หัวใจที่สั่นไหว แต่ไม่เคยสิ้นพลัง “มานี” ยังต่อสู้เพื่อผู้ต้องขังคนอื่น

วันที่ 20 และ 25 ก.พ. 2568 ทนายเข้าเยี่ยม “มานี” เงินตรา คำแสน ชาวยโสธร ผู้ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 และข้อหาดูหมิ่นศาล เธอถูกคุมขังภายหลังจากที่ศาลพิพากษาจำคุกเธอเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์ และต่อมายังถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาในคดีดูหมิ่นศาลอีกคดีหนึ่ง จำคุกอีก 6 เดือน

มานียังคงต้องเผชิญกับอาการแพนิคที่ขึ้นลงตามสถานการณ์ในเรือนจำ เธอพยายามจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลด้วยวิธีหลากหลาย แต่แม้จะตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก มานีคิดว่าไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเสียงให้กับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิให้ผู้ต้องขังในแดนตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการเปิดพัดลมระบายอากาศ ไปจนถึงการรักษาความเจ็บป่วยของเพื่อนผู้ต้องขัง 

จากการรับรู้สถานการณ์ผู้ต้องขังการเมือง มานีแสดงความกังวลต่อ “ขนุน” ที่กำลังอดอาหารประท้วงเรื่องสิทธิประกันตัว น้ำตาเธอไหลอาบแก้มขณะฝากข้อความถึงขนุน ให้ดูแลตัวเองดี ๆ โดยเธอเองก็เพิ่งได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับคานธี ทำให้นึกถึงการต่อสู้ของหลายคน

เธอยังแสดงความรู้ต่อเหตุการณ์ที่ถูกนำตัวไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยไม่มีใครรับรู้ แม้แต่ทนายความและสามี และการที่รองเท้าของเธอหายไปหลายคู่ ซึ่งสงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับข้อความ “ยกเลิก 112” ที่เขียนไว้บนรองเท้า

__________________________________

วันที่ 20 ก.พ. 2568

ขณะก้าวเข้าไปในห้องเยี่ยมของทัณฑสถานหญิงกลางหลังได้ยินเสียงขานชื่อ ภาพแรกที่เห็นคือมานีที่นั่งรออยู่แล้วอีกฝั่งของกระจก สีหน้าอิดโรยเหมือนทุกครั้งที่ได้พบ ยิ้มให้กันผ่านม่านกระจกที่แบ่งคนสองฝั่งออกจากกัน ก่อนจะยกหูโทรศัพท์ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ 

“อาการแพนิคช่วงนี้ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปตามสถานการณ์” เธอบอก “วันนี้เหนื่อยนิดหน่อย แต่ยังมีพลังบวก เพราะได้ตื่นมาใส่บาตรทำบุญ”  แววตาของเธอเปลี่ยนไปเล็กน้อยขณะเล่าเรื่องที่อัดอั้นมาหลายวัน วันที่ 18 ก.พ. เธอและ “จินนี่” ผู้ต้องขังคดี 112 อีกราย ถูกนำตัวไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีดูหมิ่นศาล โดยไม่มีใครรับรู้ แม้แต่ทนายความและสามีของเธอ  

เธอมีคำถามด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความสงสัยว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทนายอธิบายว่าอาจเกิดจากการที่ศาลไม่ได้ส่งหมายนัดมาให้ทนายจำเลย จึงไม่ทราบกำหนดนัด เธอฟังคำอธิบายด้วยสีหน้าที่ผสมผสานระหว่างความผิดหวังและไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น

บทสนทนาเปลี่ยนไปสู่เรื่องการดูแลสุขภาพในเรือนจำ เมื่อถามถึงวิธีการนำยาแก้โรคซึมเศร้าเข้ามาข้างใน เผื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ต้องขังคนอื่น มานีเล่าว่า “เบื้องต้นต้องเขียนคำร้องขอปฏิเสธการรับยาแก้โรคซึมเศร้าในเรือนจำก่อน เพื่อเป็นหลักประกันให้กับทางเรือนจำไม่ต้องรับผิดชอบหากเกิดอะไรขึ้น”  โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ในเรือนจำก็ได้  “แค่ให้คนที่ไว้ใจได้ไปติดต่อขอรับยาจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้แพทย์ระบุว่ายาแต่ละตัวเป็นตัวยาอะไร แล้วฝากยาที่ศูนย์แคร์หน้าเรือนจำ” 

แต่เธอก็ยอมรับว่ามีปัญหาความล่าช้ากว่าจะได้ยามาทาน ต้องเดินร้องเรียน สอบถามเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในเรือนจำจนได้ยามาในที่สุด  “การที่เราได้ยามากิน ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะได้เหมือนกัน ระบบที่นี่ไม่แน่ไม่นอน แต่เชื่อว่าถ้ามันไม่แฟร์กับเรา ให้เรียกร้อง อย่ายอมจำนนกับระบบ” มานีกล่าวด้วยน้ำเสียงแน่วแน่

ก่อนจะเล่าต่อถึงการต่อสู้ในเรือนจำ เธอแทรกด้วยเรื่องรองเท้าที่หายไปเกือบ 10 คู่ “รองเท้าหายอีกแล้ว” เธอบ่น “ราคาคู่ละ 150 บาท ต้องใช้เงินกองทุนซื้ออยู่บ่อย ๆ รู้สึกเกรงใจและเปลืองเงินโดยใช่เหตุ” โดยวันนี้เธอขออนุญาตเจ้าหน้าที่พกรองเท้าเข้ามาห้องเยี่ยมทนายด้วย เพราะกลัวรองเท้าหาย เธอเปิดเสื้อด้านหลังให้ดูรองเท้าแตะที่เหน็บไว้ที่เอว บนพื้นรองเท้ามีข้อความเขียนด้วยลิขวิดเปเปอร์ว่า “112” และมีเส้นขีดฆ่าทับ สื่อความหมายว่า “ยกเลิก 112”

“พี่ไม่คิดว่าเป็นผู้ต้องขังขโมยไปหรอก” เธอแสดงความคิดเห็น “เพราะก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ประกาศเตือนว่าห้ามเขียนข้อความอะไรลงบนของใช้ส่วนตัวยกเว้นชื่อ แต่ไม่มีใครมาเตือนตรง ๆ”

ยิ่งนานวันกับการอยู่ข้างใน มานีไม่ได้ต่อสู้เพื่อแค่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นเสียงให้กับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นอีกด้วย เมื่อผู้อำนวยการเรือนจำมาตรวจเยี่ยม เธอได้ร้องเรียนขอให้เปิดพัดลมในช่วงที่ผู้ต้องขังต้องลงมาเข้าแถวเพื่อนับยอดและเคารพธงชาติ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ต้องขังกำลังแต่งหน้าแต่งตัว ไม่กี่วันต่อมา เจ้าหน้าที่ก็เปิดพัดลมให้ในช่วงเวลาดังกล่าว

“วันก่อนเพื่อนสนิทปวดฟันจนนอนไม่ได้” มานีเล่าถึงอีกเหตุการณ์หนึ่ง “เจ้าหน้าที่เรือนนอนซึ่งเป็นผู้ต้องขังด้วยกันบอกให้อดทนรอหมอ พี่เลยพาเพื่อนไปพบหัวหน้าเรือนนอนที่เป็นเจ้าหน้าที่ ขอยาแก้ปวดจนได้มา”

เธอยังเล่าถึงการเขียนคำร้องขอยืมแว่นสายตาให้กับเพื่อนผู้ต้องขังใหม่ 3 คน ที่ไม่มีญาติมาเยี่ยมเกือบเดือนแล้ว “เพื่อนพับกระดาษเป็นดอกกุหลาบให้เป็นการขอบคุณ” เล่าถึงตรงนี้เหมือนมีรอยยิ้มบาง ๆ ปรากฏบนใบหน้าอิดโรยของเธอ “เขาล้อกันว่าจะตั้งเป็นแม่ห้องคนใหม่ด้วย”

วันที่ 25 ก.พ. 2568

อีกครั้งที่ได้พบมานีในห้องเยี่ยม วันนี้สีหน้าของเธอเหนื่อยล้า แม้จะมีกระจกและหน้ากากอนามัยกั้นระหว่างกัน  “รู้สึกดีใจมากที่ทนายเข้าเยี่ยมวันนี้” เธอบอกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน “วันนี้ที่เรือนจำมีกิจกรรมแข่งกีฬาสี คนวุ่นวาย เสียงดังมาก อ่านหนังสือสวดมนต์ไม่รู้เรื่อง รู้สึกเหนื่อยมาก พอได้ยินชื่อว่ามีทนายเข้าเยี่ยมก็ดีใจที่ได้ออกมาจากสภาวะนั้นชั่วครู่”

เธอเข้าเรื่องยาแก้อาการแพนิค เล่าว่าสามีกำลังติดต่อกับแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีอยู่ “ตอนนี้ก็ได้แต่ปรับตัวไปตามสถานการณ์ อดทนไป” น้ำเสียงเธอแผ่วเบา 

มานีเล่าตัวอย่างกรณีเพื่อนร่วมห้องที่ถูกคุมขังในคดีแชร์ลูกโซ่ ในวันออกศาลที่ศาลอาญา เพื่อนคนดังกล่าวแถลงต่อศาลว่า “คดียังไม่ถึงที่สุด เอาเขาไปขังไว้ในคุกทำไม อยากให้ผู้พิพากษาลองเข้ามาอยู่ในนี้สักวัน จะได้รู้ความรู้สึกของคนที่อยู่ในนี้บ้าง” ขณะนั้นผู้พิพากษาทั้งองค์คณะลุกออกจากห้องไป ทั้งที่เธอยังแถลงไม่จบ ท่ามกลางเสียงปรบมือชื่นชมของบรรดาญาติ

“เวลาเราเรียกร้องเรื่องสิทธิประกันตัว เราไม่ได้เรียกร้องเฉพาะนักโทษหรือผู้ต้องขังทางการเมือง” มานีแสดงทัศนะ  “แต่เราเรียกร้องให้กับผู้ต้องขังทุกคนไม่ว่าคดีไหน ๆ เขาควรมีสิทธิในการออกไปสู้คดีข้างนอก”

แล้วเธอก็ถามถึง “ขนุน” ผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่กำลังอดอาหารประท้วงเรียกร้องอิสรภาพ เธอทราบข่าวนี้จากเพื่อนในเรือนจำ และแล้วน้ำตาของมานีเริ่มไหลอาบแก้ม เสียงสั่นเครือ “พี่ไม่กล้าพูดหรือบอกใครว่าไม่ให้อดข้าว มันเป็นการตัดสินใจของเขาเอง แต่พี่ไม่อยากให้ใครเป็นแบบบุ้งอีก” 

เธอฝากข้อความถึงขนุน “ให้ดูแลตัวเองดี ๆ ให้สุขภาพแข็งแรง มันเคยมีเหตุการณ์ที่บุ้งเคยเจอมาแล้ว พี่อยากให้ขนุนปลอดภัย”

น้ำตายังไหลอาบใบหน้าขณะที่เธอเล่าว่า สัปดาห์ก่อนมีเพื่อนผู้ต้องขังคนหนึ่งหยิบหนังสือเรื่องมหาตมะ คานธีมาให้เธอ บอกว่าเหมาะกับเธอ “พออ่านแล้วก็นึกถึงเด็กพวกนี้ นึกถึงบุ้ง นึกถึงขนุน”

ก่อนลาจากเสียงของเธอแผ่วเบา แต่แฝงไว้ด้วยความหวัง “ได้แต่ปลอบใจตัวเองและให้กำลังใจทุกคนว่า อีกไม่นานหรอก พวกเราคงมีชัยชนะเหมือนในหนังสือเล่มนี้บ้าง”

ถึงปัจจุบัน (27 ก.พ. 2568) มานีถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 225 วัน และยังคงต่อสู้ทั้งกับปัญหาสุขภาพของตัวเอง และเพื่อสิทธิของผู้ต้องขังทุกคน

📩 สามารถเขียนจดหมายถึงมานี “ฝากถึง เงินตา คำแสน เรือนนอนทับทิม ทัณฑสถานหญิงกลาง 33/3 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”

📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

การต่อสู้ของ “มานี” กับโรคซึมเศร้าและแพนิคในเรือนจำ

“มานี”: ความเปราะบางของชีวิตในเรือนจำ กับ ‘ความหวัง’ ที่ยังคงมีอยู่

X