ยังไม่ปล่อย สมยศ-อานนท์-เอกชัย-สุรนาถ คืนนี้ หลังศาลยกคำร้องฝากขัง แต่ไม่ออกหมายปล่อย

2 พฤศจิกายน 2563 – วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานสอบสวนได้เข้ายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา 4 ราย ได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา, สุรนาถ แป้นประเสริฐ, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, และ เอกชัย หงส์กังวาน หลังการไต่สวน ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อ้างว่าศาลยังไม่ออกหมายปล่อย ทำให้ทั้งหมดอาจจะต้องถูกคุมขังต่ออีก 1 คืน จนกว่าหมายขังที่ศาลออกก่อนหน้านี้จะครบกำหนดในเที่ยงคืนวันนี้

สุรนาถ แป้นประเสริฐ: ถูกคุมขังจากข้อหา “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” เป็นเวลา 13 วัน

วันนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังสุรนาถเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทางผู้ต้องหาเองก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง และได้ขอให้ศาลทำการไต่สวนคำร้องขอฝากขังเพื่อให้มีการซักถามพนักงานสอบสวนถึงความจำเป็นในการขอฝากขัง โดยในคำร้องคัดค้านของทางฝั่งผู้ต้องหามีเนื้อความอธิบายว่า เหตุใดจึงไม่ควรมีการฝากขังผู้ต้องหา โดยแบ่งเป็นประเด็นดังนี้

  1. คดีนี้มีข้อเท็จจริงคล้ายกับคดีของ “คนอยากเลือกตั้ง (ARMY57)” เมื่อปี 2561 ซึ่งศาลได้ยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน เนื่องจากผู้ต้องหาที่อยู่ชัดเจน ไม่ได้พยายามหลบหนี อีกทั้งยังให้ความร่วมมือกับการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ไม่ได้แถลงคัดค้าน สามารถสอบสวนต่อได้โดยไม่จำเป็นต้องคุมตัวผู้ต้องหา 
  2. คดีนี้ผู้ต้องหาให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน ตั้งใจเดินทางไปมอบตัว แต่ถูกจับกุมเสียก่อน นอกจากนั้น พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนยังเป็นพฤติการณ์ที่เกินกว่าพฤติการณ์ที่ระบุไว้ในระหว่างการแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งผู้ต้องหาเพียงแค่มาร่วมชุมนุมโดยสงบเท่านั้น เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่ทราบว่าจะมีขบวนเสด็จมาก่อน และไม่มีการขัดขวางขบวนเสด็จตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง

>>> อ่านเนื้อหาพฤติการณ์การจับกุมของสุรนาถที่ https://tlhr2014.com/?p=22284

>>> อ่านเนื้อหาในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาของสุรนาถที่ https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3355113324538498

>>> อ่านคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของสุรนาถที่ https://tlhr2014.com/?p=22323

  1. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ พยานหลักฐานก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น พยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างว่ายังสอบสวนไม่เสร็จ ผู้ต้องหาก็ไม่ทราบว่าคือผู้ใด ที่มากไปกว่านั้น คดีนี้มีอัตราโทษสูง การขังผู้ต้องหาย่อมตัดโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ขาดโอกาสในการพิสูจน์ตนเองว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้าง
  2. การใช้เสรีภาพในการชุมนุมของผู้ต้องหาถือเป็นเครื่องมือแสดงเจตจำนงเสรีของพลเมือง การชุมนุมสาธารณะเช่นนี้เป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งที่มีส่วนในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น “สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม” จึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับ
  3. การควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน เนื่องจากผู้ต้องหาทำหน้าที่ในองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งทำงานเพื่อพัฒนาชุมชนแออัด การยื่นคำร้องของพนักงานสอบสวนนอกจากไม่เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อผู้ต้องหาและชุมชนและกลุ่มเป้าหมายในการทำงานซึ่งเกินกว่าความจำเป็น

ต่อมา ศาลได้ไต่สวนพนักงานสอบสวน 1 ปาก ก่อนยกคำร้องขอฝากขัง ระบุเหตุผลว่า  ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานทั้ง 15 ปาก ผู้ต้องหาไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว ส่วนการตรวจสอบอื่น ๆ ก็เป็นกระบวนการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้ร้องสามารถดำเนินการเองได้ ระยะเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังทั้งสองครั้งจำนวน 12 วัน จึงนานเพียงพอที่จะสอบสวน จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาอีกต่อไป

.

เอกชัย หงส์กังวาน: ถูกคุมขังจากข้อหา “ประทุษร้ายเสรีภาพราชินี” เป็นเวลา 18 วัน

กรณีของเอกชัย พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ก็ได้เข้ายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ต่อศาลอาญาเช่นกัน โดยมีทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง

17.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขัง หลังไต่สวนพนักงานสอบสวนจำนวน 1 ปาก โดยระบุเหตุในการยกคำร้องว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานอีก 15 ปาก ที่ผู้ร้องอ้างเป็นเหตุในการขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งนี้เป็นพยานชุดเดียวกันกับเหตุการณ์ในคดี… ซึ่งพยานดังกล่าว เป็นพยานชาวบ้านจำนวน 14 ปาก  สามารถใช้วิธีการติดตามตัวมาสอบปากคำได้  ส่วนอีกหนึ่งปากเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน  ซึ่งพยานทั้ง 15 ปาก ไม่รู้จักผู้ต้องหาทั้งได้มีการสอบสวนผู้ต้องหาไว้เรียบร้อยแล้ว

การสอบสวนพยานตามที่ผู้ร้องอ้างจึงไม่ยากและไม่เกี่ยวกับการฝากขังผู้ต้องหาไว้ต่อศาล  ส่วนผลการตรวจสอบภาพเคลื่อนไหว  ลายพิมพ์นิ้วมือ  และประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาเป็นกระบวนการภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   ซึ่งผู้ร้องสามารถดำเนินการได้เอง   ประกอบกับได้ความจากผู้ร้องว่าคดีนี้เป็นคดีพิเศษตั้งคณะพนักงานสอบสวนเป็นคณะทำงานประมาณ 10 คน  ระยะเวลาที่ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังสองฝากจำนวน 17 วัน จึงเป็นระยะเวลานานเพียงพอที่ผู้ร้องจะทำการสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาแล้ว   กรณีจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องฝากขังผู้ต้องหาอีกต่อไป   ให้ยกคำร้องและปล่อยตัวผู้ต้องหาไป (อ้างอิง เฟซบุ๊กวิญญัติ ชาติมนตรี)

.

อานนท์ นำภา: ถูกคุมขังจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายน 2563 เป็นเวลา 19 วัน 

ในวันนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้เดินทางมาที่ศาลอาญาฯ เพื่อยื่นเรื่องขอฝากขังอานนท์ นำภา เป็นครั้งที่ 2 และผู้ต้องหาก็ได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง โดยมีเนื้อหาและประเด็นในคำร้องดังนี้

  1. พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยสงบ ปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุความวุ่นวาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือร่างกายของผู้ใด
  2. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาประกอบวิชาชีพทนายความ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้
  3. คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนผู้ต้องหาจนเสร็จแล้ว หากผู้ต้องหาต้องอยู่ในความควบคุมระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ย่อมจะเป็นการควบคุมตัวที่เกินจำเป็น กระทบต่อการทำหน้าที่ทนายความ ทั้งยังกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและโอกาสในการต่อสู้คดีของผู้ต้องหาเป็นอย่างมาก
  4. เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอฝากขังนายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ซึ่งพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เป็นผู้ร้อง อันเป็นมูลคดีเดียวกับคดีนี้ โดยศาลให้เหตุผลว่า “ศาลต้องคำนึงและคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาเป็นประการสำคัญ มิให้มีการขังเกินความจำเป็น จนกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ หากมีการสอบสวนเสร็จในภายหลังสามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาสั่งฟ้องได้ จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนอีกต่อไป”
  5. “สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม” เป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญซึ่งในทางสากลให้การยอมรับ ลำพังการใช้สิทธิ เสรีภาพดังกล่าวก็มิใช่การกระทำความผิดในตัวเอง เจ้าหน้าที่ของรัฐควรมีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาฝากขังโดยอ้างว่าผู้ต้องหาจะไปร่วมกิจกรรมอื่นใดในอนาคต เป็นการกระทำที่มุ่งจะแทรกแซงยับยั้งการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองไว้ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ให้ผู้ต้องหาหรือประชาชนอื่นไปใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไปในอนาคตได้

ในคดีของอานนท์ ศาลพิเคราะห์ว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง มีการตั้งพนักงานสอบสวนกว่า 50 นาย พยานที่เหลือที่ยังไม่ได้สอบปากคำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่ได้มีความยุ่งยาก ระยะเวลาฝากขัง 12 วัน จึงเพียงพอแล้ว กระบวนการตรวจสอบหลักฐานภายในอย่างเรื่องภาพเคลื่อนไหวและลายนิ้วมือเป็นกระบวนการตรวจสอบภายใน ไม่เกี่ยวกับผู้ต้องหา จึงยกคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน

ก่อนหน้าพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จะขออำนาจศาลฝากขังอานนท์ในคดีนี้ อานนท์ได้ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนในคดีชุมนุม #เชียงใหม่ไม่จะทน อยู่ที่ บก.ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี, กองบิน 41 จ.เชียงใหม่ และเรือนจำกลางเชียงใหม่ นับตั้งแต่ถูกจับเมื่อเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 63 จนกระทั่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ประกันตัวในวันที่ 26 ต.ค. 63  (https://www.facebook.com/lawyercenter2014/posts/3368310496552114)

.

สมยศ พฤกษาเกษมสุข: ถูกคุมขังจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 และ 20 กันยายน 2563 เป็นเวลา 18 วัน

พนักงานสอบสวนได้เดินทางมายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทางผู้ต้องหาเองก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้

  1. แม้จะมีการตั้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาตาม ป. อาญาฯ มาตรา 116 แต่ในคำร้องขอฝากขังชัดเจนว่าพฤติการณ์ที่กล่าวอ้างถึงเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ลักษณะของคดีจึงเป็นการใช้กฎหมายเพื่อปิดปากคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐเท่านั้น
  2. ผู้ต้องหาเป็นบุคคลธรรมดา มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถในการจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน หลักฐานต่างๆ อย่างภาพถ่ายและวิดีโอเหตุการณ์เองก็อยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวน พยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนอ้างถึง ผู้ต้องหาเองก็ไม่ทราบว่าเป็นใคร การไม่คุมขังผู้ต้องหาจึงไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน
  3. ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี อีกทั้งผู้ต้องหายังมีอายุมากแล้ว ป่วยด้วยโรคไขข้ออักเสบและโรคเก๊า ทำให้การใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเรื่องยากลำบาก
  4. เสรีภาพในการชุมนุมของบุคคลถือเป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งเจตจำนงของมวลชน ไม่ว่ารัฐบาลจะได้มาจากการเลือกตั้งหรือการทำรัฐประหาร ถือเป็นการกระตุ้นเตือนรัฐบาลโดยพลเมือง สิทธิในการชุมนุมจึงเป็นสิทธิมนุษยชนข้อสำคัญที่สากลให้การยอมรับ
  5. หากพนักงานสอบสวนเกรงว่า หากปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้ว ผู้ต้องหาจะไปใช้เสรีภาพในการกระทำใดเพื่อทำกิจกรรมใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐย่อมสามารถออกหมายเรียกหรือใช้อำนาจในการจับกุม ไม่จำเป็นต้องนำมาฝากขังต่อศาล การที่พนักงานสอบสวนนําตัวผู้ต้องหามาฝากขังโดยอ้างว่าผู้ต้องหาจะไปร่วมกิจกรรมอื่นใดในอนาคต ถือเป็นการกระทําที่มุ่งจะแทรกแซงยับยั้งการใช้เสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครองไว้
  6. คดีนี้มิใช่คดีอาญาทั่วไปที่ผู้กระทําความผิดมีเจตนาต้องการสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม แต่เป็นการเรียกร้องให้ผู้มีอํานาจดําเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกตรวจสอบมักใช้การฟ้องร้อง ดําเนินคดีทางอาญาต่อนักวิชาการ นักกิจกรรมภาคประชาชน หวังใช้กระบวนการยุติธรรมเป็น เครื่องมือในการขจัดหรือยับยั้งฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นหรือตรวจสอบการทํางานของตน หากวิธีการเช่นนี้เป็นที่ยอมรับให้กระทําได้โดยปกติ บุคคลจะขาดเสรีภาพในการแสดงออก ในสภาพการณ์ของคดีนี้ที่กล่าวมาข้างต้น จึงคงมีเพียงศาลสถิตยุติธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเสาหลักค้ำยันเป็นที่พึ่งของประชาชน

ในคดีของสมยศ ศาลพิเคราะห์แล้ว คล้ายกันกับกรณีอื่น นั่นคือคดีนี้เป็นคดีความมั่นคง ผู้ร้องอ้างพยานบุคคล 6 ปาก สอบปากคำไปแล้ว 2 ปาก เหลืออีก 4 ปาก 3 ปาก เป็นพนักงานในหน่วยงานรัฐ อีก 1 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่เขต การสอบสวนไม่ยุ่งยาก ระยะเวลาที่ให้ฝากขัง 2 ครั้ง 17 วัน เพียงพอในการสอบสวน พยานหลักฐานอื่นๆ ตรวจเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรอรับพยานหลักฐานที่เป็นวิดีโอและภาพของสื่อมวลชนตรวจสอบแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องขังผู้ต้องหา ให้ยกคำร้อง

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง:

สมยศเข้าเรือนจำครั้งที่ 2 หลังศาลไม่ให้ประกันตัวคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร

“น.ศ.มหิดล” มอบตัวคดี ม.110 หลังร่วมม็อบระหว่างขบวนเสด็จ ด้าน “เอกชัย” ถูกจับ เตรียมขอฝากขังพรุ่งนี้

ต้องคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา: ศาลยกคำร้องฝากขังไมค์-เพนกวิน-รุ้ง-แบงค์ หลังสูญอิสรภาพ2อาทิตย์

.

X