เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2568 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัวในคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา ศิลปินฮิปฮอป ในนาม ‘Eleven Finger’ กรณีชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหารใน #ม็อบ27พฤศจิกา บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อปี 2563 หลังทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา
.
ปัจจุบัน “บุ๊ค” ธนายุทธ ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2566 ด้วยโทษจำคุกหลังมีคำพิพากษาใน 3 คดี ได้แก่ คดีครอบครองวัตถุระเบิด กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพักหลังการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย. 2565 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้ว
ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีในข้อหาทำให้เกิดระเบิดฯ กรณีถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองที่บริเวณประตูกรมทหารราบที่ 1 ใกล้บ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้จำคุก 6 เดือน ปัจจุบันคดีสิ้นสุดแล้ว
และในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหารใน #ม็อบ27พฤศจิกา บริเวณห้าแยกลาดพร้าว เมื่อปี 2563 โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 2 เดือน และปรับ 14,200 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญาและให้นับโทษต่อจากคดีอื่น แต่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ก่อนที่จะถอนประกันคดีนี้ในเวลาต่อมาหลังถูกคุมขังในคดีระเบิด ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์
.
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2568 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวธนายุทธในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมีสาระสำคัญในคำร้อง ดังนี้
ในคดีนี้ จำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด จึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำเลยมีความประสงค์ที่จะได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อที่จะได้ต่อสู้คดีอย่างมีศักดิ์ศรีให้ถึงที่สุด อีกทั้งยังไม่ปรากฏเหตุตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย ซึ่งการที่ให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์จะทำให้การพิจาารณาพิพากษาคดีของศาลสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย มีตัวจำเลยมาศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีและบังคับโทษ
ในกรณีที่ศาลยังคงเห็นว่า หากอนุญาตให้ประกันตัวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีนั้น ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับท่ีอยู่ของจำเลยหรือเงื่อนไขใด ๆ ให้จำเลยปฏิบัติ เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อปกป้องภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้
ทั้งนี้ ผู้ร้องและจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาคำร้องประกันตัวจำเลยและมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องและจำเลยยินยอมวางหลักประกันตามที่ศาลกำหนด โดยหากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวใด ๆ ตามกฎหมาย หรือการแต่งตั้งผู้กำกับดูแล จำเลยยินดีปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
.
หลังทนายยื่นขอประกันตัว คำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ต่อมาในวันที่ 5 มิ.ย. 2568 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วนับโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่น ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน หากให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
.
ธนายุทธยังคงถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีที่สิ้นสุดแล้ว (ข้อหาเกี่ยวเนื่องกันวัตถุระเบิด 2 คดี) ด้วยโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน และคดีที่ยังไม่สิ้นสุด (ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ด้วยโทษจำคุก 2 เดือนและให้นับโทษต่อ รวมแล้วปัจจุบันเขามีโทษจำคุกทั้งหมดราว 2 ปี 8 เดือน
เนื่องจากบุ๊คได้รับลดหย่อนโทษลงจากช่วง พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อปี 2567 ในคดีที่สิ้นสุดแล้ว ทำให้มีกำหนดการปล่อยตัวในช่วงเดือนกันยายน 2568 นี้ แต่เนื่องจากคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์อีก 1 คดี ทำให้เขาพยายามขอยื่นประกันตัวในคดีหลังนี้ไว้ก่อน
บุ๊คถูกคุมขังมาตั้งแต่ 22 ก.ย. 2566 จนถึงวันนี้ (6 มิ.ย. 2568) เขาถูกขังมาแล้ว 624 วัน