คดี UN 62 : คำถามที่รัฐไทยไม่ได้ตอบผู้รายงานพิเศษของ UN

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561  ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการส่งเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ด้านเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม และด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rappoteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression; the Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association; and the Special Rapporteur on the situation of human rights defenders หรือผู้รายงานพิเศษของ UN) ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) (หนังสือลำดับที่ AL THA 4/2018 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561) ให้รัฐบาลไทยชี้แจง กรณีการจับกุม การคุมขัง และการดำเนินคดีผู้ชุมนุม จากการชุมนุมโดยสงบและแสดงความคิดเห็นระหว่างการชุมนุมซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 รวมจำนวน 58 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีผู้ถูกดำเนินคดีในจำนวนที่เพิ่มขึ้น หรือ คดี UN62

จนล่วงเลยระยะเวลา 60 วัน (วันที่ 25 มิถุนายน – 24 สิงหาคม 2561) รัฐบาลไทยยังมิได้มีหนังสือตอบถึงผู้รายงานพิเศษของ UN ถึงรายละเอียดที่ต้องชี้แจงจำนวน 8 ข้อ รัฐบาลเพียงทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 (หนังสือลำดับที่ No.52101/366 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561) ว่าได้รับหนังสือของผู้รายงานพิเศษของ UN แล้ว และจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลต่อไป

ดังนั้น ข้อกล่าวหาว่ารัฐไทยดำเนินคดีอาญากับผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม จากการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศโดยเร็วที่สุด โดยการชุมนุมโดยสงบและใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ยังคงมีอยู่ แม้ว่าพวกเขาเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวจากการจับกุมในวันเกิดเหตุแล้ว แต่การคุกคามด้วยการดำเนินคดีอาญายังคงดำเนินต่อไป

 

สถานการณ์ล่าสุดด้านคดีความของกลุ่ม “We Want to Vote Movement” ในคดี UN62

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเดือนตุลาคม 2561 ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน้าองค์การสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2561 จำนวน 62 คน หรือคดี UN62 โดยกลุ่มผู้ชุมนุม อัยการสั่งฟ้องคดีแล้วเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ส่วนกลุ่มแกนนำ อัยการเลื่อนฟังคำสั่งไปในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 (ดูรายละเอียดคดีได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=8110 และ https://tlhr2014.com/?p=9172)

ทั้งนี้ ปริมาณของประชาชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งหรือกลุ่ม We Want to Vote Movement ที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฟ้องคดี ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2561 มีจำนวนถึง 130 คน ใน 6 กลุ่มคดี ซึ่งแต่ละคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นตำรวจ อัยการและชั้นศาลแตกต่างกันออกไป (ดูรายละเอียดกลุ่มคดีได้ที่ https://tlhr2014.com/?p=7016 และ https://tlhr2014.com/?p=8138)

 

ภาพการเข้าจับกุมคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 61

 

UN ห่วงกังวลถึงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการดำเนินคดีผู้สังเกตการณ์

ผู้รายงานพิเศษของ UN ภายใต้กลไกพิเศษ (UN Special Procedures) จี้ให้รัฐบาลไทยชี้แจงเกี่ยวกับคดี UN62

ภายหลังจากผู้รายงานพิเศษของ UN ทั้งสามด้านได้รับหนังสือร้องเรียนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ต่อกรณีการจับกุม 15 นักกิจกรรมที่ร่วมจัดกิจกรรมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเวลาล่วงเลยมาแล้ว 4 ปีหลังเกิดการรัฐประหาร  (https://tlhr2014.com/?p=7612) ผู้รายงานพิเศษของ UN จึงส่งหนังสือสื่อสารกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงรัฐบาลนี้ในกรณีของคดี UN62 มาถึงรัฐบาลไทย สรุปสาระสำคัญดังนี้

  • ข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์การใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ผู้รายงานพิเศษของ UN เห็นว่า แม้ว่าผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ทั้ง 58 คน จะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่พวกเขากำลังถูกดำเนินคดีจากการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และมีรายงานว่าจำนวนผู้ต้องหาจะเพิ่มมากขึ้นกว่านี้
  • ผู้รายงานพิเศษของ UN ห่วงกังวลต่อการดำเนินคดีอาญาในข้อหายุยงปลุกปั่นต่อผู้ชุมนุม (มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา)
  • ข้อห่วงกังวลต่อการดำเนินคดีอาญากับผู้สังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์การชุมนุม ซึ่งเป็นเสรีภาพที่ทำได้เพื่อให้การจัดการชุมนุมใด ๆ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีนี้เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นเธอสวมใส่ป้ายเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความฯ​ แยกชัดเจนจากผู้ชุมนุมทั่วไป ทั้งนี้เธอยังถูกดำเนินคดีที่จังหวัดขอนแก่นในข้อหาละเมิดคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เมื่อเดือนตุลาคม 2560 อยู่ก่อนแล้ว
  • ข้อห่วงกังวลต่อการเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีซึ่งรัฐไทยมีผลผูกพัน ตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) ในเรื่อง เสรีภาพในการโยกย้ายและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐ (ข้อ 12 (1)) สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาคดีอาญา (ข้อ 14 (5)) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ข้อ 19) และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และเสรีภาพการรวมกลุ่ม (ข้อ 21) ซึ่งการยกเลิกความผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้เป็นช่องทางให้เกิดการจับกุมโดยพลการต่อผู้ชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรกับการใช้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย

 

คำถามที่รัฐบาลไม่ได้ตอบ : การดำเนินคดี UN62 สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนอย่างไร

นอกจากนี้ผู้รายงานพิเศษของ UN ให้รัฐบาลไทยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 และการจับกุม คุมขัง และการดำเนินคดีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลไทยยืนยันถึงฐานทางกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินคดีบุคคล 58 รายดังกล่าวข้างต้น และอธิบายว่าข้อหาเหล่านี้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่รัฐไทยผูกพัน

2. ให้อธิบายว่าบุคคลเหล่านี้จะได้รับการพิจาณาคดีโดยชอบธรรมอย่างไร

3. ให้ส่งข้อมูลการดำเนินคดีอาญากับคุณนีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และอธิบายว่าทำไมเธอถึงถูกฟ้องคดีอาญาในฐานะที่เธอเป็นผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

4. ให้อธิบายสถานการณ์ที่ยังคงดำเนินอยู่ในการเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีซึ่งรัฐไทยต้องผูกพันตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลไทยได้ประกาศเลี่ยงการปฏิบัติมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยควรชี้แจงว่าการประกาศเลี่ยงการปฏิบัติตามพันธกรณีนี้สอดคล้องกับข้อ 4 ว่าในภาวะฉุกเฉินซึ่งคุกคามความอยู่รอดของชาติ รัฐภาคีอาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีของตนได้เพียงเท่าที่จำเป็นตามความฉุกเฉินของสถานการณ์ อย่างไร

5. รัฐบาลไทยมีมาตรการใดในการรับรองให้ผู้ชุมนุมสามารถดำเนินการชุมนุมด้วยความปลอดภัยและปราศจากความกลัว จากการข่มขู่ การคุมความ และการดำเนินคดี

6. ให้ชี้แจงว่ารัฐบาลไทยมีแผนจะยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างไร เพื่อให้เสรีภาพในการชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้

7. ให้ชี้แจงว่าบุคคลทั้ง 58 คน ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมของกระทรวงยุติธรรม หรือไม่

 

นีรนุช เนียมทรัพย์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกฟ้องคดีอาญาในฐานะที่เธอเป็นผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน

 

รู้จักการใช้กลไกพิเศษ (UN Special Procedures) หลังรัฐประหาร 2557

ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน

กลไกพิเศษเหล่านี้ ทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่าง ๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย (ดูเพิ่มเติม ในรายงาน https://tlhr2014.com/?p=3587)

หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จนถึงต้นปลาย 2561 ผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานในประเด็นต่าง ๆ ของ UN ได้เคยมีการส่งหนังสือสื่อสารกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับทางการไทยมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 22 ฉบับ โดยฉบับล่าสุดที่ผู้รายงานพิเศษของ UN ส่งมาถึงรัฐบาลไทย คือ หนังสือลำดับที่ AL THA 4/2018 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ซึ่งสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวเนื่องคดี UN62 และแสดงข้อห่วงกังวลและคำถามให้รัฐบาลไทยชี้แจงดังรายละเอียดข้างต้น

 

X