วันที่ 7 มี.ค. 2568 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายความเข้าเยี่ยม “มานี” เงินตรา คำแสน ผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 และข้อหาดูหมิ่นศาล ชีวิตของเธอถูกพรากอิสรภาพหลังจากศาลมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ และต่อมายังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาในข้อหาดูหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง เพิ่มโทษจำคุกอีก 6 เดือน โดยเธอถูกคุมขังมาเกือบ 8 เดือนแล้ว
เช่นเดียวกับการพบกันในทุกครั้ง อาการแพนิคจากการใช้ชีวิตข้างในยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานหนักและอยู่ในแวดล้อมที่เสียงดัง ขณะที่ยังมีพลังใจและเรี่ยวแรง มานีก็ยังต่อสู้เพื่อผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ผ่านการเรียกร้องสิทธิ ครั้งนี้เธอพูดถึงการเสนอเพิ่มเวลาเยี่ยมผู้ต้องขังจาก 15 นาที เพิ่มเป็น 20 นาที และเตรียมเรียกร้องปรับปรุงระเบียบกติกาอื่น ๆ ที่ควรจะอำนวยความสะดวกและสวัสดิภาพแก่ผู้ต้องขัง รวมถึงข้อความสำคัญฝากถึงผู้ต้องขัง “อยากให้ทุกคนได้รับการประกันตัว ไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ก็ตาม”
เรื่องราวและภาพชีวิตของมานีสะท้อนว่า ในเรือนจำที่แออัด ในห้องที่คับแคบ ในร่างกายที่อ่อนล้า เธอยังมีห้วงความคิดที่กว้างใหญ่และเปี่ยมความหวังสำหรับทุกคน
________________________
ในการเข้าเยี่ยมครั้งนี้ใช้เวลารอคอยกว่าสองชั่วโมง ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเรียกชื่อให้เข้าเยี่ยมได้ เสียงโทรศัพท์ที่ถูกยกขึ้นเป็นสื่อกลางระหว่างโลกที่ถูกแบ่งด้วยกระจกสีใส ภายใต้สีหน้าและอาการของมานีดูเหนื่อย ๆ ไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่ หลังจากนั่งเรียบร้อยดีแล้ว จึงยิ้มทักทายพร้อมกับสอบถามอาการ
มานีเล่าว่าก่อนจะมาพบทนายเธออาเจียนไป 1 รอบ มีอาการมือสั่น เวียนหัว และรู้สึกเหนื่อย ด้วยช่วงวันก่อนหน้านี้ เธอช่วยเตรียมงานกิจกรรมต้านยาเสพติดของโครงการ To Be Number One ที่จัดขึ้นในวันนี้ อาการป่วยของเธอเริ่มมีมาตั้งแต่สองวันก่อน และเลวร้ายลงเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางเสียงลำโพงดังกระหึ่ม ทำให้อาการแพนิคกำเริบขึ้น
ปัจจุบันห้องใหม่ของมานี คือห้อง 8 หลังจากที่ห้องบวชซึ่งเธอเคยอยู่ถูกจัดสรรให้ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาอิสลามในช่วงเดือนถือศีลอด ห้องขนาด 147 ตารางเมตรที่ต้องรองรับผู้ต้องขังถึง 148 คน ภาพของความแออัดปรากฏชัดในคำบอกเล่า ขณะที่ “ยาแก้โรคซึมเศร้าจะหมดในวันที่ 17 มีนาคมนี้” เธอพูดด้วยความกังวล แม้จะได้มีการประสานเรื่องการนำเข้ามาอีกครั้งแล้วก็ตาม
มานีเล่าถึงการโยกย้ายผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงกลางที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการระบายความแออัดของเรือนจำที่ต้องรับผู้ต้องขังใหม่วันละไม่ต่ำกว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงและยาเสพติด ผู้ต้องขังที่ถูกย้ายมักเป็นนักโทษเด็ดขาด หรือผู้ที่มีภูมิลำเนาใกล้กับเรือนจำแห่งใหม่ หรือมีอัตราโทษสูง บางคนถูกส่งไปยังเรือนจำชลบุรี ธัญบุรี หรือคลองไผ่
“อย่างเพื่อนผู้ต้องขังที่เคยอยู่เรือนนอนเดียวกัน ถูกจำคุกด้วยอัตราโทษถึง 10 ปี ก็ถูกย้ายไปเรือนจำชลบุรีแล้ว” เธอเล่าต่อ
จากนั้นความภาคภูมิใจเล็ก ๆ ปรากฏในแววตาของมานี เมื่อเธอเล่าถึงการเรียกร้องสิทธิในเรือนจำ หลังจากที่ผอ.เรือนจำ เข้ามาเยี่ยมในสัปดาห์ก่อน เธอได้เสนอให้เพิ่มเวลาในการเยี่ยมญาติ จาก 15 นาที เป็น 20 นาที เพราะญาติหลายคนต้องเสียทั้งเวลาและเงิน บางคนลางานมาเพื่อการเยี่ยมเพียงสั้น ๆ ต่อมาทางเรือนจำได้ติดประกาศให้ญาติที่มาเยี่ยมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดก็มีการขยายเวลาเยี่ยมเป็น 20 นาที รวมถึงการเยี่ยมทางไลน์ด้วยแล้ว
“ถ้ารอบหน้า ผอ.เข้ามาอีก จะถามเรื่องมาตรการความปลอดภัยเวลาเกิดอัคคีภัยในเรือนนอน” มานีพูดด้วยแววตามุ่งมั่น “ถังดับเพลิงอยู่ด้านนอก ถ้าเกิดเหตุคงดับไฟไม่ทัน และอีกเรื่องคือกรณีผู้ต้องขังป่วยฉุกเฉินในยามวิกาล ควรมีมาตรการที่รวดเร็วในการส่งตัวไปโรงพยาบาลราชทัณฑ์โดยไม่ต้องมีกฎระเบียบยิบย่อยมากำกับ” มานีกล่าวอีกตอน
โดยไม่คาดคั้นให้ต้องสนทนาสักกี่มากน้อย แต่เสียงของมานีครั้งนี้เริ่มอ่อนล้าลง คำพูดแต่ละคำออกมาช้าลงเรื่อย ๆ ราวกับต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการเปล่งเสียง จึงถึงเวลาที่ต้องจบการสนทนา
ก่อนจะจากกัน มานีไม่ลืมฝากข้อความถึง “ขนุน” ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและดวงตาที่เริ่มมีหยาดน้ำตา “พี่ไม่อยากให้ขนุนทำถึงขนาดนี้ เพราะเขาไม่ได้เห็นคุณค่าของเราขนาดนั้น แต่ยังไงก็ขอให้ขนุนปลอดภัย แข็งแรง และมีกำลังในการสู้ต่อ”
เธอฝากถึงคนข้างนอกว่า “ถ้าคนข้างนอกเงียบ คนข้างใน (เรือนจำ) ก็จะยิ่งแย่” น้ำตาของเธอไหลรินลงมาตามคำพูดประโยคดังกล่าว ก่อนทิ้งท้ายบอกถึงสิ่งที่ทำให้เธอมีกำลังใจ คือข่าวการต่อสู้ของ “ทนายอานนท์” ในห้องพิจารณาคดี
“มันทำให้มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อ และเรียกร้องสิทธิในเรือนจำให้กับผู้ต้องขังคนอื่น ๆ” เธอกล่าว “อยากให้ทุกคนได้รับการประกันตัว ไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีการเมืองหรือไม่ก็ตาม”
.
ถึงปัจจุบัน (11 มี.ค. 2568) มานีถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 237 วัน
.
📩 สามารถเขียนจดหมายถึงมานี “ฝากถึง เงินตา คำแสน เรือนนอนทับทิม ทัณฑสถานหญิงกลาง 33/3 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”
📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
หัวใจที่สั่นไหว แต่ไม่เคยสิ้นพลัง “มานี” ยังต่อสู้เพื่อผู้ต้องขังคนอื่น