วันที่ 1 และ 13 พ.ค. 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “มานี” เงินตา คำแสน ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังจากถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ และยังถูกศาลพิพากษาในคดีดูหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง จำคุกอีก 6 เดือน รวมเป็นเวลากว่า 300 กว่าวันที่เธอถูกคุมขังในเรือนจำ
การเยี่ยมครั้งแรกในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม มานีปรากฏตัวพร้อมเสื้อยืดสีขาวที่เขียนข้อความเรียกร้องว่า ‘คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขัง’ และ ‘ประชาชนสร้างชาติ ไม่ใช่มหาราชองค์ใด’ ซึ่งนำไปสู่การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เรือนจำที่พยายามให้เธอถอดเสื้อออก แต่เธอยืนยันสิทธิในการแสดงออกทางความคิดอย่างแน่วแน่ สุดท้ายถูกบังคับให้สวมเสื้ออื่นทับด้านนอก
ทั้งสองครั้งของการเยี่ยม มานีเปิดเผยถึงการต่อสู้กับอาการแพนิคที่รุนแรงขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในที่แออัดหรือมีเสียงดัง จนไม่สามารถเข้าแถวนับยอด ยืนเคารพธงชาติ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากได้ แม้จะได้รับยารักษาแล้วก็ตาม เธอยังปฏิเสธที่จะรับการรักษาจากแพทย์ในเรือนจำ ด้วยความไม่ไว้ใจต่อมาตรฐานการรักษาหลังจากกรณี “บุ้ง” นักกิจกรรมที่เสียชีวิตในการคุมขัง
การเยี่ยมครั้งที่สอง มีความพิเศษเนื่องจากเป็นช่วงเวลาก่อนงานนิทรรศการ “บุ้ง เนติพร วันที่เธอหายไป: Remembering Her, Remembering Us” มานีได้ถ่ายทอดความทรงจำและความรู้สึกที่มีต่อบุ้งผ่านข้อความที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ เธอเล่าถึงความพยายามเขียนจดหมายถึงบุ้งที่ถูกเจ้าหน้าที่ตีกลับ และการต่อสู้กับข้อจำกัดในการแสดงความรู้สึก พร้อมระลึกถึงการพบกันครั้งสุดท้ายที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ และยืนยันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะที่ยากลำบากทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่จะยืนหยัดในการเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรม โดยมีการต่อสู้ของบุ้งเป็นแรงบันดาลใจ
“การต่อสู้ของบุ้งที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ให้พี่ยังคงเรียกร้องและอยู่ในนี้ได้จนถึงทุกวันนี้” มานีกล่าวไว้ตอนหนึ่ง
__________________________________
วันที่ 1 พ.ค. 2568
เสียงเรียกชื่อจากเจ้าหน้าที่ดังขึ้น ทำให้ทนายได้พบกับมานีที่นั่งรออยู่แล้วอีกฟากหนึ่งของห้องเยี่ยม แม้อยู่ในระยะห่างผ่านกระจกและลูกกรงเหล็ก แต่ก็ยังสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ทางสีหน้าของเธอ “เป็นอะไรหรือเปล่า สีหน้าดูไม่ค่อยโอเคเลย” ทนายถามออกไปด้วยความเป็นห่วง “พี่อารมณ์ไม่ดี รู้สึกโกรธ” เธอตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงห้วน
มานีเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ วันแรงงานสากล วันที่เธอไม่เคยพลาดการเข้าร่วมชุมนุมทุกปีตอนอยู่ข้างนอก แม้จะถูกคุมขัง เธอก็ยังหาทางแสดงออกทางความคิดด้วยการสวมเสื้อยืดสีขาวที่เขียนข้อความด้วยปากกาหมึกซึมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
‘คืนความยุติธรรมให้ประชาชน คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขัง’ และ ‘ประชาชนสร้างชาติ ไม่ใช่มหาราชองค์ใด’
เมื่อเธอสวมเสื้อที่มีข้อความเหล่านี้เดินออกมา ผู้คุมก็เข้ามาแจ้งให้เธอถอดเสื้อออกทันที พร้อมกับอนุญาตให้เปิดตู้ล็อกเกอร์เพื่อเอาเสื้ออื่นมาใส่แทน แต่มานีไม่ยอม เธอยืนยันว่าไม่ได้ปลุกระดมใคร แต่เป็นการพยายามแสดงออกของเธอ
สุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้นำเสื้อของเพื่อนผู้ต้องขังมาให้เธอสวมทับเสื้อตัวเดิม ซึ่งเธอยินยอม เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ออกมาพบทนายความ
มานีได้เปิดเสื้อด้านนอกให้เห็นเสื้อยืดสีขาวที่เขียนข้อความดังกล่าวสวมอยู่ข้างใน ราวกับเป็นการยืนยันว่าการต่อสู้ของเธอยังคงดำเนินต่อไป แม้จะถูกปิดกั้นด้วยผ้าบาง ๆ อีกชั้นหนึ่ง
เมื่อถามถึงอาการแพนิคที่เธอประสบอยู่ มานีส่ายหน้าช้า ๆ “อาการไม่ดีขึ้นเลย นับแต่วันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว” เธอกล่าว “ช่วงนี้ฝนตกบ่อย นอกจากจะมีอาการแพนิคแล้ว อาการซึมเศร้าก็กำเริบด้วยในบรรยากาศแบบนี้”
เธอเล่าว่าอาการแพนิคเกิดขึ้นแทบทุกวัน โดยเฉพาะเวลาเจอคนแออัด เสียงดัง อาการจะกำเริบขึ้นทันที แม้จะได้รับยาแล้วก็ตาม เหมือนทานแล้วไม่ได้ผล ต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นอีกหรือไม่ เธอยังกังวลต่ออาการของตัวเอง
ช่วงนี้มานีได้แต่ประคับประคองอาการไม่ให้แย่ลง โดยไม่สามารถยืนรอเข้าแถว หรือเข้าร่วมการอบรมที่มีคนจำนวนมากได้ วันไหนที่รู้สึกเครียด ดิ่ง ดาวน์ จะพยายามฝึกสมาธิ สวดมนต์ พับดอกไม้ เพื่อให้ผ่านพ้นวันเวลาที่เลวร้ายไปได้
“พี่ทำได้เพียงเท่านี้ เพื่อที่จะอยู่ในนี้ต่อไปได้” เธอกล่าวทิ้งท้าย
.
วันที่ 13 พ.ค. 2568
สองสัปดาห์ผ่านไปกับการเยี่ยมมานีอีกครั้ง ใบหน้าซีดเซียวของมานีนั่งรออยู่อีกฟากหนึ่ง ความเศร้าหมองในแววตาของเธอบ่งบอกถึงภาวะทางอารมณ์ที่ไม่สู้ดีนัก “พี่ไม่โอเคเท่าไร” มานีเปิดบทสนทนาเป็นคำตอบด้วยเสียงแผ่วเบา “ยิ่งหยุดยาวหลายวัน ทนายไม่ได้มาเยี่ยม สามีก็ไม่ได้มาเยี่ยม พี่ยิ่งรู้สึกแย่ ยิ่งฝนตกแบบนี้ด้วย ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่”
มานียังคงมีอาการแพนิคเหมือนเดิม เธอเข้าแถวไม่ได้ อยู่ในที่คนเยอะหรือเสียงดังไม่ได้ แม้จะมียารับประทานแล้วก็ตาม เธอได้ประสานให้สามีปรึกษาแพทย์เพื่อเพิ่มขนาดของยาให้ แต่ไม่แน่ใจว่าแพทย์จะสามารถเพิ่มหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้ตรวจวินิจฉัยโดยตรง
มานียืนกรานว่าจะไม่รับการรักษาหรือยาใด ๆ จากแพทย์ในเรือนจำ เนื่องจากไม่ไว้ใจมาตรฐานการรักษา โดยอ้างถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับ “บุ้ง” และประสบการณ์ของเธอเองเกี่ยวกับการได้รับยาแก้ซึมเศร้า
หลังจากคุยเรื่องอาการป่วย มานีได้ฟังถึงข่าวงานนิทรรศการรำลึก 1 ปี การจากไปของบุ้งที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. 2568 “ทราบเรื่องงานนิทรรศการก่อนหน้านี้แล้วจากพี่สาวของบุ้ง” มานีบอก “พี่ได้เขียนจดหมายถึงบุ้งส่งออกไปแล้ว”
น้ำตาค่อย ๆ ไหลอาบแก้มของเธอขณะที่เล่าต่อ “นี่เป็นการเขียนจดหมายที่ยากที่สุดที่พี่เคยเขียน” เธอสารภาพ “พอเขียนส่งไปแล้ว เจ้าหน้าที่ตีกลับไม่ให้ผ่าน เพราะในเนื้อหาจดหมายนั้นพี่เขียนตั้งคำถามถึงสาเหตุการจากไปของบุ้ง ความอยุติธรรมที่บุ้งได้รับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เขียนในลักษณะนี้”
มานีเล่าว่าเธอพยายามเขียนใหม่ “แต่เขียนแล้วเขียนอีกมันเขียนไม่ได้ มันหลากหลายความรู้สึกมาก ไม่สามารถเขียนความรู้สึกและความทรงจำที่มีต่อบุ้งออกมาได้หมดภายใน 15 บรรทัด เขียนไป ลบไป ร้องไห้ไป”
สุดท้ายเธอต้องจ้างผู้ต้องขังคนหนึ่งในเรือนนอนเดียวกันให้ช่วยเขียนตามคำพูด เพราะอารมณ์ของเธอไม่คงที่
“จดหมายที่เขียนถึงบุ้งมันเลยไม่ใช่ความรู้สึกทั้งหมดที่อยากจะเขียน เพราะมันมีข้อจำกัดหลายอย่าง” มานีบอก เธออยากให้เผยแพร่จดหมายฉบับนี้ เพื่อร่วมรำลึกถึงบุ้ง
—————————–
.
จดหมายจากพี่มานีถึงบุ้ง
ความทรงจำของคนอื่นที่มีต่อบุ้ง อาจจะคิดว่าบุ้งเป็นเด็กก้าวร้าว หัวรุนแรง แต่ความทรงจำของพี่ต่อบุ้งไม่เป็นแบบนั้น ครั้งแรกที่พี่เจอเขาคือตอนที่ตำรวจบุกจับเด็ก ๆ กลุ่มทะลุวังที่คอนโดที่พัก พี่และคนอื่น ๆ ที่รู้ข่าวก็ตามไปช่วยที่ สน. พี่เห็นบุ้งยืนโวยวายเถียงกับตำรวจ ทำให้เรารู้ว่าเด็กคนนี้มันเป็นห่วงน้อง ๆ จริง มันมุ่งมั่น คิดจริงทำจริง วันนั้นที่ สน. บุ้งเลยให้พี่เป็นผู้ไว้วางใจด้วย นับแต่วันนั้นพี่ก็ตามสนับสนุนกิจกรรมของบุ้งกับน้อง ๆ กลุ่มทะลุวังตลอดมา ความรู้สึกของพี่ที่เห็นเด็กกลุ่มนี้มันทำให้เรามีความหวัง หวังว่าประเทศนี้มันจะเปลี่ยนได้ และเราต้องอยู่สู้เคียงข้างเขา
พี่ไม่รู้ว่าคนอื่นมองเด็กกลุ่มนี้เป็นหัวรุนแรงตอนไหน ทั้งที่ตอนแรก กิจกรรมแรกที่เด็ก ๆ ทำคือ ทำโพล แต่นั่นแหละสุดท้ายก็โดนคดี พี่ไม่ได้สนับสนุนทุกสิ่งที่บุ้งทำ บางอย่างเราไม่เห็นด้วย
พี่เจอบุ้งครั้งสุดท้ายก่อนจะเข้ามาในเรือนจำก็ตอนที่ไปศาลอาญากรุงเทพใต้ พี่มานัดพิจารณาคดีของศาล ส่วนบุ้งถ้าจำไม่ผิด มาทำเรื่องถอนประกัน ตอนนั้นบุ้งเข้ามาขอโทษพี่ เรากอดกัน และปรับความเข้าใจกัน ในสนามการต่อสู้เรื่องประชาธิปไตย มันมีเรื่องการเห็นต่างกันได้เป็นปกติอยู่แล้ว หลังจากเสร็จศาล พี่เดินมาสั่งข้าวมันไก่ร้านตรงศาลอาญากรุงเทพใต้ที่บุ้งชอบกิน แต่สุดท้ายวันนั้นเราก็ไม่ได้กินข้าวด้วยกัน เพราะบุ้งไปทำกิจกรรมต่อ หลังจากนั้น เราก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย เพราะบุ้งต้องเข้าเรือนจำ
ตอนนั้นที่พี่ไปเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุ้งและใบปอจนพี่ต้องมาอยู่ในนี้เป็นเวลากว่า 300 วัน พี่ไม่เคยเสียใจที่ทำเลย ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในเรือนจำ ไม่ว่าจะปัญหาการรักษาพยาบาลหรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่พี่พยายามเรียกร้องอยู่ทุกวันนี้ การต่อสู้ของบุ้งที่ผ่านมาเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ให้พี่ยังคงเรียกร้องและอยู่ในนี้ได้จนถึงทุกวันนี้
บุ้งไม่ได้จากเราไปอย่างสูญเปล่า ทุกคนยังคงจำ ยังคงพูดถึง ตอนนี้บุ้งคงไปอยู่ในโลกเสรีที่อิสระกว่าตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่แล้ว สิ่งเดียวที่พี่ยังคงเสียใจจากการจากไปของบุ้ง ก็คงมีแต่ความยุติธรรมที่บุ้งยังคงไม่ได้รับ จากสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ได้ตรวจสอบว่า การตายของบุ้งเกิดจากการใส่เครื่องช่วยหายใจผิดวิธี
น่าเสียดายที่เด็กคนหนึ่ง ที่มีโอกาสทำประโยชน์ให้กับสังคม มีกำลังที่จะสู้ได้มากกว่าพวกเราต้องจากเราไป การจากไปของบุ้งมันเจ็บปวดมากสำหรับพี่ และไม่เคยลบหายไปจากความทรงจำของพี่เลย
—————-
.
📩 สามารถเขียนจดหมายถึงมานี “ฝากถึง เงินตา คำแสน เรือนนอนทับทิม ทัณฑสถานหญิงกลาง 33/3 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”
📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
“มานี” เล่าชีวิตในเรือนจำ วิกฤตแพนิคหลังแผ่นดินไหว และแรงบันดาลใจจากหนังสือ “บทเพลงแห่งลาดยาว”
เสียงจาก ‘มานี’: “อยากให้ทุกคนได้รับการประกันตัว ไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ก็ตาม”