การต่อสู้ของ “มานี” กับโรคซึมเศร้าและแพนิคในเรือนจำ

เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “มานี” เงินตา คำแสน ชาวยโสธร ที่ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล จากกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” และการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

ไม่กี่วันที่ผ่านมา 18 ก.พ. 2568  ศาลอาญากรุงเทพใต้เบิกตัว “มานี” และ “จินนี่” จิรัชยา ผู้ต้องขังคดี 112 อีกคน  จากทัณฑสถานหญิงกลางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดูหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง จากกรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกทั้งสองคนละ 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทำให้โทษของมานีบวกเพิ่มจากเดิมไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน

สำหรับมานี นอกจากชีวิตอันไร้อิสรภาพจากการถูกคุมขัง ในทุก ๆ วันที่เรือนจำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ผู้ต้องขังหญิงวัย 45 ปี ยังคงต้องต่อสู้กับอาการป่วยโรคซึมเศร้า และมีความเปราะบางทางจิตใจในทุกครั้งที่เผชิญกับความวุ่นวายจากสภาพข้างในนั้น 

ถึงแม้ร่างกายและจิตใจจะอ่อนแรง แต่กับชีวิตนักต่อสู้ ในความมั่นคงทางความคิดอุดมการณ์ มานียังคงหาช่องทางเพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมจำนน และยังมีความหวังที่จะได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกเสมอ ๆ 

________________________________

วันที่ 6 ก.พ. 2568

แสงแดดสาดส่องผ่านหน้าต่างห้องเยี่ยม ในระหว่างรอปลายสายส่งเสียงผ่านโทรศัพท์  เสียงฝีเท้าแผ่วเบาดังมาพร้อมกับร่างของมานีที่ค่อย ๆ ก้าวเข้ามา เธอทรุดตัวลงนั่งตรงข้าม ใบหน้าซีดเซียวเหนื่อยล้า มือที่สั่นค่อย ๆ ยกหูโทรศัพท์ขึ้น อีกมือหนึ่งยกขึ้นแตะขมับ ราวกับพยายามประคองความคิดที่กำลังหมุนวน 

“ยังไหว ยังคุยได้” เสียงแผ่วเบาตอบคำถามแรก แต่ดูเหมือนร่างกายเธอกำลังบอกเล่าเรื่องราวที่ตรงกันข้าม

อาการเหนื่อยล้านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคืบคลานมาได้ 2-3 ครั้งแล้ว ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามจังหวะชีวิตในเรือนจำที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มานีเล่าว่าวันนี้มีกิจกรรมช่วงเช้า ผู้คนจำนวนมาก ปนกับเสียงวุ่นวาย และกลิ่นยาฆ่าแมลงที่เจ้าหน้าที่ฉีดพ่น ทุกอย่างรวมกันโหมกระหน่ำประสาทสัมผัส จนเธอรู้สึกพะอืดพะอม เวียนหัว หน้ามืด แทบจะล้มลงในทุกย่างก้าว บทสนทนาของวันนี้จึงเป็นการระบายความในใจ มากกว่าจะเป็นบทสนทนาโต้ตอบดังที่เคยเป็น 

มานีพูดถึงการเข้าถึงการรักษาในเรือนจำ ยังเป็นเรื่องยากเย็น 3-4 ชั่วโมงของการรอคอยเพื่อพบแพทย์ เพื่อแลกกับยาที่ไม่มีใครบอกว่าคืออะไร ใช้รักษาอาการอะไร ความไม่ไว้วางใจจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในใจเธอ เหมือนกำแพงอีกชั้นที่กั้นระหว่างเธอกับมาตรฐานการรักษาในเรือนจำ แม้จะอยากหายจากอาการเจ็บไข้ทั้งหมดทั้งมวล

ท่ามกลางความยากลำบาก ข่าวการยื่นประกันผู้ต้องขังการเมือง 16 คน ในวันวาเลนไทน์ (14 ก.พ. 2568)  รวมถึงตัวเธอ กลายเป็นความหวังเล็ก ๆ ที่มานีพยายามเกาะกุม “ไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อยมาก” เธอกระซิบ “ทุกวันนี้แค่พยายามฝืนให้ตัวเองทนอยู่ต่อได้”

เมื่อถามถึงเรื่องอภัยโทษที่มานีเคยเล่าไว้ในการเยี่ยมครั้งก่อน เธอเล่าว่าเจ้าหน้าที่ได้มาประกาศเรื่องนี้ที่เรือนจำ ว่าปีนี้อาจจะมีการการอภัยโทษในโอกาสสำคัญอีก แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าในช่วงใด แต่ได้แจ้งเงื่อนไขไว้บางส่วน “เขาบอกว่าผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาต้องเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง” มานีเล่าด้วยน้ำเสียงที่มีความหวังแฝงอยู่ “คือได้รับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือได้รับโทษจำคุกมาแล้วหนึ่งในสามของโทษทั้งหมด” แต่เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีความแน่นอนแต่อย่างใด

เธอหยุดคิดครู่หนึ่ง ก่อนจะเล่าต่อว่าประกาศนี้ทำให้เธอครุ่นคิดว่าผู้ต้องขังคดีการเมืองจะได้รับการพิจารณาด้วยหรือไม่ แต่ความสงสัยนั้นถูกเก็บไว้ในใจ ไม่ได้ถามออกไป ทิ้งไว้เพียงความหวังบางเบาที่ลอยอยู่ในอากาศของห้องเยี่ยม

.

วันที่ 11 ก.พ. 2568

5 วันผ่านไป มานีก้าวเข้ามาในห้องเยี่ยมอีกครั้ง ใบหน้าดูสดใสขึ้นเล็กน้อย แม้ร่องรอยความเหนื่อยล้ายังคงอยู่ เธอเล่าถึงงานทำดอกไม้สำหรับวันวาเลนไทน์ในเรือนจำ 12 ต้นที่ต้องทำให้เสร็จ กับ 7 ต้นที่เสร็จไปแล้ว สิ่งนี้เป็นงานศิลปะเล็ก ๆ ที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย ท่ามกลางความวุ่นวายของผู้คนและเสียงที่ไม่เคยเงียบ 

ยิ่งกับความแออัดในเรือนจำทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2568 ผู้ต้องขังใหม่ทยอยเข้ามาไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงและความผิดเล็กน้อย หลายคนเป็นผู้ต้องขังที่เคยติดคดีเดิมแล้วกลับเข้ามาใหม่ ที่คนในนี้เรียกขานกันว่า ‘เด็กรอบ’ 

จากเสียงพูดคุย เสียงวุ่นวาย และความแออัดที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาการแพนิคของมานีกลับมากำเริบอีกครั้ง

“ได้พบจิตแพทย์บ้างไหม”  ทนายถามด้วยความห่วงใย  มานีส่ายหน้าเบา ๆ ก่อนเล่าถึงเรื่องนี้อีกครั้งว่า การพบจิตแพทย์ในเรือนจำนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จิตแพทย์จะเข้ามาตามเวรเพียงสัปดาห์ละครั้ง วันไหนก็ไม่แน่นอน แม้จะได้พบแล้ว ก็ต้องผ่านขั้นตอนการประเมินอาการ จากนั้นจึงส่งต่อให้แพทย์อีกท่านวินิจฉัยและจ่ายยา

“กว่าจะได้ยาจิตเวชสักเม็ด ต้องพบหมอถึงสองครั้ง ใช้เวลานานกว่าสัปดาห์”  มานีเล่าพลางถอนหายใจ “แล้วเราก็ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพการรักษาของทางราชทัณฑ์ด้วย ก็เลยไม่ไปพบจิตแพทย์ซะเลย”

น้ำเสียงสะท้อนความท้อแท้กับระบบที่ยุ่งยากซับซ้อน ในขณะที่อาการทางจิตใจต้องการการดูแลอย่างทันท่วงที แต่กลับต้องผ่านขั้นตอนมากมาย

มานีย้ำอีกว่าระบบการรักษาในเรือนจำยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบ จิตแพทย์มาเพียงสัปดาห์ละครั้ง การได้รับยาต้องผ่านการประเมินถึงสองครั้ง ใช้เวลานานกว่าสัปดาห์ ขณะที่ผู้ป่วยทั่วไปต้องผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ อสรจ. (ผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมปฐมพยาบาล) ที่จะเป็นคนซักประวัติ สอบถามอาการ วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก ก่อนจะได้รับยา บางคนต้องรอจนไข้สูงถึง 37.5–38 องศาก่อน ถึงจะได้ยามาทานก่อนจะได้รับการรักษา 

กระบวนการตรงนี้สร้างความไม่เชื่อมั่นในตัวเจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิเด็ดขาดในการจ่ายยาให้กับผู้ต้องขังที่ป่วย ประกอบกับเจ้าหน้าที่ไม่ใช่แพทย์ หากเราจะพบแพทย์ จะต้องป่วยฉุกเฉินจริง ๆ ถึงจะพบได้ 

มานีกล่าวเสริมอีกว่า ข้างในนี้ยังไม่มียาแก้โรคแพนิคที่กินอยู่ เพราะก่อนหน้านี้อาการนี้ของเธอลดลงไป เหลือแต่อาการซึมเศร้า หมอจึงไม่จ่ายยาตัวนี้ให้อีก ทนายจึงแนะนำไปว่า ให้แจ้งอาการอย่างละเอียดให้กับคนใกล้ตัว เพื่อไปดำเนินการรับยากับแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี แล้วนำยานั้นฝากเข้ามาในเรือนจำให้เธออีกครั้ง 

ถึงที่สุดแม้จะอยู่ในความมืดมิดของกำแพงสูง มานียังคงหาทางต่อสู้ในแบบของเธอ ข้อความ ‘ยกเลิก 112’ ถูกเขียนด้วยอายไลน์เนอร์บนขวดน้ำทุกใบที่ใช้แล้ว ลิควิดถูกใช้เขียนบนรองเท้าของตัวเอง แม้จะก่อนหน้านี้รองเท้าสองสามคู่จะถูกเจ้าหน้าที่เก็บไปทิ้ง

“แม้อยู่ในนี้ ไม่ได้มีบทบาทในการต่อสู้อยู่ข้างนอก แต่การแสดงสัญลักษณ์ ถือเป็นการต่อสู้ในแบบเราเท่าที่เสรีภาพจะทำได้” เธอกล่าวทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงมั่นคง

ถึงปัจจุบัน (19 ก.พ. 2568) มานีถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 217 วัน 

.

📩 สามารถเขียนจดหมายถึงมานี “ฝากถึง เงินตา คำแสน เรือนนอนทับทิม ทัณฑสถานหญิงกลาง 33/3 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“มานี”: ความเปราะบางของชีวิตในเรือนจำ กับ ‘ความหวัง’ ที่ยังคงมีอยู่

“มานี” หนึ่งในจำนวนนับของมวลชน  –  เนื่องในวันนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิงสากล

X