ชีวิตก่อนต้องคดีประทุษร้ายราชินีของ ‘ตัน สุรนาถ’ ผู้พาเยาวชนออกจากทางตัน

เรื่อง : ชลธร วงศ์รัศมี

 

ก่อน ‘สุรนาถ แป้นประเสริฐ’ จะเป็นหนึ่งในประชาชนที่ถูกจับด้วยข้อหาที่ไม่เคยถูกใช้งานมานานอย่าง “การประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 สุรนาถหรือ ‘ตัน’ คือลูกชายของผู้นำชุมชนที่ครอบครัวเคยตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารผู้คนขณะรัชกาลที่ 9 สวรรคต คือคนรักของหญิงสาวคนหนึ่งที่คบหากันมานานถึง 14 ปี ก่อนแต่งงานกันเมื่อเดือนก่อน คือคนที่เพื่อนๆ ผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนทั่วประเทศรักและนับถือ ชีวิตของตันก่อนถูกประทับตราด้วยข้อหาร้ายแรง นับว่าอบอุ่นด้วยไมตรีที่โอบล้อม

ตันเติบโตใน ‘พื้นที่สีแดง’ ของกรุงเทพฯ ซึ่งเด็กและเยาวชนต้องเจอความเสี่ยงหลายด้าน ยาเสพติดอยู่แค่เอื้อม ความรุนแรงในครอบครัวคือฉากชินตา ทว่าวันหนึ่งตันกลับเป็นคนพาเด็กและเยาวชนหลายต่อหลายรุ่นออกจากความเสี่ยงเหล่านั้น ด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังเหลือล้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนคุยกับผู้คนที่อยู่รายรอบตัน ทั้งพี่ชาย หัวหน้างาน เพื่อน และผู้ใหญ่ที่เห็นตันมายาวนาน เพื่อทำความรู้จักประชาชนคนหนึ่งที่คุกไทยคุมขังเขาไว้ 13 วันเต็ม ว่าเขามีความหมายต่อคนรอบตัวและสังคมเช่นไร

 

รัตนาภรณ์ เจือแก้ว (ฝน)

เพื่อนและผู้ประสานงานกลุ่ม ‘ดีจัง Young Team’

ฝนรู้จักกับพี่ตันเพราะเราทำโครงการ ‘พื้นที่นี้ ดีจัง’ ของกลุ่มดินสอสีร่วมกัน โครงการนี้มีหลายพื้นที่และหลายรุ่น พอผ่านไปสัก 10 ปี พวกเราบางส่วนมารวมกันเป็น ‘ดีจัง Young Team’ เพื่อทำค่ายภาคีเครือข่ายเยาวชนพื้นที่นี้ดีจังทั่วประเทศ อย่างค่ายรอบเพชรบุรี ชัยภูมิ ป่าแส ก็เป็นหนึ่งในทีมพี่เลี้ยงที่ทำงานดูแลน้องด้วย

พี่ตันเป็นพี่ที่ขอให้ช่วยงานไหนก็มา ตอนชุมชนป้อมมหากาฬถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ พี่ตันก็มาช่วยเป็นปากเป็นเสียงว่าทำไมชุมชนป้อมมหากาฬถึงมีความสำคัญ พี่ตันเป็นคนมีพลังงานบางอย่าง สามารถรวบรวมจิตใจของผู้คนและเพื่อน ไม่ใช่ทำงานด้วยกันแล้วจบ แต่ห่วงใย ถามไถ่ เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่พี่ตันจะมีเพื่อนเยอะ พี่ตันทำงานพื้นที่สร้างสรรค์มาหลายปี มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนยังจำพี่ตันได้ เพราะพี่ตันคือพี่ตัน มีพลังงานบวก มีความห่วงใย หน้าโหดแต่ใจดี มีนิสัยที่เพื่อนรักและทำงานจริง

ตัน สุรนาถ (คนที่สองจากซ้าย) และรัตนาภรณ์ (คนที่ห้า) ขณะเข้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้ ชัยภูมิ ป่าแส ภาพ : เดลินิวส์

การตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม พี่ตันแค่อยากให้การเมืองดี อยากไปแสดงพลังในฐานะประชาชนเพราะพี่ตันคือคนที่ทำงานภาคประชาสังคม เห็นปัญหาบ้านเมืองและสังคมมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเขามีชุดวิธีคิดว่าการขับเคลื่อนเชิงโครงสร้างมีความสำคัญต่อการทำงานฐานรากของชุมชนเช่นกัน การชุมนุมเป็นสิทธิเป็นเสียงของประชาชนที่จะผลักดันการขับเคลื่อนนั้น พี่ตันใช้สิทธิในฐานะประชาชนค่ะ

เพื่อนๆ ทุกคนเชื่อว่าพี่ตันไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา ไม่มีใครไม่เชื่อพี่ตันเลย เราเชื่อในสิ่งที่พี่ตันทำมา เราในฐานะเพื่อนพี่ตันและประชาชนคนไทยคนหนึ่ง เราเชื่อว่าทุกคนไม่ใช่แค่คนทำงานด้านประชาสังคมอยากเห็นสังคมนี้เต็มไปด้วยความดีงามเท่าเทียม และพี่ตันเป็นคนที่เป็นตัวจริงในแง่การลงมือทำ เพราะฉะนั้นพี่ตันไม่ควรต้องตกอยู่ในสภาวะแบบนี้ ไม่ควรมีใครต้องถูกจับกุมคุมขังหรือถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหารุนแรงขนาดนี้

เราเชื่อว่าถ้าคุณขังพี่ตัน ทุกวันที่พี่ตันถูกขังเป็นทุกวันที่ประเทศนี้สูญเสียผลประโยชน์ เพราะมีคนคนหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนชุมชน-สังคม ทำอยู่ในทุกลมหายใจถูกจำกัดสิทธิ ถูกจำกัดศักยภาพ เราเชื่อและยืนยันในความบริสุทธิ์ใจของพี่ตัน ในฐานะประชาชนพี่ตันย่อมมีสิทธิแสดงออกทางการเมืองภายใต้กรอบของกฎหมาย เรายืนยันในเรื่องนี้และเราไม่อยากให้มีใครโดนจับแบบนี้ พี่ตันควรอยู่ข้างนอกเพื่อจะได้ใช้ชีวิตและมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป

 

อำนาจ แป้นประเสริฐ (โบท)

พี่ชายของตัน

ผมกับตันสนิทกันมาก เราสองคนคุยได้ทุกเรื่อง รวมถึงเหตุผลในการไปชุมนุม ผมยืนยันเจตนาของน้องได้ชัดเจนว่าตันไม่มีเจตนาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือขัดขวางขบวนเสด็จฯ อย่างที่เป็นข่าว เป็นแค่ประชาชนทั่วไปที่อยากร่วมชุมนุมเรียกร้องให้บ้านเมืองดีขึ้น เรียกร้องสิทธิที่เราทุกคนจำเป็นต้องได้ ตันไม่ได้เป็นคนฮาร์ดคอร์หรือแกนนำ ไม่ได้ชวนใครหรือองคาพยพมากมายไป พาตัวเองออกไปคนเดียว แค่ไปแสดงออกทางการเมืองเท่านั้นเอง

ตันเริ่มทำงานชุมชนและงานอาสาสมัครตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ ตันไม่เคยทำงานคนเดียว เรามีความรู้สึกว่าเราขยับมาได้ด้วยเพื่อนเรา และมีพ่อช่วยหนุนเราขึ้นมาได้ ตั้งแต่ผมจำความได้ภาพที่ผมเห็น คือพ่อเป็นวิทยากรและประธานชุมชนมานานมาก ผมเคยคิดว่าพ่อเมื่อไหร่จะเลิกทำ อยากให้พ่อพักบ้าง ทั้งพ่อและแม่ทำงานชุมชนตลอดเวลา ไม่เห็นเขาหยุดหรือเหนื่อย ได้เงินบ้างไม่ได้บ้าง แต่เขาบอกว่ามีความสุขดี คนในครอบครัวผมคิดว่าการทำให้คนอื่นมีความสุขได้ ชุมชนเปลี่ยนแปลงได้ เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ตันเป็นคนหนึ่งในครอบครัวที่คิดอย่างนั้น เขาเชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้

อำนาจ (ซ้าย) และสุรนาถ (ขวา) เล่นดนตรีในงานวันเด็ก

การที่พี่น้องคนหนึ่งหรือลูกคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในคุก ไม่สามารถพูดคุย ไม่สามารถเห็นหน้าตากันได้ ครอบครัวทรมานที่สุดครับ พ่อของผมเพิ่งเสียเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว แม่ทุกข์ใจหนักพอสมควร แต่แม่ก็ได้พลังจากคนรอบข้างด้วย ม.110 ไม่ใช่ข้อหาทั่วไป ไม่ใช่คดีชุมนุมธรรมดา เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่กับตัน แต่รวมถึงครอบครัวผมและครอบครัวภรรยาของตัน ภรรยาของตันเป็นครูสอนศิลปะและคบกับตันมานานถึง 14 ปี เพิ่งแต่งงานกันเมื่อวันที่ 26 กันยายน ผมอาจผ่านเรื่องนี้ได้ แต่สงสารแม่กับภรรยาตันที่ต้องทนทุกข์ทรมานมากว่าทำไมลูกชายคนที่เขาต้องโดนคดีร้ายแรงขนาดนี้

ผมเชื่อโดยสุจริตใจว่าตันเป็นผู้บริสุทธิ์แน่นอน จากที่เราเป็นพี่น้องกันมา ครอบครัวผมไม่มีเจตนาล่วงเกินหรือก้าวร้าวต่อใครทั้งสิ้น ยิ่งถ้ามองจากคลิปวิดีโอหรือรูปภาพจะเห็นว่าตันไม่ได้ล่วงเกินหรือทำอะไรทั้งสิ้น ผมเจ็บปวดที่ตันเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่ถูกคนในสังคมจำนวนมากตัดสินไปแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นความจริง ยังไม่เห็นหลักฐานใดๆ ไม่มีใครควรต้องต้องคดีเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแม้แต่คนเดียว โดยเฉพาะการแสดงความเห็นต่างที่พึงกระทำได้ รู้สึกเจ็บปวดมากครับ

 

ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง (ต้อย)

ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และหัวหน้างานของตัน

พี่รู้จักพี่นรินทร์ พ่อของตัน ก่อนรู้จักตันเกือบ 6-7 ปี พี่นรินทร์เป็นประธานกรรมการชุมชนวัดโพธิ์เรียง เขตบางกอกน้อย เราทำงานร่วมกันในมิติลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้า ยาเสพติด การพนันในชุมชน พี่นรินทร์และเครือข่ายเกษตรกรชุมชนได้ร่วมขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และรณรงค์เรื่องครอบครัวเลิกเหล้า พี่นรินทร์บอกว่าถ้าไม่พัฒนาบ้านตัวเองจะพัฒนาที่ไหน เพราะบ้านคือที่ลูกหลานอยู่ ทุกคนอยู่

ตันเป็นเยาวชนแกนนำหลักในชุมชนที่ทำงานต่อยอดจากพ่อ พี่ได้ทำงานร่วมคิดร่วมคุยกับตันอยู่เกือบ 10 ปี ทั้งมิติการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง การส่งเสริมรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กเยาวชนในชุมชนโรงเรียน และร่วมกันขับเคลื่อนกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัยเพื่อเด็กเยาวชน รวมไปถึงการทำงานเชิงพื้นที่จัดสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในชุมชนเขตบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และบางพลัด จนเป็นพื้นที่เรียนรู้ ‘ปั่น ปน เดิน เพลิน 3 บาง’ และชุมชนจัดการตนเอง ตันเป็นนักสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมออกแบบกระบวนการทำงานกับเด็กและชุมชนให้เป็นพื้นที่เชิงบวก ลดความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรของยาเสพติดและการใช้ความรุนแรง

พี่เห็นลักษณะของตันที่เป็นคนคิดบวก เชื่อในพลังสร้างสรรค์ ให้โอกาสคน ตันเข้าใจเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้ดี มีกระบวนการวิธีการทำงานแบบได้ใจเด็ก เชื่อว่าเด็กทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ คนเฒ่าคนแก่ตันก็เข้าหาได้ ไม่ว่าไปที่ไหนก็เป็นที่รัก เพราะตันไม่ทิ้งใครแต่จะยืนอยู่ในทุกๆ จุด แม้ว่าจะเหนื่อยหรือหนักมากแค่ไหน ตันจะยืนเคียงข้างอยู่ด้วยเสมอ

พี่เห็นลุงป้าน้าอาชื่นชมว่าเด็กหนุ่มคนนี้มีพลังและทุ่มเททำจริง สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็น และตันยังช่วยเสริมพลังให้เครือข่ายคนทำงานชุมชนอื่นๆ เพราะเขาคิดว่าชุมชนเขาเปลี่ยนจากพื้นที่สีแดงกลายเป็นพื้นที่สว่างได้เพราะได้รับโอกาส เขาจึงต้องแบ่งปันโอกาสนี้ให้พื้นที่ชุมชนอื่นๆ ด้วย

ตันและปรัชทิพาขณะทำงานร่วมกัน

สิ่งที่ตันทำคือการใช้สิทธิเสรีภาพแสดงออกเรื่องการสร้างสรรค์บ้านเมืองร่วมกัน อยากขอความเป็นธรรมในฐานะที่ตันเป็นนักสร้างสรรค์คนหนึ่งที่ทำเพื่อบ้านเมืองตัวเอง อยากให้สังคมไม่รีบตัดสินและเข้าใจว่าเขาเพิ่งถูกกล่าวหาเท่านั้น อยากให้เกิดการรับฟังและให้ความชอบธรรมกับตันด้วย 

 

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง (โก๋)

ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ผู้เคยร่วมงานกับตัน

เดิมป้าทำงานอยู่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งทำงานด้านการยุติความรุนแรง ต่อมาเราขยายไปทำงานกับแกนนำที่เป็นอาสาสมัครชุมชนเพื่อทำให้ชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นสำหรับผู้หญิง ผู้ชาย คนเพศหลากหลาย เด็ก เยาวชน ฝึกอบรมเรื่องการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสร้างความเข้าใจเรื่องการเข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางเพศ ชุมชนในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีแดงหรือมีปัญหายาเสพติดซึ่งจะส่งผลต่อความเสมอภาคทางเพศด้วย เช่นในชุมชนอาจมีผู้ชายที่กินเหล้าแล้วทำร้ายลูกเมีย

แกนนำในกรุงเทพฯ ที่มูลนิธิทำงานด้วยตอนแรก มี 6 ชุมชน เช่น ลุมพินี คลองเตย สำเหร่ ชุมชนวัดโพธิ์เรียงที่ตันอยู่เพิ่งเข้ามา ช่วงนั้นตันเป็นแกนนำชุมชนทำงานอยู่มูลนิธิเพื่อนเยาวชน ช่วยพัฒนาให้เด็กและเยาวชนเป็นแกนนำพื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทำให้ชุมชนไม่ไปเข้าใกล้ยาเสพติด ตอนหลังตันมาเข้าอบรมเรื่องความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย และถ่ายทอดให้เยาวชนในพื้นที่ต่อ

ตันเป็นคนรักเพื่อนฝูง พ่อตันคือคุณนรินทร์เป็นทั้งประธานคณะกรรมการชุมชน อสส. (อาสาสมัครสาธารณสุข) อพม. (อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์) เป็นประธานในคณะทำงานของชุมชนหลายชุด ส่วนที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชน ตอนแรกตันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ ต่อมาทางมูลนิธิทำโครงการกับเยาวชนหลายพื้นที่ ตันจะบริหารจัดการโครงการและไปฝึกอบรมตามจังหวัดต่างๆ ทุกภาค นักฝึกอบรมมี 2 แบบ คือ 1) นักฝึกอบรมวิชาชีพที่เรียนจบมาด้านนี้โดยเฉพาะ 2) นักฝึกอบรมอาสาสมัครหรือคนทำงานที่ผ่านกระบวนการแล้วมีประสบการณ์เฉพาะด้าน ตันเป็นประเภทที่ 2

ตอนรู้ว่าตันโดนคดีนี้ ป้าถามว่าที่มาที่ไปเป็นยังไง ได้ความว่าในวันที่ชุมนุมมีผู้หญิงเข้าไปชุมนุมด้วย และมีการปะทะยื้อยุดกับตำรวจ ตันก็เข้าไปห้ามว่า “อย่าทำผู้หญิง อย่าทำผู้หญิง” เพราะตันเขาถูกฝึกมาว่าต้องดูแลปกป้องผู้หญิง สักพักมีรถมา ซึ่งคนที่อยู่ทางนั้นเข้าใจว่าน่าจะเป็นรถของนายกฯ หรือของรัฐมนตรี มารู้ทีหลังว่าเป็นรถขบวนเสด็จฯ  พอตันเห็นยังบอกว่า “ขบวนเสด็จ! ขบวนเสด็จ! อย่าเข้าใกล้” ไปห้ามไม่ให้คนเข้าใกล้รถด้วยซ้ำ ตอนหลังมีการจับเอกชัย หงส์กังวานไปด้วย ป้ายังถามว่าเขารู้จักเอกชัยไหม เขาบอกว่าไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว

ความคิดเห็นต่างทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดาของคน การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมดา จริงๆ ตันจะไปมอบตัวอยู่แล้ว ไม่น่าไปจับกุม ถ้าดูจากเจตนาตันไม่มีเจตนาอยู่แล้ว เจตนาเขาคือปกป้องด้วยซ้ำไป อีกประการหนึ่งหลักการรักษาความปลอดภัยของบุคคลสำคัญเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าจะมีการลงโทษผู้กระทำผิด ตัวเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้บอกว่าขบวนเสด็จจะผ่านจะมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยไหม ปกติเวลาที่เรานั่งชุมนุมอยู่ตำรวจจะเดินมาบอกว่าหลบนะ ไปลานพระบรมรูปทรงม้า ไปสนามหลวงหรือที่อื่นๆ ไหม ถ้าพวกเราไม่ไปพวกเราก็ต้องเปลี่ยนจากผู้ชุมนุมเป็นผู้รอรับเสด็จ

 

ดวงดล รงค์เดชประทีป (เมย์)

เพื่อนร่วมงานของตันที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา

เมย์กับพี่ตันทำงานที่เดียวกันค่ะ เมย์อยู่ฝ่ายข้อมูล ส่วนพี่ตันอยู่ฝ่ายปฏิบัติการ เวลาทำงานเสร็จพี่ตันจะชวนคุยตลอดว่ารู้สึกอย่างไร ห่วงใยความรู้สึกพี่น้องเพื่อนร่วมงาน ถ้าเพื่อนเป็นอะไรพี่ตันต้องไปก่อน ชอบช่วยเหลือคนอื่น เห็นความสำคัญ เคารพ และให้เกียรติทุกคน ครอบครัวพี่ตันเป็นแบบนี้ทั้งบ้าน เวลาไปทำงานในชุมชนแม่พี่ตันจะทำกับข้าวให้กิน หาที่ทำกิจกรรมให้ ห่วงใยแม้กระทั่งคนไม่รู้จักกัน

พี่ตันพัฒนาชุมชนวัดโพธิ์เรียงของตัวเองแล้วขยายไปชุมชนอื่นๆ ด้วย ตอนนี้ชุมชนวัดโพธิ์เรียงเปลี่ยนแปลงเยอะมาก แต่เดิมตรงนั้นคนเรียกว่าเป็นซอยขี้หมา มีพื้นที่รกร้างและเสื่อมโทรมเยอะ ด้วยความที่ชุมชนเป็นเหมือนรังผึ้ง มีทางออกหลายทางเลย เคยเป็นพื้นที่ส่งยาเสพติด กว่าพื้นที่บริเวณชุมชนจะดีขึ้นใช้เวลา 8 ปี  ตอนแรกทำให้สะอาดและมีไฟฟ้าทั่วถึงก่อน คนที่จะทำอะไรไม่ดีก็ไม่กล้าเพราะพื้นสะอาดและสว่างแล้วเด็กๆ ลูกหลานคนในชุมชนออกมาใช้พื้นที่ กลายเป็นทุกคนมีส่วนร่วมดูแล ช่วยทำความสะอาด ช่วยสอดส่อง

พี่ตันชวนเราคิดว่าถ้าเราอยากจะปรับสภาพแวดล้อมชุมชนให้น่ามองน่าอยู่ต้องเริ่มต้นจากอะไร ตั้งแต่เรื่องการจัดสภาพแวดล้อม ทำให้ทุกคนใช้พื้นที่ได้ ต่อมาเพิ่มการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ ตอนนี้ชุมชนวัดโพธิ์เรียงมีกำแพงศิลปะ มีลานชุมชนปนยิ้ม มีรูปวาดแผนที่ชุมชนที่เด็กๆ ในชุมชนวาดเองอยู่สองข้างทาง แผนที่ชุมชนได้จากการสำรวจว่าชุมชนเคยเป็นยังไง เช่นในภาพจะมีสวนส้มโอ เกิดจากเด็กๆ หาความรู้แล้วมาคุยกันว่าชุมชนมีสวนส้มโอเยอะ

ตันขณะพาเดินทัวร์ชุมชนวัดโพธิ์เรียง เลียบกำแพงที่เด็กๆ ในชุมชนฝากฝีมือวาดรูปเอาไว้

พี่ตันบอกว่างานชุมชนมีโจทย์สำคัญคือเราจะทำยังไงให้งานทุกอย่างที่เราทำยังสามารถคงอยู่ได้ แม้คนที่เข้ามาริเริ่มโครงการจะออกไปแล้ว ถ้าเมื่อไหร่พื้นที่ที่เราสร้างมา ไม่ได้ถูกดูแล ไม่ได้ให้ชีวิต ไม่ได้ให้คุณค่า วันหนึ่ง ธุรกิจสีเทาที่มอมเมาเยาวชนจะเข้ามาอยู่แทนและทำให้พื้นที่ที่เราสร้างมาหายไป ที่แล้วพี่ตันพยายามยกระดับให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่เรียนรู้สาธารณะ ไปสะกิดคนมีภูมิปัญญาชุมชนทำเรือกระทงกาบมะพร้าวที่หายไปนานมากให้กลับมาทำอีก และทำโปรเจกต์ “ปั่น ปน เดิน เพลิน สามบาง” ชวนคนมาปั่นจักรยานดูของดีในชุมชน ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวที่จะดูแลชุมชนให้สะอาดน่ามอง

ช่วงโควิดมีคนมาแจกถุงยังชีพ พี่ตันบอกว่าการแจกถุงยังชีพเป็นเรื่องดี แต่ในถุงส่วนใหญ่มักจะให้มาม่า ปลากระป๋อง ชุมชนโพธิ์เรียงมีศักยภาพมากกว่านั้น มีที่ดิน มีร้านค้า มีแม่บ้าน มีเด็กๆ แล้วชวนน้องๆ เยาวชน ‘บางกอกนี้…ดีจัง’ คิดว่าในถุงยังชีพควรมีอะไร ทำให้เบื้องต้นเราออกแบบถุงที่เรียกว่าถุง ‘ยัง Ac’ (Young Activity) ในถุงมีเมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ ดิน กระถาง และเราแปลงกิจกรรมต่างๆ ที่ทำกับเยาวชนใส่ไปในถุงด้วย เช่น นิทานกระดาษ นิทานหุ่นมือ สี ศิลปะประดิษฐ์ ฯลฯ

การทำเรือกระทงกาบมะพร้าว หนึ่งในภูมิปัญญาของชาวชุมชนวัดโพธิ์เรียง ที่ได้รับการฟื้นฟูเป็นแหล่งเรียนรู้ ภาพ : เครือข่ายสุขภาพดีองค์รวม

พี่ตันคิดไกลและมีไอเดียตลอด ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ มีคนมาแจกของในชุมชนโพธิ์เรียงเยอะ พี่ตันบอกว่าของต่างๆ ไม่ควรมาถึงแล้วแจกเลย เพราะบางคนได้ซ้ำหลายรอบขณะที่ในชุมชนมีประชากรแฝงมาก เช่นคนย้ายเข้ามาเช่าบ้านแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน ต้องสำรวจแล้วแจกประชากรแฝงด้วย และพี่ตันยังคิดโครงการ ‘ปันกันอิ่ม’ ช่วงโควิดในชุมชนจะมีเจ้าของร้านอาหารที่มีน้ำใจให้คนไม่มีเงินกินข้าวฟรีอยู่บ้างตามกำลัง พี่ตันช่วยประสานงานและประชาสัมพันธ์ว่า คนที่มีความพร้อมมีช่องทางช่วยเหลือคนเดือดร้อนช่วงโควิดได้ ด้วยการซื้อข้าว 1 จาน แล้วจ่ายเงินเพิ่มสำหรับข้าวอีก 1 จานให้ร้านอาหารชุมชนไว้ทำกับอาหารให้คนที่ไม่มีกำลังจ่าย

ถ้าเดินเข้าไปในชุมชนวัดโพธิ์เรียงชาวบ้านจะรู้จักพี่ตันดี วันแรกๆ ที่พี่ตันโดนคดีหลายคนโกรธ เสียใจ เห็นใจและไม่เข้าใจว่าทำไมพี่ตันถึงโดนคดีนี้ สมัยรัชกาลที่ 9 สวรรคตใหม่ๆ ครอบครัวพี่ตั้งโรงครัวทำอาหารเลี้ยงคนใหญ่โต ทำความสะอาดถวายเป็นพระราชกุศล บ้านพี่ตันอยู่ใกล้ศิริราช วิถีชุมชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์แทบจะไม่ห่างกัน

นรินทร์ แป้นประเสริฐ พ่อของตันขณะเรียกร้องให้ DSI สอบสวนกรณีบริษัทจำหน่ายสุราติดสินบนเจ้าหน้าที่ไทย เลี่ยงภาษีนำเข้า โดยยังมีริสก์แบนด์ ‘เรารักในหลวง’ อยู่ที่ข้อมือ ภาพ : โพสต์ทูเดย์

สุดท้ายเมย์คิดว่าการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ ถ้าทุกคนใช้รัฐธรรมนูญและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันจะสง่างามและคลายข้อกังวลไปได้มากกว่าค่ะ

 

จิรพงษ์ อินกอง (แวน)

เพื่อนและผู้ทำกิจกรรมร่วมกับตัน

จากที่ผมทำงานกับพี่ตันมา ผมรู้สึกว่าเราเป็นพี่เป็นน้อง เป็นครอบครัว คำที่แกพูดกับผมเสมอคือ “ใครไม่ทำเราก็ทำไปเถอะ ใครไม่เห็นเราทำเราก็ทำไปเถอะ เดี๋ยวเขาก็เห็นเองว่าเราทำหรือไม่ทำ”

ส่วนการทำงานกับเยาวชนพี่ตันพยายามให้เยาวชนแสดงออก เป็นผู้นำ และส่งเสริมความมั่นใจไม่ว่าจะเป็นน้องที่อยู่ในระบบโรงเรียนหรือนอกระบบ เพื่อไม่ให้เขาไปเจอปัจจัยเสี่ยง และเพื่อให้เขารู้สึกว่าชีวิตยังมีคุณค่าอยู่แม้จะไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา คนในชุมชนทุกคนที่ทำงานร่วมกับพี่ตันมีสิทธิคิด ออกแบบ ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีความเท่าเทียม และพี่ตันไม่ได้พัฒนาแค่ชุมชนตัวเองแต่ขยายไปพื้นที่รอบข้างด้วย

ชุมชนที่พี่ตันอยู่คือชุมชนวัดโพธิ์เรียง เป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่บางกอกน้อยเลยก็ว่าได้ มีประชากรเกือบ 8,000 คน อยู่กันเกือบ 500 หลังคาเรือน เป็นชุมชนที่ร่วมมือกันพัฒนาชุมชนของตัวเองมายาวนานโดยมีครอบครัวพี่ตันเป็นแกนหลัก หลังพี่ตันโดนคดี ม.110 คนในชุมชนมาหาแม่พี่ตันทุกเช้าทุกเย็น เอากับข้าวมาให้ ชวนพูดคุย ถามไถ่ ดูแลจิตใจ ช่วยรับแรงกดดันจากคนที่เข้าใจพี่ตันผิด แทนครอบครัวของพี่ตัน ทุกคนพูดเสมอว่าพี่ตันไม่ผิดและเป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างแท้จริง สิ่งที่พี่ตันทำมันย้อนกลับมา

ผมคิดว่าในระบอบประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิมีเสียง ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน พี่ตันเป็นบุคคลคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมและรูปแบบการพัฒนาประเทศได้ เหมือนทุกคนที่ออกไปเรียกร้อง การสื่อสารของพี่ตันไม่ควรถูกจำกัดหรือปิดบัง พี่ตันคือบุคคลหนึ่งที่ทำงานประชาสังคมด้านเด็กและเยาวชนที่ทำงานจริง พี่ตันรวบรวมพลังใจของคนทำงานมากมายเอาไว้ พี่ตันไม่ควรเข้าไปอยู่ในนั้น

 

หมายเหตุ : ข้อหา ‘ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี’  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ได้ประทับลงบนตัวตนของ ‘สุรนาถ แป้นประเสริฐ’ หรือ ‘ตัน’ เนื่องจากเขาได้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ14ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และอยู่ในเหตุการณ์ระหว่างขบวนเสด็จฯ เคลื่อนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม โดยตันและประชาชนในบริเวณนั้นไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน

20 ตุลาคม 2563  ตันเห็นข่าวว่าตนได้รับหมายจับจากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม จากนั้นเขาประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าจะเข้ามอบตัว แต่ตำรวจ สน.ดุสิต มาจับกุมเสียก่อน โดยหนึ่งในตำรวจผู้ทำบันทึกจับกุมกล่าวว่า “พี่ไม่แน่ใจว่าเราจะมามอบตัวจริงหรือไม่” จากนั้นตันได้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและที่เรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งปกติแล้วขังนักโทษคดีที่ศาลตัดสินโทษจำคุกมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป ตันน่าจะเป็นผู้ต้องขังเพียงไม่กี่รายที่ยังไม่ตัดสินโทษ แต่ได้ย้ายมาอยู่เรือนจำแห่งนี้ ที่บางขวางเขาถูกขังในห้องขังเดี่ยวที่มีกล้องวงจรปิดคอยจับตา

2 พฤศจิกายน 2563 ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังตัน สุรนาถ เป็นครั้งที่ 3 ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการสอบสวน และยังต้องต่อสู้คดีนี้ต่อไป

.

อ่านเรื่องราวอื่นๆ ของ ตัน สุรนาถ รวมทั้งประสบการณ์ช่วงถูกคุมขังได้ที่

“อยู่ในนี้มันลดทอนศักยภาพ” เสียงตัน สุรนาถ ผ่านห้องขังเดี่ยว https://tlhr2014.com/?p=22483
ขอบคุณและยังมีหวัง แม้ถูกขังเดี่ยวและถูกสอดส่องตลอด 24 ชั่วโมง: เสียงจากตัน สุรนาถ https://tlhr2014.com/?p=22653
เมื่อศาลสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี: สิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีขบวนเสด็จ https://tlhr2014.com/?p=22449
พฤติการณ์การจับกุมสุรนาถ https://tlhr2014.com/?p=22284
บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของสุรนาถ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3355113324538498
คำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของสุรนาถ https://tlhr2014.com/?p=22323
ยังไม่ปล่อย สมยศ-อานนท์-เอกชัย-สุรนาถ คืนนี้ หลังศาลยกคำร้องฝากขัง แต่ไม่ออกหมายปล่อย https://tlhr2014.com/?p=22683

 

.

X