เมื่อวันที่ 18 เม.ย. และ 30 เม.ย. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม “วุฒิ” ผู้ต้องขังคดี 112 ที่ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 2 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564
วุฒิถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีในช่วงแรก จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้มีความผิดตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 36 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพ โทษจึงถูกลดเหลือ 12 ปี 72 เดือน หรือประมาณ 18 ปี หลังจากวันนั้นเขาถูกย้ายไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม และตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีต่อ
ในช่วงการเยี่ยมวันแรกที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ วุฒิซึ่งเพิ่งได้รับแว่นตาใหม่เล่าถึงการรักษาดวงตาหลังการผ่าตัดต้อกระจก การหยอดยาทุก 4 ชั่วโมง และความคาดหวังว่าจะได้กลับสู่แดนหลังการฟื้นฟู ก่อนที่การเยี่ยมครั้งที่สองที่เรือนจำกลางคลองเปรม สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในชีวิตผู้ต้องขัง เมื่อวุฒิถูกย้ายกลับแดนอย่างเร่งด่วนก่อนกำหนดนัดหมายกับแพทย์
การได้เจอวุฒิทั้งสองครั้งเผยให้เห็นชีวิตประจำวันที่เปราะบางของผู้ต้องขัง ความกังวลต่อการถูกย้ายเรือนจำ และความพยายามในการปรับตัวเข้ากับความไม่แน่นอนภายในกำแพงคุก แม้จะต้องเผชิญกับโทษจำคุกที่ยาวนานถึง 18 ปี วุฒิยังคงพยายามดูแลสุขภาพและมองหาแนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ของตนเอง
____________________________________
วันที่ 18 เม.ย. 2568
จากห้องเยี่ยมที่ 2 ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไป ภาพแรกที่ปรากฏคือร่างของชายคนหนึ่งในชุดผู้ป่วย กำลังยืนอ่านข้อความบางอย่างที่ผนังห้อง ใบหน้าของเขาถูกประดับด้วยแว่นตากรอบบาง นั่นคือวุฒิ
“ได้รับแว่นแล้วครับ ผมจำได้ว่าได้รับแว่นช่วงก่อนสงกรานต์ แต่แว่นใช้ได้เฉพาะตอนอ่านหนังสือเท่านั้นครับ ถ้าเดินไปไหนมาไหนแล้วใส่ จะเวียนหัวและภาพจะเบลอ ผมเลยไม่ใส่ตอนเดิน แต่จะสวมเฉพาะตอนอ่านหนังสือ”
ก่อนวุฒิจะบอกเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2568 ที่ได้ไปพบแพทย์ตามนัด “แพทย์มีการส่องดวงตาครับ และบอกว่าดวงตาผมเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยังต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ จากเดิมที่แพทย์บอกว่าจะทำคำร้องส่งผมกลับแดนในนัดครั้งนี้ แต่แพทย์บอกให้รอก่อน และนัดพบอีกครั้งวันที่ 30 เมษา”
วุฒิเล่าถึงการคาดการณ์ของตัวเองด้วยน้ำเสียงที่ผสมผสานระหว่างความหวังและความไม่แน่นอน “ผมคิดว่าอาจจะถูกส่งกลับแดนช่วงวันที่ 2 พฤษภาครับ เพราะทุกวันศุกร์ทางโรงพยาบาลจะส่งผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นกลับแดน”
เขาเล่าถึงการรักษาประจำวันด้วยรายละเอียดที่ชัดเจน หลังจากการพบแพทย์ครั้งล่าสุด มีการปรับเปลี่ยนยาเป็น 5 อย่าง ประกอบด้วยน้ำตาเทียม 2 ยี่ห้อ ยาแก้อักเสบทั้งแบบน้ำและแบบครีม และน้ำยาล้างตา
“ผมต้องหยอดยาเองครับ ทุก 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า เที่ยง 4 โมงเย็น และ 2 ทุ่ม ก่อนนอนผมจะใช้ยาครีมแก้อักเสบทาที่เปลือกตาด้านใน” ประโยคสะท้อนถึงความคุ้นชินกับวิธีการรักษาที่ต้องทำซ้ำทุกวัน
เมื่อถามถึงเรื่องแว่นอีกครั้ง วุฒิบอกว่าจะสอบถามแพทย์ในการนัดครั้งถัดไปเกี่ยวกับค่าสายตาและอาการเวียนหัวเมื่อสวมแว่น “ผมอยากรู้ว่าเป็นอาการปกติหรือเป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัด”
.
วันที่ 30 เม.ย. 2568
ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ทนายเดินทางมาตั้งแต่เที่ยงวันเพื่อยื่นคำร้องขอเยี่ยมวุฒิตามนัดของการตรวจตาครั้งสุดท้าย แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าวุฒิถูกย้ายกลับแดนตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 2568 แล้ว ก่อนทนายมุ่งหน้าไปยังเรือนจำกลางคลองเปรม โดยต้องตอบคำถามจากเจ้าหน้าที่ที่สงสัยว่าทำไมต้องมาเยี่ยมผู้ต้องขังเด็ดขาด แต่เมื่อชี้แจงถึงเอกสารใบรับรองคดีถึงที่สุดที่ต้องการมอบให้ จึงอนุญาตให้เข้าพบได้
ในห้องเยี่ยมของเรือนจำ วุฒิปรากฏตัวในเสื้อสีฟ้าที่มีสัญลักษณ์เพ้นท์ไว้ที่หน้าอก กางเกงขาสั้นสีดำ และสวมแว่นที่คุ้นตา ท่าทางโดยรวมดูปกติดี ก่อนตอบคำถามถึงการรักษาดวงตาที่เปลี่ยนวันเวลา
“วันที่ 24 เมษา ประมาณ 11 โมงเช้า ผู้ช่วยเดินมาพร้อมเอกสารฉบับหนึ่งและแจ้งว่าวันนี้ต้องลงแดน ผมค่อนข้างแปลกใจ เพราะไม่เคยเห็นการลงแดนในวันพฤหัส ปกติผู้ป่วยที่หายดีแล้วจะลงแดนทุกวันศุกร์”
เขาเล่าถึงการย้ายกลับอย่างละเอียด “ไม่ได้มีผมแค่คนเดียวครับ มีผู้ต้องขังอื่นอีกประมาณ 14 คน ลงแดนพร้อมกันประมาณบ่าย 2 เราเดินกลับเรือนจำกลางคลองเปรม เพราะพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ติดกับเรือนจำ”
ส่วนเรื่องการตรวจตาที่ทนายถาม วุฒิตอบทันทีว่า “ยังไม่ได้ตรวจเลยครับ แต่มีใบแจ้งว่าจะได้ตรวจอีกครั้งพรุ่งนี้ (1 พ.ค. 2568) โดยแพทย์จะเข้ามาตรวจในแดนเลย” วุฒิบอกอีกว่าสามารถนำแว่นที่ได้รับ ทั้งแว่นสายตายาวค่า 250 และแว่นกรองแสงสีดำ กลับมาที่แดนได้ตามคำร้องที่เคยเขียนขอไว้
ใบหน้าของเขาดูสดใสขึ้นเมื่อเล่าถึงผลการผ่าตัด “การมองเห็นของผมค่อนข้างดีขึ้นครับ ไม่มีอาการเจ็บปวดมาก แต่ทุกครั้งที่จะทำอะไรต้องสวมแว่นไว้ตลอด เพื่อป้องกันฝุ่น ลม หรือแสงแดด เพราะถ้ามีอะไรกระทบดวงตาโดยตรง จะทำให้ระคายเคือง” เขาเว้นจังหวะเล็กน้อย “แพทย์ยังแจ้งว่าไม่ควรจ้องสิ่งใดนาน ๆ อย่างการอ่านหนังสือ ควรมีระยะพักดวงตาบ้าง”
ก่อนทนายสังเกตเห็นรอยขาวเล็ก ๆ ที่ขอบลูกตาดำช่วงล่างของดวงตาข้างซ้าย วุฒิพงศ์บอกว่าจะสอบถามแพทย์ในวันที่นัดตรวจว่าคืออะไร
“ส่วนการใช้ยาหยอดตาและยาทาเปลือกตา ผมยังต้องใช้ตามปกติครับ หยอดทุก 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ 8 โมงเช้า เที่ยง 4 โมงเย็น และ 2 ทุ่ม” เขาประเมินปริมาณยาที่เหลือ “ผมคาดว่าเหลือประมาณครึ่งหลอดแล้ว ต้องใช้ไปจนกว่ายาจะหมด”
เมื่อพูดคุยถึงใบรับรองคดีถึงที่สุด และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเขียนคำร้องเพื่อการขอพักโทษหรือขออภัยโทษในอนาคต วุฒิแสดงความกังวลเกี่ยวกับคดีของตน “สิ่งที่ผมกังวลที่สุดคือ เนื่องด้วยคดีของผมเป็นคดีมาตรา 112 ผมเขียนไปแล้ว เขาจะอ่านไหม ไม่ต้องถึงขั้นนั้นก็ได้ครับ เอาเป็นว่าผมเขียนไปแล้วจะถูกส่งไปถึงหรือไม่ก็พอ นี่คือสิ่งที่ผมกังวลที่สุด”
บทสนทนาเปลี่ยนไปสู่เรื่องสถานการณ์ภายในแดน วุฒิเล่าด้วยน้ำเสียงที่แฝงความกังวลอีกครั้ง “ช่วงนี้ยังคงมีการย้ายแดนและย้ายเรือนจำครับ ตอนที่ผมอยู่โรงพยาบาล มีการย้ายผู้ต้องขังประมาณ 100 กว่าคนไปเรือนจำต่าง ๆ ทั้งเรือนจำเขาบินที่ราชบุรี เรือนจำระยอง และเรือนจำทางภาคใต้”
ก่อนจะระบายความรู้สึกอีกว่า “ผมค่อนข้างกังวลเรื่องการย้ายเรือนจำครับ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรือนจำที่ผมกล่าวถึง จากที่เคยได้ยินและจากผู้ต้องขังที่เคยอยู่ที่นั่นเล่าให้ฟัง เรือนจำเหล่านั้นมีผู้ต้องขังเกเรค่อนข้างเยอะ”
เขาเล่าต่อถึงความพร้อมของตนเอง “ช่วงนี้ผมต้องตื่นตัวและเตรียมตัวตลอด เพราะไม่รู้ว่าวันไหนจะถูกย้าย และไปที่ไหน” ก่อนบอกถึงภาพที่เคยเห็น “กรณีที่ผู้ต้องขังมีรายชื่อถูกย้าย จะมีเจ้าหน้าที่มาเรียกที่ห้องนอนตั้งแต่ตี 5.30 น. และเปิดประตูให้เดินออกไป คนที่เหลือทำได้แค่นั่งดู และรอลงจากเรือนนอนตอน 6.30 น. พอลงมา ก็ไม่เจอผู้ต้องขังที่ถูกย้ายแล้ว”
ก่อนจากกันวุฒิสรุปด้วยน้ำเสียงที่พยายามจะเข้มแข็ง “ผมไม่ทราบว่าต้องเตรียมอะไรไว้ให้พร้อมบ้าง แต่ผมก็คงต้องเตรียมพร้อมไว้เสมอ เผื่อมีสถานการณ์นี้อีกครั้ง”
จนถึงปัจจุบัน (2 พ.ค. 2568) วุฒิถูกคุมขังมาแล้ว 768 วัน หรือ 2 ปี 1 เดือน 8 วัน หากถูกคุมขังเต็มกำหนดโทษ เขายังต้องถูกคุมขังต่อไปอีกเกือบ 16 ปี
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เมื่อม่านตาเปิด แต่กำแพงยังปิด : “วุฒิ” ผู้ต้องขังคดี 112 กับโลกที่ปรากฏหลังผ่าต้อกระจก
2 ปีแห่งการต้องขัง ของ “วุฒิ” ในคดี ม.112 ไม่ว่าจะผ่านไปกี่นาที การไร้อิสรภาพก็เป็นเรื่องยาวนาน