย่อมรู้สึกโกรธเคือง ส่วนถ้อยคำปราศรัยของจำเลยที่ 3 นั้น พยานอ่านแล้วไม่ถึงขนาดโกรธเคือง แต่ไม่สบายใจ

ช่วงตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามติง

นันทนัช เบิกความว่า อ่านข้อความที่จำเลยทั้งสามปราศรัยแล้ว พยานเห็นว่าจำเลยทั้งสามใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ทำให้พยานไม่สบายใจ

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องใช้ภาษีของประชาชนจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น พล.ร.ต.ทองย้อย เบิกความว่า ฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นการตำหนิกษัตริย์

.

คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระ และ กันตเมธส์ จโนภาส ทนายความ ซึ่งเป็นพยานความเห็นทางกฎหมาย เบิกความในทำนองเดียวกันว่า พนักงานสอบสวนในคดีนี้ติดต่อให้ไปให้ปากคำเกี่ยวกับข้อความที่จำเลยปราศรัย โดยขอความเห็นทางวิชาการและกฎหมาย

กันตเมธส์เบิกความว่า พยานจำถ้อยคำที่จำเลยทั้งสามปราศรัยไม่ได้ แต่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ในชั้นสอบสวน โดยจำได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยเกี่ยวกับปฏิรูปสถาบันฯ เรื่องศึกสงคราม

คมสันเบิกความว่า พยานอ่านคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในสงครามแล้วเห็นว่า ข้อความค่อนข้างดูหมิ่นว่าพระมหากษัตริย์ไม่ออกหน้าในการรบ แต่จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในประวัติศาสตร์ก็ไม่มีข้อเท็จจริงดังเช่นที่จำเลยกล่าว พระองค์ออกหน้าในการรบด้วยซ้ำไป ข้อความเป็นการดูหมิ่น ไม่เป็นความจริงไปเสียทั้งหมด 

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องการใส่เสื้อเหลืองทำผิดแล้วไม่โดนดำเนินคดีนั้น พยานเห็นว่า เป็นการพูดจาในเชิงหมิ่นประมาทว่า หากตัวจำเลยถวายตัวเป็นข้าราชบริพาร แม้จะไปฆ่าคนตาย ก็ไม่มีความผิด ซึ่งไม่รู้ว่าเคยเกิดขึ้นจริงหรือไม่

คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เรื่องการยกสถาบันฯ ไว้สูงทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงบประมาณสถาบันฯ นั้น ทำให้เข้าใจว่า สถาบันกษัตริย์ใช้งบประมาณของรัฐมาก ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน จำเลยต้องการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ซึ่งพยานเห็นว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งอภิปรายงบสถาบันกษัตริย์ 

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ว่า พระมหากษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร พยานเห็นว่า แม้เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่เป็นการกล่าวหาในเชิงดูหมิ่นพระองค์ว่าใช้อำนาจส่วนพระองค์รับรองการรัฐประหาร ความจริงเป็นการประนีประนอมระหว่างสถาบันฯ กับผู้ก่อการยึดอำนาจจากรัฐ โดยเกิดมาตั้งแต่ปี 2475  ที่เซ็นรับรองคณะราษฎรที่ยึดอำนาจโดยการรัฐประหาร เพื่อป้องกันการเข่นฆ่ากันของประชาชน

คำปราศรัยของจำเลยที่ 3 เรื่องการใช้ภาษีประชาชนจัดงานวันพ่อหรือวันชาตินั้น พยานเห็นว่า เป็นการกล่าวในเชิงดูหมิ่นว่า รัชกาลที่ 10 เอาภาษีประชาชนไปจัดงานให้รัชกาลที่ 9  ซึ่งความจริงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจัดการ

คมสันเห็นว่า ข้อความของจำเลยทั้งสามมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นและหมิ่นประมาททุกข้อความ ข้อความแม้เป็นจริงบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด

พยานทั้งสองคนเห็นในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง 

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องกษัตริย์อยู่ข้างหลังในสงครามนั้น กันตเมธส์รับว่า เป็นการพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในอดีตในการทำสงครามตั้งแต่สมัยสุโขทัย สำหรับสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องออกรบด้วยพระองค์เอง แต่มีบางทีที่พระบรมวงศานุวงศ์ต้องออกบัญชาการการรบ สำหรับสมัยรัชกาลที่ 10 ยังไม่เคยมีศึกสงครามเกิดขึ้น 

กันตเมธส์เบิกความต่อไปว่า พยานทราบจากตำราในสมัยเรียนว่า ในประวัติศาสตร์ ขณะมีข้าศึก พระมหากษัตริย์นำทัพออกรบด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่นำมาฉายในภายหลัง เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือสมัยกรุงธนบุรีก็จะพบว่าพระเจ้าตากสินได้รวบรวมไพร่พลเพื่อต่อสู้กับข้าศึกเช่นกัน

คมสันเบิกความว่า ข้อความที่จำเลยที่ 1 กล่าวเรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในสงคราม ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนั้นมีอยู่บ้าง แต่จะกล่าวว่าทั้งหมดไม่ได้ โดยตามตำราประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เป็นเช่นนั้นและไม่ได้ระบุถึงพระองค์หนึ่งพระองค์ใด แต่พูดกว้างจนทำให้เข้าใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นเช่นนั้นทั้งหมด

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องการใส่เสื้อเหลืองทำผิดแล้วไม่โดนดำเนินคดีนั้น คมสันจำไม่ได้ว่า ก่อนหน้านั้นจำเลยกล่าวถึงคนชื่อแน่งน้อยหรือไม่ โดยพยานได้อ่านคำปราศรัยทั้งหมด แต่จำได้เฉพาะส่วนที่เป็นประเด็น 

คมสันรับว่า ช่วงปี 2548 – 2549 มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งใช้เสื้อเหลืองสัญลักษณ์ ต่อมาในวันที่ 19 ก.ย. 2549 เกิดการรัฐประหาร มีการใช้ธรรมนูญแผ่นดิน และพยานได้เป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ต่อมามีกลุ่ม กปปส. ชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้ง จนในวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีการรัฐประหาร คมสันรับว่า ได้เข้าร่วมชุมนุม กปปส. และขึ้นปราศรัยด้วยโดยเป็นวิทยากร

ปี 2563 – 2564 มีกลุ่มการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มที่มีลักษณะร่วมกัน คือ เรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ คมสันเบิกความว่า พยานเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 

กันตเมธส์เบิกความว่า พยานจบการศึกษาขั้นสูงสุดในชั้นปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน แม้พยานจะไม่ได้จบสาขาประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ แต่ได้ศึกษาตามหลักสูตรภาคบังคับมาโดยตลอด นอกจากนี้พยานยังชอบไปดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ

คมสันเบิกความว่า ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมหรือกระทรวงยุติธรรม แต่พยานเป็นนักวิชาการที่แสดงความเห็นบ่อย ๆ จึงได้รับการติดต่อจากพนักงานสอบสวนหรืออัยการให้เป็นพยานคดีมาตรา 112 หลักร้อยคดี

ข้อความของจำเลยที่ 2 พูดถึงเหตุการณ์ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 นั้น กันตเมธส์เบิกความว่า แม้ตอนแรกจะอ้างถึงแบบเรียน แต่ก็ปราศรัยทำนองว่า รัชกาลที่ 5 ยังสร้างภาพว่าให้เลิกไพร่ เลิกทาส 

กันตเมธส์รับว่า แม้จะมีเหตุการณ์ว่าได้มีการประกาศกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารจากไพร่ในระบบจริง แต่เนื่องจากภายหลังเลิกทาสแล้วยังมีขุนนางศักดินาที่มีไพร่จำนวนมากไม่เห็นด้วย พระมหากษัตริย์จึงใช้วิธีในการให้คัดเลือกไพร่ของบรรดาขุนนางต่าง ๆ มาเป็นทหารเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมือง และหลังจากประกาศเลิกทาสยังมีข้อกำหนดว่า หากมีเด็กเกิดจากคนที่เป็นทาสก็ให้เป็นไท ไม่ต้องเป็นทาสอีกต่อไป พยานศึกษาและทราบว่าระบบการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นไปเพื่อประนีประนอม ไม่ให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ

นอกจากนี้ พยานได้ศึกษาและทราบว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร รัชกาลที่ 7 เตรียมที่จะดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้แล้ว เมื่อคณะราษฎรดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ 7 จึงยินยอมเพื่อไม่ให้เกิดการเสียเลือดเนื้อ  เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจระบบดังกล่าว แต่พยานรับว่า การที่รัฐธรรมนูญระบุให้อำนาจอธิปไตยเป็นของพระมหากษัตริย์นั้น ย่อมหมายถึงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

กันตเมธส์เห็นว่า ข้อความของจำเลยที่ 2 เป็นการปราศรัยโดยมุ่งหวังให้เข้าใจว่ารัชกาลที่ 7 ไม่ได้เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย โดยพยานทราบว่านักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องนี้

ข้อความของจำเลยที่ 2 เรื่องสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้มีสถานะสูงส่งเปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ภาครัฐและประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น กันตเมธส์เข้าใจว่า จำเลยกำลังกล่าวถึงรัชกาลปัจจุบัน ส่วนคำว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึงพระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัย 

ส่วนคมสันเห็นว่า “สถาบันกษัตริย์” หมายถึง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหมด แต่ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นผู้ใด

ทนายความถามว่า ข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 2 พูดถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่ทำหน้าที่อภิปรายงบสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ กันตเมธส์ตอบว่า พยานไม่ได้เห็นข้อความในส่วนนี้ ในตอนที่พนักงานสอบสวนถามว่าจะดูข้อความทั้งหมดหรือไม่ พยานเห็นว่ามีข้อความมาก จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนส่งเฉพาะข้อความที่มีปัญหาเท่านั้น

ส่วนคมสันตอบว่า พยานทราบว่ามีข้อความดังกล่าว แต่จำรายละเอียดไม่ได้ จำได้แค่ข้อความส่วนที่เป็นปัญหา แต่รับว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้เสนองบประมาณด้วยพระองค์เอง แต่มี 2 – 3 องค์กร คือ องคมนตรี สำนักพระราชวัง และทหารรักษาพระองค์ เป็นผู้เสนองบประมาณ และเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ใช้งบประมาณแผ่นดิน 

ข้อความของจำเลยที่ 2 ว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหารนั้น กันตเมธส์เห็นว่า เป็นการเสนอความเห็นเท่านั้น ไม่เป็นความผิด 

ทนายความถามว่า งานศึกษา แบบเรียน และองค์ความรู้ที่ให้เด็กมัธยมหรือนิสิตนักศึกษาเรียน หากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ถูกต้อง สามารถเสนอความเห็นได้ใช่หรือไม่ คมสันตอบว่า ในการแสดงความเห็น สามารถทำได้ แต่ต้องมีข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในทางวิชาการและมีเอกสารอ้างอิง

ข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารนั้น คมสันเบิกความว่า ประเทศไทยมีการรัฐประหารหลายครั้ง แต่พยานจำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง ครั้งล่าสุดคือวันที่ 22 พ.ค. 2557 ซึ่งไม่ใช่ในสมัยของรัชกาลที่ 10

พยานความเห็นทางกฎหมายทั้งสองรับว่า เหตุการณ์ในวันที่ 1 เม.ย. 2524 ที่เรียกว่า “กบฏเมษาฮาวาย” เป็นการก่อการรัฐประหารที่ไม่สำเร็จ โดยกันตเมธส์ทราบเพิ่มเติมว่า เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงทราบก่อนที่จะมีการปฏิวัติและเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความรุนแรงจึงมีการพูดผ่านวิทยุกระจายเสียงเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ โดยเท่าที่พยานจำได้ไม่มีข้อความว่าพระองค์สนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการปฏิวัติ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่พระมหากษัตริย์เรียกผู้นำคือพลตรีจำลอง ศรีเมือง และพลเอกสุจินดา คราประยูร มาพูดคุยเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

พยานความเห็นทางกฎหมายทั้งสองทราบว่า พลเอกประยุทธ์ได้ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันชาติ และรับว่าประชาชนยกย่องรัชกาลที่ 9 เสมือนดังพ่อ และมีการจัดงานอย่างใหญ่โตในวันดังกล่าว และรับว่าในการใช้งบประมาณจัดงานมีรัฐบาลเป็นผู้จัด ไม่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 10 

แต่กันตเมธส์เข้าใจว่า คำปราศรัยของจำเลยว่า “พ่อ” ย่อมหมายถึงทายาทซึ่งเป็นลูกแท้ ๆ พ่อแท้ ๆ เท่านั้น   ส่วนคมสันรับว่า หากประชาชนไม่พอใจก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้จัดงานได้ 

ช่วงพนักงานอัยการถามติง

คมสันตอบพนักงานอัยการว่า หากจัดการงานไม่เหมาะสมก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ส่วนของจำเลยที่ 3 ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการด้อยค่า 

.

ร.ต.อ.สุรศักดิ์ ช่วงทิพย์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เบิกความว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ เจ้าพนักงานตำรวจได้ตั้งคณะกรรมการในการสืบสวนสอบสวน โดยมีหัวหน้าคณะกรรมการคือ พ.ต.อ.นิติวัฒน์ แสนสิ่ง ส่วนพยานเป็นพนักงานสอบสวนหลัก โดยมี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู เป็นชุดในคณะพนักงานสอบสวนด้วย

พยานได้สอบคำให้การของ พ.ต.ท.ธนพล, มะลิวัลย์ และรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งเป็นผู้จัดพยานเอกสารในสำนวน ทั้งนี้เอกสารบันทึกคำให้การพยาน จัดทำโดยคณะทำงานฯ แต่มีพยานลงลายมือชื่อและสอบคำให้การด้วย 

คณะทำงานฯ และพยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม ในข้อหาตามมาตรา 112,  ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง

ช่วงทนายความจำเลยถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ไม่ได้ตรวจสอบสำนักงานเขตปทุมวันและกรมควบคุมโรคว่ามีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากการชุมนุมหรือไม่ และจำไม่ได้ว่ามีหนังสือไปสอบถามหรือไม่ เนื่องจากในคณะทำงานฯ มีหลายคน

ทนายความถามว่า พยานที่สอบปากคำในชั้นสอบสวนคือพยานที่ผู้กล่าวหาประสานมาด้วยหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่รู้ว่าพนักงานสอบสวนหรือผู้กล่าวหาหามา และรับว่า ในสำนวนไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ หรือตรวจสอบประวัติของบุคคลที่มาเป็นพยานให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความปราศรัย 

เนื่องจากทำงานเป็นคณะทำงานฯ แม้มีพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบหลัก แต่พยานไม่ได้เป็นคนถามตอบหรือสอบปากคำพยานด้วยตัวเองทั้งสำนวน แค่ร่วมในการสอบสวน

พยานรับว่า ความเห็นสั่งฟ้องในสำนวนเป็นผู้บังคับบัญชาจัดทำ ส่วนพยานไม่มีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ โดย พ.ต.อ.นิติวัฒน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ

พนักงานอัยการไม่ถามติง

.

วรรณวลี ธรรมสัตยา จำเลยที่ 1 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเรียนอยู่ที่มหาลัยพะเยา คณะแพทยศาสตร์ ปีที่ 2 ปัจจุบันโอนย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขานิติศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานได้เข้าไปร่วมชุมนุมและปราศรัย แต่ไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม โดยพยานเดินทางมาจากพะเยาและเข้าร่วมปราศรัย มาถึงที่เกิดเหตุช่วงบ่ายเกือบเย็น ตอนนั้นผู้ชุมนุมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและพบเจลแอลกอฮอล์ และมีนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ ที่ได้นำแอลกอฮอล์มาฉีดให้พยาน นอกจากนี้ บริเวณที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่เปิดโล่ง 

พยานไม่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเครื่องขยายเสียง และไม่ทราบว่าผู้จัดหาจะได้ขออนุญาตหรือไม่ 

พยานรับว่า พยานปราศรัยจริงตามเอกสารถอดเทป ในข้อความที่ปราศัยเกี่ยวกับศึกสงครามการแย่งชิงแผ่นดิน เป็นการกล่าวถึงยุคก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ แต่เป็นพระมหากษัตริย์ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ 

ถ้อยคำว่า “กษัตริย์ยังอยู่ข้างหลังอยู่เลย” พยานหมายถึงว่าพระมหากษัตริย์อยู่ด้านหลังเพื่อบัญชาการรบ ไม่ได้ออกไปในแนวหน้า ไม่ได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ไม่ออกรบตามที่โจทก์ฟ้อง

ข้อความเกี่ยวกับการใส่เสื้อเหลืองทำผิดแล้วจะไม่โดนคดีนั้น โจทก์กล่าวหาว่าพยานใส่ร้ายว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย แต่พยานพูดถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมกันเพราะการเลือกปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ระหว่างคนกลุ่มเสื้อเหลืองและกลุ่มราษฎรที่พยานไปร่วมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่อ้างตนว่าเคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ 

ก่อนที่พยานพูดประโยคข้างต้น พยานได้ผ่านเหตุการณ์การปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลืองหน้ารัฐสภาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เจ้าหน้าที่มีการเลือกปฏิบัติโดยให้ความสะดวกเรื่องรถห้องน้ำและสถานที่กับการชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลือง แต่ไม่ได้ให้ความสะดวกแก่กลุ่มราษฎร ซึ่งถูกกันไม่ให้เข้าพื้นที่ กลุ่มเสื้อเหลืองมีการปาก้อนหินยั่วยุกลุ่มราษฎร และมีคนถูกกลุ่มเสื้อเหลืองยิงปืนใส่

ดังนั้น พยานไม่ได้พูดถึงรัชกาลที่ 10 แต่พูดถึงการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐและกล่าวถึงกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

พนักงานอัยการไม่ถามค้าน

.

เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ จำเลยที่ 2 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ พยานศึกษาอยู่ชั้นปี 2 สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันยังคงสถานะในชั้นปีที่ 5 รอสถานะจบ กำลังจะสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปริญญาตรี และกำลังสมัครขอทุนเพื่อไปศึกษาที่ประเทศเยอรมัน

ในช่วงประมาณปี 4  พยานเคยช่วยค้นหาข้อมูลวิจัยและเขียนบทความ 1 บทในหนังสือเรื่องเกี่ยวกับกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 นอกจากนี้ ในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ พยานได้ร่วมแข่งขันนโยบายสาธารณะได้รางวัลที่ 3  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คณะรัฐศาสตร์จัดร่วมกับหลายองค์กร

วันเกิดเหตุ พยานเป็นเพียงผู้เข้าร่วมปราศรัย โดยเป็นวันที่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เคยถือว่าเป็นวันชาติ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย จากอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์เป็นประชาชน ดังนั้นประชาชนจึงมีการจัดกิจกรรมรำลึกถึงวันดังกล่าวทั่วประเทศไทย ก่อนหน้าปี 2564 ที่เกิดเหตุในคดีนี้ ก็เคยมีการจัดกิจกรรมในทำนองนี้ด้วยเช่นกัน

พยานเดินทางถึงที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 17.00 – 18.00 น. ในขณะนั้นพอมีผู้ชุมนุมอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แออัด โดยสกายวอล์คเป็นพื้นที่โล่งกว้าง พยานป้องกันตัวเองโดยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และทำตัวให้สะอาด 

จุดที่พยานยืนปราศรัย ห่างจากผู้ชุมนุมหลายเมตร โดยผู้จัดได้เว้นโซนไว้ให้ ตอนปราศรัยพยานใช้เครื่องขยายเสียง แต่ผู้ที่นำเครื่องขยายเสียงมาคือผู้จัด ไม่ใช่พยาน 

ข้อความที่พยานปราศรัยเรื่องรัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ เลิกทาส แต่ความจริงแล้วประชาชนยังถูกกดขี่นั้น พยานมีความเห็นว่า สิ่งที่แบบเรียนกล่าวในทางประวัติศาสตร์ยังมีข้อเท็จจริงที่สามารถอธิบายในอีกมุมมองได้

ถ้อยคำว่า ยังกดขี่ประชาชน ตอนแรกพยานเชื่อว่ารัชกาลที่ 5 เลิกไพร่ เลิกทาส แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย พยานก็เข้าใจอีกแบบหนึ่งที่แบบเรียนอธิบายไม่ครบ ดังนี้

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองโดยบุคคลเดียวและพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นระบอบเองมีแนวโน้มที่จะกดขี่ประชาชน เช่น ภาษีรัชชูปการ หรือเรียกว่า ภาษีราชการ ซึ่งเรียกเก็บจากราษฎรทั้งหมดที่อายุเกิน 18 ปีและเป็นชายฉกรรจ์ แต่ไม่เก็บกับชนชั้นปกครองในเวลานั้น ซึ่งข้อมูลนี้มาจากการที่พยานฟังเลคเชอร์วิชาประวัติศาสตร์และได้ไปอ่านบทความหลายชิ้น

ฐานภาษีดังกล่าวเรียกเก็บกับทุกคน ด้วยสภาพที่มีการขูดรีด ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในทางเศรษฐกิจอย่างมาก เป็นเหตุที่คณะราษฎรยกเลิกภาษีนี้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง และประกาศในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ด้วย 

ข้อความว่า “ทำให้กลัว ไม่กล้าทวงถามสิทธิตน” หมายถึง สมัยดังกล่าวบุคคลที่เป็นไพร่ทาส จะไม่มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษ ไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทำให้โง่ ไม่เข้าใจถึงสิทธิตนเองมี จึงไม่กล้าทวงถามสิทธิ์ เช่น ภาษี การเลือกตั้ง

คำปราศรัยว่าเรื่องรัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงนั้น เรื่องดังกล่าวก็มีระบุในแบบเรียน โดยร่างรัฐธรรมนูญที่รัชกาลที่ 7 มอบให้แก่บุคคลอื่นมี 2 ร่าง ในร่างที่ 2 ซึ่งพยานเห็นว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าร่างที่ 1 ก็กำหนดว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาครึ่งหนึ่ง ในเรื่องนี้ก็มีบุคคลอื่นให้ความเห็นในมุมมองที่แตกต่างจากแบบเรียนมานานแล้ว

พยานรับว่า ได้ปราศรัยตามเอกสารถอดเทปจริง ข้อความว่าสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้มีสถานะสูงส่งเปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ภาครัฐและประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น ก่อนที่พยานพูดข้อความนี้ พยานได้พูดข้อความวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐโดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวยกสถาบันกษัตริย์ให้สูงส่งเกินไปและไม่ยอมทำหน้าที่ที่ตัวเองควรทำ โดย สส. ไม่ตรวจสอบงบประมาณสถาบันฯ 37,000 ล้านบาท

คำว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้น พยานเห็นว่าเป็นเหมือนกับชุดกฎเกณฑ์ หมายความว่าเป็นผู้ที่มีผลต่อคนที่อยู่ร่วมในสังคมนั้น ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร เช่น สถาบันตุลาการ ย่อมหมายถึงกฎเกณฑ์ กฎระเบียบที่ใช้ในสถาบันตุลาการ 

ข้อความว่า “กษัตริย์ไม่ว่าจะทำอะไร จะไม่ผิด” เป็นข้อความตามรัฐธรรมนูญ โดยพยานวิจารณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นการตีความหลัก “The King can do no wrong” ผิด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ตรวจสอบงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันฯ ให้ดี เนื่องจากมี สส. ฝ่ายค้านคนหนึ่งจะอภิปรายเกี่ยวกับงบประมาณสำหรับสถาบันฯ แต่ประธานสภาไม่ยินยอม

ข้อความว่า “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง  สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร” พยานพูดเป็นข้อเสนอในอนาคต นอกจากนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 10  ก็ไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งก่อนปราศรัย พยานได้พูดว่าไม่ได้ประสงค์จะจาบจ้างสถาบันฯ แล้ว

พนักงานอัยการไม่ถามค้าน 

.

เบนจา อะปัญ จำเลยที่ 3 อ้างตนเป็นพยาน เบิกความว่า พยานศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4  ที่ภาควิชาเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานเห็นการโฆษณาเชิญชวนให้ร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุ และได้แชร์ข้อความดังกล่าวบนเฟซบุ๊ก แต่พยานไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในวันดังกล่าวปกติจะมีการจัดเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี

สถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง และพยานเห็นว่าผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ และจุดที่พยานปราศรัยห่างจากผู้เข้าร่วมชุมนุม โดยเมื่อพยานเดินขึ้นไปบนสกายวอล์ค มีบุคคลในบริเวณดังกล่าวชักชวนให้ร่วมปราศรัยด้วย ส่วนเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการปราศรัย พยานไม่ทราบว่าผู้จัดนำมาจากที่ใด

การปราศรัยเรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีการรัฐประหารนั้น พยานต้องการเล่าเรื่องราวของประเทศไทยว่ามีการรัฐประหารกี่ครั้ง มีเพียงครั้งเดียวที่ทำไม่สำเร็จ คือการก่อกบฏเมษาฮาวาย โดยหวังจะปราศรัยว่าการรัฐประหารไม่จำเป็นต้องสำเร็จทุกครั้ง และสามารถต่อต้านไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยพยานเห็นว่าการรัฐประหารเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากรัฐประหารไม่เคยเกิดในสมัยรัชกาลที่ 10 คำว่าพระมหากษัตริย์ที่พยานปราศรัยจึงไม่ได้หมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งปกติแล้วในการรัฐประหาร คณะก่อการเมื่อยึดอำนาจแล้วจะมีสถานะทางกฎหมายหรือสำเร็จได้ จะต้องให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย พยานไม่ได้หมายถึงว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่เบื้องหลัง แต่หมายถึงการลงพระปรมาภิไธย 

ตัวอย่างของการกบฏที่ไม่สำเร็จคือกบฏเมษาฮาวาย ซึ่งขณะนั้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องการต่อต้านการรัฐประหารจึงเชิญพระมหากษัตริย์ไปที่อื่น ซึ่งมีนักวิชาการเห็นว่า การที่รัชกาลที่ 9 มีส่วนในการต่อต้านรัฐประหารครั้งดังกล่าวเท่ากับเป็นการดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย นอกจากครั้งนี้ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีการต่อต้านรัฐประหารในครั้งอื่นอีก

สิ่งที่พยานปราศรัยเกี่ยวกับการรัฐประหารมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่สามารถสืบค้นได้ และเป็นไปในทำนองเดียวกับข้อมูลของนักวิชาการที่แสดงความเห็นไว้ เพียงแต่วิธีการสื่อสาร ท่าที และน้ำเสียงของพยานอาจจะแตกต่าง

ข้อความเรื่องการนำเงินภาษีประชาชนไปจัดกิจกรรมวันพ่อ​ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นวันชาติ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 นั้น พยานเห็นว่า วันชาติควรเป็นวันรำลึกถึงชาติและประชาชน ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  ต่อมาในปี 2481 จึงมีวันชาติครั้งแรกโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันชาติดังกล่าวเป็นวันที่ 5 ธันวาคม โดยระบุเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงวันชาติว่าประเทศไทยก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว ซึ่งพยานเห็นว่าไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยไม่เคยมีวันชาติที่เป็นวันพระราชสมภพ 

ในวันที่ 7 ก.พ. 2560 ได้มีการประกาศในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันชาติ วันพ่อแห่งชาติ และวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9  และเนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชน ทำให้ประชาชน ผู้นำประเทศ และชนชั้นนำเทิดทูนในหลวงรัชกาลที่ 9 เปรียบเสมือนพ่อที่แท้จริงของตน

การที่พยานปราศรัยถึงเรื่องการนำภาษีประชาชนไปจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น พยานจะสื่อถึงพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ไม่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10  เนื่องจากพระองค์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดงานดังกล่าว และต้องการสื่อว่าผู้มีอำนาจนำเงินภาษีประชาชนไปจัดงานใหญ่โต เป็นเพียงต้องการให้เป็นผลงานของตน

พนักงานอัยการไม่ถามค้าน 

.

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานความเห็นทางวิชาการ เบิกความว่า พยานจบการศึกษาปริญญาเอก ทางด้านรัฐศาสตร์ จาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย ในสาขาการเมืองเปรียบเทียบ

พยานสอนวิชาการเมืองปกครองไทย, สัมมนาการเมืองการปกครองไทย และการเมืองเปรียบเทียบ นอกจากนี้ พยานยังเป็นกรรมการมูลนิธิต่าง ๆ ทางวิชาการ เช่น มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเขียนตำราทางวิชการหลายชิ้น โดยล่าสุดได้เขียนตำราการเมืองไทยเบื้องต้นให้มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ 

ก่อนเบิกความในคดีนี้ ทนายความจำเลยได้ส่งสำเนาคำฟ้อง คำเบิกความ และเอกสารถอดเทปคำปราศรัยมาให้พยานทราบ

พยานเบิกความว่า วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทำให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นในปี 2475 มีการจัดงานรำลึกมานานตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เดิมเป็น “งานวันชาติไทย” ซึ่งรัฐบาลเป็นคนจัดงาน ในระยะหลังประชาชนก็ได้มาจัดงานรำลึกเหตุการณ์นี้ด้วย

การจัดงานรำลึกโดยประชาชน ลักษณะการจัดงานมีหลายรูปแบบ เช่น การชุมนุม การปราศรัย การจัดเวทีเสวนา โดยมีเนื้อหาหลักเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย

ในช่วงการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ปี 2563 – 2564 คือต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ให้มีความทันสมัย โปร่งใส และสอดคล้องหลักการประชาธิปไตย กล่าวคือ การดำรงในฐานะประมุขของรัฐอยู่เหนือการเมือง  กิจกรรมและงบประมาณต่าง ๆ ถูกตรวจสอบได้โดยรัฐสภา 

จากคำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เรื่องพระมหากษัตริย์อยู่ข้างหลังในสงคราม พยานเห็นว่า เป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ถึง 4 เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนเท่าที่ควร

ข้อความของจำเลยที่ 1 เรื่องใส่เสื้อเหลืองทำผิดแล้วจะไม่โดนดำเนินคดีนั้น จำเลยได้พูดถึงเหตุการณ์คนที่ชื่อแน่งน้อย ไปแจ้งความคดี 112 กับเยาวชนอายุ 14 ปี ซึ่งเมื่อพยานอ่านข้อความประกอบกัน  เข้าใจว่าเป็นการแสดงความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต่อกระบวนการยุติธรรม หากเป็นเสื้อเหลืองทำอะไรก็จะไม่ผิด เป็นการวิจารณ์ความไม่ยุติธรรมทางกฎหมาย

จากคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เรื่องประวัติศาสตร์การเลิกทาสสมัยรัชกาลที่ 5 พยานเห็นว่าเรื่องนี้มีการตีความ 2 แบบ คือ 

1. มองการเลิกไพร่ทาสเป็นเรื่องที่ดี ทำให้คนหลุดพ้นจากการถูกจองจำ บังคับ และใช้แรงงาน

2. มองว่าการเลิกไพร่ทาสยังไม่ได้ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากยังมีการเก็บภาษีโดยรัฐ เกณฑ์ประชาชนไปเป็นทหาร และไม่ให้สิทธิการเลือกตั้งแก่ประชาชน

พยานเห็นว่า เป็นการวิจารณ์เนื้อหาในแบบเรียน ไม่ได้วิจารณ์ตัวสถาบันฯ เป็นการตีความไปในมุมมองที่ 2 ดังกล่าว ซึ่งมีงานวิชการจำนวนมากเห็นด้วย คือ แม้จะมีการเลิกทาสแล้ว แต่รัฐก็ยังคงกดขี่ข่มเหงประชาชน 

ทนายความถามว่า ในทางวิชาการ มีการถกกันหรือไม่ว่ารัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตยหรือไม่ พยานตอบว่า นักวิชาการมีความเห็นทั้งมองว่ารัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย และไม่เป็น แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ แนวความเห็นทางวิชาการไปแนวทางที่ว่า รัชกาลที่ 7 ไม่ได้เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย เนื่องจากไม่มีการปฏิรูปการปกครองให้มีการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คือ

  1. ไม่มีการทำรัฐธรรมนูญ กษัตริย์ยังคงอยู่เหนือกฎหมาย
  2. ประชาชนยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
  3. ไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทนายความถามว่า ในสมัยรัชกาลที่ 7 แม้มีการทำร่างรัฐธรรมนูญ ทำไมจึงยังมีความเห็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย พยานตอบว่า มี 2 ประเด็น คือ

  1. เป็นเพียงร่างข้อเสนอของที่ปรึกษา สุดท้ายยังไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญ ก็คือยังไม่ได้ให้รัฐธรรมนูญกับประชาชน
  2. เนื้อหาของร่างไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นไปตามระบอบการปกครองประชาธิปไตย เป็นเพียงการปรับปรุงไปตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์ยังมีอำนาจสูงสุดเหนือกฎหมาย

ทนายความถามว่า ยังมีคนเห็นว่ารัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย เพราะได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 พยานตอบว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 เกิดขึ้นเพราะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ซึ่งข้อสรุปทางวิชาการบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาจากการต่อสู้เรียกร้องของราษฎร ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจของรัชกาลที่ 7 จึงไม่อาจเรียกได้ว่ารัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์นักประชาธิปไตย

พยานอ่านข้อความของจำเลยที่ 2 ที่ว่ารัชกาลที่ 7 เป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย ไม่เป็นความจริงแล้ว  เข้าใจว่า จำเลยวิพากษ์วิจารณ์หนังสือเรียนที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิชาการจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนังสือที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ หนังสือการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 โดย ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อความของจำเลยที่ 2 ว่าสถาบันกษัตริย์ถูกยกให้มีสถานะสูงส่งเปรียบเสมือนพระเจ้า ทำให้ภาครัฐและประชาชนไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์นั้น พยานเข้าใจว่าข้อความนี้ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มคนที่ยกสถาบันกษัตริย์ให้มีสถานะสูงส่ง จนอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์

เกี่ยวกับข้อความว่า กษัตริย์ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ว่าจะทำอะไรจะไม่ผิดนั้น ก่อนพูดประโยคนี้ จำเลยที่ 2 ได้มีการกล่าวคำปราศรัยถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ไม่ได้ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณของสถาบันกษัตริย์ 

หลังจากที่อ่านข้อความก่อนหน้าและข้อความตามฟ้อง พยานเข้าใจว่า จำเลยในฐานะประชาชนผิดหวังในการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ควรจะตรวจสอบการทำงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบงบประมาณของทุกหน่วยงานได้ รวมถึงสถาบันกษัตริย์

ส่วนที่ว่า “กษัตริย์ทำอะไรก็ไม่ผิด” พยานอธิบายว่า เป็นหลักการพื้นทางทางรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามหลักการ “The King can do no wrong” คือ กษัตริย์ไม่ได้ใช้อำนาจโดยตรง แต่ใช้อำนาจผ่านฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ หากมีข้อผิดพลาด กษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบโดยตรง

พยานเห็นว่า จำเลยที่ 2 พูดถึงหลักการทั่วไป ต้องการชี้ให้เห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าใจผิด เพราะการที่กษัตริย์ไม่สามารถทำผิด ไม่ได้ทำให้ตรวจสอบไม่ได้

ข้อความว่า “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อที่หนึ่ง สถาบันกษัตริย์ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร” ของจำเลยที่ 2 นั้น พยานเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นในอนาคต คำว่า “ต้องไม่เซ็นรัฐประหาร” เป็นเพียงข้อเสนอเชิงหลักการกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจง และในสมัยของรัชกาลที่ 10 ยังไม่เคยมีการทำรัฐประหาร

ข้อความที่จำเลยที่ 3 ปราศรัยเรื่องพระมหากษัตริย์ปล่อยให้มีรัฐประหารนั้น พยานไม่ทราบว่าจำเลยพูดถึงเหตุการณ์ใด การรัฐประหารครั้งใด ไม่ใช่การยืนยันข้อเท็จจริง โดยตั้งแต่รัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ ยังไม่เคยมีการรัฐประหาร 

พยานรับว่า ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีหลายครั้งที่มีการทำรัฐประหารแต่ไม่สำเร็จ เช่น ปี 2524 กบฏเมษาฮาวาย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถหาได้โดยทั่วไป

ส่วนข้อความของจำเลยที่ 3 เรื่องการนำภาษีประชาชนไปจัดงานวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพ่อหรือวันชาตินั้น พยานมองว่า เป็นการวิจารณ์รัฐบาล เพราะการจัดงานวันชาติเป็นหน้าที่ของรัฐบาล พระมหากษัตริย์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดวันชาติ การใช้งบประมาณในการจัดงานก็เป็นของรัฐบาล 

ช่วงพนักงานอัยการถามค้าน

พยานเบิกความตอบว่า ข้อความที่พยานเบิกความในวันนี้ พยานไม่เคยให้การในชั้นสอบสวนมาก่อน

X