เกิดขึ้นอีกครั้ง! ศาลสั่งสืบพยานโดยไม่มีทนายความ คดี ม.112 ของ “ตี้ – บิ๊ก – เบนจา” จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อปี 64 

วันที่ 31 ม.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดสืบพยานคดีของ 3 นักกิจกรรม ได้แก่ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา (จำเลยที่ 1), “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ (จำเลยที่ 2), และ เบนจา อะปัญ (จำเลยที่ 3) ในกรณีสืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 บริเวณสกายวอร์ค แยกปทุมวัน

ทั้งหมดถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, และใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4) ได้มีคำสั่งฟ้องคดี โดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องระบุว่า รัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดหรือกล่าวหา ฟ้องร้องไม่ได้ และผู้ใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองไม่ได้ ตลอดจนใช้สิทธิ เสรีภาพ ให้กระทบกระเทือน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือให้เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและพลเมืองมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และกษัตริย์ให้ดำรงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป

วันนี้ (31 ม.ค. 2567) เวลา 09.00 น. บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีที่ 602 โดยตี้และบิ๊ก พร้อมกับผู้รับมอบฉันทะจากทนายความของทั้งสองคน และทนายความจำเลยที่ 3 ได้เดินทางมาศาล ส่วนเบนจา ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากติดภาระทางการศึกษา ไม่สามารถเข้าร่วมการพิจารณาคดีได้ตลอดทุกวัน ซึ่งศาลได้อนุญาตไปแล้ว

ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ผู้รับมอบฉันทะจากทนายความของตี้และบิ๊ก ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนี้ เนื่องจากทนายมีอาการป่วยไมเกรน ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยว่ามีอาการโรคปวดศีรษะและขอให้พักรักษาตัว 1 วัน ตามใบรับรองแพทย์ที่แนบมาแสดงในวันนี้ 

อย่างไรก็ตาม ศาลกลับไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี เนื่องจากอัยการได้แถลงว่าพยานโจทก์ได้มาพร้อมสืบพยานแล้ว จำนวน 3 ปาก ได้แก่ นาวาเอกทองย้อย แสงสินชัย ซึ่งได้เข้าร่วมการสืบพยานจากทางไกลที่ศาลจังหวัดราชบุรีส่วน ส.ต.ต.ธีระศักดิ์ สัตย์สารกุลธร และ นันทนัช เปี่ยมสิน ได้เดินทางมาที่ศาลในวันนี้ โดยผู้รับมอบฉันทะจากทนาย ได้แถลงค้านไม่รับการสืบพยานในวันนี้ โดยยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานต่อศาล แต่ศาลเห็นว่าหากจำเลยไม่คัดค้านประเด็นที่จะสืบพยาน จึงสมควรให้สืบพยานไปก่อน โดยไม่จำเป็นต้องมีทนายความจำเลย

ทั้งนี้ ตี้และบิ๊ก ในฐานะจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า ทั้งสองคนไม่ต้องการที่จะสืบพยานโจทก์โดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วย และคดีนี้ไม่ได้มีการยื่นการสืบพยานลับหลังเหมือนจำเลยที่ 3 จึงไม่มีเหตุที่จะให้มีการสืบพยานเกิดขึ้นโดยไม่มีทนายความ 

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่เห็นด้วย และยืนยันที่จะให้มีการสืบพยานโจทก์เกิดขึ้น โดยตี้และบิ๊กได้แถลงต่อว่าขอเข้าพบอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อทำการปรึกษาเรื่องที่เกิดขึ้น แต่องค์คณะศาลเจ้าของสำนวนไม่เห็นด้วยที่จำเลยทั้งสองคนจะยื่นเรื่องขอเข้าพบอธิบดีศาล 

ซึ่งจำเลยทั้งสอง ได้ยืนยันว่าต้องการพบอธิบดีศาลให้ได้ และได้เดินออกจากห้องไปในเวลาประมาณ 11.00 น. เพื่อเขียนคำร้องขอพบอธิบดีศาล โดยในระหว่างนั้นที่ห้องพิจารณาคดี ศาลก็ได้ทำการสืบพยานโจทก์โดยที่ไม่มีจำเลยอยู่รับฟังการพิจารณาด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ไม่ได้มีคำสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีตามที่ทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เนื่องจากใบรับรองแพทย์ของทนายจำเลยที่ 1 และ 2 ได้ปรากฏข้อมูลว่ามีอาการปวดศีรษะให้พักรักษาตัว 1 วันนั้น ศาลเห็นว่าแม้แพทย์จะวินิจฉัยให้รักษาตัว ก็ไม่ได้ระบุว่าอาการป่วยของทนายมีความรุนแรงอย่างใด

และเมื่อพยานโจท์กในวันนี้มาพร้อมแล้ว จึงเห็นสมควรให้มีการสืบพยานโจทก์ที่มาศาลในวันนี้ไปก่อน และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงอนุญาตให้ทนายจำเลยที่ 1 และ 2 มาซักค้านพยานโจทก์ในนัดหน้าได้ ซึ่งตามที่จำเลยทั้งสองได้แถลงว่า ต้องการให้ทนายอยู่ด้วยในขณะที่มีการเบิกความ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยเท่านั้น

แต่เมื่อจำเลยทั้งสองมาศาลแล้ว แม้ทนายจะไม่มา แต่ศาลเห็นว่าตนเองไม่ได้ตัดสิทธิให้ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ที่มาในวันนี้ และแม้จะมีการสืบพยานโจทก์ไปก่อน ทนายก็สามารถคัดคำเบิกความของพยานโจทก์เพื่อไปซักค้านในนัดต่อไปได้ ไม่เห็นว่าจำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด และให้ทนายจำเลยได้มีโอกาสซักถามค้านกับพยานโจทก์วันนี้ ในนัดต่อไปคือวันที่ 7 – 8 มี.ค. 2567 

ภายหลังเสร็จสิ้นการสืบพยานโจทก์โดยไม่มีทนายความจำเลยอยู่ด้วย ตี้และบิ๊กเปิดเผยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ใช่ความยุติธรรม แม้จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการสืบพยานและทนายได้ยื่นใบรับรองแพทย์อาการป่วยแล้ว ศาลก็ไม่ได้มีท่าทีจะฟังคำแถลงของฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด 

กรณีการสืบพยานโดยไม่มีทนายจำเลยอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วย เคยเกิดขึ้นกับคดีของ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญา ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ซึ่งลูกเกดได้แถลงยืนยันว่าจะไม่ขอรับกระบวนการที่เกิดขึ้น และได้ขอพูดคุยกับอธิบดีศาลโดยตรง แต่ก็ถูกปฏิเสธ จนนำไปสู่การแถลงขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา เพราะการที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีนั้นไม่เป็นธรรม ทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

X