ภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
กลไกพิเศษเหล่านี้ ทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติด้วย (ดูเพิ่มเติมในรายงาน)
ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 จนถึงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ในประเทศไทยที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น หากกล่าวเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานในประเด็นต่างๆ ของ UN ได้เคยมีการส่งหนังสือสื่อสารกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับทางการไทยมาแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 14 ฉบับ (ไม่นับกรณีสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีการค้ามนุษย์ หรือกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารโดยตรง)
บางฉบับก็เป็นการสื่อสารกรณีการละเมิดรายบุคคล บางฉบับเป็นกรณีการละเมิดในลักษณะกลุ่มที่เกิดในประเด็นเดียวกัน หรือบางฉบับก็เป็นการตั้งคำถามถึงภาพรวมการใช้อำนาจ และการใช้ “กฎหมาย” ในยุคของคสช. โดยทางการไทยก็มีทั้งที่ทำหนังสือตอบและพยายามชี้แจงต่อข้อร้องเรียนดังกล่าว หรือบางฉบับก็ไม่ได้ตอบกลับข้อร้องเรียนใดๆ
แม้ความคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงานของ UN อาจไม่ได้ถึงกับทำให้คณะรัฐประหารยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนลง หรือนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในประเทศอย่างชัดเจน แต่ก็นับเป็นแรงกดดันที่ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นสิทธิมนุษยชนในองค์กรระหว่างรัฐได้ให้ความเห็นและท้วงติงถึงสถานการณ์ในประเทศไทย ขณะเดียวกันเอกสารระหว่างประเทศเหล่านี้ก็ยังนับเป็นรูปแบบหนึ่งของบทบันทึกแห่งยุคสมัยอันเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ซึ่งอาจใช้ศึกษาอย่างเป็นระบบได้ต่อไปในอนาคต ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงประมวลสรุปภาพรวมของหนังสือแจ้งข้อร้องเรียน และคำตอบของตัวแทนทางการไทยที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา
ประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาพรวม
หนังสือจากผู้รายงานพิเศษของ UN ฉบับแรกหลังการรัฐประหาร มีขึ้นไม่กี่วันหลังการยึดอำนาจโดยคสช. (หนังสือลำดับที่ THA 6/2014 ลงวันที่ 28 พ.ค.57) โดยเป็นการแสดงความกังวลอย่างยิ่งถึงสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรวมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ทั้งเรื่องการระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550, การยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ, การใช้กฎอัยการศึก, การปิดกั้นสื่อ โดยสั่งให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ระงับการออกอากาศรายการปกติ และห้ามประชาชนทั่วไปตั้งแต่ 5 คน เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง, การออกคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวในที่ทำการของทหาร โดยที่ครอบครัวไม่ได้รับแจ้งว่าบุคคลเหล่านั้นถูกนำตัวไปควบคุมตัวไว้ที่ใด รวมทั้งการจับกุมควบคุมตัวผู้นำทางการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคน
ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือตอบ ลงวันที่ 13 มิ.ย.57 พยายามชี้แจงเหตุผลการรัฐประหาร ระบุว่าประเทศไทยก่อนหน้านั้นอยู่ในภาวะอัมพาต โดยการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง เกิดการประท้วง และมีเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หากปล่อยให้เหตุการณ์ดังกล่าวดำเนินต่อไป อาจนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่รุนแรงยิ่งขึ้น การขับเคลื่อนทางการเมืองถึงทางตัน และอาจเกิดเหตุความรุนแรงขึ้นอีก ทำให้ทางกองทัพต้องเข้ามาในฐานะหนทางสุดท้าย อันจะทำให้ความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับคืนมา และทางคสช.ยังมีการจัดทำโรดแม็ปสามขั้น ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในประเทศด้วย
ทางตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศยังได้แนบเอกสารที่อธิบายถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทย โดยระบุส่วนหนึ่งว่าตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึกมา กล่าวได้ว่าไม่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้น ทั้งคสช.ยังให้สัญญาว่าสิทธิส่วนบุคคลและเสรีภาพจะได้รับการรับรอง โดยประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการจำกัดสิทธิเป็นการชั่วคราวนี้
ขณะเดียวกันยังชี้แจงเรื่องการปิดกั้นสื่อ ว่าการออกอากาศของสื่อต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างปกติ โดยมีข้อจำกัดเพียงเล็กน้อยสำหรับสื่อบางรายการเนื่องด้วยต้องรับผิดชอบต่อการออกอากาศในช่วงที่ผ่านมา เพราะพบว่ามีการเผยแพร่เนื้อหาหรือถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง หรือกระตุ้นยั่วยุให้เกิดความรุนแรงหรือความแตกแยก ทั้งผู้ซึ่งอยู่อาศัยในประเทศไทยยังสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ โดยไม่มีนโยบายปิดกั้นการใช้สื่อ
ขณะที่เรื่องการควบคุมตัวบุคคล หนังสือระบุว่าบุคคลที่ถูกคสช. เรียกมารายงานตัวนั้น ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวภายในระยะเวลาอันสั้น เช่น ภายในวันเดียวหรือภายในไม่เกิน 7 วัน ยกเว้นบุคคลซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา ก็จะถูกส่งตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป สำหรับบุคคลเหล่านี้ บางคนเป็นแกนนำของกลุ่มทางการเมืองมาก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต บุคคลเหล่านั้นจึงต้องถูกนำตัวมาด้วยความหวังว่าจะลดการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงหรือความแตกแยก โดยญาติของบุคคลกลุ่มกล่าวยังมีสิทธิที่จะเข้าพบได้ และยังไม่มีรายงานว่ามีบุคคลใดถูกซ้อมทรมานหรือได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายแต่อย่างใด
ประเด็นการใช้ “กฎหมาย” ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยคสช.
ในปี 2559 ผู้รายงานพิเศษของ UN ยังเคยมีหนังสือถามถึงการใช้กฎหมายโดยคสช. จำนวนมากที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน (หนังสือลำดับที่ THA 4/2016 ลงวันที่ 27 พ.ค.59) โดยเฉพาะการใช้คำสั่งที่ออกโดยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สามฉบับสำคัญ ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558, ฉบับที่ 5/2558 และฉบับที่ 13/2559 ซึ่งมีการร้องเรียนว่าทำให้เกิดการให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นำไปสู่การจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการรวมตัวและการแสดงออกอย่างไม่ได้สัดส่วน
ผู้รายงานพิเศษยังกล่าวถึงข้อมูลการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ข้อหายุยงปลุกปั่นประชาชนให้กระด้างกระเดื่องฯ) ดำเนินคดีกับผู้แสดงความเห็นในทิศทางตรงกันข้ามหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช., การใช้มาตรา 112 (ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ) ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก และมีการลงโทษจำคุกอย่างรุนแรง รวมทั้งการใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่นำไปสู่การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
ผู้รายงานพิเศษระบุถึงความกังวลว่าคำสั่ง ประกาศ และกฎหมายข้างต้น ได้ตัดตอนการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการรวมกลุ่มในประเทศไทย ไปในแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเนื้อหาในคำสั่ง ประกาศ และกฎหมายดังกล่าว ขาดการทบทวนความชอบด้วยกฎหมาย และการใช้คำนิยามที่กว้างขวางยังมีผลเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในการเข้าแทรกแซงการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย
ผู้แทนถาวรไทยประจําสหประชาชาติ ได้มีหนังสือตอบต่อประเด็นดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.59 โดยชี้แจงว่าด้วยเพราะความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคมเป็นกุญแจที่รัฐบาลต้องพยายามสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมาย เพื่อที่ประกันว่าหลักการดังกล่าวจะยังคงใช้ได้จริง และกฎหมายดังกล่าวไม่กระทบกระเทือนกับเสรีภาพแห่งการแสดงออกโดยทั่วไป ตราบเท่าที่การแสดงออกนั้นไม่กัดกร่อนความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสังคม ในความจริงแล้วรัฐบาลยังรับฟังทุกความเห็นตามกระบวนการปรองดองและการปฏิรูป
หนังสือของตัวแทนรัฐบาลไทยระบุว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ที่ใช้บังคับแทนกฎอัยการศึกนั้น ถูกใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อประกันแผนการปรองดอง และกระบวนการปฏิรูปให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ในขณะเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าที่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้กระบวนการปกติ โดยคำสั่งหัวหน้าคสช.นี้ วางกรอบการปฏิบัติงานที่ชัดเจนสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย ในคดีเฉพาะเจาะจง และยังใช้กฎหมายปกติ คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ในส่วนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 มีวัตถุประสงค์ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม ไม่มีวัตถุประสงค์คุกคามผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลแต่อย่างใด นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวยังไม่ได้จำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหามิให้ร้องทุกข์กล่าวโทษในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจโดยมิชอบได้ ในส่วนพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะมีวัตถุประสงค์เพื่อวางหลักการสำหรับการชุมนุมสาธารณะในประเทศ เพื่อที่จะประกันเรื่องสงบเรียบร้อยในสังคม ในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเคารพสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมของประชาชนด้วย
ในส่วนเฉพาะกฎหมายพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทางผู้รายงานพิเศษของ UN ยังเคยทำหนังสือลำดับที่ THA 12/2014 (ลงวันที่ 12 พ.ย.57) ตั้งคำถามถึงความไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตั้งแต่ในช่วงที่ยังเป็นร่างกฎหมายอยู่
ทางผู้รายงานพิเศษระบุว่าจากข้อมูลที่มีผู้ร้องเรียนระบุว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบด้วยบทบัญญัติหลายประการที่มีผลเป็นการตัดตอน/จำกัดการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมโดยสงบ โดยมีบทบัญญัติที่เป็นที่น่าห่วงกังวลตามหลักกฎหมายและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตั้งแต่มาตรา 7 และ 11 (กำหนดพื้นที่ห้ามชุมนุม และการสามารถวางข้อกำหนดในการชุมนุมของผู้มีอำนาจ) มาตรา 13 (ผู้มีอำนาจ/เจ้าหน้าที่รัฐอาจขอให้ผู้จัดการชุมนุมปรับเปลี่ยนการชุมนุมได้) มาตรา 27 (เกี่ยวกับงานตำรวจที่เกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุม) มาตรา 28 (ข้อกำหนด/ความรับผิดของผู้จัดการชุมนุม) มาตรา 18 (การห้ามการชุมนุม เพราะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนทั่วไป) และมาตรา 30 (ผู้จัดการชุมนุมอาจต้องรับโทษ สำหรับการกระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงการไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ)
ทางรัฐบาลไทยไม่ได้มีการตอบกลับหนังสือฉบับนี้ที่ร้องเรียนเรื่องกฎหมายชุมนุมแต่อย่างใด
ประเด็นการบังคับใช้มาตรา 112
ในส่วนของการใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อกติกาด้านสิทธิมนุษยชน ประเด็นการบังคับใช้มาตรา 112 ยังเป็นเรื่องที่ถูกทวงถามบ่อยครั้งจากผู้รายงานพิเศษของ UN โดยในหนังสือถึงทางการไทยแต่ละฉบับ ก็มีการสอบถามถึงกรณีต่างๆ พร้อมกันหลายกรณี ได้แก่ หนังสือลำดับที่ THA 13/2014 (ลงวันที่ 8 ธ.ค.57) ที่ผู้รายงานพิเศษแจ้งถึงข้อร้องเรียนเรื่องการจับกุมและควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมกับการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อบุคคล 21 ราย เนื่องจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
หนังสือฉบับนี้ได้ประมวลข้อร้องเรียนกรณีมาตรา 112 ที่ทางผู้รายงานพิเศษได้รับมาตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2552 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 อาทิเช่น กรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุข, กรณี 2 จำเลยคดีแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า, กรณีสมบัติ บุญงามอนงค์, กรณีสิรภพ, กรณีอภิชาติ, กรณีอัครเดช, กรณีคทาวุฒิ, กรณีธเนศ เป็นต้น โดยผู้รายงานพิเศษได้สรุปข้อมูลแต่ละกรณี พร้อมแสดงความกังวลว่ามาตรา 112 ที่ถูกบังคับใช้กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 นั้น มีลักษณะไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ19 (ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น) ที่ไทยเป็นภาคี รวมทั้งแสดงความกังวลต่อการควบคุมตัวโดยไม่ให้ประกันตัว การลงโทษที่รุนแรงไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ และการเพิกถอนหนังสือเดินทางของบางคน ซึ่งล้วนกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น โดยในจำนวนนี้ 4 ใน 21 คน ยังถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งขัดแย้งต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ผู้รายงานพิเศษยังแสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายนี้ในลักษณะเป็นเครื่องมือปิดปากการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นของฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร
ต่อมา ผู้รายงานพิเศษยังมีหนังสือลำดับที่ THA 9/2015 (ลงวันที่ 25 ก.พ.59) ในเรื่องการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อบุคคลที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งหมด 26 คน อาทิเช่น กรณีโอภาส, กรณีเธียรสุธรรม หรือ “ใหญ่ แดงเดือด”, กรณีพงษ์ศักดิ์, กรณีศศิวิมล, กรณีสมัคร, กรณีประจักษ์ชัย, กรณีจารุวรรณ, ผู้ต้องหาหลายคนในกรณีแชร์คลิปบรรพต, กรณีเอกชัย, กรณียศวริศ หรือ “เจ๋ง ดอกจิก”, กรณีเฉลียว เป็นต้น ผู้รายงานพิเศษระบุว่าพวกเขาเหล่านี้ถูกดำเนินคดีและคุมขังเพียงเพราะการแสดงความเห็น ทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและในที่สาธารณะ รวมทั้งในสื่อออนไลน์เท่านั้น ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับที่ได้ผู้รายงานพิเศษได้ท้วงติงมาในจดหมายฉบับข้างต้นแล้ว โดยในจำนวนนี้ มี 15 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งกระทบต่อสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมเช่นกัน
ในทั้งสองครั้ง ทางการไทยมีหนังสือตอบในลักษณะคล้ายคลึงกัน (หนังสือลงวันที่ 10 ธ.ค.57 และหนังสือลงวันที่ 29 ก.พ.59) โดยพยายามเน้นย้ำว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก แต่ยังคงมีข้อจำกัดบางประการเพื่อปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น หรือเพื่อคงไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติและความสงบเรียบร้อยของประชาชน กฎหมายมาตรา 112 ให้ความคุ้มครองแก่สิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในลักษณะเดียวกันกับกฎหมายสำหรับบุคคลทั่วไป มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดสิทธิของประชาชนในการใช้เสรีภาพในการแสดงออก หรือปิดกั้นการดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของนักวิชาการ ซึ่งรวมถึงการถกเถียงถึงราชวงศ์ในฐานะสถาบันหนึ่งด้วย
ทางการไทยยังระบุในส่วนกระบวนการพิจารณาว่าคดีมาตรา 112 ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับความผิดอาญาฐานอื่น ภายใต้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย จำเลย/ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะโต้แย้งข้อกล่าวหา และมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่นเดียวกับสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษากฎหมาย/ทนายความ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายไทยยังให้ดุลพินิจศาลสั่งให้มีการพิจารณาลับได้ในบางคดี หากคดีนั้นเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของชาติ ไม่แตกต่างจากแนวปฏิบัติของประเทศอื่น และสำหรับบุคคลที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด พวกเขามีสิทธิที่จะอุทธรณ์คดีต่อศาลสูง และเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ก็ยังมีสิทธิในการขอพระราชทานอภัยโทษได้
นอกจากหนังสือสองฉบับดังกล่าวแล้ว ล่าสุดต้นปี 2560 ทางผู้รายงานพิเศษ UN ยังสอบถามข้อร้องเรียนโดยเฉพาะต่อกรณีนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากกรณีการแชร์รายงานข่าวบีบีซีไทย และยังถูกคุมขังในเรือนจำจนถึงปัจจุบันมาด้วย (ดูรายละเอียดในรายงาน เปิดหนังสือผู้รายงานพิเศษ UN ถามรัฐบาลไทยกรณีละเมิดสิทธิ “ไผ่” และคดี 112)
ประเด็นการซ้อมทรมาน
ประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงคสช. คือข้อร้องเรียนเรื่องการถูกซ้อมทรมานในระหว่างการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปรากฏหนังสือของผู้รายงานพิเศษและคณะกรรมการฯ ของ UN ที่ตั้งคำถามต่อทางการไทยมาแล้ว 3 ฉบับ
กรณีแรก ได้แก่ กรณีของน.ส.กริชสุดา คุณะเสน (หนังสือลำดับที่ THA 9/2014 ลงวันที่ 22 ส.ค.57) ที่ถูกผู้รายงานพิเศษตั้งคำถามถึงการควบคุมตัวโดยพลการ การปฏิบัติที่โหดร้ายและการทรมานในที่คุมขังโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยระบุเรื่องการควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นเวลา 28 วัน การที่เจ้าหน้าที่สอบสวนกริชสุดาทุกวัน โดยมีการชกเธอเข้าที่หน้า หัว ท้อง และบริเวณร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเธอถูกใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะ และห่อด้วยเสื้อผ้า เพื่อทำให้หายใจไม่ออก กรณีของกริชสุดาจึงเข้าข่ายทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก การซ้อมทรมาน และความรุนแรงต่อผู้หญิง
กรณีนี้ทางการไทยไม่ได้มีหนังสือชี้แจงตอบกลับต่อผู้รายงานพิเศษของ UN ในกรณีนี้แต่อย่างใด
กรณีที่สอง ได้แก่ กรณีผู้ต้องหาคดีครอบครองอาวุธและคดียาเสพติด รวม 5 ราย (หนังสือลำดับที่ THA 11/2014 ลงวันที่ 10 ต.ค.57) โดยทางผู้รายงานพิเศษระบุถึงข้อมูลที่ได้รับมาระหว่างวันที่ 6-22 ก.ค.57 ในกรณีการจับกุม
นายชัชวาล ปราบบำรุง, ภรรยาของนายชัชวาล, นายสมศรี มาฤทธิ์, นายทวีชัย วิชาคำ และนายบัญชา โคตรภูธร โดยทั้งหมดได้ถูกซ้อมทรมาน และการปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างกระบวนการจับกุม ควบคุมตัว และการสืบสวน/สอบสวน โดยทั้งหมดมีภรรยาของนายชัชวาลที่ได้รับการปล่อยตัว ส่วนที่เหลือยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
กรณีนี้แม้ทางการไทยจะมีหนังสือตอบกลับ (ลงวันที่ 14 ต.ค.57) แต่ก็เป็นเพียงการตอบว่าได้รับหนังสือจากผู้รายงานพิเศษของ UN แล้ว และจะได้จัดส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป
กรณีที่สาม ได้แก่ กรณีผู้ต้องหาคดีปาระเบิดที่จอดรถของศาลอาญา (หนังสือลำดับที่ THA 4/2015 ลงวันที่ 8 มิ.ย.58) โดยผู้รายงานพิเศษ UN ระบุข้อมูลว่าระหว่างการควบคุมตัวกลุ่มผู้ต้องสงสัยในกรณีนี้ช่วงวันที่ 9-15 มี.ค.58 โดยอำนาจของทหาร ผู้ถูกจับกุม 4 ราย ได้แก่ นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, นายชาญวิทย์ จริยานุกูล, นายวิชัย อยู่สุข และ นายนรพัฒน์ เหลือผล ร้องเรียนว่าระหว่างถูกคุมขัง ได้ถูกซ้อมทรมาน และปฏิบัติอย่างโหดร้าย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หนังสือทั้งสองฉบับนี้ยังพยายามให้รายละเอียดของรูปแบบการซ้อมทรมานบุคคลเหลานี้ที่มีการร้องเรียนมาต่อผู้รายงานพิเศษของ UN ด้วย
แต่ก็เช่นเดียวกับกรณีกริชสุดา ทางการไทยไม่ได้ตอบกลับข้อซักถามในกรณีนี้แต่อย่างใด
ประเด็นการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรม
ขณะเดียวกัน ประเด็นการข่มขู่คุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human rights defenders) และการควบคุมตัวนักกิจกรรมโดยมิชอบ ยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีการร้องเรียนกรณีต่างๆ ไปยังผู้รายงานพิเศษ และบางส่วนผู้รายงานพิเศษได้มีหนังสือสอบถามข้อร้องเรียนกลับมายังทางการไทย ได้แก่
กรณีของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ (หนังสือลำดับที่ THA 8/2014 ลงวันที่ 19 ส.ค.57) ซึ่งผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกและเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนระบุว่าปวินได้แสดงความคิดเห็นวิจารณ์การทำงาน/วิธีการดำเนินงานของคสช. และได้ถูกคสช.ออกคำสั่งเรียกรายงานตัวสองครั้ง ก่อนจะมีการออกหมายจับในฐานฝ่าฝืนคำสั่งคสช. และถูกเพิกถอนหนังสือเดินทาง รวมทั้งไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสถานกงสุลไทยในนครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
ทางการไทยมีหนังสือตอบกลับ (ลงวันที่ 30 ม.ค.58) ระบุเรื่องการเพิกถอนพาสปอร์ตของปวินว่าเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบของกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานทูตไทยไม่เคยกดดันหรือแทรกแซงทางการของประเทศญี่ปุ่น ประเทศซึ่งปวินอาศัยอยู่ หนังสือยังพยายามชี้แจงว่าตามคำสั่งของคสช. การไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียก ถือว่ามีความผิดมีโทษจำคุกหรือปรับ เมื่อปวินฝ่าฝืนจึงมีการออกหมายจับ และการเพิกถอนพาสปอร์ต ไม่ได้เป็นการข่มขู่หรือตอบโต้ต่อปวิน
ในปีที่สองหลังรัฐประหาร ผู้รายงานพิเศษของ UN ได้มีหนังสือตั้งคำถามถึงกรณีการจับกุม 14 นักศึกษาและนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (หนังสือลำดับที่ THA 7/2015 ลงวันที่ 16 ก.ค.58) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.58 โดยมีการร้องเรียนว่ากลุ่มนักศึกษาและนักกิจกรรมถูกควบคุมตัวโดยพลการ หลังจากร่วมกันจัดการชุมนุมอย่างสงบเพื่อคัดค้านการกระทำรัฐประหาร และการไล่รื้อที่ดินของชุมชนในภาคอีสาน ต่อมา ศาลทหารกรุงเทพยังมีคำสั่งให้ควบคุมตัวทั้ง 14 นักศึกษาไว้ระหว่างการสอบสวน 12 วัน แม้จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ข้อกล่าวหาทั้งหมดยังคงอยู่
ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ได้ชี้แจง (หนังสือตอบกลับ ลงวันที่ 20 ก.ค.58) โดยให้ข้อมูลกรณีดังกล่าวว่ากลุ่มนักศึกษาถูกจับกุมและดำเนินคดีในหลายข้อหา ซึ่งรวมถึงการก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศตามมาตรา 116 และมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของคสช. โดยอ้างว่าก่อนถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ได้มีการแจ้งแล้วว่ากิจกรรมของพวกเขานั้นผิดกฎหมาย และให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตามวันที่กำหนดถึงสองครั้ง แต่นักศึกษากลุ่มดังกล่าวไม่ทำตาม กระบวนการจับกุมจึงเป็นไปตามหมายศาล โดยผู้ต้องหาทุกคนที่ถูกพิจารณาคดีในศาลทหารต่างได้รับการประกันสิทธิ เช่นเดียวกับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม รวมทั้งสิทธิที่จะมีทนายความ และสิทธิในการอุทธรณ์/ฎีกา
นอกจากกรณีของกลุ่มนักกิจกรรมประชาธิปไตยใหม่ ยังมีกรณี น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (หนังสือลำดับที่ THA 6/2015 ลงวันที่ 7 ก.ค.58) ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ผู้รายงานพิเศษของ UN ระบุถึงข้อร้องเรียนเรื่องการคุกคามและข่มขู่ทนายความเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือลูกความ ซึ่งก็คือกลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ข้างต้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะค้นสิ่งของของศิริกาญจน์ รวมทั้งรถยนต์โดยไม่มีหมายค้นจากศาล ก่อนจะมีการไปนำหมายศาลมาตรวจยึดโทรศัพท์ของลูกความของเธอ หลังจากนั้น ศิริกาญจน์ได้เข้าร้องทุกข์ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบ แม้ว่าเธอจะถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ว่าจะดำเนินคดีหากเธอร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นเดินทางไปที่บ้านพ่อแม่ของศิริกาญจน์ด้วย ผู้รายงานพิเศษได้แสดงความกังวลว่าการข่มขู่คุกคามดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการขัดขวางการใช้สิทธิ คือความเป็นอิสระของนักกฎหมายได้
ผู้แทนถาวรไทยฯ ได้มีหนังสือตอบกลับในกรณีนี้ (ลงวันที่ 10 ก.ค.58) แต่เพียงให้ข้อมูลกับผู้รายงานพิเศษถึงคดีของ 14 นักศึกษา-นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในลักษณะที่คัดลอกกันมากับคำชี้แจงในหนังสือตอบกลับข้างต้น แต่ไม่ได้มีการชี้แจงใดๆ ในกรณีการข่มขู่คุกคามทนายความ เพียงแต่ระบุในตอนท้ายว่าจะส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
ประเด็นการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกระหว่างการลงประชามติ
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจ คือประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิในด้านต่างๆ ระหว่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ ผู้รายงานพิเศษของ UN ก็ได้มีหนังสือแสดงความกังวลถึงบทบัญญัติในกฎหมายนี้ที่จะกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะต่อผู้ที่แสดงความไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์คสช. (หนังสือลำดับที่ THA 3/2016 ลงวันที่ 27 พ.ค.59)
หนังสือระบุว่าตั้งแต่พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ ก็มีรายงานว่ามีบุคคลอย่างน้อย 25 คน ถูกควบคุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาจากการแสดงออกในลักษณะไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้รายงานพิเศษระบุประเด็นที่น่าห่วงกังวลเรื่องความกว้างขวางของบทบัญญัติที่ใช้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งยังขาดความชัดเจน และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยข้อความตามมาตรา 61 ไม่อาจตีความว่าอยู่ในข้อจำกัดของข้อ 19 แห่งกติกา ICCPR ได้ ทั้งยังกังวลในเรื่องการเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายสามารถใช้ดุลพินิจอย่างเป็นอิสระในการจับ และแจ้งข้อกล่าวหาบุคคล ซึ่งใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามกฎหมาย
ทั้งผู้รายงานพิเศษยังกังวลต่อการที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะนำไปสู่การขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นเรื่องสาธารณะและเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งที่ภายใต้การลงประชามตินั้น การแสดงความคิดเห็นควรต้องเป็นอิสระ โต้แย้งและถกเถียงกันได้ภายใต้บรรยากาศที่เปิดกว้าง ทางผู้รายงานพิเศษ UN จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยับยั้งการบังคับใช้พ.ร.บ.ประชามตินี้
ทางผู้แทนถาวรไทยฯ ได้มีหนังสือตอบกลับ (ลงวันที่ 30 พ.ค.59) ระบุตอบรับการได้รับหนังสือแล้ว และจะจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อไป
ต่อมา เมื่อถึงช่วงใกล้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ทางผู้รายงานพิเศษ UN ยังได้มีหนังสืออีกฉบับหนึ่ง (หนังสือลำดับที่ THA 5/2016 ลงวันที่ 22 ก.ค.59) รวบรวมข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการลงประชามติ ทั้งการควบคุมตัวและดำเนินคดีอาญากับนักศึกษา-นักกิจกรรม 13 คน ที่รณรงค์การออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การจับกุมนักกิจกรรมและนักข่าวในกรณีที่ราชบุรี กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าตรวจค้นสำนักข่าวประชาไท โดยอ้างเรื่องการพิมพ์เอกสารรณรงค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ
ทางผู้รายงานพิเศษ UN ยังแสดงความกังวลว่าการจับกุมจากการแสดงความคิดเห็นนี้ เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการปิดกั้นที่เพิ่มมากขึ้นภายใต้พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 แห่งกติกา ICCPR จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งสิทธิที่จะไม่ถูกจำกัดการได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารในระหว่างการออกเสียงประชามติ
ทางการไทยไม่ได้มีหนังสือตอบกลับเพื่อชี้แจงใดๆ ในกรณีนี้